คุณสมบัติของพระผู้ครองกฐิน

 
Zer02
วันที่  22 ส.ค. 2552
หมายเลข  13305
อ่าน  37,078

นมัสการครับ เจริญพรจ้า กลับมาอีกแล้วครับสำหรับตัวเจ้าปัญหาคนเดิม

"พระ ไพศาล สุภทฺโท" เข้าเรี่องเลยครับ คือตอนนี้กระผมเองถูกกำหนดตัวให้เป็นองค์ครองกฐินแล้ว (อันที่จริงผมก็รู้ตัวว่าคุณสมบัติยังไม่ถึง ผมเองยังเป็นผู้ใหม่อยู่ความรู้ยังน้อยรู้ก็แค่หางอึ่ง) แต่ผมยังไม่เข้าใจในส่วนของโวหารที่ว่า"ภิกษุรูปใดประกอบด้วยศีลสุตาธิคุณ มีสติปัญญาสามารถ รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพกรณ์ เป็นต้น" ส่วนสีแดงที่ขีดเส้นไต้นี้แหละที่ผมไม่ค่อยเข้าใจ เคยอ่านในพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวงสมโภช ๒๐๐ ปี "เรื่องกฐินขันธกะ" แต่ก็ต้อง "งง" กับสำนวนภาษาเก่าผมไม่ค่อยเข้าใจที่ว่ารู้ธรรม ๘ ประการดังกล่าวนั้น คือ รู้จักมาติกาหรือครับ แล้วบุพกรณ์ เป็นเรื่องของการตระเตรียมการหรือครับ ปัจจุบันนี้ ก็เป็นไตรสำเร็จแล้ว ถ้าไม่ทำตามอพุทธานุ-ญาตอันมีเหตุเนื่องมาจาก"โลกวิวัฒนาก้าวหน้าไป" (ไม่ใส่ใจเท่าที่ควร) จะเป็นการบกพร่องหรือไม่ครับ สรุปคือตอนนี้ผมควรจะเตรียมตัวอย่างไรดีครับจึงจะสมควรแก่การเป็นผู้ครองกฐิน (ถึงผมเรียนมาน้อยแต่ผมก็ไม่เคยคิดที่จะปล้นศรัทธาของญาติโยมเลย และผมก็อยากเอื้อเฟื้อพระวินัยในส่วนที่คนรู้น้อยอยางผมยังพอจักขวนขวายทำได้ ทำให้ถูกต้อง)

ผมจึงต้องขอความกรูณาจากท่านผู้รู้ครูบาอาจารย์ จงได้โปรดเมตตาตอบปัญหาชี้แนวทางในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัยแก่ผมด้วย (ขอเป็นแบบอัตถาธิบายภาษาที่เข้าใจงายนะครับ) เพื่อให้ผมได้เกิดมีปัญญากับเข้าบ้าง

สุดท้ายนี้ก็ขอกล่าวคำขอบพระคุณต่อทุกๆ ท่านไว้ล่วงหน้าที่ได้ให้คำชี้แนะ มานะที่นี้ด้วยครับ

พระ ไพศาล สุภทฺโท


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 24 ส.ค. 2552

ขอเรียนกราบนมัสการพระคุณเจ้าว่า กฐิน เป็นวินัยกรรมที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตแก่พระสาวก เพื่อการเปลี่ยนผ้าในช่วงจีวรกาล เพราะในยุคนั้นเรื่องการทำจีวรเป็นเรื่องยุ่งยากมาก พระภิกษุท่านต้องทำการตัดเย็บย้อมเอง และผ้ากฐินก็เป็นเพียงผ้าผืนเดียวที่ทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าญาติโยมถวายแก่สงฆ์เสร็จแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องของคณะสงฆ์ซึ่งถ้าหากทำไม่ถูกตามวินัย ก็ไม่เกี่ยวกับญาติโยมว่าจะทำให้เขาได้บุญน้อยแต่อย่างใดเพราะเขาแก่ถวายสงฆ์แล้ว ส่วนผู้ควรครองผ้ากฐิน ตามหลักพระวินัยก็ว่า ถ้าสงฆ์ให้แก่ภิกษุรูปใด รูปนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้กรานกฐิน ภิกษุผู้อนุโมทนาก็ชื่อว่าเป็นผู้กรานกฐิน

เช่นเดียวกัน ส่วนคุณสมบัติของผู้ควรครองผ้ากฐิน ตามหลักก็ว่าต้องเป็นพระภิษุผู้มีจีวรเก่า เป็นพระเถระ เป็นพหูสูต เข้าใจเรื่องกฐินเป็นอย่างดี แต่ถ้าไม่มีภิกษุที่มีคุณเช่นนั้น ก็สุดแล้วแต่ทางคณะสงฆ์ ซึ่งความจริงก็ไม่ต้องไปกังวลอะไรมากกับกฐินเลยถ้าท่านประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยอย่างถูกต้องทั้งหมด ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องอานิสงส์ของกฐินเลย เพราะที่ทรงอนุญาตลดผ่อนสิกขาบทบางข้อ เพื่อการทำจีวรให้สะดวกเท่านั้นเองครับ

สำหรับรายละเอียดขอเชิญคลิกอ่านที่ ...

ผู้ควรกรานกฐิน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
suwit02
วันที่ 24 ส.ค. 2552

ขออนุญาตเรียนเสริมความเห็นที่ 1 เพื่อตอบคำถามที่ว่า บุพกรณ์ เป็นเรื่องของการตระเตรียมการหรือครับ

บุพพกรณ์ สงเคราะห์ด้วยธรรม ๗ อย่าง คือ ซักผ้า ๑ กะผ้า ๑ ตัดผ้า ๑ เนาผ้า ๑ เย็บผ้า ๑ ย้อมผ้า ๑ ทำกัปปะพินทุ ๑ (ผมเข้าใจว่า ปัจจุบันนี้ น่าจะเหลือภาระเพียง ทำกัปปะพินทุ)

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prachern.s
วันที่ 24 ส.ค. 2552
ปัจจุบันนี้การกรานกฐินบางแห่งก็ยังมีการทำเหมือนสมัยครั้งพุทธกาลครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 24 ส.ค. 2552

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
BudCoP
วันที่ 24 ส.ค. 2552

นมตฺถุ รตนตฺยสฺส - ข้าน้อมไตรรัตนะ นมัสการครับ

มาลองดูกันครับ ว่า กฐิน ง่ายจริงหรือไม่ จะขอยกตัวอย่างเล็กน้อยครับ.

1. ตัดผ้า ผ้ากฐิน ถ้าไม่ตัดเป็นขันธ์ ก็อธิษฐานเป็นผ้าครองไม่ได้ ฉะนั้น บุพพกรณ์ข้อที่ว่า "ตัดผ้า" นั้น ถ้าโยมไม่ฉลาด เตรียมจักร กรรไตรตัดผ้า กับเข็มเลาะผ้าไว้ได้เลย โยมกลับก็ชวนพระทั้งวัดมารุมสะกำผ้ากัน, เพราะร้านสมัยนี้ มีไม่กี่ร้านที่ตัดผ้าให้นะครับ ส่วนใหญ่เย็บหลอกครับ. ส่วนร้านที่ตัดจริงๆ ก็ชุดละ สองพันแปดร้อยบาทขึ้นไป ครับ ดูแถว วัดอโศการาม, หน้าวัดเศวก ทางไปมูลนิธิก็ได้ ครับ ถ้าโยมงบน้อย จะเอาแต่สบงมาทำเป็นผ้ากฐินก็ได้เหมือนกัน เพราะกฐินนั้นนับผ้าแค่ผืนเดียว.

2. สีของผ้า สีของผ้าที่ใช้กันปัจจุบัน บางสีไม่ถูกวินัยนะครับ, ฉะนั้น ถ้าโยมไม่ฉลาด ก็เตรียมสีกลัก, เตาไฟ, ฝืน, ไม้ขีด, ไม้เคี่ยว เป็นต้นไว้ได้เลยครับ กะว่าโยมกลับหมดก็ต้มเลยเช่นกัน.

3. สังฆกรรม สวดญัตติทุติยกรรมวาจา ฐานกรณ์ถูกหรือไม่

4. สังฆกรรม ได้หัตถบาสหรือเปล่า

5. สังฆกรรม สีมาวิบัติไหม

6. สังฆกรรม บริษัทวิบัติไหม

ฯลฯ

สังฆกรรม นี้เรื่องใหญ่ที่สุด ถ้าที่ประชุมทำไม่ได้มาตรฐาน ก็เอาเป็นผ้าป่าไปแทนแล้วกัน. วินัยลึกซึ่งโดยการปฏิบัตินะครับ ฉะนั้น อาจไปดูงานที่วัดหาดใหญ่สิตาราม (หาดใหญ่) วัดจากแดง (พระประแดง-สุดสาย 6, 82 ที่ไปมูลนิธินั่นเอง) วัดพระธาตุหนองสามหมื่น (ชัยภูมิ) วัดหนองปลิง (ฉะเชิงเทรา) วัดเขาดินหนองแสง (จันทบุรี) วัดเขาสนามชัย (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้นก็ได้ครับ. ทั้งนี้ เพื่อจะได้เป็นแบบอย่าง หรือหาหนังสือ กฐินเณรน้อย กฐินมีปัญหา เป็นต้น มาอ่าน ก็พอช่วยได้ครับ แต่ถ้าจะเอาให้ถูกจริงๆ ต้องท่องพระไตรปิฎกนั่นแหละครับ จะได้ทำได้เรียบร้อย.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
suwit02
วันที่ 25 ส.ค. 2552

ถ้าถวายจีวรเย็บหลอก พระท่านคงมีภาระมากกว่าถวายผ้าธรรมดาซะอีก

ขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Phonphirom
วันที่ 4 ต.ค. 2563

องค์คุณแห่งผู้รับกฐิน

องค์คุณแห่งภิกษุผู้ควรรับผ้ากฐิน ในคัมภีร์ปริวารกล่าวว่า ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ควรกรานกฐิน ธรรม ๘ ประการ นั้นคือ

(๑) รู้จักบุพพกรณ์ ๗ ประการ ได้แก่ ซักผ้า ๑ กะผ้า ๑ ตัดผ้า ๑ เนาผ้า ๑ เย็บผ้า ๑ ย้อมผ้า ๑ พินทุผ้า ๑

(๒) รู้จักถอนไตรจีวร วิธีถอนไตรจีวร (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยก ผ้าเก่าทับผ้าใหม่ แล้วกล่าวคำถอนว่า “อิมํ สงฺฆาฏิ ปจฺจุทธรามิ อิมํ อุตฺตราสงฺคํ ปจฺจุทธรามิ อิมํ อนฺตรวาสกํ ปจฺจุทธรามิ” (จะถอนผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)

(๓) รู้จักอธิษฐานไตรจีวร การอธิษฐานผ้าใหม่ (ธรรมเนียมโบราณ) ท่านให้ยก ผ้าใหม่ทับผ้าเก่า แล้วกล่าวคำอธิษฐานว่า “อิมํ สงฺฆาฏิอธิฏฐามิ, อิมํ อุตฺตราสงฺคํ อธิฏฐามิ, อิมํ อนฺตรวาสกํ อธิฏฐามิ” (จะอธิษฐานผืนใด พึงกล่าวแต่ผืนนั้นโดยเฉพาะ)

(๔) รู้จักกรานกฐิน (ตามข้อความการกรานกฐิน)

(๕) รู้จักมาติกา คือหัวข้อแห่งการเดาะกฐิน มาติกา ๘ ลักษณะข้อกำหนดในการเดาะกฐิน การเดาะกฐิน หมายถึงการรื้อหรือการทำกฐินให้เสียหาย จนเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกอานิสงส์กฐิน ที่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาต้นครบ ๓ เดือนแล้ว จะพึงได้รับตามพุทธานุญาต สาเหตุของการเดาะกฐิน มี ๘ ประการ คือ

๕.๑ ปกฺกมนฺติกา กำหนดด้วยการหลีกไป หมายถึง ภิกษุนำจีวรที่ทำเสร็จแล้วหลีกไปโดยไม่คิดจะกลับมาอีก

๕.๒ นิฏฺฐานนฺติกา กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จแล้ว หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปอยู่ภายนอกสีมาโดยคิดว่า“ จะให้ทำจีวรที่ภายนอกสีมานี้แหละ โดยจะไม่กลับมาอีก ”แล้วให้ทำจีวรนั้นจนแล้วเสร็จ

๕.๓ สนฺนิฏฐานนฺติกา กำหนดด้วยตกลงใจ หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปอยู่ภายนอกสีมา โดยตกลงใจหรือตัดสินใจว่า “จะไม่ให้ทำจีวรนี้ และจะไม่กลับมาอีก”

๕.๔ นาสนนฺติกา กำหนด้วยผ้าเสียหาย หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปอยู่ภายนอกสีมาโดยคิดว่า “จะให้ทำจีวรภายนอกสีมานี้แหละ และจะไม่กลับมาอีก” แต่ในขณะทำจีวรนั้น จีวรเกิดเสียหายเสียก่อน

๕.๕ สวนนฺติกา กำหนด้วยได้ทราบข่าว หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปโดยคิดว่า “จะกลับมา” แต่ในขณะที่ทำจีวรอยู่ภายนอกสีมาจนแล้วเสร็จนั้น ก็ได้ทราบข่าวว่า “ในอาวาสนั้นกฐินเดาะเสียแล้ว”

๕.๖ อาสาวจฺเฉทิกา กำหนด้วยสิ้นหวัง หมายถึง ภิกษุหลีกออกไปโดยหวังว่า “จะได้จีวร” แม้ในขณะที่อยู่ภายนอกสีมาก็ยังคิดว่า “จะเข้าไปยังที่ซึ่งมีความหวังว่าจะได้จีวร จะไม่กลับมาอีก” แต่เมื่อเข้าไปยังที่นั้นแล้ว ความหวังว่าจะได้จีวรของเธอกลับสิ้นสุดลง

๕.๗ สีมาติกกนฺติกา กำหนดด้วยล่วงเขต หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปโดยคิดว่า “จะกลับมา” แต่ในขณะที่ทำจีวรอยู่ภายนอกสีมาจนแล้วเสร็จ และคิดว่า “จะกลับมา จะกลับมา” ปรากฎว่ากลับมาไม่ทันเขตกฐิน

๕.๘ สหุพฺภารา กำหนด้วยเดาะพร้อมกัน หมายถึง ภิกษุนำจีวรหลีกออกไปโดยคิดว่า “จะกลับมา” แต่ในขณะที่ทำจีวรอยู่ภายนอกสีมาจนแล้วเสร็จ และคิดว่า “จะกลับมา จะกลับมา” ในขณะที่กำลังกลับมาถึงอาวาสนั้นเอง ปรากฏว่าสงฆ์ภายในวัด พร้อมใจกันเดาะกฐินเสียแล้ว ดังนั้น การเดาะกฐินหรือการทำกฐินให้เสียหาย ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ย่อมทำให้อานิสงส์กฐิน ที่จะพึงได้รับตามพุทธานุญาต สูญสิ้นไปโดยสิ้นเชิง

(๖) รู้จักปลิโพธ กังวลเป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน ปลิโพธ มี ๒ ประการคือ

๖.๑ อาวาสปลิโพธ

๖.๒ จีวรปลิโพธ ภิกษุกรานกฐินแล้วมีกังวลอาลัยอยู่ในอาวาส หรือหลีกไปผูกใจอยู่ว่าจะกลับมา ชื่อว่ายังมี “อาวาสปลิโพธ” ภิกษุยังไม่ได้ทำจีวรเลย หรือทำค้างอยู่ หรือหายไปเวลาทำ แต่ยังไม่สิ้นความหวังที่จะได้จีวรอีก ชื่อว่ายังมี “จีวรปลิโพธ” ถ้าตรงกันข้ามทั้ง ๒ ปลิโพธ นั้น เป็นสิ้นเขตจีวรกาล เรียกว่า “ กฐินเดาะ ”

(๗) รู้จักการเดาะกฐิน มีความรู้หลายประการที่ควรรู้เช่น รู้จักกฐินเป็นอันกราน กับกฐินไม่เป็นอันกราน (กฐินเดาะ)

๗.๑ กฐินเป็นอันกราน หมายถึง การกรานกฐินที่ปฏิบัติได้ถูกต้องตามพุทธานุญาต มี ๑๗ ประการคือ ๗.๑.๑ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าใหม่

๗.๑.๒ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเทียมใหม่

๗.๑.๓ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าเก่า

๗.๑.๔ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าบังสกุล

๗.๑.๕ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ตกตามร้าน

๗.๑.๖ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ทำนิมิตได้มา

๗.๑.๗ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้พูดเลียบเคียงได้มา

๗.๑.๘ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้ยืมเขามา

๗.๑.๙ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ได้เก็บไว้ค้างคืน

๗.๑.๑๐ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่เป็นนิสสัคคีย์

๗.๑.๑๑ กฐินเป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำพินทุ

๗.๑.๑๒ กฐินเป็นอันกราน ด้วยสังฆาฏิ

๗.๑.๑๓ กฐินเป็นอันกราน ด้วยอุตตราสงค์

๗.๑.๑๔ กฐินเป็นอันกราน ด้วยอันตรวาสก

๗.๑.๑๕ กฐินเป็นอันกราน ด้วยจีวรมีขันธ์ ๕ หรือเกิน ๕ ที่ตัดดีแล้วทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น

๗.๑.๑๖ กฐินเป็นอันกราน เพราะมีบุคคลกราน

๗.๑.๑๗ กฐินเป็นอันกรานโดยชอบ ถ้าภิกษุผู้อยู่ในสีมาอนุโมทนากฐินนั้น

๗.๒ กฐินไม่เป็นอันกราน (กฐินเดาะ) หมายถึง การกรานกฐินที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพุทธานุญาต มี ๒๔ ประการคือ

๗.๒.๑ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงมีรอยขีด

๗.๒.๒ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงซักผ้า

๗.๒.๓ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงกะผ้า

๗.๒.๔ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงตัดผ้า

๗.๒.๕ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเนาผ้า

๗.๒.๖ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงเย็บผ้า

๗.๒.๗ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำลูกดุม

๗.๒.๘ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงทำรังดุม

๗.๒.๙ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาต

๗.๒.๑๐ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงติดผ้าอนุวาตด้านหน้า

๗.๒.๑๑ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงดามผ้า

๗.๒.๑๒ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยอาการเพียงย้อมผ้าเป็นสีหม่น

๗.๒.๑๓ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา

๗.๒.๑๔ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา

๗.๒.๑๕ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ยืมเขามา

๗.๒.๑๖ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เก็บไว้ค้างคืน

๗.๒.๑๗ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์

๗.๒.๑๘ กฐินไม่เป็นอันกราน ด้วยผ้าที่ไม่ทำพินทุ

๗.๒.๑๙ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากสังฆาฏิ

๗.๒.๒๐ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากอุตตราสงค์

๗.๒.๒๑ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากอันตรวาสก

๗.๒.๒๒ กฐินไม่เป็นอันกราน เว้นจากจีวรมีขันธ์๕ หรือเกิน ๕ ซึ่งตัดดีแล้วทำให้มีมณฑลเสร็จในวันนั้น

๗.๒.๒๓ กฐินไม่เป็นอันกราน เพราะเว้นจากบุคคลกราน

๗.๒.๒๔ กฐินไม่เป็นอันกราน ถ้าภิกษุผู้อยู่นอกสีมาอนุโมทนากฐินนั้น

ดังนั้น กฐินที่เป็นอันกราน หมายถึง ได้กรานกฐินถูกต้องตามพุทธานุญาต ภิกษุผู้กรานกฐิน ย่อมมีสิทธิได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ ส่วนกฐินไม่เป็นอันกราน หมายถึง มิได้กรานกฐินให้ถูกต้องตามพุทธานุญาต จะมิได้รับอานิสงส์ของกฐินแต่ประการใด

(๘) รู้จักอานิสงส์กฐิน คือรู้จักอานิสงส์ของกฐิน ๕ ประการที่พระภิกษุจะพึงได้รับจากการจำพรรษา และได้กรานกฐินถูกต้องตามพระธรรมวินัยเรียบร้อยแล้ว ดังแสดงไว้ในเรื่องปฐมเหตุการทอดกฐิน

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 9 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
talay_thailand
วันที่ 21 ก.ย. 2566

ขอถามหน่อยครับ มีพระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งแนะนำพระที่จำพรรษาอยู่ 4 รูป ให้ครองผ้ากฐินทุกรูป มันมีวินัยข้อไหนที่บ่งบอกให้ทำได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 2 พ.ย. 2566
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ