ความจริงแห่งชีวิต [170] บัญญัติ ปิดบัง ลักษณะของปรมัตถธรรม

 
พุทธรักษา
วันที่  28 ก.ย. 2552
หมายเลข  13738
อ่าน  1,009

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วัน​หนึ่งๆ บัญญัติ​ปิดบัง​ลักษณะ​ของ​ปรมั​ตถ​ธรรม​ทั้ง​ทาง​ตา ทาง​หู ทาง​จมูก ทาง​ลิ้น ทาง​กาย ทาง​ใจ จึง​ทำ ให้​ไม่รู้​สภาพ​ธรรม​ตาม​ความ​เป็น​จริง​เลย​ว่า สภาพ​ธรรม​ที่​กำลัง​ปรากฏ​ทาง​ตา ไม่ใช่​สัตว์ บุคคล ตัว​ตน เป็น​แต่​เพียง​สีสัน​วัณณะ​ที่​ปรากฏ​เมื่อ​กระทบ​กับ​จักขุปสาท​เท่านั้น เมื่อ​ใด​ปัญญา​เจริญ​ขึ้น​จน​รู้​ความ​จริง​ใน​ขณะ​ที่​กำลัง​เห็น จึง​จะ​ละ​คลาย​การ​ยึดถือ​สภาพ​ธรรมว่า​เป็น​ตัว​ตน สัตว์ บุคคล​ได้ และ​จะ​รู้​ความ​ต่าง​กัน​ของ​ปรมั​ตถ​อารมณ์​กับ​บัญญัติ​อารมณ์​ได้ ทาง​หู ทาง​จมูก ทาง​ลิ้น ทาง​กาย ทาง​ใจ ก็​โดย​นัย​เดียวกัน

ขณะ​ที่​กำลัง​ฝัน​เป็น​อารมณ์​อะไร ทุก​คน​ฝัน​แน่นอน​เพราะ​ผู้​ที่​ไม่​ฝัน​เลย คือ​พระ​อรหันต์ ทุก​คนฝัน เมื่อ​ตื่น​ขึ้น​ก็​บอก​ว่า​ฝันเห็น​ญาติ​ผู้ใหญ่​ที่​ล่วง​ลับ​ไป​แล้ว ฯลฯ ฝัน​เห็น​บัญญัติ หรือ​เห็น​ปรมัตถ​อารมณ์ ถ้า​ไม่​พิจารณา​จะ​ไม่รู้​เลย​เพราะ​เหมือน​เห็น แต่​ตาม​ความ​เป็น​จริง​นั้น​ เมื่อ​ถาม​ว่าเห็น​อะไร ก็​ตอบ​ว่า​เห็น​คน เห็น​ญาติ​ผู้ใหญ่ เห็น​มิตร​สหาย เห็น​สัตว์​ต่างๆ บุคคล​ต่างๆ นั่น​คือฝัน​เห็น​เรื่อง​บัญญัติ เพราะ​ขณะ​นั้น​จักขุ​ทวาร​วิถี​จิต​ไม่​ได้​เกิด​เลย เพราะ​ว่า​กำลัง​หลับ แต่​มโนทวาร​วิถี​จิต​เกิด​คิด​นึก​เห็น​เป็น​เรื่อง​สัตว์ บุคคล​ต่างๆ ฉะนั้น ขณะ​ที่​กำลัง​ฝัน​นั้น​ก็​คิด​นึกถึงเรื่อง​บัญญัติ​ของ​สิ่ง​ที่​เคย​เห็น เคย​ได้ยิน เป็นต้น ทุก​ท่าน​อ่าน​หนังสือพิมพ์ มี​เรื่อง​ราว​ต่างๆ และ​มี​รูปภาพ​ด้วย ขณะ​ที่​กำลัง​รู้​เรื่อง​ราว​และ​เห็น​เรื่อง​ภาพ​ต่างๆ นั้น ล้วน​เป็น​ขณะ​ที่​คิด​นึกถึงบัญญัติ​ทั้ง​สิ้น ฉะนั้น ใน​วัน​หนึ่งๆ จึง​ไม่รู้​ลักษณะ​ของ​ปรมั​ตถ​ธรรม​ที่​ปรากฏ​เลย​ว่า​ต่าง​กับบัญญัติ​อย่างไร เพราะ​ไม่​ว่า​จะ​เห็น​ทาง​ตา​ขณะ​ใด ไม่​ว่า​จะ​อ่าน​หนังสือ​ ทำกิจการ​งาน​อยู่ที่ไหน ​ขณะ​ใด ​ก็​คิด​นึกถึง​บัญญัติ​ทั้ง​นั้น

สำหรับ​ทาง​หู​นั้น เมื่อ​เกิด​มา​แล้ว​ยัง​เป็น​เด็ก​อ่อน​ก็ได้​ยิน​เสีย​งบ่อยๆ เป็น​ปกติ แต่​ยัง​ไม่รู้​คำ ยังไม่​เข้าใจ​ภาษา​หนึ่งภาษา​ใด​เลย แต่​สัญญา​ความ​จำใน​เสียง​ต่างๆ เพิ่ม​ขึ้น จึง​ทำให้​นึกถึงบัญญัติ​ความ​หมาย​ต่างๆ ของ​เสียง​ที่​จำ​ไว้ เด็ก​อ่อน​ก็​เห็น ได้ยิน ได้​กลิ่น ลิ้ม​รส รู้​สิ่ง​ที่​กระทบสัมผัส เจ็บ โกรธ ชอบ ไม่​ชอบ ร้องไห้ แต่​ไม่รู้​คำที่​จะ​อธิบาย ที่​จะ​พูด ที่​จะ​บอก จนกว่า​จะเติบโต​ขึ้น ท่าน​ผู้​ใด​จำ​เหตุการณ์​ทั้ง​หลาย​ตอน​ที่​เพิ่ง​เกิด​มา​ได้​ไหม แม้ว่า​ใน​ตอน​นั้น​ก็​เห็น ได้ยิน ฯลฯ แต่​เมื่อ​ยัง​ไม่มี​คำที่​จะ​บอก​เล่า เพราะ​ยัง​ไม่​เข้าใจ​ความ​หมาย​ของ​เสียง​ต่างๆ ความจำเหตุการณ์​ต่างๆ ก็​ลบ​เลือน​ไป แต่​เมื่อ​โต​ขึ้น​แล้ว​รู้​ความ​หมาย​ของ​เสียง รู้​ภาษา​ต่างๆ ซึ่งนอกจาก​จำสิ่ง​ที่​เห็น​ทาง​ตา​แล้ว​ก็​ยัง​ จำ​เรื่อง​ที่​ได้ยิน​ทาง​หู รวม​กัน​เป็น​เรื่อง​ราว​นานา​ประการ โลก​ของ​สมมติ​บัญญัติ​จึง​เพิ่ม​ขึ้น​เป็น​วิวัฒนาการ​ที่​ไม่​จบ​สิ้น เมื่อ​อ่าน​หนังสือ​เรื่อง​หนึ่ง​เรื่อง​ใดแล้ว​ก็​ยัง​ต้อง​ทำ​เป็น​ภาพยนตร์​ให้​ดู​ให้​ได้ยิน​เสียง​ด้วย ถ้า​พิจารณา​เปรียบ​เทียบ​ก็​พอ​จะ​เห็น​ได้ว่า โลก​ของ​สมมติ​นั้น​ปกปิด​สภาพ​ของ​ปรมั​ตถ​ธรรม​มากมาย​เพียง​ใด เช่น ใน​ขณะ​ที่​กำลัง​ดูโทรทัศน์​นั้น​มี​บัญญัติ​อะไร​บ้าง ดู​ละคร​เรื่อง​อะไร ใคร​แสดง​บท​อะไร ดู​เสมือน​ว่า​ผู้​แสดง​ละครใน​โทรทัศน์​เป็น​คน​จริงๆ แต่​ละคร​และ​ตัว​ละคร​เป็น​บัญญัติ​ฉันใด เมื่อ​ปรมั​ตถ​ธรรม​เกิด​ขึ้นปรากฏ​แล้ว​ก็​ดับ​ไป​อย่าง​รวดเร็ว​สืบ​ต่อ​กัน​นั้น ขณะ​ที่​รู้​ว่า​เป็น​บุคคล​นั้น บุคคล​นี้ ก็​เป็นการ​รู้บัญญัติ ฉัน​นั้น

สภาพ​ปรมั​ตถ​ธรรม​ใน​ชีวิต​ประจำวัน​ถูก​ปกปิด​ด้วย​อวิชชาซึ่ง​ไม่รู้​ความ​ต่าง​กัน​ของ​ปรมั​ตถธรรม​และ​บัญญัติ จึง​ไม่​สามารถ​รู้​ได้​ว่า​สภาพ​ธรรม​ที่​ปรากฏ​ทาง​ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งไม่ใช่​สัตว์ บุคคล ตัว​ตน​นั้น​เป็น​อย่างไร ด้วย​เหตุ​นี้​การ​ศึกษา​เรื่อง​จิต เจตสิก รูป โดย​ละ​เอียดขึ้นๆ จึง​ทำให้​ปัญญา​ใน​ขั้น​ของ​การ​ฟัง​เจริญ​ขึ้น เป็น​สังขาร​ขันธ์​เกื้อกูล​ปรุง​แต่ง​ให้​เกิด​สติระลึก​รู้​ลักษณะ​ของ​ปรมั​ตถธรรม ทำให้​ละ​คลาย​การ​ยึด​มั่น​ใน​นิมิต อนุ​พยัญชนะ ซึ่ง​เป็นอาการ​ปรากฏ​ของ​บัญญัติ

. บัญญัติ​เป็น​อารมณ์​ของ​สติ​ปัฏ​ฐาน​ได้​ไหม

สุ. ไม่​ได้

ถ. เมื่อ​กี้​ฟัง​แล้ว​คล้ายๆ กับ​ว่า บัญญัติ​เป็น​อารมณ์​ของ​สติ​ปัฏ​ฐาน​ได้

สุ. ปรมั​ตถ​ธรรม​เท่านั้น​เป็น​อารมณ์​ของ​สติ​ปัฏ​ฐาน ขณะ​ใด​ที่​รส​เกิด​กระทบ​กับ​ชิวหา​ปสาท เป็น​ปัจจัย​ให้​จิต​เกิด​ขึ้น​รู้​รส​ทาง​ชิวหา​ทวาร เริ่ม​ตั้งแต่​ปัญจ​ทวา​รา​วัช​ชน​จิต ชิวหา​วิญญาณ สัม​ปฏิ​จ​ฉัน​น​จิต สัน​ตี​รณ​จิต โวฏฐัพ​พน​จิต ชวน​จิต ต​ทา​ลัม​พน​จิต แล้ว​รส​ดับ จึง​ไม่มี​องุ่น นั่นคือ​ปรมั​ตถ​ธรรม แต่​เมื่อ​รวม​กัน​แล้ว​เป็น​ผล​องุ่น ขณะ​นั้นเป็น​บัญญัติ ฉะนั้น สติ​ปัฏ​ฐาน​จึง​เป็นขณะ​ที่​ระลึก​ลักษณะ​สภาพ​ธรรม​ที่​เป็น​ปรมั​ตถ​ธรรม และ​พิจารณา​สังเกต​รู้​ว่า​สภาพ​ธร​รม​นั้นๆ ไม่ใช่​สัตว์ บุคคล ตัวตน ขณะ​ใด​ที่​สติ​ปัฏ​ฐาน​ไม่​เกิด​ ก็​จะ​ไม่มี​การ​แยก​ลักษณะ​ของปรมั​ตถธรรม​ออก​จาก​บัญญัติ จึง​ยัง​มี​ความ​เห็น​ว่า​เป็น​สัตว์ บุคคล ตัว​ตน​อยู่​ตลอด​เวลา

ถ. เมื่อ​กี้​ที่​อาจารย์​กล่าว​ว่า​บัญญัติ​รู้​ได้​ทาง​มโน​ทวาร ถ้า​จะ​เจริญ​สติ​ปัฏ​ฐานทาง​มโน​ทวาร ที่ฟัง​แล้ว​รู้สึก​ว่า​บัญญัติ​จะเป็น​อารมณ์​ของ​สติ​ปัฏ​ฐาน​ได้

สุ. ถ้า​อย่าง​นั้น​ก็​เริ่ม​ใน​ขณะ​นี้​เลย กำลัง​ได้ยิน​เสียง มี​บัญญัติ​ไหม เสียง​เป็น​ปรมั​ตถ​ธรรม ขณะที่​จิต​รู้​ความ​หมาย​ของ​เสียง​นั้น ​จิต​รู้​บัญญัติ จิต​ที่​รู้​ความ​หมาย​ของ​เสียง​เป็น​จิต​ที่​รู้​บัญญัติเป็นวิถีจิตทาง​มโน​ทวาร ขณะ​นั้น​จิต​เกิด​ขึ้น​นึก​เป็น​คำๆ สติ​ปัฏ​ฐาน​ก็​เกิด​ขึ้น​ระลึก​รู้​ว่า ขณะ​นั้นเป็น​จิต​ประเภท​หนึ่ง​ที่กำลัง​รู้​คำ ที​ละ​คำ

ถ. สติ​ปัฏ​ฐาน​ระลึก​รู้​ปรมั​ตถ​ธรรม แต่​ไม่​ระลึก​รู้​บัญญัติ ถ้า​อย่าง​นั้น​แสดง​ว่า สภาพ​ที่​ปรากฏทาง​ตา ทาง​หู ทาง​จมูก ทาง​ลิ้น ทาง​กาย จะ​พ้น​จาก​มโนทวาร​ไม่​ได้​เลย​ใช่​ไหม คือ​พอ​ตาม​อง สภาพ​ที่​เห็น​เกิด​ขึ้น มี​ภวังคจิต​เกิดคั่น แล้ว​จึง​ต่อม​โน​ทวาร

สุ. วิถี​จิต​ทาง​มโน​ทวาร​จะ​ต้อง​รู้​รูป​เดียวกัน​กับ​ที่​วิถี​จิต​ทาง​ปัญจ​ทวาร​รู้ ถ้า​ชวนจิต​ทาง​ปัญจทวาร​เป็นโลภ​มูลจิต ชวน​จิต​ทาง​มโน​ทวาร​วาระ​แรก​ ก็​เป็นโลภ​มูลจิต​ประเภท​เดียวกัน จักขุทวาร​วิถี​จิต​กับ​มโน​ทวาร​วิถี​จิต​เกิด​ต่อ​กัน​เร็ว​เหลือ​เกิน อุปมา​เหมือน​นก​ที่​บิน​ไป​เกาะ​กิ่ง​ไม้ ทันที​ที่​นก​เกาะ​กิ่ง​ไม้​เงา​ของ​นก​ก็​ปรากฏ​ที่​พื้น​ดิน​ฉันใด เมื่อ​อารมณ์​ปรากฏ​ทาง​จักขุ​ทวาร​แล้วก็​ปรากฏ​ต่อ​ทาง​มโน​ทวาร​วิถีจิตทันที หลัง​จาก​ที่​ภวังคจิต​เกิด​คั่น​แล้ว​หลาย​ขณะ​อย่าง​รวดเร็วที่สุด จึง​ทำให้​ไม่รู้​ว่า​รู​ปา​รมณ์​ที่​ปรากฏ​ทาง​ตา เป็น​แต่​เพียง​ปรมั​ตถ​ธรรม​อย่าง​หนึ่ง​ซึ่ง​เมื่อกระทบ​จักขุ​ปสาท​แล้ว​ก็​ปรากฏ

ถ. อย่าง​ทาง​ตา​ขณะ​ที่​เห็น พอ​เห็น​เป็น​ปากกา​ก็​แสดง​ว่า คำ​ว่า​ ปากกา​เป็น​ทาง​มโน​ทวาร​แล้ว

สุ. ยัง​ไม่​ได้​คิดถึง​คำว่า​ปากกา​ก็​มี​บัญญัติ​ก่อน​แล้ว ฉะนั้น​ บัญญัติ​จึง​ไม่​ได้​หมาย​เฉ​พาะ​แต่​สัททบัญญัติ​หรือ​นาม​บัญญัติ ซึ่ง​เป็น​เสียง​หรือ​เป็น​คำ

ถ. พอ​เห็น​แล้ว​จำได้ นั่น​ก็​บัญญัติ​แล้ว​ใช่​ไหม

สุ. ที่​ชื่อ​ว่า​บัญญัติ ​เพราะ​ให้​รู้​ได้​ด้วย​ประการ​นั้นๆ

ถ. นั่น​ก็​หมายความ​ว่า​ทุก​ทวาร ทาง​ตา ทาง​หู ทาง​จมูก ทาง​ลิ้น ทาง​กาย ต้อง​ผ่าน​ทาง​มโนทวาร​ด้วย​ใช่​ไหม

สุ. อารมณ์​ทั้ง ๕ คือ รู​ปา​รมณ์ สัท​ทา​รมณ์ คัน​ธาร​มณ์ รสา​รมณ์ โผฏฐัพ​พา​รมณ์​นั้น​จิต​รู้​ได้ ๒ ทวาร คือ จักขุ​ทวารวิถี​จิต​รู้​รู​ปา​รมณ์​แล้ว มโน​ทวาร​วิถี​จิต​ก็​รู้​รู​ปา​รมณ์​นั้น​ ต่อ​เมื่อ​ภวังคจิตเกิด​คั่น​แล้ว สัท​ทา​รมณ์ คัน​ธาร​มณ์ รสา​รมณ์ โผฏฐัพ​พา​รมณ์ จิต​ก็​รู้​ได้ ๒ ทวาร คือ เมื่อ​วิถีจิต​ทาง​ทวา​รนั้นๆ รู้​อา​รมณ์​นั้นๆ แล้ว วิถี​จิต​ทาง​มโน​ทวาร​ก็​เกิด​ขึ้น​รู้​อา​รมณ์​นั้นๆ สืบ​ต่อ​ทางทวา​รนั้นๆ เมื่อ​ภวังคจิต​เกิด​คั่น​แล้ว โดย​นัย​เดียวกัน

ถ. สมมติ​ว่าเรา​ลิ้ม​รส​เปรี้ยว ขณะ​ที่​เปรี้ยว​ก็​เป็น​บัญญัติ​แล้ว​ใช่​ไหม

สุ. อะไร​เปรี้ยว

ถ. สมมติ​ว่า​รับ​ประทาน​ส้ม​เปรี้ยว

สุ. รส​เปรี้ยว​เป็น​ปรมั​ตถ​ธรรม คิด​นึก​ว่า​ส้ม​เปรี้ยว​เป็น​บัญญัติคำ​เป็น​สัท​ทบัญญัติ ขณะ​ตั้ง​ชื่อเรียก​ชื่อ​เป็น​นาม​บัญญัติ ถ้า​ไม่มี​เสียง ไม่มี​คำ ไม่มี​ความ​หมาย เรื่อง​ราว​ต่างๆ ก็​จะ​ไม่มากมาย​อย่าง​ที่​เป็น​อยู่​เลย แต่​เมื่อ​เสียง​เป็น​อารมณ์​แก่​จิต​ทาง​โสต​ทวาร​วิถี​แล้ว ก็​เป็น​อารมณ์​ของ​จิต​ที่​เกิด​สืบ​ต่อ​ทาง​มโน​ทวารวิถีจิต​ด้วย (เมื่อ​ภวังคจิต​เกิด​คั่น​แล้ว) สัญญา​ที่​จำหมาย​รู้เสียง​ต่างๆ ทำ ให้​นึกถึง​คำ​ต่างๆ ชื่อ​ต่างๆ

ข้อ​ความ​ใน​ธัมม​สังค​ณี​ปกรณ์ นิก​เข​ปกัณฑ์ พระ​บาลี​แส​ดงนิท​เทส อธิ​ว​จน​ทุ​กะ ข้อ ๘๔๑ มี​ข้อความ​ว่า อธิ​ว​จน​ธรรม คือ ธรรม​เป็น​ชื่อ เป็น​ไฉน

อธิ​ว​จน​ธรรม คือ ธรรม​เป็น​ชื่อ​เป็น​ไฉน คือการ​กล่าว​ขาน สมัญญา บัญญัติ โวหาร นาม การขนาน​นาม การ​ตั้ง​ชื่อ การ​ออก​ชื่อ การ​ระบุ​ชื่อ การ​เรียก​ชื่อ​ของ​ธร​รม​นั้นๆ อัน​ใด สภาว​ธรรม​เหล่า​นี้ชื่อ​ว่าอธิ​ว​จน​ธรรม คือธรรม​เป็น​ชื่อ (ทุก​อย่าง​เป็น​ชื่อ​ทั้ง​นั้น ดินสอ ปากกา โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ )

ธรรม​ทั้งหมด​แล ชื่อ​ว่า อธิ​ว​จนปถ​ธรรม คือ ธรรม​เป็น​เหตุ​ของ​ชื่อ

ถ้า​ไม่มี​สภาพ​ธรรม​ชื่อ​ก็​ไม่มี แต่​เมื่อ​มี​สภาพ​ธรรม​แล้ว​ที่​ไม่มี​ชื่อ​มี​ไหม

ข้อความ​ใน​อัฏฐ​สาลินี อร​รถ​กถา​ธัมม​สังค​ณี​ปกรณ์​มี​ว่า ธรรม​ทั้งหมด​แล​ชื่อ​ว่า​ อธิ​ว​จนปถ​ธรรม คือธรรม​เป็น​เหตุ​ของ​ชื่อ ถ้า​เข้าไป​ใน​ป่า​มี​ต้นไม้​หลาย​ชนิด​ก็​จะ​มี​ผู้​ถาม​ว่า​นี่​ต้น​อะไร บางคน​รู้จัก​ชื่อ​ก็​บอก​ว่า ต้น​กระถิน ต้น​มะม่วง ต้น​ตะเคียน แม้​ต้นไม้​ไม่มี​ชื่อ​ก็​ยัง​บอก​ว่า​ต้น​ไม่มี​ชื่อ หรือ​บอก​ว่า​ต้น​นี้​ไม่รู้​จัก​ชื่อ ฉะนั้น ​ทุก​อย่าง​จึง​มีชื่อ​ที่​จะ​ให้​รู้ด้วย​เหตุ​นี้​จึง​ไม่มี​ธร​รม​ใดๆ เลย​ที่​จะ​ไม่​เป็น​เหตุ​ของ​ชื่อ

ข้อความ​ต่อ​ไป​มี​ว่า คำ​ว่า "ธรรม​ทั้งหมด​แล ชื่อ​ว่า​อธิ​ว​จนปถธรรม" คือ ธรรม​เป็น​เหตุ​ของ​ชื่อ อธิบาย​ว่า ขึ้น​ชื่อ​ว่าธรรม​ที่​ไม่​เป็น​เหตุ​ของ​ชื่อ​หามี​ไม่

ธรรม​เอก​ย่อม​ประมวล​เข้า​ใน​ธรรม​ทั้งหมด ธรรม​ทั้งหมด​ก็ประมวล​เข้า​ใน​ธรรม​เอก ประมวลเข้า​อย่างไร อธิบาย​ว่า​นาม​บัญญัติ​นี้ ชื่อ​ว่า เป็น​ธรรม​เอก ธรรม​เอก​นั้น​ย่อม​ประมวล​เข้า​ในธรรม​ทั้ง ๔ ภูมิ​ทั้ง​สิ้น ทั้ง​สัตว์​ทั้ง​สังขาร​ชื่อ​ว่า​พ้น​ไป​จาก​นาม​หา​มี​ไม่

ถ้า​ไม่มี​ชื่อก็​ไม่​สะดวก​ที่​จะ​ทำให้​เข้าใจ​กัน​ได้ ฉะนั้น ​แม้ว่า​จะ​เป็น​ปรมั​ตถ​ธรรม เป็น​สภาพธรรม​แต่​ก็​ยัง​ไม่​พ้น​จาก​ชื่อ ซึ่ง​พระ​ผู้​มี​พระ​ภาค​ทรง​บัญญัติ​ตาม​ลักษณะ​ของ​สภาพ​ธร​รม​นั้นๆ คือ

ขัน​ธ​บัญญัติ ๕
อาย​ตน​บัญญัติ ๑๒
ธาตุ​บัญญัติ ๑๘
สัจ​จบัญญัติ ๔
อิน​ทรีย​บัญญัติ ๒๒

บุคคล​บัญญัติ​หลาย​จำพวก

นี่​ก็​แสดง​ให้​เห็น​ว่า แม้​พระ​ธรรม​ที่​ทรง​แสดง​ก็​ไม่​พ้น​ไป​จาก​ชื่อนาม​บัญญัติ​ต่างๆ

นิรุตติ การ​พูด คือ การก​ล่า​วอร​รถ​ออก​โดย​ทาง​อักขระ​ชื่อ​ว่านิรุตติ

พยัญชนะ นาม​ที่​ชื่อ​ว่า พยัญชนะ (คำ) เพราะ​อรรถ​ว่า ประกาศ​อรรถ

อภิ​ลา​ปะ เสียง ที่​ชื่อ​ว่า อภิ​ลาป เพราะ​อรรถ​ว่า​เป็น​เสียง​ที่​บุคคล​พูด คือ ลำดับ​แห่ง​การ​ประชุมของ​อักษร​ที่​เป็น​ไป​ตาม​เสียง

ก็​บัญญัติ​นั้น​มี​อยู่ ๒ อย่าง คือ ปญฺญา​ปิย​ตฺ​ตาปญฺตฺ​ติ (การ​แต่ง​ตั้ง​เพราะ​ต้องการ​รู้​ความหมาย) ๑ ปญฺญา​ปน​โตปญฺญตฺ​ติ (การ​แต่ง​ตั้ง​โดย​ให้​รู้​อรรถ​ตาม​เสียง) ๑

บัญญัติ​ทั้ง​หลาย​มี​ประการ​ต่างๆ ดังนี้

สัน​ตาน​บัญญัติ บัญญัติ​ที่​เทียบ​อาการ คือ ความ​เปลี่ยนแปลง​สืบ​ต่อ​ของ​ภู​ตนั้นๆ คือ​บัญญัติว่า แผ่นดิน ภูเขา ต้นไม้ เป็นต้น

สมุห​บัญญัติ บัญญัติ​ที่​หมาย​ถึง​อาการ คือ การ​ประชุม​แห่ง​สัมภาระ เช่น บัญญัติ​ว่า รถ เกวียน เป็นต้น

สมมติ​บัญญัติ บัญญัติ​เป็นต้น​ว่า บุรุษ บุคคล หมาย​ถึงขัน​ธ​ปัญจ​กะ

ทิ​สา​บัญญัติ บัญญัติ​ทิศ หมาย​ถึง ความ​หมุนเวียน​ของ​พระจันทร์ มี​ทิศ​ตะวัน​ออก เป็นต้น

กาล​บัญญัติ บัญญัติ​กาล​เวลา เช่น เวลา​เช้า เป็นต้น

มา​สาทิ​บัญญัติ บัญญัติ​เดือน ฤดู และ​ชื่อ​เดือน มี​วิสาข​มาส เป็นต้น

อา​กา​สบัญญัติ บัญญัติ หลุม ถํ้า หมาย​ถึง​ อาการ​ที่​มหาภูต​รูปไม่​จรด​ถึงกัน

นิ​มิต​ตบัญญัติ บัญญัติ​กสิณ​นิมิต หมาย​ถึง​ ภูต​นิ​มิ​ตนั้นๆ และ​อาการ​พิเศษ​ที่​สืบ​เนื่อง​กัน​ของ​ภาวนา

ก็​บัญญัติ​ที่​มี​ความ​แตก​ต่าง​กัน​ดัง​ที่​กล่าว​มา​แล้ว​ด้วย​ประการ​อย่าง​นี้ แม้​จะ​ไม่มี​อยู่​โดยปรมัตถ์​ก็​เป็น​อารมณ์​แห่ง​จิต​ตุป​ปาท​โดย​อาการ คือ เงา​ของ​อรรถ (ส่วน​เปรียบ​ของ​ปรมัตถ์) ถูก​กำหนด​หมาย​โดย​อา​กา​รนั้นๆ เพราะ​เทียบ​เคียง คือเปรียบ​เทียบ ได้แก่ ทำอาการ​สัณฐานเป็นต้นนั้นๆ ให้​เป็น​เหตุก​ล่า​วกัน เข้าใจ​กัน เรียก​ร้อง​กัน ให้​รู้​ความ​หมาย​กัน เพราะ​ฉะนั้น ท่านจึง​เรียก​ว่า​บัญญัติ

โลภ​มูลจิต​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​เป็น​ประจำ ทาง​ตา ทาง​หู ทาง​จมูก ทาง​ลิ้น ทาง​กาย ทาง​ใจ​นั้น แม้ว่า​จะเป็น​โลภ​มูลจิต​ซึ่ง​ไม่​ประกอบ​ด้วย​ความ​เห็น​ผิด คือ ​เป็น​โลภ​มูล​จิต​ทิฏฐิ​คต​วิปป​ยุต​ต์​ ก็​ไม่ใช่​ว่ายินดี​พอใจ​แต่​เฉ​พาะ​ปรมั​ตถ​ธรรม​ที่​ปรากฏ​ทาง​ตา ทาง​หู ทาง​จมูก ทาง​ลิ้น ทาง​กาย ทาง​ใจเท่านั้น แต่​ยัง​ยินดี​พอใจ​ตลอด​ไป ​จน​กระทั่ง​บัญญัติ​ต่างๆ ทั้ง​นิมิต อนุ​พยัญชนะ ชื่อ​ต่างๆ และ​เรื่อง​ราว​ต่างๆ ด้วย

ฉะนั้น ใน​ขณะ​นี้​ถ้า​สอบถาม​กัน​ก็​ตอบ​ได้​แล้ว​ว่า ส่วน​มาก​ใน​ชีวิต​ประจำวัน​นั้นมี​อะไร​เป็นอารมณ์ มี​บัญญัติ​เป็น​อารมณ์​จน​กระทั่ง​ปิดบัง​ไม่​ให้​รู้​ลักษณะ​ของ​ปรมั​ตถ​ธรรม​ตาม​ความเป็น​จริง

ถ. ที่​ว่า​องุ่น​หรือ​ภาพ​องุ่น ​เวลา​เรา​ไป​แตะ​ต้อง​มัน​ อ่อน​แข็ง​อย่าง​นี้​เป็น​ปรมัตถ์ รส​ของ​องุ่น​เป็น​ปรมัตถ์ หลายๆ อย่าง​รวม​กัน​ก็​เป็น​องุ่นจริงๆ ที่​เรียก​ว่า​บัญญัติ เพราะ​ฉะนั้น​บัญญัติ​ก็​เป็นของ​จริง

สุ. รูป รส เกิด​แล้ว​ก็​ดับ​ไป เพราะ​ว่า​มีอายุ​เพียง ๑๗ ขณะ​จิต รูป​ สี​ที่​เห็น​ว่า​เป็น​องุ่น​ก็​เกิด​ขึ้นแล้ว​ก็​ดับ​ไป​อย่าง​รวดเร็ว รูป​มีอายุ​เพียง​แค่ ๑๗ ขณะ​จิต ฉะนั้น จะ​มี​องุ่น​ไหม

ถ. มี​ใน​ความ​จำ

สุ. ฉะนั้น ก็​เป็น​บัญญัติ​ว่า​สิ่ง​นั้น​เป็น​องุ่น แต่​ความ​จริง​สิ่ง​นั้นคือรส​ที่​เกิด​แล้ว​ดับ สิ่ง​นั้น​คือ​แข็ง​ที่​เกิด​แล้ว​ดับ

ถ. บัญญัติ​ก็​มา​จาก​ปรมัตถ์​หลายๆ อย่าง​มา​รวม​กัน​เป็นก​ลุ่ม​ก้อน

สุ. เมื่อ​ไม่​ประจักษ์​การ​เกิด​ดับ​ของ​สภาพ​ธรรม​แต่ละ​อย่าง​ที่​รวม​กันก็​ยึดถือ​อาการ​ที่​ปรากฏ​รวม​กัน​นั้น​ว่า​เป็น​สิ่ง​หนึ่ง​สิ่ง​ใด

ถ. บัญญัติ​ไม่ใช่​ของ​จริง​หรือ บัญญัติ​ก็​มา​จาก​ปรมัตถ์​หลายๆ อย่าง อ่อน แข็ง เย็น ร้อน สี กลิ่น รส รวม​กัน​เป็นก​ลุ่ม เป็น​วัตถุ มี​สี​อย่าง​นั้น สัณฐาน​อย่าง​นั้น หรือ​ว่า​มี​รูป​ร่าง​สัณฐานอย่าง​นั้น​ ก็​เป็น​บุคคล​นั้น บัญญัติ​ก็​มา​จาก​ปรมัตถ์

สุ. ที่​จะ​รู้​ได้​ว่า​บัญญัติ​ไม่​ใช่​ปรมั​ตถ​ธรรม​นั้น จะ​ต้อง​แยก​ปรมั​ตถธรรม​ที่​เกิด​รวม​กันออก​เป็นปรมั​ตถ​ธรรม​แต่ละ​ลักษณะ​ที่​ปรากฏ​แต่ละ​ทวาร และ​ต้อง​ประจักษ์​การ​เกิด​ดับ​ของ​รูป​ที่ปรากฏ​แต่ละ​ทวาร สภาว​รูป​ทุก​รูป​มีอายุ​เพียง ๑๗ ขณะ​จิต​แล้ว​ก็​ดับ รูป​ที่​เกิด​มา​ชั่ว ๑๗ ขณะจิต​นั้น ยัง​ไม่ทัน​ยืน​หรือ​เดิน หรือ​ทำอะไร​ทั้ง​นั้น เพราะ​ที่​ยกมือ​ขึ้น​ก็​เกิน ๑๗ ขณะ​จิต​แล้ว ฉะนั้น ที่​เห็น​เป็น​คน​เดิน หรือ​เห็น​เป็น​คน​ยกมือ ​ก็​แสดง​ให้​เห็น​ว่า รูป​ดับ​แล้ว​เกิด​สืบ​ต่อ​ ปรากฏทั้ง​ทาง​จักขุ​ทวาร​วิถี และ​มโน​ทวาร​วิถี​หลาย​วาระโดย​มี​ภวังค์​คั่นจน​ปรากฏ​เป็น​คน​กำลัง​เดินหรือ​กำลัง​ยกมือ แต่​ตาม​ความ​เป็น​จริง ๑๗ ขณะ​จิต​นั้น​เร็ว​มาก ซึ่ง​พิจารณา​เข้าใจ​ตาม​ได้​ว่า รูป​ที่​ปรากฏ​ทาง​ตา​ซึ่ง​มีอายุ ๑๗ ขณะ​จิต​นั้น​ ต้อง​ดับ​ก่อน​ที่​จะ​ได้ยิน​เสียง ทั้งๆ ที่​ปรากฏเสมือน​ว่า​ทั้ง​ได้ยิน​และ​ทั้ง​เห็น​ด้วย​นั้น แต่​ระหว่าง​จิต​ได้ยิน​กับ​จิต​เห็น​นั้น​ก็​ห่าง​กัน​เกิน​กว่า ๑๗ ขณะ​จิต ฉะนั้น ​รูป​ที่​กำลัง​ปรากฏ​ทาง​ตา​ขณะ​นี้​ซึ่ง​มีอายุ ๑๗ ขณะ จิต​เห็น​ต้อง​ดับ​ไป​ก่อน​จิตได้ยิน​จึง​เกิด​ขึ้น​ได้

ฉะนั้น ที่​ปรากฏ​เสมือน​ทั้ง​ได้ยิน​และ​เห็น​ด้วย​นั้น ก็​เพราะ​รูป​เกิด​ดับ​ปรากฏ​สืบ​ต่อ​ทั้ง​ทาง​จักขุ​ทวาร​วิถี และ​มโน​ทวาร​วิถี​มากมาย​โดย​มี​ภวังค์​คั่น ​จน​กระทั่ง​ปรากฏ​เป็น​คน​กำลัง​เดิน ​หรือ​ว่ากำลัง​ยกมือ ​และ​กำลัง​เคลื่อนไหว เป็นต้น แต่​เมื่อ​ไม่​ประจักษ์​การ​เกิด​ขึ้น​และ​ดับ​ไป​อย่างรวดเร็ว​ของ​นามธรรม​และ​รูป​ธรรม จึง​ยึดถือ​โดย​บัญญัติ​สิ่ง​ที่​ปรากฏ​นั้น​เป็น​คน​บ้าง เป็น​หญิงบ้าง ชาย​บ้าง วัตถุ​สิ่ง​นั้น​สิ่ง​นี้​บ้าง แต่​ควร​ระลึก​ว่า​ตั้งแต่​เริ่ม​ศึกษา​ปรมั​ตถ​ธรรม​นั้น​รู้​ว่า ปรมัตถ​ธรรม​เป็น​สภาพ​ธรรม​ที่​มี​จริง​ซึ่ง​ไม่ใช่​สัตว์ บุคคล ตัว​ตน ไม่ใช่​หญิง ไม่ใช่​ชาย ไม่ใช่​วัตถุ​สิ่งใดๆ ธรรม​ที่​เป็น​สัจ​จ​ธรรม​นั้น​ต้อง​เป็น​ความ​จริง​ตั้งแต่​ต้น​ไป​จน​ตลอดจนกว่า​จะ​อบรม​เจริญปัญญา​ขึ้น​ถึง​ขั้น​ประจักษ์​แจ้ง​สภาพ​ธรรม​ตาม​ที่​ชิน​หู​และ​พูด​ตาม​ว่า ปรมั​ตถ​ธรรม​เป็น​สิ่ง​ที่​มีจริง ​แต่​ไม่ใช่​สัตว์​บุคคล​ ตัว​ตน รส​มี​จริง แข็ง​มี​จริง บัญญัติ​รส​และ​แข็ง​นั้น​ว่า​องุ่น แต่​สิ่ง​ที่​มีจริง​คือ​รูป​เกิด​ขึ้น​แล้ว​ดับ​ไป เพราะ​ฉะนั้น จึง​ไม่มี​องุ่น ไม่มี​สัตว์​บุคคล มี​แต่​เพียง​รูป​ธรรม​และ​นามธรรม​ซึ่ง​เกิด​ดับ​สืบ​ต่อ​กัน​อย่าง​รวดเร็ว

ปรมั​ตถ​ธรรม​เป็น​ปรมั​ตถ​ธรรม ไม่ใช่​บัญญัติ การ​ศึกษา​และ​การ​ปฏิบัติ​ธรรม​จะ​ต้อง​ตรง​ตามที่​ได้​ศึกษา​แม้​ใน​ตอน​ต้น และ​ต้อง​ตรง​ต่อ​ลักษณะ​ของ​สภาพ​ธรรม​ตาม​ความ​เป็น​จริง เช่น ตามที่​ศึกษา​ว่า​ปรมั​ตถ​ธรรม​เป็น​อนัตตา​นั้น ก็​จะ​ต้อง​เข้า​ถึง​อรรถ​ของ​ปรมั​ตถ​ธรรม​ทั้ง​ขั้น​ของ​การ​ฟัง การ​พิจารณา การ​อบรม​เจริญ​ปัญญา จน​ประจักษ์​แจ้ง​ความ​จริง​ตาม​ที่​ได้​ศึกษา​แล้ว​ด้วย

ถ. เมื่อ​กี้​ที่​คุณ​ผู้​ฟัง​ถาม​ว่า บัญญัติ​ก็​เป็น​ของ​จริง​ใช่​ไหม ถ้า​จะ​พูด​ว่า ของ​จริง​ที่​ท่าน​แยก​ไว้​ว่าเป็น​ปรมั​ตถ​สัจจะ ​และ​สมมติ​สัจจะ บัญญัติ​จะ​เป็น​สมมติ​สัจจะ​ได้​ไหม

สุ. ได้ แต่​บัญญัติ​ไม่ใช่​ปรมัตถ์ อย่าง​ชื่อ​องุ่น ชื่อ​องุ่น​ไม่มี​รส​อะไร​ทั้ง​นั้น แต่​รส​เป็น​สภาพ​ธรรม​ที่มี​จริง ​และ​บัญญัติ​รส​นั้น​ว่า​เป็น​องุ่น


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
noynoi
วันที่ 29 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 20 ธ.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ