ความจริงแห่งชีวิต [164] ลักษณะของจิต - สามัญญลักษณะ ๑ สภาวะลักษณะ ๑

 
พุทธรักษา
วันที่  23 ก.ย. 2552
หมายเลข  13672
อ่าน  953

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้

ซึ่งข้อความในอรรถกถา​คัมภีร์กถา​วัตถุ สา​สนกถา​วรรณนา มีข้อความที่กล่าวว่า​ศาสนา​ของพระผู้มีพระภาคแต่งขึ้นใหม่แปลงขึ้นใหม่ได้หรือ
(นี่​เป็น​ข้อ​ที่​ทุก​ท่าน​ควร​พิจารณา)

อริยธรรมทั้งหลาย มีสติ เป็นต้นก็ดี เทศนา​แห่งกุศลธรรม เป็นต้น ก็ดี ชื่อว่าศาสนา ในศาสนา​นั้น เว้นธรรมทั้งหลายมีสติปัฏฐาน เป็นต้นที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ชนเหล่า​ใดแล้ว ศาสนา​ชื่อว่า​อันบุคคลนั้นทำขึ้นใหม่ โดยการกระทำธรรมเหล่า​อื่นให้เป็นสติปัฏฐาน เป็นต้น หรือกระทำอกุศลธรรมให้เป็นกุศลธรรม เป็นต้น หรือว่า​ศาสนา​อันใครๆ กระทำแล้วอย่างนั้น มีอยู่ หรือพึงอาจเพื่อทำสิ่งนั้นได้ มีหรือ

หมายความว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วนั้น คนอื่นสามารถที่จะแต่งขึ้นใหม่แปลงขึ้นใหม่ และเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมที่พระผู้พระภาคทรงแสดงแล้วว่า​เป็นสติปัฏฐาน ให้ไม่เป็นสติปัฏฐานได้หรือ หรือว่า​เทศนา​แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นต้น เหล่า​นี้ คนอื่นจะเอา​อกุศลธรรมมา​เป็นกุศลธรรม ได้หรือ

เมื่อพิจารณา​และเข้าใจเหตุผลแล้ว ก็จะรู้ได้ว่า​คำสอนซึ่งเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนสภาพธรรมทั้งหลายที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงให้เป็นอย่างอื่นได้ มีผู้เข้าใจผิดได้ แต่เปลี่ยนลักษณะที่แท้จริงของธรรมทั้งหลายไม่ได้

อรรถ คือ ความหมายของจิต ๕ ประการนั้น ในอภิธัมมัตถวิภา​วินีได้แสดงไว้ ๖ ประการ คือ แสดงว่า​จิตวิจิตร เพราะอารมณ์ที่วิจิตรด้วยอีก ๑ ประการ ทั้งนี้เพราะจิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ไม่ว่า​จะเป็นสภาพธรรมที่วิจิตรสักเพียงใดก็ย่อมเป็นอารมณ์ของจิตได้ และแม้อารมณ์นั้นจะไม่ใช่ปรมัตถธรรม เช่น คำบัญญัติภาษา​ต่างๆ จิตก็ย่อมรู้ได้ คือ มีชื่อ มีคำ มีเรื่องราวต่างๆ เป็นอารมณ์ได้ ฉะนั้น จิตจึงวิจิตรเพราะอารมณ์ที่วิจิตร

ลักษณะของจิตมี ๒ ประการ คือ สามัญญลักษณะ ๑ และสภาวลักษณะ ๑
สามัญ​ญ​ลักษณะ​ของ​จิต คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สภาว​ลักษณะ​ของ​จิต เป็นลักษณะเฉพาะของจิตคือ
อา​รมฺมณ​วิ​ชาน​นลกฺขณํ มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ
ปุพฺ​พงฺ​คม​รสํ มีการถึงก่อนคือมีความเป็นหัวหน้า คือ เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์เป็นรส คือ เป็นกิจ
สนฺธานปจฺ​จุปฏานํ มีการสืบเนื่องกัน คือ เกิดดับสืบต่อกันเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ
นา​มรูปปทฏานํ มีนามธรรมและรูปธรรมเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

จิตเป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นเองตามลำพังลอยๆ ไม่ได้ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตอาศัยนามธรรมและรูปธรรมเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ในภูมิซึ่งมีแต่นามธรรม คือ ในอรูปพรหมภูมินั้น ไม่มีรูปเลย ในภูมินั้นจิตจึงมีนามธรรม คือ เจตสิกเท่านั้น เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และ สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Komsan
วันที่ 23 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ