ผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ ย่อมผ่องใสด้วยเหตุอะไร [อรัญญสูตร]

 
พุทธรักษา
วันที่  14 ต.ค. 2552
หมายเลข  13962
อ่าน  1,862

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 66-69

อรัญญสูตร

[๒๑] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแลได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า วรรณะของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในป่า ฉันภัตอยู่หนเดียว เป็นสัตบุรุษ ผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐย่อมผ่องใสด้วยเหตุอะไร

[๒๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่าภิกษุทั้งหลาย ไม่เศร้าโศกถึงปัจจัยที่ล่วงแล้วไม่ปรารถนาปัจจัยที่ยังมาไม่ถึงเลี้ยงตนด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าวรรณะ (ของภิกษุทั้งหลายนั้น) ย่อมผ่องใสด้วยเหตุนั้น เพราะความปรารถนาถึงปัจจัยที่ยังไม่มาถึงและความโศกถึงปัจจัยที่ล่วงแล้ว พวกพาลภิกษุ จึงซูบซีด เหมือนต้นอ้อสด ที่ถูกถอนเสียแล้ว ฉะนั้น.

จบ นฬวรรค ที่ ๑

อรรถกถาอรัญญสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๐ ต่อไป :-

บทว่า สนฺตานํ ได้แก่ผู้มีกิเลส อันสงบระงับแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่บัณฑิต แม้บัณฑิต ท่านก็เรียกว่า สัตบุรุษ เช่นในคำมีอาทิว่า สนฺโต ทเว สพฺภิ ปเวทยนฺติ ทูเร สนฺโต ปกาเสนฺติ ดังนี้ก็มี

บทว่า พฺรหฺมจารินํ แปลว่า ผู้พระพฤติธรรมอันประเสริฐ คือ ผู้อยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์.

หลายบทว่า เกน วณฺโณ ปสีทติ ความว่า เทวดาทูลถามว่าผิวพรรณของภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมผ่องใส ด้วยเหตุอะไร

ถามว่า ก็เพราะเหตุไรเทวดานี้จึงทูลถามอย่างนี้

ตอบว่า ได้ยินว่า เทวดานี้ เป็นภุมมเทวดา อาศัยอยู่ในไพรสณฑ์เห็นภิกษุทั้งหลาย ผู้อยู่ป่า กลับจากบิณฑบาต หลังภัตแล้วเข้าไปสู่ป่าถือเอา "ลักษณกรรมฐาน" (กรรมฐานตามปกติวิปัสสนา) ในที่เป็นที่พัก ในเวลากลางคืนและ ที่เป็นที่พัก ในเวลากลางวันเหล่านั้น นั่งลงแล้ว ก็เมื่อภิกษุเหล่านั้น นั่งด้วยกรรมฐานอย่างนี้แล้ว เอกัคคตาจิต ซึ่งเป็นเครื่องชำระของท่านก็เกิดขึ้น ลำดับนั้น ความสืบต่อแห่งวิสภาคะก็เข้าไปสงบระงับ ความสืบต่อแห่งสภาคะหยั่งลงแล้ว จิตย่อมผ่องใส เมื่อจิตผ่องใสแล้ว โลหิตก็ผ่องใส อุปาทารูปทั้งหลาย ซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน ย่อมบริสุทธิ์ วรรณะแห่งหน้า ย่อมเป็นราวกะสีแห่งผลตาลสุก ที่หลุดจากขั้วฉะนั้น

เทวดานั้น ครั้นเห็นภิกษุเหล่านั้นแล้วจึงดำริว่า ธรรมดาว่า สรีระวรรณะ (ผิวพรรณแห่งร่างกาย) นี้ย่อมผ่องใสแก่บุคคล ผู้ได้อยู่ซึ่งโภชนะทั้งหลาย อันสมบูรณ์มีรสอันประณีตผู้มีที่อยู่อาศัยเครื่องปกปิด ที่นั่งที่นอนมีสัมผัสอันสบาย ผู้ได้ปราสาทต่างๆ มีปราสาท ๗ ชั้น เป็นต้น อันให้ความสุขทุกฤดูกาล และแก่ผู้ได้วัตถุทั้งหลายมีระเบียบดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้ เป็นต้น

แต่ภิกษุเหล่านี้ เที่ยวบิณฑบาตฉันภัตปะปนกันย่อมสำเร็จการนอนบนเตียงน้อยทำด้วยใบไม้ต่างๆ หรือนอนบนแผ่นกระดาน หรือบนศิลาย่อมอยู่ในที่ทั้งหลายมีโคนไม้ เป็นต้น หรือว่าที่กลางแจ้ง วรรณะของภิกษุเหล่านี้ ย่อมผ่องใส เพราะเหตุอะไรหนอแล ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงได้ทูลถามข้อความนั้น กะพระบรมศาสดา ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสถึงเหตุนั้นแก่เทวดาจึงตรัสพระคาถาที่ ๒

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตีตํ ความว่า พระเจ้าธรรมิกราช พระนามโน้น ได้มีในกาลอันล่วงแล้ว พระราชาพระองค์นั้นได้ถวายปัจจัยทั้งหลายอันประณีตๆ แก่พวกเรา อุปัชฌาย์อาจารย์ของเรา เป็นผู้มีลาภมาก ครั้งนั้น พวกเราฉันอาหารเห็นปานนี้ ห่มจีวรเห็นปานนี้ ภิกษุเหล่านี้ ย่อมไม่ตามเศร้าโศก ถึงปัจจัยที่ล่วงมาแล้ว เหมือนภิกษุผู้มีปัจจัยมากบางพวก อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้

สอง บทว่า นปฺปชปฺปนฺติ นาคตํ อธิบายว่า พระเจ้าธรรมิกราช จักมีในอนาคต ชนบททั้งหลายจักแผ่ไปวัตถุทั้งหลายมีเนยใส เนยข้น เป็นต้น จักเกิดขึ้นมากมาย ผู้บอกกล่าวจักมีในที่นั้นๆ ว่าขอท่านทั้งหลายจงเคี้ยวกิน จงบริโภค เป็นต้น ในกาลนั้น พวกเราจักฉันอาหารเห็นปานนี้ จักห่มจีวรเห็นปานนี้ ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมไม่ปรารถนาปัจจัย ที่ยังมาไม่ถึงอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้

บทว่า ปจฺจุปฺปนฺเนน ความว่า ย่อมเลี้ยงตนเองด้วยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ได้ในขณะนั้น

บทว่า เตน ได้แก่ ด้วยเหตุแม้ ๓ อย่างนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแสดงการถึงพร้อมแห่งวรรณะอย่างนี้แล้วบัดนี้ เมื่อจะแสดงความพินาศแห่งวรรณะนั้นนั่นแหละ จึงตรัสพระคาถาในลำดับนั้น.บรรดาบทเหล่านั้น

บทว่า อนาคตปฺปชปฺปาย แปลว่า เพราะปรารถนาปัจจัยที่ยังไม่มาถึง

บทว่า เอเตน ได้แก่ ด้วยเหตุทั้ง ๒ นี้

บทว่า นโฬวหริโต ลุโต อธิบายว่าพวกพาลภิกษุ จักซูบซีดเหมือนต้นอ้อสด ที่บุคคลถอนทิ้งที่แผ่นหินอันร้อน จักเหี่ยวแห้ง ฉะนั้นแล.

จบ อรรถกถาอรัญญสูตร ที่ ๑๐

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่และ สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 ต.ค. 2552

ความสุขอิงอาศัยอามิส รูป เสียง.. หรือลาภ สักการะ นำมาซึ่งทุกข์เป็นผล

ความสุขที่อาศัยเนกขัมมะ คือการอบรมวิปัสสนา เป็นต้น ไม่นำมาซึ่งทุกข์ในปัจจุบัน นำมาซึ่งสุขในปัจจุบันและพ้นจากทุกข์ในอนาคต

ขออนุโมทนาบุญด้วยนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 15 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 15 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
choonj
วันที่ 15 ต.ค. 2552

เหมือนกับคนผู้หนึ่ง คิดถึงลาภที่เคยได้ว่า ดีไม่ดี ประณีตไม่ประณีต แล้วเสียดายไม่เสียดาย และคิดถึงลาภที่จะได้ในอนาคต ว่าจะดีจะไม่ดี จะประณีตจะไม่ประณีต จะเสียดายจะไม่เสียดาย จิตของคนผ้นั้นก็จะฟุ้งไปด้วย อุทธัจจะ คือเป็นอกุศล อีกผู้หนึ่ง ไม่คิดถึงลาภที่ล่วงไปแล้ว และไม่คิดถึงลาภที่ยังมาไม่ถึง จิตของผู้นั้นก็จะอยู่กับสภาพธรรมที่ปรากฎเฉพาะหน้า มีปัญญารู้ว่า เป็นธรรมเกิดแล้วก็ดับ จิตของผู้นั้นเป็น อุปสมะ คือสงบเป็นกุศล รูปที่เกิดจากจิตก็มี รูปทีเกิดจากกุศลจิต ย่อมเป็นรูปที่ดีผ่องใส ส่วนรูปที่เกิดจากอกุศลจิต ย่อมเศร้าหมอง ผู้ไดต้องการรูปที่ดี สวย พอดูได้ ก็รักษาจิตให้เป็นกุศลเข้าใว้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
opanayigo
วันที่ 15 ต.ค. 2552

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
suwit02
วันที่ 16 ต.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 30 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ