ความจริงแห่งชีวิต [104] ลักษณะ ที่เป็น สัมปยุตตธรรม

 
พุทธรักษา
วันที่  22 ส.ค. 2552
หมายเลข  13302
อ่าน  879

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อรรถ​ของ​จิต ๔ ประการ คือ

๑. ที่ชื่อว่า "จิต" เพราะ​เป็น​สภาพ​ธรรม​ที่​รู้​แจ้ง​อารมณ์
๒. ที่ชื่อว่า "จิต" เพราะ​สั่งสม​สันดาน​ของ​ตน​ด้วย​สามารถ​แห่ง​ชวน​วิถี
๓. ที่ชื่อว่า "จิต" เพราะ​เป็น​สภาพ​ธรรม​อัน​กรรม ​กิเลส​สั่งสม​วิบาก
๔. อนึ่ง จิตแม้ทุกดวงชื่อว่า "จิต" เพราะ​เป็น​ธรรมชาติ​วิจิตร​ตาม​สมควร​โดย​อำนาจ​แห่งสัมปยุต​ต​ธรรม

วิจิตร คือ ต่างๆ ไม่เหมือนกัน และที่วิจิตร คือ ต่างๆ กันนั้น โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

ต้องมีเหตุที่ทำให้จิตต่างกัน ฉะนั้น อะไรเป็นเหตุให้จิตต่างกัน จิตเป็นสังขารธรรม เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นโดยมีเจตสิกเป็นปัจจัยปรุงแต่ง เจตสิกเป็นปรมัตถธรรมอีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต ฉะนั้น เจตสิกซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมที่เกิดกับจิตนั่นเองทำให้จิตต่างๆ กันไป

จิตของแต่ละท่านต่างกันมากตามที่สะสมมา​ในอดีต จึงเป็นเหตุให้ผล คือวิบากในปัจจุบันนี้ต่างกัน ไม่ว่า​จะมีสัตว์ บุคคล มากน้อยสักเท่าไรในโลก ก็ย่อมต่างกันไปตามกรรม ตามความวิจิตรของเหตุตั้งแต่รูปร่างหน้าตา​ จนกระทั่งถึงการได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ สรรเสริญ นินทา ซึ่งล้วนแต่เป็นผลซึ่งเกิดจากเหตุในอดีตที่ต่างกัน เหตุในอดีตทำให้ผลในปัจจุบันต่างกันตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีวิต ไม่มีใครรู้ว่า​แต่ละคนจะจากโลกนี้ไปวันไหน เวลา​ใด โดยอาการอย่างไร นอกบ้านหรือในบ้าน บนบก ในน้ำ หรือกลางอากาศ ด้วยโรคภัยไข้เจ็บ หรืออุบัติเหตุอย่างใด ก็ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ซึ่งก็ย่อมเป็นไปตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว และไม่ใช่วิบากในปัจจุบันเท่านั้นที่ต่างกัน แม้เหตุ คือ ความ​วิจิตร​ของ​จิต​ซึ่ง​เป็น​เหตุ​ในปัจจุบัน​ชาติ​นี้​ก็​ยัง​ต่าง​กัน​อีก จึง​ทำให้​วิบาก คือผล​ข้าง​หน้าที่​จะ​เกิด​ขึ้น​นั้น​ต่าง​กัน​ออก​ไป​อีก​ด้วย

ความวิจิตร คือ ความต่างกันของจิตนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ตามสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ฉะนั้น จึงควรเข้าใจความหมายของสัมปยุตตธรรม ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑ จิต​และ​เจตสิก​เป็น​สภาพ​ธรรม​ซึ่ง​เกิด​ร่วม​กันพร้อม​กัน ปราศจาก​กัน​ไม่​ได้ แยก​กัน​ไม่​ได้ เมื่อ​เกิด​ขึ้น​พร้อม​กัน​แล้ว​ก็​ดับ​พร้อม​กัน รู้อารมณ์​เดียวกัน เกิด​ที่​รูป​เดียวกัน (ใน​ภูมิที่​มี​ขันธ์๕) นั้น​คือ​ลักษณะ​ที่​เป็น​สัมปยุต​ตธรรม


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ คุณแม่ และสรรสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 23 ส.ค. 2552

อนึ่ง "จิต" แม้ทุกประเภทชื่อว่า "จิต" เพราะ เป็นธรรมชาติ วิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
noynoi
วันที่ 23 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ