กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป [อัจเจนติสูตร]

 
พุทธรักษา
วันที่  14 ต.ค. 2552
หมายเลข  13956
อ่าน  3,283

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น๔. อัจเจนติสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 49-50

กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป [อัจเจนติสูตรที่ ๔]

[๙] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแลได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า กาลทั้งหลาย ย่อมล่วงไป ราตรีทั้งหลาย ย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัย ย่อมละลำดับไป บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะพึงทำบุญทั้งหลาย ที่นำความสุขมาให้

[๑๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กาลทั้งหลาย ย่อมล่วงไป ราตรีทั้งหลาย ย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัย ย่อมละลำดับไป บุคคลเมื่อเห็นภัยนี้ในมรณะพึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสันติเถิด

อรรถกถาอัจเจนติสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๔ ต่อไป :-

บทว่า อจฺเจนฺติ แปลว่า ย่อมล่วงไป

บทว่า กาลา ได้แก่ กาล มีปุเรภัตกาล เป็นต้น

บทว่า ตรยนฺติ รตฺติโย ได้แก่ เมื่อราตรีทั้งหลายก้าวล่วงไป ย่อมผ่าน คือ ย่อมให้บุคคลที่จะตายไปใกล้ต่อความตายโดยรวดเร็ว

บทว่า วโยคุณา ได้แก่ คุณคือ กอง (ชั้น) แห่งปฐมวัย มัชฌิมวัย และ ปัจฉิมวัย จริงอยู่ อรรถแห่งคุณศัพท์ใช้ในอรรถหลายอย่างเช่นในความหมายถึง ชั้นแผ่นผ้า ดังพระบาลีว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว อหตานํ วตฺถานํ ทิคุณํ สํฆาฏึ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมอนุญาตผ้าสังฆาฏิทำให้เป็น ๒ ชั้น ที่ทำด้วยผ้าใหม่ ดังนี้.

มีอรรถว่า อานิสงส์ในบทนี้ว่า สตคุณา ทิกฺขิณา ปาฏิกงฺขิตพฺพา แปลว่า พึงหวังทักษิณาร้อยเท่า อรรถแห่งคุณศัพท์ ที่มีความหมายถึงโกฏฐาส เช่นในคำว่า อนฺตํ อนฺตคุณํ แปลว่า ไส้ใหญ่ไส้น้อย. ที่มีความหมายยถึงเครื่องผูก เช่นในคำว่า ปญฺจ กามคุณา แปลว่าเครื่องผูก คือ "กาม ๕ อย่าง" ดังนี้.

แต่ในที่นี้ อรรถแห่งคุณศัพท์ ใช้ในอรรถว่า ราสิ ซึ่งแปลว่า กอง หรือคณะ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบ

บทว่า วโยคุณา นี้ว่า เป็นกองแห่งวัย ดังนี้

บทว่า อนุปุพฺพํ ชหนฺติ อธิบายว่า วัยทั้งหลายย่อมละทิ้งบุคคลไปโดยลำดับจริงอยู่ ปฐมวัย ย่อมละทิ้งบุคคล ผู้ตั้งอยู่ในมัชฌิมวัยปฐมวัย และ มัชฌิมวัย (ทั้งสอง) ย่อมละทิ้งบุคคล ผู้ตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย แต่ว่า ในขณะแห่งความตาย แม้ วัยทั้ง ๓ ก็ต้องละทิ้งบุคคลไป.

บทว่า เอตํ ภยํ ความว่า ภัย ๓ อย่างนี้ คือ การก้าวลงไป แห่งกาลทั้งหลายความที่ราตรี และ ทิวาล่วงไปโดยเร็ว และ ความที่กองแห่งวัยทั้งหลาย ต้องทอดทิ้งบุคคลไป

คำที่เหลือ เช่นกับนัยก่อน นั่นแหละ

จบอรรถกถาอัจเจนติสูตร ที่ ๔

ขออนุโมทนาขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่และ สรรพสัตว์.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 ต.ค. 2552

คาถาแรกเทวดาเห็นว่าสัตว์อายุน้อยก็ให้ทำกุศลอันให้อยู่ในวัฏฏะ มีการอบรมฌาน เป็นต้นแต่พระพุทธเจ้าทรงแก้คำนั้นด้วยคำว่าที่ว่าเมื่ออายุของสัตว์น้อย ควรมุ่งสันติ (พระนิพพาน) นั่นคืออบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเองครับ

ขออนุโมทนาบุญผู้นำมาเผยแพร่ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 14 ต.ค. 2552

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายเพิ่มเติม ค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
SRPKITT
วันที่ 15 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 16 ต.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
SRPKITT
วันที่ 1 ก.พ. 2553

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
สิริพรรณ
วันที่ 31 พ.ค. 2563

กราบนอบน้อมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม ก็ไม่รู้ความจริงของภัยในสังสารวัฏ การศึกษาพระธรรม โดยละเอียด จึงเข้าใจความจริงว่า ความทุกข์ในสังสารวัฏ คือความทุกข์ของสังขารธรรมที่กำลังมีขณะนี้เดี๋ยวนี้ แม้การเห็นก็เป็นทุกข์ เห็นดีหรือไม่ดีก็เป็นทุกข์ ได้ยินดีหรือไม่ดีก็เป็นทุกข์ รับประทานอาหารดีอร่อยแค่ไหนก็คือความทุกข์ ฯ ทุกวัน ทุกชาติไม่พ้นความทุกข์

การศึกษาพระธรรม เท่านั้นจึงทราบความทุกข์ที่แท้จริง คือที่ลึกซึ้งและเห็นได้ยาก ภัยในสังสารวัฏ คือทุกขสัจจ์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ และแสดงให้สัตว์โลกได้รู้ตาม

ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงและเข้าใจถูกต้องสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงจะเริ่มได้รับมรดกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นอริยทรัพย์ที่มีค่า เริ่มเข้าสู่กระแสความปลอดภัยที่จะเดินทางออกจากความทุกข์ได้ เมื่อได้ศึกษาต่อไปเห็นว่าอะไรเป็นเหตุแห่งความทุกข์ และหนทางใดเป็นทางดับทุกข์

กว่าจะเข้าใจว่าทุกขณะคือทุกข์ที่แท้จริง ไม่ง่าย ไม่เร็ว แต่ต้องอาศัยเวลาที่อดทนศึกษาพระธรรม ด้วยความเคารพ อบรมเจริญปัญญาอย่างยาวนานแสนนาน เริ่มต้นฟังพระธรรม ก็เป็นโอกาสที่ดียิ่ง

ยินดีในกุศลทุกท่านในการได้ศึกษาพระธรรมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 31 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 31 พ.ค. 2563

ยินดีด้วยในกุศลศรัทธาและกุศลวิริยะของน้องสิริพรรณ (น้องต้อม) ​และทุกๆ ​ท่านด้วยค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ