ท่านผู้ฟังถามว่า สังเกต พิจารณา กับ จดจ้องนั้นต่างกันอย่างไร

 
พุทธรักษา
วันที่  28 ก.พ. 2552
หมายเลข  11387
อ่าน  898

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านผู้ฟัง
ในเรื่อง การเจริญสติปัฏฐาน นั้น อาจารย์ ย้ำนัก ย้ำหนา ว่าไม่ควรจดจ้องในรูปใดรูปหนึ่ง หรือในนามใดนามหนึ่งแต่ อาจารย์ก็แนะนำ ให้สังเกต ให้พิจารณา คือว่า ขณะที่เห็น ขณะนั้นก็สังเกตอยู่ที่นามเห็นนั้น นานๆ ขณะนั้นสังเกตว่า เห็นกับสิ่งที่ถูกเห็นนั้น ไม่ใช่ลักษณะเดียวกันแล้วขณะที่จดจ้อง ก็จดจ้องกันอย่างนั้นล่ะครับ ขณะที่สังเกต ขณะที่พิจารณา และ ขณะที่จดจ้อง มีลักษณะต่างกันอย่างไร ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายด้วย.

ท่านอาจารย์ เรื่องของพยัญชนะ ก็เป็นเรื่องที่ลำบากแต่ว่าท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ในขณะที่สติเกิด หรือ หลงลืมสติซึ่งเป็นขณะที่ต่างกันนะคะ.!.ประการแรก คือขณะที่มีสติ แล้วสังเกต สำเหนียก ตามปกติ ตามธรรมดา ตามธรรมชาติ ไม่ใช่เกร็ง หรือจดจ้อง หรือผิดปกติ ไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ.!.ถ้าจดจ้อง...ก็จะเป็นอาการที่ผิดปกติซึ่งก็จะสังเกตได้อีกเหมือนกัน ว่า ขณะนั้น เป็นการจดจ้องเวลาที่เกิดการจดจ้องแล้ว ภายหลังก็ระลึกได้ว่า เป็นการจดจ้องก็จะเป็นเหตุให้กลับมาระลึกตามปกติ.

เพราะฉะนั้น จะต้องสังเกตมากทีเดียวค่ะการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นนั้น จะขาดการสังเกต พิจารณาไม่ได้เลยจะต้องเป็นผู้ที่สังเกต อย่างละเอียดขึ้นๆ เพื่อละความผิดปกติ ละการจดจ้อง ละความต้องการ ละความยึดถือว่าเป็นตัวตนในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ท่านผู้ฟัง ก็หมายความว่า ขณะที่จดจ้อง กับ ขณะที่สังเกตนั้นมีลักษณะอย่างเดียวกันแต่ต่างกันตรงที่ มีสติ กับหลงลืมสติเท่านั้นนี่ครับ...?
.
ท่านอาจารย์ เป็นปกติ ตามธรรมชาติ หรือ เป็นการจ้อง การจดจ้อง ซึ่งเป็นการผิดปกติถ้าเป็นการผิดปกติ ก็จะรู้สึกได้ สัมปชัญญะ เป็นปกติไม่ผิดปกติ จึงจะเป็นสัมปชัญญะ

เคยรู้สึก ว่า เกร็งๆ บ้างไหม ที่ จดๆ จ้องๆ นั้นล่ะ เป็นการจดจ้อง ซึ่งไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นปกติธรรมดา ถ้ารู้สึกว่า ชักจะเกร็ง หรือจดจ้อง แล้วรู้สึกตัว ก็คลายความเกร็ง และ การจดจ้องในขณะนั้น และควรมีความรู้ ว่าขณะที่ไม่เกร็ง ไม่จดจ้องอย่างนั้น

สภาพธรรม ก็ปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น แต่พอไปจดจ้อง หรือ ไปเกร็ง สภาพธรรมก็ไม่เป็นไปตามปกติเพราะว่า ความเกร็งหรือการจดจ้อง ทำให้ผิดปกติไป

และควรทราบว่า ปัญญาจริงๆ ที่จะละคลายกิเลสต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามปกติ ตามเหตุปัจจัย ในขณะนี้ อย่าคิดที่จะไปตั้งสติขึ้นมา เพราะว่า ขณะที่ตั้งสตินั้นล่ะค่ะ เริ่มจดจ้องแล้ว เพราะฉะนั้น ลักษณะของสัมมาสติ คือ ปกติธรรมดาอย่างนี้ระลึกเมื่อไร นั่นคือ สติเกิดสำเหนียก พิจารณา ตามปกติ ตามธรรมชาติแล้วรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ตามปกติจริงๆ อย่าเกร็ง อย่าผิดปกติ

ท่านอาจารย์ จะเห็นนะคะ ว่า เรื่องของการที่จะดับกิเลส แม้ว่า จะเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในสักวันหนึ่ง แต่ว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก และ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องวันเดียว ๒ วัน ๗ วัน ๗ เดือน เมื่อเหตุยังไม่สมควรแก่ผล ถ้าสติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมปัญญา ก็ยังไม่เจริญขึ้นพอที่จะสามารถรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ว่าไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่มีการที่จะเป็นวันนี้ วันพรุ่งนี้ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ฯที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะว่า ยิ่งอบรมเจริญสติปัฏฐาน มากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งเห็นกิเลส มากขึ้นเท่านั้น

จริงหรือเปล่า หรือว่าไม่จริง ถ้าไม่จริง ก็หมายความว่า ตัวท่านไม่มีกิเลส เพราะเหตุว่า ทุกท่านทราบ ว่า ท่านมีกิเลสมากเหลือเกิน กิเลสแรงๆ ก็มาก กิเลสหยาบๆ ก็มาก กิเลสกลางก็เยอะ กิเลสก็ยังเต็มที่ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถ้าสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริงย่อมเห็นกิเลสชัด ตามความเป็นจริงว่ากิเลสนั้นๆ ในขณะนั้นๆ ไม่ใช่ตัวตน

แม้ว่ากิเลสทั้งหลายยังไม่ได้ดับไปเลยแต่เพราะมีปัจจัย จึงได้เกิดขึ้นเรื่อยๆ เป็นปกติ ในชีวิตประจำวั แต่ ปัญญา จะเห็นกิเลสทั้งหลายเหล่านั้นตามความเป็นจริง ว่า กิเลสเหล่านั้น ไม่ใช่ตัวตนในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของกิเลส ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

สำเหนียก สังเกต พิจารณา

แนวทางเจริญวิปัสสนาบรรยายโดยอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ถอดเทปโดยคุณย่าสงวน สุจริตกุล

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 1 มี.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 1 มี.ค. 2552

การพิจารณา จดจ้องสภาพธรรม ไม่ใช่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะไม่ทันสภาพธรรมที่เกิดดับเร็วมากครับ

ท่านกัลยาณมิตรธรรมทั้งหลาย เหมือนเรากำลัง พยายามส่งผ่านความรู้ ความเข้าใจ ในขั้นของการฟัง ซึ่งกันและกัน ผมเชื่อมั่นการฟัง เป็นเหตุให้ปัญญาเกิด การกำหนดไว้ในใจโดยแยบคาย ความรู้ที่ได้จากการฟังเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกได้ ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขอให้ท่านแสดงความคิดเห็น โต้ตอบ ท้วงติง ได้ทุกอารมณ์ อย่าได้เกรงใจ ไม่ต้องกลัวเสียหน้า ไม่รู้คือไม่รู้ สงสัยคือสงสัย ผิดคือผิด ถูกคือถูก ไม่เข้าใจคือไม่เข้าใจ รู้แล้วแต่ถามเพื่อยืนยันความรู้นั้น พึงกระทำ เป็นเวที่แสดงความคิดเห็น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Komsan
วันที่ 1 มี.ค. 2552
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
saifon.p
วันที่ 2 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ