สัตตัฏฐานสูตร - การรู้ขันธ์ ๕ โดยฐานะ - ๑o มิ.ย. ๒๕๔๙

 
บ้านธัมมะ
วันที่  7 มิ.ย. 2549
หมายเลข  1300
อ่าน  2,220

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๙

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

สัตตัฏฐานสูตร

ว่าด้วยการรู้ขันธ์ ๕ โดยฐานะ

จาก.. [เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓

นำการสนทนาโดย..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไปนะครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 มิ.ย. 2549

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓

สัตตัฏฐานสูตร

ว่าด้วยการรู้ขันธ์ ๕ โดยฐานะ

[๑๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่ายอดบุรุษผู้เสร็จกิจ อยู่จบพรหมจรรย์ ในธรรมวินัยนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ ๗ ประการ เป็นอย่างไร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดซึ่งรูป เหตุเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป รู้ชัดเวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณ โทษแห่งวิญญาณ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ.

[๑๑๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็รูปเป็นไฉน มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เราเรียกว่ารูป ความเกิดขึ้นแห่งรูปย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร ความดับแห่งรูปย่อมมีเพราะความดับแห่งอาหาร อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป ความสุขโสมนัสอาศัยรูปนี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งรูป รูปไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในรูปเสียได้ นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูป เหตุเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป อย่างนี้ๆ แล้วปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับรูป สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูป เหตุเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป คุณแห่งรูป โทษแห่งรูป และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป อย่างนี้ๆ แล้ว หลุดพ้นไป เพราะความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ความดับ (และ) เพราะไม่ถือมั่นรูปสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันเสร็จกิจ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเสร็จกิจ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก

[๑๒๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เวทนาเป็นไฉน เวทนา ๖ หมวด นี้ คือ เวทนาเกิดเพราะจักขุสัมผัส ฯลฯ เวทนาเกิดเพราะมโนสัมผัส นี้เรียกว่า เวทนา ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่ง ผัสสะ ความดับแห่งเวทนา ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งเวทนา ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก

[๑๒๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัญญาเป็นไฉน สัญญา ๖ หมวดนี้ คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธรรมสัญญา นี้เรียกว่า สัญญา ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสัญญาย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสัญญา ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก

[๑๒๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารเป็นไฉน เจตนา ๖ หมวด นี้ คือ รูปสัญเจตนา ฯลฯ ธรรมสัญเจตนา นี้เรียกว่า สังขาร ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความดับแห่งสังขารย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งสังขาร ฯลฯ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก.

[๑๒๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็วิญญาณเป็นไฉน วิญญาณ ๖ หมวดนี้ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ นี้เรียกว่าวิญญาณ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป ความดับแห่งวิญญาณ ย่อมมีเพราะความดับแห่งนามรูป อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้แลเป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ สุขโสมนัสอาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ การกำจัดฉันทราคะ การละฉันทราคะในวิญญาณ นี้เป็นความสลัดออกแห่งวิญญาณ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือ พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณ โทษแห่งวิญญาณ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณอย่างนี้ๆ แล้ว ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับวิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่า ปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าย่อมหยั่งลงในธรรมวินัยนี้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ เหตุเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณ โทษแห่งวิญญาณ อุบายเครื่องสลัดออกแห่งวิญญาณ อย่างนี้ๆ แล้ว หลุดพ้นไปเพราะความเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น หลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นเป็นอันเสร็จกิจแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเสร็จกิจแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุย่อมเป็นผู้ฉลาดในฐานะ ๗ ประการ

[๑๒๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เป็นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเพ่งพินิจโดยความเป็นธาตุประการหนึ่ง โดยความเป็นอายตนะประการหนึ่ง โดยเป็นปฏิจจสมุปบาทประการหนึ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุย่อมเป็นผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ ภิกษุฉลาดในฐานะ ๗ ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี ๓ ประการ เราเรียกว่า ยอดบุรุษ ผู้เสร็จกิจอยู่จบพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้.

จบ สัตตัฏฐานสูตรที่ ๕

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 7 มิ.ย. 2549

อรรถกถาสัตตัฏฐานสูตรที่ ๕

ในสัตตัฏฐานสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า สตฺตฏฺานกุสโล ได้แก่ผู้ฉลาดในโอกาส ๗ ประการ.

บทว่า วุสิตวา ได้แก่ ผู้อยู่จบพรหมจรรย์.

บทว่า อตฺตมปริโส ได้แก่ บุรุษผู้ประเสริฐที่สุด. คำที่เหลือพึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในที่นี้นั่นแล. แต่พระสูตรนี้พึงทราบว่า ประกอบด้วยความเพลิดเพลินมาก และเป็นที่ตั้งแห่งความยั่วยวน เหมือนพระราชาชนะสงครามแล้ว สถาปนาเหล่าทหารที่ชนะสงครามไว้ในตำแหน่งสูง แล้วพระราชทาน สักการะแก่ทหารเหล่านั้น เพราะเหตุไร เพราะพวกคนที่เหลือเห็นสักการะของทหารเหล่านั้น จักสำคัญเพื่อเป็นคนกล้าบ้าง ฉันใด

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีตลอดกาลหาประมาณมิได้ ทรงชนะกิเลสมาร ณ มหาโพธิมณฑล ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ประทับ นั่ง ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี เมื่อจะแสดงพระสูตรนี้ จึงยกพระขีณาสพขึ้นชมเชยสรรเสริญ เพราะเหตุไร เพราะเสขบุคคลที่เหลือ จักสำคัญพระอรหัตตผลว่า ควรบรรลุ ด้วยประการ ฉะนี้. พระสูตรนี้ พึงทราบว่า ประกอบด้วยความเพลิดเพลินมาก เพราะพระองค์ทรงยกพระขีณาสพขึ้นสรรเสริญ พึงทราบว่า เป็นที่ตั้งแห่งความยั่วยวน เพราะพระเสขะทั้งหลายก็อยากได้.

ก็ในคำนี้ว่า เอวโข ภิกฺขเว ภิกฺขุ สตฺตฏฺานกุสโล โหติ นี้ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เทศนาจบลงด้วยการพิจารณามรรคจิต และผลจิตด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้ พระองค์ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ติวิธูปปริกฺขี โหติ อีกก็เพื่อทรงแสดงเหตุเป็นเครื่องอยู่ ๗ ประการของพระขีณาสพ อย่างนี้ว่า พระขีณาสพย่อมอยู่ด้วยเหตุเป็นเครื่องอยู่ ๗ ประการ ในอารมณ์ใด อารมณ์นั้นไม่ใช่เป็นสัตว์หรือบุคคล แต่เป็นเพียงธาตุเป็นต้นเท่านั้น และแสดงถึงอาคมนียปฏิปทาว่า ในธรรมเหล่านี้ ธรรมนี้มาเพราะทำกรรม.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธาตุโส อุปปริกฺขติ ความว่า เห็น คือตรวจดูโดยความเป็นธาตุ. แม้ในบททั้งสองที่เหลือ ก็นัยนี้แหละ.

จบ อรรถกถาสัตตัฏฐานสูตรที่ ๕

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ