โสตานุคตสูตร - อานิสงส์การฟังธรรม - ๒o พ.ค. ๒๕๔๙

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ค. 2549
หมายเลข  1240
อ่าน  3,293

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๙

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

โสตานุคตสูตร ว่าด้วยอานิสงส์การฟังธรรม ๔ ประการ

จาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 470

นำการสนทนาโดย

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไปนะครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 18 พ.ค. 2549

[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 470

โสตานุคตสูตร ว่าด้วยอานิสงส์การฟังธรรม ๔ ประการ

[๑๙๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการแห่งธรรมทั้งหลาย ที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคล พึงหวังได้ อานิสงส์ ๔ ประการเป็นไฉน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็น ธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ เธอมีสติหลงลืม เมื่อการทำกาละ ย่อมเขาถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น อานิสงส์ประการที่ ๑ แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นเป็นธรรมอันภิกษุนั้นฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอด ด้วยดีด้วยทิฏฐิ เธอมีสติหลงลืม เมื่อกระทำกาละ ย่อมเข้าถึงเทพนิกาย หมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ ผู้มีความสุขอยู่ใน ภพนั้นเลย แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท เธอมีความปริวิตกอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงกลอง เขาเดินทางไกล ฟังได้ยินเสียงกลอง เขาไม่พึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลงว่า เสียงกลอง หรือไม่ใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงกลองทีเดียว ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น อานิสงส์ประการที่ ๒ แห่งธรรมทั้งหลาย ที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคล พึงหวังได้

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... บทแห่งธรรม ทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรย่อม แสดงธรรมในเทพบริษัท เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติ พรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้นเอง สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่า สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ฉลาด ต่อเสียงสังข์เขาเดินทางไกล พึงได้ฟังเสียงสังข์เข้า เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า เสียงสังข์หรือมิใช่หนอ ที่แท้เขาพึงถึงความตกลงใจว่า เสียงสังข์ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น อานิสงส์ประการที่ ๓ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิอันบุคคลพึงหวังได้

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ ... บทแห่ง ธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แม้ภิกษุ ผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต ก็มิได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แม้เทพบุตร ก็ไม่ได้แสดงธรรมในเทพบริษัท แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อนเตือนเทพบุตรผู้เกิด ทีหลังว่า ท่านผู้นฤทุกข์ย่อมระลึกได้หรือว่า เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ใน กาลก่อน เธอกล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ท่านผู้นฤทุกข์ๆ สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สหายของคนเล่นฝุ่นด้วยกัน เขามาพบกัน บางครั้งบางคราว ในที่บางแห่งสหาย คนหนึ่ง พึงกล่าวกะสหายคนนั้นอย่างนี้ว่า สหาย ท่านระลึกกรรมแม้นี้ได้หรือ เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ เราละลึกได้ ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ ย่อมเป็นผู้บรรลุคุณวิเศษ เร็วพลันดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น อานิสงส์ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่ภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการ นี้ แห่งธรรมทั้งหลายที่ ภิกษุฟังแล้วเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิอันบุคคล พึงหวังได้

จบ โสตานุคตสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 18 พ.ค. 2549

อรรถกถา โสตานุคตสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในโสตานุคตสูตรที่ ๑ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า โสตานุคตาน ความว่า ธรรมที่บุคคลเงี่ยโสตประสาทฟัง แล้วกำหนดด้วยโสตญาณ

บทว่า จตฺตาโร อานิสสา ปาฏิกงฺขา ความว่า คุณานิสงส์ ๔ ประการ พึงหวังได้ ก็สูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภ ด้วยอำนาจอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่อง ถามว่า ด้วยอำนาจเหตุเกิดเรื่องอะไร ตอบว่า ด้วยอำนาจเหตุเกิดเรื่อง คือ การที่ภิกษุทั้งหลายไม่เข้าไปฟังธรรม ได้ยินว่า พวกพราหมณ์ ๕๐๐ บวชแล้ว ไม่ไปฟังธรรมด้วยคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสแต่ ลิงค์ วจนะ วิภัติ บท และพยัญชนะ เป็นต้น จักตรัสแต่ข้อที่พวกเรารู้แล้วทั้งนั้น ข้อที่เรายังไม่รู้ จักตรัสอะไรได้ ดังนี้

พระศาสดาได้สดับเรื่องนั้นแล้ว จึงให้เรียกพราหมณ์ที่บวชเหล่านั้นมาแล้ว ตรัสว่า เพราะอะไร พวกเธอจึงทำอย่างนี้ พวกเธอจงฟังธรรมโดยความเคารพ เมื่อฟังธรรมโดยความเคารพ และสาธยายธรรม อานิสงส์เหล่านี้ เท่านี้เป็น หวังได้ดังนี้ เมื่อทรงแสดงจึงเริ่มเทศนานี้

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺม ปริยาปุณาติ ความว่า ภิกษุ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ บาลี ซึ่งเป็นนวังคสัตถุศาสน์คำสอนของพระศาสดา มีองค์ ๙ มีสุตตะ เคยยะเป็นอาทิ

บทว่า โสตานุคตา โหนฺติ ความว่า ธรรมเหล่านั้นก็ย่อมตามไปเข้าโสตเนืองๆ

บทว่า มนสานุเปกฺขิตา ได้แก่ ตรวจดูด้วยจิต

บทว่า ทิฏฺฐิยา สุปฺปฏิวิทฺธา ความว่า รู้ทะลุ ปรุโปร่งดี คือทำให้แจ่มแจ้งด้วยปัญญาทั้งโดยผลทั้งโดยเหตุ พระพุทธพจน์

บทว่า มุฏฺสฺสติ กาล กุรุมาโน นี้ มิใช่ตรัส เพราะไม่มีสติระลึกถึง แต่ตรัสหมายถึง การตายของปุถุชน จริงอยู่ ปุถุชนชื่อว่า หลงลืมสติตาย

บทว่า อุปปชฺชติ ความว่า ภิกษุตั้งอยู่ในศีลอันบริสุทธิ์แล้ว ย่อมเกิดขึ้น เทวโลก

บทว่า ธมฺมปทา ปิลปนฺติ ความว่า ธรรมคือพระพุทธวจนะ ที่คล่องปากอันมีการสาธยายเป็นมูลมาแต่ก่อนทั้งหมด ย่อมลอยเด่นปรากฏรู้ ได้ชัด แก่ภิกษุผู้มีสุข ซึ่งเกิดในระหว่างภพ เหมือนเงาในกระจกใส

บทว่า ทนฺโธ ภิกฺขเว สตุปฺปาโท ความว่า การระลึกถึงพระพุทธพจน์เกิดขึ้นช้า คือ หนัก

บทว่า อล โส สตฺโร ขิปฺปเมว วิเสสคามี โหติ ความว่า ย่อมบรรลุนิพพาน

บทว่า อิทฺธิมา เจโตวสิปฺปตฺโต ได้แก่ พระขีณาสพ ผู้ถึงพร้อมด้วยฤทธิ์ถึงความเชี่ยวชาญแห่งจิต

ในบทว่า อย วา โส ธมฺมวินโย นี้ วา ศัพท์มีอรรถว่า กระจ่างแจ้ง

บทว่า ยตฺถ คือ ในธรรมวินัยใด

บทว่า พฺรหฺมจริย อจรึ ได้แก่ เราได้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ บทนั้น ตรัสด้วยอำนาจการะลึกถึง พระพุทธพจน์ว่า ชื่อว่าพระพุทธพจน์แม้นี้ เราก็ได้เล่าเรียนมาแล้วแต่ก่อน

บทว่า เทวปุตฺโต ได้แก่ เทวบุตรผู้เป็นธรรมกถึกองค์หนึ่ง ดุจปัญจาล จัณฑเทวบุตร ดุจหัตถกมหาพรหม และดุจสนังกุมารพรหม

บทว่า โอปปา ติโก โอปปาติก สาเรติ ความว่า เทวบุตรผู้เกิดก่อนให้เทวบุตรผู้เกิด ภายหลังระลึก ทรงแสดงความที่สหายเหล่านั้นสนิทสนมกันมานาน ด้วยบทว่า สหปสุกีฬกา นั้น

บทว่า สมาคจฺเฉยฺยุ ความว่า สหายเหล่านั้นพึงไปพร้อมหน้ากันที่ศาลาบ้าง ที่โคนต้นไม้บ้าง

บทว่า เอว วเทยฺย ความว่า สหายผู้นั่งก่อนที่ศาลาบ้าง ที่โคนต้นไม้บ้าง พึงกล่าวอย่างนี้กะสหายผู้มาภายหลัง

บทที่เหลือทุกแห่ง พึงทราบโดยนัยที่กล่าวมาแล้วแล

จบ อรรถกถาโสตานุคตสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 21 ธ.ค. 2550

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
คนบ้านนอก
วันที่ 14 ส.ค. 2552
กราบอนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pamali
วันที่ 6 ก.ย. 2554
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ