ท่านผู้ฟังสงสัย...เรื่องราวจากพระไตรปิฎก !

 
พุทธรักษา
วันที่  28 ก.พ. 2552
หมายเลข  11386
อ่าน  1,125

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านผู้ฟัง ในเขมสูตร ที่อาจารย์เคยบรรยายไปแล้ว ภิกษุชื่อ เขมกะ ท่านป่วยเป็นไข้หนัก อาพาธ ท่านพระเถระได้สั่งให้ท่านพระพาสกะไปเยี่ยมและสั่งให้ไปถาม ว่าท่านเขมกะ ยังพอเป็นอยู่ได้ไหมทุกข์หนักไหม เกิดขึ้นหนักไหม ทุเลาลงบ้างไหม

ท่านพระเขมกะ ก็ตอบว่า เวทนาเกิดขึ้นอย่างหนัก ทนไม่ได้อยู่แล้ว

ท่านพระพาสกะ ก็กล่าวกับท่านพระเขมกะ ว่าท่านให้พิจารณาเวทนา ว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

ท่านพระเขมกะ ก็บอกว่าเราพิจารณาแล้ว ไม่เห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นตัวตนเลย

ท่านพระพาสกะ ก็กลับไปเรียนพระเถระตามนั้น เมื่อท่านพระเถระได้ยินดังนั้น ก็กล่าวว่าท่านพระเขมกะ กล่าวอย่างนี้ก็หมายความว่า ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์นะซิ

พระเถระก็ให้ท่านพระพาสกะมาถามอีก ว่าท่านพระเถระทั้งหลายกล่าวว่าท่านพูดอย่างนี้ ก็หมายความว่า ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์นะซิ

ท่านพระเขมกะ บอกว่าท่านยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ท่านยังเห็นว่า เรามี ในขันธ์ ๕ เห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นตน

ท่านพระเถระ ก็งงเหมือนกัน

ท่านพระเขมกะ เห็นท่านพระพาสกะ เดินกลับไปกลับมา (เพื่อถาม) เป็นการลำบากท่านพระเขมกะ ก็ให้ท่านพระพาสกะ ส่งไม้เท้ามาให้แล้วยันกาย ไปหาท่านพระเถระเหล่านั้น เพื่อไปอธิบายคำว่า เรามีขันธ์ ๕ กับขันธ์ ๕ เป็นตัวตน ความต่างกัน เป็นยังไง

ผมอ่านถึงตอนนี้ แล้วไม่เข้าใจ ขออาจารย์ ช่วยอธิบายอีกครั้ง ว่า เรามีขันธ์ ๕ แต่พิจารณาแล้ว ไม่เห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นตนเลย.มันต่างกันอย่างไรครับ

ท่านอาจารย์
ที่ว่า ไม่เห็นขันธ์ ๕ เป็นตน นั้น ก็หมายความถึง มีความเห็นถูก ในสภาพธรรม ตามความเป็นจริงสามารถดับกิเลสเป็นพระอริยเจ้าได้ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล แต่ว่า เรามี ในขันธ์ ๕ คือ ความสำคัญว่า เรา ไม่ใช่ความเห็นผิดแต่เป็น "มานเจตสิก" ซึ่งเป็นความยึดถือในสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นโดยสำคัญ ว่า เป็นเราหมายถึง ไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่สภาพธรรมอื่นๆ

แต่ไม่ได้มีความเห็นผิด คือ ไม่มีสักกายทิฏฐิที่ยึดถือสภาพธรรม ที่ปรากฏ ว่า เป็นตัวตนและรู้ในลักษณะของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้น และดับไปว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

แต่กิเลสนั้นมีมาก ทั้งๆ ที่เห็นอย่างนี้สามารถที่จะดับความเห็นผิด ที่ไม่ประจักษ์ การเกิดดับ ของนามธรรม และรูปธรรมแต่กิเลส ก็ยังมีปัจจัย เกิดขึ้น เป็นไปในประการอื่นตามปัจจัย ที่ยังไม่ได้ดับ เป็นสมุจเฉท เช่น โลภเจตสิกก็ยังเกิดได้...คือ ความยินดี พอใจแม้ในสภาพธรรมที่ปรากฏแม้ ได้ประจักษ์แล้ว ว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แต่ ลักษณะของโลภะ ความพอใจนั้น เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ความเห็นผิด

ความเห็นผิด ก็เป็นความเห็นผิด มีลักษณะ "เห็นผิด" เกิดขึ้น กระทำกิจ คือ ความเห็นผิดต่างๆ ส่วนสภาพลักษณะของ "โลภะ" ความพอใจนั้น ก็คือ ความยินดี ความติดข้อง การไม่สละในสิ่งที่ปรากฏ

พิจารณาสภาพจิตใจของท่านเอง ในขณะนี้.!ไม่ว่าจะเป็น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความพอใจเกิดขึ้น มากบ้าง น้อยบ้าง ตามอัธยาศัยที่ได้สะสมมา

โลภะ หรือ ความพอใจนั้น จะะไม่มีในลักษณะของนิพพานซึ่งเป็นธรรมชาติที่ไม่เกิด จึงไม่ดับสภาพธรรมใดก็ตาม ที่ไม่เกิดจะเป็นที่ตั้งของโลภะ คือความยินดี ความพอใจ ไม่ได้

สภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ที่มีลักษณะ เกิดขึ้น และปรากฏย่อมสามารถเป็นที่ตั้งของโลภะความยินดี ความพอใจได้ แม้ว่า สภาพธรรมนั้น จะเพียงปรากฏ แล้วหมดไปก็ตาม

แม้ท่านผู้ฟัง จะยังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับโดยการแทงตลอด แต่ท่านผู้ฟัง ก็พอที่จะทราบได้ใช่ไหม ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย ไม่เที่ยง เช่น เสียงเมื่อกี้นี้ ก็ดับไปแล้วความรู้สึกแช่มชื่น ไม่แช่มชื่น ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจสภาพธรรมต่างๆ ก็เกิดดับ สืบต่อ วนเวียน เปลี่ยนแปลงไป มากมายแต่ก็พอใจ ใช่ไหมคะ

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย มีลักษณะต่างๆ กัน จริงๆ ไม่ใช่ประเภทเดียวกัน ความเห็นผิด ก็เป็น ความเห็นผิดมี "ลักษณะเห็นผิด" เกิดขึ้น กระทำกิจเห็นผิดไปต่างๆ

ส่วนสภาพลักษณะของ โลภะ ความพอใจ ก็เป็นความยินดี ความติดข้อง การไม่สละในสิ่งที่ปรากฏ มานะ ความสำคัญในเรา ในสภาพธรรมที่ปรากฏนั้นก็ยังเกิดได้ จนกว่าจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อบรรลุคุณธรรม เป็นพระอรหันต์แล้วเมื่อนั้น จึงจะดับมานะ และอกุศลธรรมทั้งหมดได้ ไม่เกิดอีกเลยคือ ดับหมด เป็นสมุจเฉท

ท่านผู้ฟัง ก็ไม่ควรประมาทในอกุศลธรรมเลยแล้วก็ควรที่จะได้รู้ชัด ในอกุศลธรรมทั้งหลายที่ท่านได้สะสมมาและเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ให้ถูกต้อง ตรงตามสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงไม่ใช่ว่า ขั้นแรก ก็จะดับโลภะได้หมด ไม่มีเหลือเลยไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ กิเลส ก็ต้องดับไปเป็นส่วนๆ ตามลำดับขั้น

แนวทางเจริญวิปัสสนาบรรยาย โดยอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ถอดเทป โดยคุณย่าสงวน สุจริตกุล

ขอเรียนถามเรื่อง มานะ

ขออนุโมทนา



  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 1 มี.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 1 มี.ค. 2552

ข้อแนะนำ โดย คุณ suwit02

ชื่อพระเถระ คลาดเคลื่อนคับ

[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 290

๗. เขมกสูตร ว่าด้วยไม่มีตนในขันธ์ ๕

ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น ภิกษุผู้เป็นพระเถระทั้งหลายออกจากที่พักแล้ว

เรียก ท่านพระทาสกะ มากล่าวว่า มาเถิด ท่านทาสกะ จงเข้าไปหาเขมกภิกษุถึงที่อยู่ ฯ.

ขอบพระคุณมากค่ะที่กรุณาเทียบเคียงกับข้อความในพระไตรปิฎก ให้ถูกต้อง

ขออภัยในความผิดพลาดค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 1 มี.ค. 2552

ท่านอาจารย์

ที่ว่า ไม่เห็นขันธ์ ๕ เป็นตน นั้น ก็หมายความถึง มีความเห็นถูก ในสภาพธรรม ตามความเป็นจริง สามารถดับกิเลสเป็นพระอริยเจ้าได้ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล

สาธุครับท่านอาจารย์ที่เคารพ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ