ความจริงแห่งชีวิต [91] สังสารวัฏฏ์ คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์

 
พุทธรักษา
วันที่  16 ส.ค. 2552
หมายเลข  13225
อ่าน  1,585

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สังสารวัฏ​ฏ์ มี ๓ อย่าง คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์

กิเลส​วัฏฏ์ เกิดขึ้นวนเวียนทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และสั่งสมสันดานสืบต่อเป็นเหตุให้กระทำกัมมวัฏฏ์ คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรม ทางกาย วาจา ใจ กัมมวัฏฏ์ เป็นปัจจัยให้เกิด วิ​ปาก​วัฏฏ์ และเมื่อวิบากจิตเกิดขึ้น รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั้น ก็ไม่ปราศจา​กกิเลสวัฏฏ์อีก เพราะยังมีความยินดียินร้ายในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อมีกิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรมบ้าง กุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมและกุศลกรรมนั้น ก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากจิตและกุศลวิบากจิตไม่รู้จบ ตราบใดที่ปัญญา​ไม่ได้อบรมจนเจริญคมกล้า​ สามารถประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรม สังสารวัฏฏ์ทั้ง ๓ คือ กิเลสวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์ ก็จะต้องเกิดขึ้นวนเวียนไปเรื่อยๆ


โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕

ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...

ปรมัตถธรรมสังเขป

ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...

ความจริงแห่งชีวิต

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศล แด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 16 ส.ค. 2552

ขอเรียนถามค่ะ

กัมมวัฏฏ์ คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรม ทางกาย ทางวาจา และทางใจ กุศลกรรม และอกุศลกรรม (กรรม) ทางใจ หมายถึงขณะไหน อย่างไรคะ พระอรหันต์ คือ ผู้ที่มีแต่กัมมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์ ใช่ไหมคะ การพ้นจากสังสารวัฏฏ์ หมายถึง การดับขันธปรินิพพานของพระอรหันต์เท่านั้น ใช่ไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 17 ส.ค. 2552

โดยนัยอกุศลกรรมบถ ๑๐ อกุศลกรรมทางใจ คือ อภิชฌา พยาปาท มิจฉาทิฏฐิ

ส่วนกุศลกรรมทางใจ คือ อนภิชฌา อัพพยาปาท สัมมาทิฏฐิ

พระอรหันต์ ชื่อว่า เป็นผู้ทำลายซี่กรรมของวัฏฏะได้ทั้งหมดแล้ว เมื่อท่านยังไม่ปรินิพพาน ยังมีวิบากเหลืออยู่ แต่ไม่เป็นปัจจัยแก่กรรม และกิเลสอีกแล้ว ชื่อว่า วัฏฏะเป็นอันถูกทำลายแล้วครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 17 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 17 ส.ค. 2552

หมายความว่า ในชีวิตจริงๆ อกุศลกรรมทางใจ คือ ขณะที่เกิดความโลภ ความพยาบาท และความเห็นผิดขณะนั้น ชื่อว่า ล่วงอกุศลกรรมบถ แล้วหรือคะ เคยเข้าใจ ว่า (กรรม) การกระทำ คือ ทางกาย ทางวาจา เท่านั้น ซึ่ง หากครบองค์ ก็เป็นปัจจัยนำเกิดในอบายภูมิได้ ส่วนอกุศลธรรมที่ไม่ได้ล่วงออกมาทางกาย ทางวาจา สั่งสมอยู่ในจิต (ใจ) จึงไม่เข้าใจ ว่า เหตุใด กรรมทางใจนั้น เป็น "อกุศลกรรมบถ" กรุณาแนะนำด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วิริยะ
วันที่ 17 ส.ค. 2552

อยากทราบว่า คำว่า อภิชฌา หมายความว่าอะไรคะ

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 17 ส.ค. 2552

คำว่า อภิชฌา คือการเพ่งเล็ง อยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตนค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 18 ส.ค. 2552

ขอขอบคุณ และ ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Sam
วันที่ 18 ส.ค. 2552

เรียน ความคิดเห็นที่ 4 ครับ

ขอเชิญศึกษาความละเอียดของ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ที่กระทำสำเร็จ ทาง กายทวาร วจีทวาร และมโนทวาร ได้ที่หัวข้อนี้ครับ

อยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับมโนกรรมที่กระทำสำเร็จได้ 3 ทาง

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พุทธรักษา
วันที่ 18 ส.ค. 2552

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 279

ก็แต่ในกาลใด บุคคลมีจิตสหรคตด้วยอภิชฌา (๑) ยังส่วนแห่งกายให้ไหว กระทำกิจมีการถือเอาด้วยมือเป็นต้น มีใจสหรคตด้วยพยาบาท (๒) มีการถือไม้เป็นต้น มีใจสหรคตด้วยมิจฉาทิฏฐิ (๓) คิดว่า พระขันธกุมาร พระศิวะประเสริฐที่สุด จึงทำกิจมีการอภิวาท อัญชลีกรรม และตกแต่งตั่งน้อยสำหรับภูต เพื่อพระศิวะนั้น ในกาลนั้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นกายทวาร มโนกรรมที่เป็นอกุศลย่อมตั้งขึ้นในกายทวาร ด้วยประการฉะนี้ แต่เจตนาในที่นี้เป็นอัพโพหาริก.

ในกาลใด บุคคลมีใจสหรคตด้วยอภิชฌา ยังส่วนแห่งวาจาให้ไหวเพ่งดูอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นโดยพูดว่า โอหนอ ของผู้อื่นพึงเป็นของเราดังนี้ มีใจสหรคตด้วยพยาบาท กล่าวว่า ขอสัตว์เหล่านี้ถูกเบียดเบียน จงถูกฆ่า จงขาดสูญ หรือว่า จงอย่าได้มี ดังนี้ มีใจสหรคตด้วยมิจฉาทิฏฐิ ย่อมกล่าวว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้วไม่มีผลเป็นต้น ในกาลนั้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นวจีทวาร มโนกรรมย่อมตั้งขึ้นในวจีทวาร ด้วยประการฉะนี้ เจตนาในที่นี้ก็เป็น อัพโพหาริก.

ก็ในกาลใด บุคคลไม่ยังส่วนแห่งกายวาจาให้ไหว นั่งแล้ว ในที่ลับ ให้จิตทั้งหลายเกิดขึ้นสหรคตด้วยอภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ ในกาลนั้นกรรมเป็นมโนกรรม แม้ ทวารก็เป็นมโนทวารเหมือนกัน มโนกรรมที่เป็นอกุศลย่อมตั้งขึ้นในมโนทวาร ด้วยประการฉะนี้. ก็ในที่นี้ เจตนาก็ดี ธรรมที่สัมปยุตด้วยเจตนาก็ดี ย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารเท่านั้น มโนกรรมที่เป็นอกุศล บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารแม้ทั้ง ๓ ดังพรรณนามาฉะนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
พุทธรักษา
วันที่ 18 ส.ค. 2552

ขอความกรุณา คุณ K หรือ สหายธรรมท่านอื่นก็ได้ ช่วยขยายความ ตามที่ท่านเข้าใจ ด้วยค่ะ

๑. อัพโพหาริก แปลว่าอะไรคะ

๒. กรุณาอธิบาย ข้อความที่ขีดเส้นใต้ ด้วยค่ะ

และขอเรียนถามว่า

มโนกรรมที่เป็นอกุศล เป็นอกุศลกรรมบถ ใช่ไหมคะ ถ้าใช่ ผล (วิบาก) ของอกุศล มโนกรรม (อกุศล-มโน-วิบากจิต) มีลักษณะอย่างไร กรุณายกตัวอย่างในชีวิตประจำวันด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
พุทธรักษา
วันที่ 18 ส.ค. 2552

เมื่อสักครู่ ได้ฟังท่านอาจารย์บรรยายธรรมทางวิทยุ (สองทุ่มครึ่ง) ท่านสนทนาธรรม กับ คุณวันทนา เรื่องบุญญกิริยาวัตถุในหัวข้อ ทิฏฐุชุกรรม (ความเห็นถูก-ตรง สัมมาทิฏฐิ) และจากการค้นคว้าเพิ่มเติมในกระทู้นี้

บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ... ทิฏฐุชุกรรม [๑]

ข้อความบางตอน ... มีข้อความดังนี้

ความเห็นถูก ความเข้าใจถูกว่า ธรรมใดดี ธรรมใดชั่ว เป็นกุศลประเภท "ทิฏฐุชุกรรม"
คำว่า "ทิฏฐุชุกรรม" เป็นคำรวมของคำว่า ทิฏฐิ อุชุ กรรมทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น

อุชุ แปลว่า ตรง

กรรม แปลว่า การกระทำ

ฉะนั้น กุศลประเภทนี้จึงเป็นการกระทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

เข้าใจว่า เป็นเรื่องของ "ศัพท์" ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกผิดประการใด พอจะสงเคราะห์ เข้ากับประเด็นนี้ได้หรือเปล่า

กรุณาแนะนำด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ