แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 40


    สุ. อย่างเวลานี้ มีทั้งนามและรูป ไม่ใช่มีแต่รูป พอจะบอกได้ไหมว่า มีรูปอะไรบ้าง ต้องค่อยๆ พิจารณาศึกษาไปเป็นประเภทๆ ไม่ใช่ว่ารูปเป็นสิ่งที่เห็นได้ทางตาอย่างเดียว ถึงรูปที่ไม่ปรากฏทางตา ถ้าสภาพนั้นไม่ใช่สภาพรู้ ก็ไม่ใช่นาม เพราะคำว่า รูปนั้น หมายความว่า สภาพที่ปรากฏนั้นเป็นสภาพไม่รู้ อย่างเสียงปรากฏให้รู้ได้ทางหู เสียงไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ได้ยิน นี่ต้องแยกกัน เสียงกับได้ยินจะมารวมกันเป็นลักษณะเดียวไม่ได้

    . ถ้าไม่ได้ยิน ก็ไม่มีเสียง

    สุ. นี่เป็นเครื่องยืนยันว่า มีเสียงด้วย มีได้ยินด้วย มีทั้งสองอย่าง เพราะฉะนั้น เวลาเจริญสติ สติระลึกที่ไหน รู้อะไร

    . ตอนแรกไม่ได้เห็น เราได้ยินแต่เสียง เสียงนี่เป็นรูปใช่ไหม

    สุ. แต่ว่าเสียงมีลักษณะอย่างไร ไม่ใช่รู้โดยการฟังว่าเสียงเป็นรูป แต่ผู้เจริญสติต้องรู้ลักษณะของเสียงว่าต่างกับได้ยิน ก่อนอื่นโดยขั้นปริยัติต้องทราบว่า เสียงมี ได้ยินมี มีทั้งสองอย่าง แต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของเสียง หรือของได้ยิน ปัญญาต้องเกิดขึ้นเจริญขึ้น รู้ชัดตามความเป็นจริงทั้งสองลักษณะ ถึงจะละความเห็นผิด ความสงสัย ความไม่รู้ได้

    . รูปเป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา จะเป็นรูปได้อย่างไร

    สุ. มีรูปมากมายหลายอย่างซึ่งไม่ได้ปรากฏให้รู้ได้ทางตา รูปที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตามีรูปเดียวเท่านั้น คือ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะเรียกว่าสี จะเรียกว่ารูปารมณ์ จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ทางตา เป็นของจริงอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง นี่เป็นรูปเดียวที่รู้ได้ทางตา แต่ถ้าลองกระทบสัมผัสอะไร หลับตาแล้วยังรู้ว่าแข็ง สภาพแข็งไม่ใช่สภาพรู้ เป็นลักษณะแข็งเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ลักษณะแข็งนั้นก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยตา

    . เวลาที่เราเจริญสติปัฏฐาน มีเสียงภายนอก เป็นเสียงนก เสียงสัตว์ หรือเสียงอะไรก็ตามมากระทบให้เราได้ยิน เมื่อเราได้ยิน แต่ไม่ได้เห็นรูป แต่ในความสำนึก สติของเราคิดว่าเสียงนั้นต้องเป็นรูป เพราะว่ามีรูปสัตว์เช่นนก จึงมีเสียงออกมาใช่ไหม ทีนี้ในใจของเรา พอเราเลิกจากการนั่งสติปัฏฐานออกมา เราจึงจะได้เห็นว่า นี่เป็นตัวตน เป็นรูปจริง ๆ เป็นอย่างนี้ กลับกัน

    สุ. จะได้เห็นว่า ความเข้าใจของผู้ที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานมีหลาย ๆ ลักษณะ เป็นต้นว่า เวลาเสียงปรากฏ ท่านรู้ว่าเป็นรูป เพราะว่ามีรูปนก หรือว่ามีรูปของเสียงนั้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีนกที่เป็นตัว เป็นรูปให้เห็นแล้วเสียงนั้นก็ไม่มี เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินเสียง รู้ว่าเป็นรูป ก็เพราะเหตุว่ามีรูปของสัตว์นั้น ทำให้รู้ว่าเสียงนั้นเป็นรูปด้วย ใช่ไหม แล้วเคยมีบางเสียงไหม ที่ไม่ทราบว่าเสียงอะไร ทราบจากเสียงหรือเปล่า หรือว่ามีเสียงที่ไม่ทราบก็มี

    . ก็มีครับ

    สุ. ก็มี เพราะฉะนั้น ลักษณะของเสียงที่ปรากฏเป็นสภาพที่ปรากฏทางหู ไม่ใช่นาม นามจะไม่ปรากฏทางตา ทางหู ถ้ามีสติรู้ว่า เสียงเป็นแต่เพียงของจริงที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหูเท่านั้น แล้วเสียงนั้นก็ดับ ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งที่เกิดขึ้นก็ดับไป แม้เสียงนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นแต่เพียงของจริงชนิดหนึ่ง ก็จะทำให้ละคลายความไม่รู้ลักษณะของเสียง ยังไม่ต้องไปคิดถึงรูปนก กา ไก่ อะไรเลย แต่ว่าขณะที่มีเสียงปรากฏ ก็มีสติรู้เสียงที่กำลังปรากฏ รู้ลักษณะนั้นเท่านั้น

    ในครั้งก่อนได้กล่าวถึงชีวิตของพุทธบริษัท และในครั้งที่แล้วก็ตอบปัญหาของท่านผู้ฟังที่ต้องการจะบวชเป็นอุบาสิกา และได้กล่าวถึงชีวิตของอุบาสิกาซึ่งมีหลายประเภท เพราะเหตุว่าพุทธบริษัทนั้นก็ทราบแล้วว่า ถ้าเป็นกุลบุตรที่ได้ฟังพระธรรม เห็นว่าชีวิตของฆราวาสนั้นคับแคบ จึงออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ติดตามพระผู้มีพระภาค นั่นก็เป็นชีวิตของกุลบุตรผู้เห็นว่า ชีวิตของการเพียงเป็นอุบาสกนั้นไม่สามารถที่จะเจริญกุศลได้เต็มที่ และสำหรับในครั้งพุทธกาลมีสตรีที่เห็นว่า ชีวิตของฆราวาสนั้นคับแคบ ก็ใคร่ที่จะสละอาคารบ้านเรือน ออกบวชเป็นภิกษุณี เพราะเหตุว่าชีวิตนั้นก็มีหลากหลาย ถ้าผู้ใดได้ฟังธรรมแล้วเกิดศรัทธา แต่ไม่ได้สะสมอบรมมา ที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ผู้นั้นก็อาจจะปฏิบัติธรรม และสามารถที่จะได้บรรลุธรรม เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีในเพศของฆราวาสได้ แต่ถ้าผู้นั้นได้อบรมจนบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์เหมือนในครั้งพุทธกาลแล้ว ผู้นั้นจะไม่ครองบ้านเรือน แต่ออกบวชเป็นภิกษุณี

    แต่ในกาลต่อมา ไม่ใช่กาลสมัยที่บุคคลใดจะได้บรรลุพระอรหันต์ได้มากมายเหมือนอย่างในครั้งพุทธกาลที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น ผู้ที่สามารถบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ ก็ย่อมลดน้อยลง นี่ก็เป็นเหตุที่ในกาลภายหลังสตรีที่ต้องการละอาคารบ้านเรือนบวชเป็นพระภิกษุณีนั้นก็เสื่อมสิ้นไป เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุณี ก็สามารถจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีได้

    เพราะฉะนั้น ก็คงจะได้ทราบว่า จุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้สตรีบวชเป็นภิกษุณีได้ เพราะเหตุว่าในกาลครั้งนั้นมีผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมี มีคุณธรรมพร้อมจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ก็ทรงเห็นว่า ในกาลต่อ ๆ มานั้นก็ยากที่ผู้ใดจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น อุบาสิกาก็ย่อมมีทั้งที่ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรมด้วยความสนใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามมากเท่าที่จะทำได้ด้วยการรักษาศีล ๕ บ้าง รักษาศีล ๘ บ้าง

    นี่เป็นสิ่งที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน แต่ที่จะสละอาคารบ้านเรือนมาเป็นเพศภิกษุณีดังเช่นฝ่ายกุลบุตรนั้น ในสมัยนี้ไม่ใช่กาล เพราะฉะนั้น ผู้ที่สนใจในการที่จะประพฤติปฏิบัติตามธรรมของพระผู้มีพระภาคจริงๆ นั้น ก็ควรศึกษาธรรมให้เข้าใจละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้น้อมนำธรรมที่ได้ศึกษาและได้เข้าใจแล้วนั้น มาเป็นประโยชน์แก่ตน เพราะเหตุว่าพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้นั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ศึกษา แต่ว่าให้ประพฤติปฏิบัติตามเท่าที่จะกระทำตามได้ แล้วการประพฤติปฏิบัติตามธรรมนั้นก็เป็นการขัดเกลากิเลสตนเอง ไม่ว่าขั้นศีล หรือขั้นสมาธิ ขั้นปัญญาก็ตาม ผู้นั้นย่อมทำให้จิตใจของตน เบาบางจากอกุศล แล้วก็เพิ่มพูนกุศลยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบชัดเจนและรู้จักตัวเองดีด้วย ไม่ฝืนหรือไม่เพียงศรัทธา เมื่อเห็นเพศหนึ่งเพศใดมีความสงบ และมิได้พิจารณาจิตใจของตนเองว่ามีความมั่นคงที่จะสละอาคารบ้านเรือนไปบำเพ็ญชีวิตอย่างนั้นได้ ก็อาจจะทำให้เดือดร้อนใจได้ เพราะเหตุว่าเรื่องระเบียบ กฎ วินัย ข้อบังคับต่างๆ นั้น ถ้าบางท่านไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้แล้ว ก็ย่อมทำให้จิตเดือดร้อนมากกว่าที่จะทำให้จิตสงบ

    เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า จะต้องทราบหน้าที่ของอุบาสิกาและ อุบาสกว่า ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม เพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตามยิ่งขึ้น บางท่านก็วิตกว่า ถ้าเป็นอุบาสิกาแล้วคงต้องศึกษาธรรมมากมาย แล้วแต่อัธยาศัยอีกเหมือนกันว่า ท่านจะสนใจศึกษาได้มากเท่าไร ประพฤติปฏิบัติตามได้มากเท่าไร เพราะเหตุว่าผู้ใดก็ตามที่เป็นพุทธศาสนิกชนควรเข้าใจพระธรรมของพระผู้มีพระภาคมากขึ้น แล้วประพฤติปฏิบัติตามมากขึ้นด้วย

    สำหรับกิจของอุบาสิกาที่สนใจและศรัทธาในการศึกษาพระธรรม หรือรักษาศีล ๘ เป็นนิจนั้น ก็ย่อมมีโอกาสรักษาพระธรรมได้มากทีเดียว และจะเห็นได้ว่า แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ปรินิพพานนั้น พระองค์ก็ได้ทรงเห็นความสำคัญของพุทธบริษัททั้ง ๔ โดยไม่เว้น และไม่ได้ทรงมอบหมายพระธรรมไว้ กับพุทธบริษัทส่วนหนึ่งส่วนใดโดยเฉพาะ

    สิ่งที่น่าคิดอีกประการหนึ่งสำหรับในสมัยนี้ก็คือ พุทธบริษัทซึ่งรวมทั้งอุบาสิกาด้วยนั้นสนใจศึกษาธรรมมากน้อยเพียงใด เพราะโดยมากท่านจะศึกษาเพียงง่ายๆ บ้าง โดยรวดเร็วบ้าง หรือว่าผิวเผินบ้าง แต่ส่วนละเอียดและลึกซึ้งของธรรมนั้น ก็ควรช่วยกันศึกษา ตรวจสอบ ค้นคว้าให้มากขึ้นด้วย เพราะเหตุว่าบางท่านก็กล่าวว่า เข้าใจธรรมหมดแล้ว บางท่านก็กล่าวว่า ธรรมสูงเหลือเกิน ยากที่จะเข้าใจ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ถ้าในสมัยนี้พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน สมมติว่าประทับอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในเขตนี้ ไม่ทราบว่าจะมีพุทธบริษัทไปฟังธรรมไหม หรือจะเห็นว่าธรรมยากเหลือเกิน ฟังก็คงไม่เข้าใจเหมือนกับเวลาที่อ่านพระไตรปิฎก และมีข้อความในพระไตรปิฎกส่วนมากที่ต้องศึกษาโดยละเอียด

    เพราะฉะนั้น ลองสำรวจดูจิตใจของท่านเอง ท่านที่เห็นว่า ธรรมยากเกินไปก็ดี หรือท่านคิดว่า รู้ธรรมแล้วนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในเขตนี้ ท่านจะไปเฝ้าฟังธรรมไหม ถ้าไปเฝ้าฟังธรรม ไม่มีอะไรที่ผิดกับพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยบัญญัติที่ได้ทรงแสดงแล้ว พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎกได้ทรงแสดงแล้ว เนื้อความไม่ผิดกัน ถ้าจะไปเฝ้าฟังธรรมในบัดนี้ก็จะได้ฟังเหมือนอย่างบุคคลในครั้งอดีตได้ฟัง ส่วนความยากและลึกซึ้งของธรรมนั้นก็เป็นเรื่องที่ว่า บุคคลในครั้งโน้นฟังและเข้าใจ ถ้าบุคคลในครั้งนี้เปิดพระไตรปิฎกอ่าน และยังมีข้อความที่สงสัย ยังไม่เข้าใจชัดเจน ก็เป็นเรื่องที่บุคคลในครั้งนี้จะต้องพากเพียรศึกษา พยายามเข้าใจให้ถูกต้องชัดเจนเท่าที่จะกระทำได้ แล้วก็ต้องช่วยกันหลาย ๆ ฝ่ายด้วย

    สำหรับอุบาสิกาก็ไม่ควรจะท้อใจ คือถ้าสนใจ ก็ศึกษาเท่าที่จะกระทำได้ ข้อสำคัญก็คือว่า อย่าท้อใจ อย่าคิดว่า ยากนัก เพราะเหตุว่าถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ถึงพระผู้มีพระภาคจะประทับอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งแห่งใดในสมัยนี้ ท่านก็ไม่ไปฟังพระธรรมของพระองค์ เพราะมีความเห็นว่า พระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นสูงนัก ยากนัก

    เรื่องหน้าที่ของอุบาสิกา ไม่ใช่ไม่มีหน้าที่ เป็นพุทธบริษัทแล้วต้องมีหน้าที่ทั้งนั้น แต่ไม่ต้องกลัวว่า จะต้องเสียสละเวลามากๆ หรืออะไรอย่างนั้น ทำตามความสามารถเท่าที่จะทำได้ ข้อสำคัญคือ อย่าประมาทว่า ธรรมนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่ว่าธรรมนั้นเป็นเรื่องลึก เป็นเรื่องละเอียด

    ขอตอบจดหมายของท่านผู้ฟังที่เขียนมาจากบ้านเลขที่ ๒๑๖/๙ ต.ดำเนินสะดวก อ.ดำเนินสะดวก จ. ราชบุรี

    ท่านผู้ฟังเขียนมาว่า ได้ฟังธรรมบรรยายของท่านอาจารย์ตอนเช้า ผมมีความเลื่อมใสและเกิดศรัทธาอยากจะเรียน และปฏิบัติทางวิปัสสนาบ้าง แต่ผมไม่เคยบวชและไม่มีความรู้ในทางธรรมเลย คำบรรยายของท่านอาจารย์ บางครั้งผมฟังไม่เข้าใจ หรือไม่รู้ความหมายเลย ผมอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ดังต่อไปนี้คือ

    ๑. ผมไม่มีความรู้ทางธรรมเลย จะเรียนและปฏิบัติวิปัสสนาได้ไหม

    ๒. ผมมีเวลาว่างเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น จะขัดกับการเรียนวิปัสสนาหรือไม่

    ๓. การเรียนวิปัสสนาจะไปสมัครได้ที่ไหน และจะต้องเตรียมสิ่งของอะไรบ้าง

    ๔. ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำหนังสือคู่มือเรียนวิปัสสนาให้ผมสัก ๑ เล่ม

    ผมขอเรียนถามท่านอาจารย์เพียงเท่านี้ ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาชี้แนวทางให้ผมทราบด้วย จะขอขอบพระคุณอย่างสูง

    สุ. ข้อ ๑ ที่ว่าไม่รู้ทางธรรมเลย จะเรียนและปฏิบัติวิปัสสนาได้ไหมวิปัสสนาเป็นเรื่องของการเจริญปัญญา ถ้าไม่ศึกษาไม่เรียน ไม่เข้าใจเลย เจริญวิปัสสนาไม่ได้ เพราะเหตุว่าเรื่องศีลเป็นการรักษากาย วาจา ไม่ให้เป็นทุจริต เรื่องสมาธิเป็นการระงับโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลธรรม แต่การเจริญวิปัสสนานั้นเป็นการเจริญปัญญา เพื่อละอนุสัยกิเลส

    การเจริญวิปัสสนานั้น เป็นการเจริญปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้ที่จะละกิเลสอย่างละเอียด ไม่ใช่กิเลสที่ละได้สงบระงับได้เพียงขั้นการเจริญสมถะ ผู้ที่ต้องการจะเจริญวิปัสสนานั้น ต้องเจริญสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ตามลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าสิ่งใดจะปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ตาม เจริญความเห็นถูกต้องตามลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จึงจะชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ หรือความเห็นชอบ

    เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่ไม่มีความรู้ทางธรรมเลย จะเรียนแล้วปฏิบัติวิปัสสนาได้ไหม จะได้ คือ จะเรียนก็ได้ จะปฏิบัติก็ได้ เมื่อเข้าใจในข้อประพฤติปฏิบัตินั้นแล้ว ไม่ใช่เมื่อยังไม่เข้าใจในข้อประพฤติปฏิบัติเลย ก็ปฏิบัติวิปัสสนาได้ การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญปัญญา จึงต้องศึกษาให้เข้าใจเหตุผลและความละเอียดของข้อประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ไม่ให้ผิด ไม่ให้คลาดเคลื่อน ปัญญาจึงจะเจริญได้

    ถ้าความเข้าใจขั้นฟังยังไม่มี ไม่ว่าท่านจะเจริญอย่างไร ปัญญาไม่เกิดทั้งนั้น

    ประการที่ ๒ ที่ว่า มีเวลาว่างเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น จะขัดกับการเรียน วิปัสสนาหรือไม่

    ปัญญาเป็นเรื่องละอวิชชาความไม่รู้ ถ้ายังไม่รู้ในขณะใด แล้วเข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติที่ละความไม่รู้นั้น ก็ย่อมเจริญปัญญา ละความไม่รู้ได้ทุกขณะ

    ที่ถามว่า มีเวลาว่างเฉพาะวันอาทิตย์นั้น จะเรียนวิปัสสนาได้หรือไม่

    วิปัสสนาไม่ใช่ปฏิบัติเฉพาะวันอาทิตย์ แต่ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ถ้าเข้าใจแล้ว สามารถเจริญวิปัสสนาได้เนือง ๆ บ่อย ๆ

    ข้อ ๓ การเรียนวิปัสสนา จะไปสมัครได้ที่ไหน และต้องเตรียมสิ่งของอะไรบ้าง

    ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเข้าใจการเจริญวิปัสสนาแล้ว สามารถเจริญวิปัสสนาหรือเจริญสติปัฏฐานได้ทันที และถ้าตรวจสอบดูในพระธรรมวินัย อุบาสกอุบาสิกาไม่ต้องเตรียมสิ่งใดเลย นี่เป็นสิ่งที่ควรเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏ-ฐานนั้นไม่ใช่ต้องไปอยู่ในสถานที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะ

    ข้อ ๔ ขอให้ช่วยแนะนำหนังสือคู่มือเรียนวิปัสสนาให้สัก ๑ เล่ม

    จะแนะนำหนังสืออะไรดี คงจะตอบกันคนละอย่างตามฉันทะ แต่ถ้าจะให้ตอบตรงกัน หนังสือที่จะแนะก็คือ มหาสติปัฏฐานสูตรและพระสูตรอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเจริญสติ ที่อุปการะในการเจริญสติ ทุกสูตรมีประโยชน์มาก เพราะเหตุว่าท่านที่สนใจการเจริญวิปัสสนา ถ้าไม่สอบทาน ไม่เทียบเคียงกับมหาสติ-ปัฏฐานสูตร อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปได้

    ปัญหาที่ข้องใจมีประการเดียว คือ เมื่อไรจะบรรลุมรรคผลเสียที เท่าที่ฟังรู้สึกว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่ค่อยเห็นประโยชน์ของสติ เพราะเหตุว่าต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล แต่ท่านไม่เข้าใจว่า อะไรที่รู้แจ้งอริยสัจ

    โดยมากท่านอยากจะรู้แจ้งอริยสัจด้วยความไม่รู้อะไร แม้ยังไม่รู้อะไรเลย แต่ก็อยากจะรู้แจ้งอริยสัจ อยากจะบรรลุมรรคผล ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าขณะนี้ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยังเคลือบแคลงสงสัย ยังเป็นตัวท่าน ยังไม่ประจักษ์ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูป ยังไม่มีปัญญาที่สมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ แล้วท่านหวังแต่เพียงว่า เจริญสตินิดเดียว รู้ลักษณะของเสียงบ้าง ของได้ยินบ้าง ของเย็นบ้าง ของอ่อนบ้าง ของคิดนึกบ้าง เพียงแค่มีสติเล็กน้อย ก็อยากรู้แจ้งอริยสัจเสียแล้ว โดยที่ยังไม่รู้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอีกมาก

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะหวังรู้แจ้งอริยสัจโดยรวดเร็ว หรือแม้ในชาตินี้ ท่านควรเปลี่ยนเป็นเพิ่มความรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม


หมายเลข  5426
ปรับปรุง  24 มิ.ย. 2565