ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3


ตอนที่ ๓


ท่านอาจารย์ เพราะว่า ขันธ์ ๕ มี รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ สังขารกับวิญญาณแยกกัน เพราะฉะนั้นสังขารไม่ใช่วิญญาณ และสังขารก็ไม่ใช้รูปด้วย เพราะว่าขันธ์มี ๕ รูปขันธ์ ทุกอย่างซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ทั้งหมด เสียงก็เป็นรูป กลิ่นก็เป็นรูป ทุกอย่างซึ่งไม่สามารถรู้อะไรเลยเป็นรูปธรรม ซึ่งสมัยนี้ ยุคนี้ รู้สึกจะใช้คำนี้กันมาก แต่ไม่ตรงตามพระพุทธศาสนาเลย ทุกอย่างที่กำลังจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาก็บอกว่าเป็นรูปธรรม กำลังจะเป็นรูปธรรม ไม่ทราบความนิยมทำไมไปเอาคำซึ่งไม่เข้าใจความหมายที่ถูกต้องมาใช้

แต่ว่าทางธรรมแล้ว รูปธรรมหมายความถึง สภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่สภาพนั้นไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้ สิ่งใดก็ตามซึ่งมีจริงแต่ไม่ใช่สภาพรู้ สิ่งนั้นเป็นรูป หรือรูปธรรม เพราะเหตุว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่ง สี เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อนแข็ง พวกนี้เป็นรูป เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ นี้ รูปธรรม ได้แก่ สภาพธรรมทุกอย่างซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ขันธ์หนึ่งแล้ว

เวทนาขันธ์ เป็นความรู้สึก คนไทยเราใช้บ่อยคือ เวทนา ออกเสียงว่า เวด-ทะ-นา และเราก็แปลว่า สงสารเหลือเกิน คนนี้น่าเวทนามาก ก็น่าสงสารมาก แต่ในพระพุทธศาสนา เวทนา เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้วมีกับทุกคนด้วย เพราะเหตุว่าหมายความถึงความรู้สึก ซึ่งความรู้สึก มีความรู้สึกที่เป็นสุขอย่างหนึ่ง ความรู้สึกที่เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง ความรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเรากล่าวโดยย่อ เป็นเวทนา ๓ แต่ถ้าเราแยกเป็นทางกาย กับ ทางใจ จะเพิ่มโสมนัสเวทนา คือความรู้สึกเป็นสุขใจ และก็โทมนัสเวทนาความรู้สึกที่เป็นทุกข์ใจ ไม่มีใครที่ไม่มีเวทนาทั้ง ๕ นี้ ทุกคนมี เวลาเด็กร้องไห้ มีเวทนาไหม ต้องมี ขณะนั้นต้องเป็นโทมนัสเวทนา และถ้าร่างกายปวดเจ็บด้วย สำหรับใครก็ตาม ขณะนั้นเป็นทุกขเวทนา เพราะฉะนั้น ทุกข์กาย ก็คือความรู้สึกที่กาย ที่ร่างกาย ที่ปวด ที่เจ็บ ที่เมื่อย คันอะไรก็ได้ ที่เกี่ยวกับกายนี้ทั้งหมด ขณะนั้นเป็นความรู้สึกซึ่งมีจริงๆ เป็นทุกข์เวทนาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่พระอรหันต์ ถึงแม้ว่าท่านจะปวดเจ็บสักเท่าไหร่ก็ตาม ไม่มีโทมนัสเวทนาคือไม่มีทุกข์ใจเลย มีแต่เพียงทุกข์กายเท่านั้น

เพราะฉะนั้น เวทนาก็แยกออก ถ้าใครที่มีสติเกิดเร็ว เวลาทุกขเวทนาเกิดเขาก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าคนที่ไม่มีปัญญาหรือสติไม่เกิด พอทุกข์กายเกิดนิดนึง ความทุกข์ใจมากมายหลายเท่ากว่าทุกข์กาย เป็นห่วงไปถึงว่า อีกสิบวันจะเป็นยังไง จะต้องผ่าตัดไหม จะต้องอะไรบ้าง หลายอย่าง จะต้องกินยาอะไรต่างๆ พวกนี้

นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทุกข์ใจมากมาย ในพระไตรปิฏกอุปมาไว้ไพเราะมากว่า สำหรับทุกข์กาย ไม่มีใครที่หนีพ้นเลย ตราบใดที่มีกาย เมื่อมีตา ก็ต้องมีโรคตา ใช่ไหม ต้องไปผ่าตัด ไปรักษา มีหู ก็ต้องมีโรคหู ส่วนหนึ่งส่วนใดของรูปร่างกายเป็นทุกข์กายได้ทั้งหมด เหมือนกับ ถูกยิงด้วยลูกศรดอกที่ ๑ เวลาที่ทุกข์กายเกิด และเวลาที่ทุกข์กายเกิดแล้วก็เป็นห่วงกังวลวิตกทุกข์ร้อน เป็นทุกข์ใจ เพราะว่ากายเจ็บ แต่กายคิดไม่ได้ แต่ความคิดปรุงแต่งไปสารพัดอย่างที่จะเป็นความทุกข์

เพราะฉะนั้น ความทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ทุกข์กายแล้ว อุปมาเหมือนกับลูกศรดอกที่ ๒ ที่ยิงซ้ำที่แผลเก่า ความทุกข์จะเพิ่มมากขึ้นอีกสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นในชีวิตของเรา เราแยกได้ ที่ทุกคนคิดว่ากำลังมีทุกข์หรือมีปัญหา จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของความคิด ทางทุกข์จริงๆ ซึ่งทุกคนหนีไม่พ้นเลย เฉพาะทุกข์กายอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าสมมติว่าร่างกายแข็งแรงดีไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ทุกข์ ให้ทราบว่าทุกข์ที่เหลือทั้งหมด เป็นเรื่องของทุกข์ใจ เป็นเรื่องของความคิด เป็นความกังวล ความเดือดร้อนต่างๆ

เพราะฉะนั้น เราเอาทุกข์มาทับถมตัวเอง ซึ่งถ้าเราไม่อยากจะมีทุกข์อันนี้ เราก็สามารถจะมีแต่เพียงทุกข์กายเท่านั้นได้ แต่ว่าก็ไม่ใช่ตัวตนที่จะไปบังคับอีก แต่ว่าให้ทราบว่า แม้แต่ความรู้สึกก็บังคับไม่ได้ นี่คือความหมายของขันธ์ เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับสิ้นไป แต่ว่าเพราะเหตุว่าเรายึดถือสภาพธรรม ๕ อย่างนี้ว่าเป็นเรา เรายึดถือรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นเรา เรายึดถือความรู้สึกไม่ว่าจะสุขจะทุกข์ก็พลอยวุ่นวายเดือดร้อนกังวลว่าเป็นเราทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็เป็นอีกขันธ์หนึ่ง ก็เป็นขั้นที่ ๒ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์

สัญญาขันธ์ สัญญาที่นี่ ก็เป็นภาษาบาลีอีก ถ้าเราเริ่มเข้าใจภาษาบาลีให้ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย เราจะฟังพระธรรมเข้าใจขึ้นอีก สัญญาเป็นสภาพธรรมที่จำ แต่ว่าในภาษาไทยเราต้องมีการเซ็นต์ ต้องมีการร่าง ต้องมีการลงชื่อให้จำกันแม่นๆ แต่จริงๆ แล้วขณะใดก็ตามที่เห็นสิ่งใด จำสิ่งนั้นทันที

เพราะฉะนั้น พอเห็นอีกทีเราก็จำได้ เพราะสิ่งนี้เราเคยเห็น และจำได้ นี้ก็เป็นขันธ์หนึ่ง เป็นสัญญาขันธ์

สำหรับสังขารขันธ์ไม่ใช่รูป ได้แก่โลภะบ้าง โทสะบ้าง สติบ้าง วิริยะบ้าง พวกนี้ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต เป็นสังขารขันธ์ ซึ่งไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่สัญญา แล้วก็สภาพอื่นซึ่งเกิดขึ้นจิตทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์

ส่วนจิตนั้นเป็นวิญญาณขันธ์

เพราะฉะนั้นที่จะบอกว่า พิจารณาสังขาร ความเข้าใจของเราถูกต้องหรือยัง มิฉะนั้นก็ใช้คำผิดอีก เราก็เลยผิดไปตั้งแต่ต้น ถ้าเข้าใจถูกก็เข้าใจถูกตั้งแต่ต้น จิตก็คือจิต ความรู้สึกก็คือความรู้สึก รูปคือรูป แยกออกจากกันได้เป็นแต่ละลักษณะ แม้แต่ว่าจะพิจารณาสังขาร ก็ต้องพิจารณาว่า มีความเข้าใจในคำนั้นถูกต้องหรือยัง

แม้แต่คำว่า สติ ต่อไปนี้เราก็รู้ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นจึงเป็นสติ ถ้าไม่ใช่กุศล ขณะนั้นจะใช้คำว่าสติ ก็ใช้ภาษาไทยกันเอง แต่ไม่ใช่สภาพของสติ สติจริงๆ ต้องระลึกเป็นไปในกุศล กำลังโกรธ สติเกิดไหม ไม่เกิด แต่พอระลึกได้ว่า ไม่ดี โกรธนี้ คนที่เราโกรธเขากำลังสบาย กำลังเป็นสุขสนุกสนาน เราคนเดียวกำลังเดือดร้อน กำลังไม่สบายเลยสักนิดนึง จิตใจกำลังขุ่นมัวเต็มที่ แล้วใครทำให้ เราทำเอง ถ้ามีปัญญาจริงๆ เห็นโทษของอกุศล ขณะนั้นเป็นสติ ไม่ใช่เราอีกเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ขณะใดสติเกิดขณะนั้นเป็นไปในทางที่ดี แต่ว่าขณะใดที่เป็นไปในทางที่ไม่ดี ขณะนั้นสติก็ไม่เกิด และเราก็อยากจะมีสติเยอะๆ นั่นเพียงอยาก แต่ไม่เราไม่สามารถจะได้สติด้วยความอยาก ต้องได้ด้วยการเจริญอบรมทีละเล็กทีละน้อย จึงจะมีความมั่นคงขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่มีอยู่แล้ว แต่ต้องอบรมในทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็น สมถะ หรือ วิปัสสนา

อย่าง สติ ก็ต้องมีการระลึกได้บ่อยๆ ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นสติ ถ้ากำลังฟังแล้วก็นึกเรื่องนั้นเรื่องนี้ ขณะนั้นเป็นสติไหม ไม่เป็น ขณะนั้นก็เป็นอกุศล ซึ่งเราก็บังคับไม่ได้อีก แต่เริ่มเข้าใจแล้วว่า ลักษณะของสติ ต้องต่างกับขณะที่เป็นอกุศล

ถ้าเราโกรธใครแล้วมีคนมาบอกว่า โกรธมากๆ ดีนะ ขณะนั้นถ้าเราเห็นด้วย เป็นสติหรือเปล่า ไม่เป็น แต่ถ้ามีคนบอกเราบอกว่า ความโกรธไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเราพิจารณาแล้วเห็นจริงๆ ขณะนั้นเป็นสติ เป็นไปในทางที่ดีงามทั้งหมด เราต้องสามารถที่จะแยกออกได้ว่า ธรรมไหนดี ธรรมไหนไม่ดี แล้วใครล่ะจะต้องการสิ่งที่ไม่ดีกับตัวเอง แต่เพราะความไม่รู้ต่างหาก เราจึงสะสมสิ่งที่ไม่ดีมากๆ และเราก็ต้องมานั่งแก้สิ่งที่ไม่ดีของตัวเราเอง ซึ่งคนอื่นแก้ให้ไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น อย่ารีบร้อนที่จะไปเจริญกุศลขั้นสูง สมถะ วิปัสสนา และก็ยังไม่รู้เลยว่าแท้ที่จริงแล้วในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบจากอกุศล ถ้าเรามีความเป็นมิตรกับคนอื่นบ่อยๆ ใจเราสบายมาก เราจะไม่มีศัตรูเลย รับรองได้จริงๆ ว่าเราไม่มีศัตรู เพราะใจเราไม่เป็นศัตรูกับใคร คนอื่นไม่ชอบเรา เขาเดือดร้อน เขาวุ่นวาย เขาไม่ชอบเรา แต่เรามีความเป็นมิตร หวังดี ช่วยเขา เราจะไม่เดือดร้อนเลย แต่คนที่ไม่ชอบเราที่เป็นศัตรูกับเรา เดือดร้อนตลอด และเราจะเป็นคนไหนดี คนที่เดือดร้อนกับคนที่ช่วยคนอื่น ทั้งๆ ที่เขาโกรธเรา แต่เราก็ไม่โกรธเขา เราก็ช่วยเขาได้ เราเป็นผ้าเช็ดธุลี เช็ดได้หมดทุกอย่าง รับได้หมดทุกอย่าง ไม่เดือดร้อนเลย หรือเราจะเป็นคนเก่า ใครพูดอะไรก็ไม่ได้ เดือดร้อน ต้องพูดอย่างนี้ ต้องทำอย่างนั้น ให้ตรงกับใจเรา แล้วเมื่อไม่เป็นใจเราก็ไม่มีความสุข เราจะเป็นอย่างเก่า หรือว่าเราจะมีสติที่จะรู้ว่า ไม่มีประโยชน์เลยในการที่จะเป็นศัตรูกับใคร

เคยมีใครที่รู้สึกว่าน่ารักบ้างไหม เห็นใครเป็นคนที่น่ารักมากๆ พอจะมีตัวอย่างของใครซึ่งน่ารักมากๆ ไหม เราก็เป็นอย่างนั้นได้ เราดูว่า ทำไมน่ารักอย่างนั้น เขาเป็นคนที่คิดถึงคนอื่น ไม่คิดถึงตัวเอง แล้วก็ช่วยเหลือคนอื่น แล้วก็อภัยให้คนอื่น คือมีชีวิตที่มีความสุข แล้วก็ไม่เดือดร้อน ใครเค้าจะเป็นยังไงเราก็บังคับเขาไม่ได้ ถ้าคนหนึ่งเป็นคนที่มีกิริยาก็ไม่ดี วาจาก็ไม่ดี แล้วทำไมเราจะมาเดือดร้อน นั่นก็เป็นเรื่องของเขา แต่เรื่องของเราก็คือว่าเราไม่เดือดร้อนไม่ว่าใครจะเป็นยังไง แล้วเราก็สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้จริงๆ ถ้าสติเกิด

เพราะฉะนั้น เราจะเห็นคุณของสติ ธรรมฝ่ายดี เพราะสติ และปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศล ไม่ใช่ว่าไปอยู่ป่า เพราะว่าไปอยู่ป่านั้นไม่มีใครมาอยู่รอบเรา พอเรากลับมาจากป่า เราก็เดือดร้อนอีกแล้ว

บางคนเขาท่องเมตตาเก่งมากเลย แต่ว่าท่องอยู่ในห้อง ไม่มีใครเลย พอออกมานอกห้อง เมตตาหายไปหมดแล้ว ที่ท่องมาครึ่งวัน ความโกรธก็เกิดขึ้นมาแล้ว เพราะว่าเป็นเรื่องของการท่อง แต่ว่าไม่รู้ลักษณะจิตว่า เมตตา คือความเป็นเพื่อน ความหวังดี และการเป็นเพื่อนกับคนอื่น ดีกว่าการเป็นศัตรู เพราะใจเราไม่ต้องไปคิดเรื่องที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน

สิ่งที่ดีงาม ที่ประเสริฐสุด มีอยู่ในพระธรรมวินัยทั้งหมด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีกิเลสเลย เพราะฉะนั้นกายวาจาของพระองค์จะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นเราจะรู้จุดว่า อะไรก็ตามที่ไม่ดีทั้งหมด ที่ออกมาทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่ตา หรือสีหน้าทั้งหมด มาจากกิเลส หรืออกุศลซึ่งอยู่ที่ใจของแต่ละคน เพราะฉะนั้นถ้าเราแก้ที่ใจ ทุกอย่างก็ดี และก็กิริยาวาจาที่งดงามทั้งหมดของผู้ที่ไม่มีกิเลสเพียบพร้อมอยู่ในพระวินัยปิฏก

ถ้าว่างๆ หรือที่นี่มีพระไตรปิฏก ก็น่าจะอ่านมากๆ เลย และก็พระสูตรก็พอจะอ่านแล้วพิจารณาได้ว่า เป็นคำสอนทุกระดับในชีวิตประจำวัน พระวินัยก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า กิริยาวาจาทั้งหมดที่เป็นมารยาทสังคมที่ดี เพียบพร้อมอยู่ในพระพุทธศาสนา แล้วก็ถือว่าเป็นสากลด้วย เพราะว่าสิ่งที่ดีแล้ว ต้องดีสำหรับทุกเชื้อชาติศาสนาวัฒนธรรม แล้วก็พระวินัยละเอียดมาก แล้วก็เป็นประโยชน์จริงๆ ที่แม้ว่าเราจะเป็นคฤหัสถ์ เราก็ประพฤติปฏิบัติตามได้

จะเห็นว่าทรงแสดงไว้แม้แต่สิ่งเล็กน้อยจริงๆ อย่างการไปที่บ้านของใคร อย่างภิกษุณีไปถึงแล้วก็เจ้าของบ้านยังไม่ทันเชื้อเชิญ ก็นั่งไม่ได้ ผิดอาบัติ เพราะฉะนั้นสำหรับคฤหัสถ์ก็เช่นเดียวกัน ถ้ายังไม่มีการเชิญแล้วก็ไปนั่ง ก็คงจะไม่น่าดูหรืออะไรอย่างนี้ ทุกอย่างที่ดีที่เพียบพร้อมไม่ต้องหาที่อื่น มีอยู่ในพระวินัยทั้งนั้น ยากไหมพระธรรม ถือว่าเป็นชีวิตจริงที่พิสูจน์ได้แล้วก็น่าศึกษา น่าจะเข้าใจตัวเรามากกว่านี้ และทางเดียวที่จะเข้าใจตัวเราได้ก็คือ ศึกษาพระธรรม

เคยไปที่ศรีลังกา แล้วก็มีคนพาไปที่โรงเรียนสอนเด็กนักเรียน ครูใหญ่เป็นครูที่ดีมาก เขาพยายามอบรมทางด้านจิตใจ พอไปถึงเด็กก็ขอให้เล่านิทาน เพราะว่าเด็กคงจะอยากฟังนิทาน เพราะรู้ว่ามีชาติมีอะไรต่างๆ ก็เลยถามว่า แล้วเรื่องตัวเอง อยากรู้บ้างไหม คืออยากจะรู้แต่เรื่องคนอื่นซึ่งเป็นนิทาน แต่เรื่องของตัวเอง ถ้าคนอื่นเขารู้ก็คงจะเป็นนิทานสำหรับคนอื่นเหมือนกัน นิทานก็ไม่ใช่ว่านอกไปจากตัวของแต่ละคน ใช่ไหม แล้วแต่ว่าจะสร้างขึ้นมา นึกคิดไปต่างๆ

เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็เป็นนิทานอยู่ในตัวสำหรับคนอื่นเหมือนกัน ถ้าเขารู้ความคิดจิตใจของเรา ก็เป็นนิทานเรื่องหนึ่งของเขาเหมือนกัน และก็จริงๆ แล้ว เราก็น่าจะรู้นิทานนี้ นิทานนี้รู้ได้ชัด แล้วก็รู้ก็มีประโยชน์ด้วย ซึ่งความจริงแม้แต่คำว่า นิทาน นี้ก็เป็นภาษาบาลี นิทาน หมายความว่า จุดเริ่มต้น หรือที่มา หรือความเป็นไป แต่เราก็มาถือเป็นเรื่องราว ซึ่งความจริงก็เป็นความเป็นไปของชีวิตนั่นเอง

ผู้ฟัง อยากเรียนถามอาจารย์ช่วยอธิบายเรื่อง การทำบุญทำกุศล จริงๆ จะได้ผลยังไง หรือว่าไม่ได้ผลอะไร ช่วยอธิบายให้กระจ่าง

ท่านอาจารย์ ที่จริงอันนี้เป็นปัญหาที่ดีมากเลย เพราะว่าคนไทยเรา คุ้นเคยกับการทำบุญมานานมากเลย ตั้งแต่เกิดมาก็ทำบุญกันหลายทาง ทั้งใส่บาตรทั้งอะไรด้วย แต่ปัญญาความเข้าใจถูกต้องสำคัญมากที่สุด คือรู้ว่า บุญคือจิตใจที่ดีงาม ที่เป็นกุศล ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ ถ้ามีของหลายอย่างอยู่บนโต๊ะ ของนั้นก็ยังคงเป็นของนั้น จะเป็นบุญไปยังไง จะเป็นกล้วย จะเป็นส้ม จะเป็นอาหาร ก็ยังคงเป็นกล้วยส้มอาหาร เป็นบุญไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น บุญไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ แต่อยู่ที่สภาพของจิต ที่ผ่องใส ไม่มีอกุศลใดๆ เพราะฉะนั้น บุญในพระพุทธศาสนา มี ๑๐ ประการ ไม่ใช่มีประการเดียว คือ ทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่น ในพระพุทธศาสนาใช้คำว่า บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ฟังดูบางคนก็อาจจะไม่อยากจะรู้ภาษาบาลีเลย แต่เราใช้คำทุกคำ บุญเราก็ใช้ กิริยาเราก็ใช้ วัตถุเราก็ใช้ แต่ว่าให้เราใช้ให้ถูก คือ วัตถุคือเป็นที่ตั้ง กิริยาคือการกระทำ บุญคือดีงาม หรือว่าการขัดเกลา เพราะฉะนั้น บุญญกิริยาวัตถุ คือ วัตถุหรือที่ตั้งของการกระทำซึ่งเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นการขัดเกลาอกุศล เป็นสิ่งที่มีประโยชน์

เพราะฉะนั้นก็มีถึง ๑๐ อย่าง แต่เริ่มต้นด้วย ทาน คือการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลเอง ที่ประเทศไทยเรายังมีความสุขสบายมากกว่าประเทศอื่น ก็เป็นเพราะเหตุว่าเราปลูกฝังพุทธศาสนา แม้แต่ว่าด้วยการกระทำเป็นประเพณี แม้ว่าเราจะยังไม่เข้าใจละเอียดมาก แต่ว่าเราก็ทำติดต่อกันมาด้วยการช่วยเหลือกันด้วยจิตที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นสำหรับบุญนี้ได้แก่ จิตขณะใดก็ตาม ซึ่งเป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีลการวิรัติทุจริตบ้าง เป็นไปด้วยความสงบของจิตบ้าง เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาบ้าง จริงๆ แล้วก็มีหนังสือที่พูดถึงเรื่องบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ แต่สำหรับวันนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่องทานให้ทราบว่า การทำบุญด้วยวัตถุคือการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น

ถ้าเห็นว่าวัตถุที่เรามี พอจะเป็นประโยชน์กับใคร ให้ไปเลย ถ้าเราไม่ใช้วัตถุนั้น ไม่ต้องไปคิดว่า เขาจะว่าเราไหม คือบางคนคิดมาก เคยมีคนที่คิดมากจะให้ของใครก็กลัวว่าคนรับเขาจะว่า เหมือนกับจะไปดูถูกเขาหรืออะไรอย่างนี้ ก็แล้วแต่ความวิจิตรของจิตซึ่งคิดได้ต่างๆ กัน แต่ถ้าวัตถุนั้นเป็นประโยชน์ แล้วเขาต้องการ เราให้ได้ เราก็ให้ ขณะนั้นจิตที่ให้ก็เป็นกุศล แต่ต้องไม่หวังผล ไม่เหมือนกับซื้อขาย เพราะว่าบางคนให้เพราะหวังว่าเขาจะให้เราตอบ ให้เพราะว่าเขาจะได้รักเรา คือจะเป็นการแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ขณะนั้นจิตดีหรือเปล่า ต้องการอะไรรึเปล่า เพราะว่าบุญนั้นคือจิตใจที่ดีงาม ที่เป็นกุศล ที่ปราศจากอกุศล เพราะฉะนั้นขณะนั้นไม่ใช่บุญแน่นอน

บางคนก็ให้เพราะกลัว กลัวเขา ก็ต้องให้ไปเสียอะไรอย่างนั้น อย่างนั้นก็ไม่ใช่บุญอีก หลักก็คือว่า สภาพของจิตที่ปราศจากความติดข้องในวัตถุนั้น แล้วก็เป็นจิตที่ดีงาม ขณะนั้นเป็นกุศล เป็นไปในทาน ถ้าโกรธ ให้ไหม ทีแรกก็ตั้งใจว่าจะให้ แต่พอคนนี้ทำสิ่งที่ไม่ถูกใจขึ้นมา ก็เก็บไว้ก่อนอะไรอย่างนี้ แสดงว่าบุญนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดง่าย บางทีกำลังจะเกิดก็เกิด จะไม่เกิดขึ้นมาก็ได้ เพราะว่า จิตเกิดดับ สลับกันเร็วมากทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ถ้ากุศลจิตจะเกิดขณะใด กลัวว่าต่อไปเดี๋ยวกุศลจิตนั้นจะหมดไป ก็ต้องรีบกระทำกุศล ถ้ามีโอกาสที่จะกระทำได้ เพราะว่าจิตของคนเราเปลี่ยนแปลงกลับกลอก ไม่ตั้งอยู่คงที่

สำหรับเรื่องการให้ ก็คงจะไม่มีข้อสงสัยว่าให้โดยที่ไม่หวังผล ถ้าให้ แล้วหวังจะเกิดในสวรรค์ บางคนก็ให้หวังว่าจะถูกล็อตเตอรี่ คือมีแต่ความหวัง เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของโลภะ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการให้จริงๆ เพราะฉะนั้นเราต้องเป็นคนตรงต่อตัวเอง และก็ตรงต่อธรรมม ถ้าให้ก็คือให้ ให้แล้วไม่ต้องไปหวังอะไรที่เป็นการตอบแทนทั้งหมด นั้นจึงจะเป็นการให้จริงๆ และเราก็สบายใจด้วย นี่ถ้าเราให้แต่เราหวัง และเราไม่ได้อย่างที่หวัง เราก็ไม่สบายใจแล้วใช่ไหม ให้ให้เขากลัวเกรงเรา ให้เขารักเรา ให้เขาปรนนิบัติเรา แต่ถ้าเขาไม่ปรนนิบัติเรา ไม่กลัวเกรงเรา ก็โกรธขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็ไม่ใช่บุญ

ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่ใช่บุญ ถ้าเป็นจิตที่ผ่องใส ผลของกุศลก็มีมาก มีคนที่ฟังธรรมแล้วก็ปนกัน คือผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องเหตุ และผลว่า ขณะใดที่จิตใจผ่องใส แม้แต่การให้ ให้ด้วยความนอบน้อม ไม่ใช่ให้แบบรังเกียจ หรือว่าให้แบบเป็นผู้ให้ เพราะว่าบางคนเวลาให้ มีความสำคัญตนว่า เราเป็นผู้ให้ เพราะฉะนั้นคนนั้นจะต้องถือว่าเราเป็นผู้ที่ให้เขา เหมือนกับมีบุญคุณต่อกัน ขณะนั้นก็ไม่ใช่การให้ที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ถ้าจิตผ่องใส ปราศจากอกุศล มีผลมาก มีผลมากตั้งแต่เริ่มให้ เพราะว่าเป็นจิตที่ผ่องใส


หมายเลข  5980
ปรับปรุง  24 พ.ค. 2566


วีดีโอแนะนำ