ความจริงแห่งชีวิต [149] การจำแนกจิต

 
พุทธรักษา
วันที่  15 ก.ย. 2552
หมายเลข  13543
อ่าน  1,220

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถาม พระอรหันต์มีอโสภณจิตไหม
ตอบ มี
ถาม พระอรหันต์มีอกุศลจิตไหม
ตอบ ไม่มี

พระอรหันต์มีอโสภณจิต แต่พระอรหันต์ไม่มีอกุศลจิต เพราะว่า​พระอรหันต์มีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นต้น ซึ่งเป็นอโสภณจิต แต่พระอรหันต์ไม่มีอกุศลจิตและกุศลจิต

เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เป็นอัญญสมา​นา​เจตสิก คือ เจตสิกที่เสมอกับจิตและเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วย ๑๓ ประเภทเป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท เป็นโสภณเจตสิก ๒๕ ประเภท ถ้า​ไม่ใช้คำว่า โสภณะ อโสภณะ แต่ใช้ภาษา​ไทย ความหมายจะไม่ตรงกับสภาพธรรมที่เป็นโสภณะและอโสภณะ เช่น ถามว่า​เวทนา​เจตสิกดีไหม มีท่านหนึ่งตอบว่า เมื่อเป็นสุขเวทนา​ก็ดี สุขเวทนา​โดยนัยของเวทนา ๕ หมายถึง เวทนา​เจตสิกที่เกิดเฉพาะกับกายวิญญาณที่เป็นกุศลวิบากในขณะที่กระทบกับอารมณ์ที่น่า​สบายกาย สุขสหคตํ กายวิญฺญาณํ กุสลวิปากํ ไม่มีโสภณเจตสิก คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ปัญญา​เจตสิก เป็นต้น เกิดร่วมด้วย ฉะนั้น โดยสภาพธรรม สุขเวทนา​ที่เกิดกับกายวิญญาณกุศลวิบากนั้นเป็นอโสภณะไม่ใช่โสภณะ ด้วยเหตุนี้ การศึกษา​ธรรมจึงต้องเข้าใจสภาพธรรมให้ตรงตามพระบาลี มิฉะนั้นจะทำให้เข้าใจสภาพธรรมผิดได้

ถ้า​มีคำถามว่า รูปที่กำลังปรากฏทางตา​ขณะนี้ดีหรือไม่ดี คำตอบภาษา​ไทยก็ไม่ชัดเจน เพราะถึงแม้ว่า​รูปจะผ่องใสสวยงามน่า​ยินดีพอใจ แต่รูปก็ไม่ใช่โสภณธรรม เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่กุศล อกุศล รูปไม่มีเมตตา กรุณา มุทิตา หรือสภาพธรรมใดซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดีงามเกิดร่วมด้วยเลย จิตึและเจตสิกเท่านั้นที่เป็นโสภณะหรืออโสภณะ รูปเป็นอารมณ์ที่เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น พอใจหรือไม่พอใจรูปนั้นๆ โดยที่รูปเองเป็นอัพยากตธรรม รูปไม่รู้อะไรเลย รูปไม่รู้ว่า​จิตชอบหรือไม่ชอบรูปนั้น และรูปเองก็ไม่มีเจตนา​ที่จะให้จิตชอบหรือไม่ชอบรูป เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่จิตต้องการเห็นรูป ต้องการได้ยินเสียง ต้องการได้กลิ่นหอมๆ ต้องการกระทบสัมผัสสิ่งที่น่า​พอใจ เพื่อความรู้สึกที่เป็นสุขจะได้เกิดขึ้นซ้ำอีก เมื่อเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น กระทบสัมผัสทางกาย หรือแม้เพียงคิดนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทางใจทุกๆ วัน ฉะนั้น จึงมีคำอุปมา​เปรียบเทียบขันธ์ ๕ ว่า รูปขันธ์เหมือนกับภาชนะที่รองรับสิ่งที่นำมา​ซึ่งความรู้สึกยินดี เวทนา​ขันธ์เหมือนอาหารที่อยู่ในภาชนะนั้น สัญญา​ขันธ์และสังขารขันธ์เหมือนพ่อครัวและผู้ช่วยปรุงอาหาร วิญญาณขันธ์เป็นผู้บริโภคอาหาร เพราะจิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์นามขันธ์ทั้ง ๔ ต้องเกิดร่วมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และไม่แยกกันเลยสักนามขันธ์เดียว จะมีแต่นามขันธ์ ๑ ขาดนามขันธ์ ๓ ไม่ได้ จะมีนามขันธ์ ๒ ขาดนามขันธ์ ๒ ไม่ได้ จะมีนามขันธ์ ๓ ขาดนามขันธ์ ๑ ไม่ได้ และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นั้น นามขันธ์ต้องอาศัยรูปขันธ์จึงจะเกิดขึ้นได้

การศึกษา​ธรรมเรื่องจิตประเภทต่างๆ นั้นเพื่อรู้ชัดลักษณะของจิตซึ่งจำแนกโดยประเภทต่างๆ คือ จำแนกโดยชาติ ๔ โดยหมวด ๓ โดยเหตุ โดยอสังขาริก สสังขาริก โดยโสภณะ อโสภณะ โดยประกอบด้วยเจตสิกต่างกันอย่างไรบ้างนั้น ก็เพื่อให้สติเกิดขึ้นระลึกพิจารณา​รู้สภาพที่เป็นอนัตตา​ของธรรมทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล และลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นก็เป็นลักษณะของรูปธรรมแต่ละอย่าง นามธรรมแต่ละอย่าง เช่น ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตา​ก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ทางลิ้นก็อย่างหนึ่ง ทางกายก็อย่างหนึ่ง ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง ลักษณะของจิตที่เป็นอกุศลก็อย่างหนึ่ง ลักษณะของจิตที่เป็นอัพยากตะก็อย่างหนึ่ง ความรู้ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายเพิ่มขึ้น ย่อมเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่า​จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และ สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ