แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 36


นี่คือมหาสติปัฏฐาน ตามปกติ ตามธรรมดาทุกอย่าง ไม่ควรข้าม แล้วต้องการดู พยายามไปดูให้เห็นสิ่งซึ่งไม่เห็นตามปกติ ซึ่งที่ถูกแล้วควรเจริญสติ ระลึกได้เมื่อกำลังดำเนินชีวิตตามปกติ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามปกติ ขอให้เลิกละความต้องการที่จะไปดูสิ่งที่ไม่ใช่ปกติ เพราะขณะนั้นมีความพอใจ มีความต้องการอาศัยอยู่แล้ว จึงไม่ใช่การรู้ลักษณะของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่กำลังปรากฏตามปกติเลย

ก็ยังมีปัญหาต่อไปอีกสำหรับท่านที่ได้ฟังเรื่องของนามและรูปแล้ว ท่านกล่าวว่าปัญญาขั้นต่อไปนั้นเป็นอะไร เหมือนกับเป็นธรรมดาเสียเหลือเกินที่ท่านรู้แล้ว แต่ไม่ใช่รู้แล้วเลย เพราะเพียงทราบว่าอะไรเป็นนามอะไรเป็นรูปโดยการฟังว่า กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นรูป เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้

หรือว่ากำลังได้ยินทางหู สภาพที่ได้ยินเป็นสภาพรู้ ส่วนเสียงไม่ใช่สภาพรู้ ท่านเข้าใจอย่างนี้แล้วโดยปริยัติ แต่ไม่ใช่พอ อย่าคิดว่าแค่นี้พอแล้ว แค่นี้รู้แล้ว ความรู้ขั้นนี้เป็นแต่เพียงความรู้ขั้นปริยัติเท่านั้นเอง ไม่ใช่ขั้นญาณ ไม่ใช่ผลของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่ความรู้ที่เกิดพร้อมกับสติ ระลึกได้รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทีละลักษณะ จนกระทั่งชิน จนกระทั่งหมดความสงสัยในลักษณะของนามและรูปที่ต่างกันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ปัญญายังเจริญอีกเรื่อยๆ ละคลายมากขึ้น และประจักษ์การเกิดดับของนามและรูปที่มีอยู่ตามปกติธรรมดานั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ตาม แต่ให้ทราบว่า ไม่ใช่รู้แล้วโดยขั้นการฟัง แต่หมายความว่า จะต้องมีสติ ระลึกได้ และรู้ชัดจริงๆ ในลักษณะของนามและรูป

ถ้าท่านกระทบกับเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังเห็นระลึกได้ พิจารณาว่าเป็นสภาพรู้ หรือว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องให้ชัดเจนทั้งสองอย่าง อย่ารวมๆ ว่ารู้แล้ว เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริงเลย

สำหรับในตอนนี้มีท่านผู้ใดสงสัยไหม เพราะว่าความจริงก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่อยากให้สติของท่านระลึกรู้เนืองๆ ในสิ่งที่ปรากฏตามปกติ ไม่ต้องการที่จะไปดู สิ่งซึ่งไม่ใช่เป็นปกติ เพราะเหตุว่าสภาพรู้ทั้งหมดเป็นนามธรรม ไม่ใช่ท่านจะไปดูนามได้ แต่ท่านรู้นามได้ ท่านรู้รูปได้

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นความรู้เจริญขึ้น ไม่ใช่ว่าจะไปดูจนกระทั่งเห็นอะไร ถ้าปัญญาไม่รู้แล้ว ไม่เห็นการเกิดของนาม ซึ่งเห็นไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรม ที่จะรู้ลักษณะของนามได้ต้องเป็นนาม สภาพรู้ก็เป็นนาม ไม่ใช่จะไปดู แต่ว่ารู้ เจริญความรู้ให้มากขึ้น

. ถ้าไม่ดู ทำไมจึงจะรู้

สุ. คำถามว่า ถ้าไม่ดูทำไมจึงจะรู้ ขณะที่กำลังเห็น ดูอย่างไรถึงจะรู้ว่าเป็นนาม ที่ว่าถ้าไม่ดูก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ทุกท่านกำลังเห็น ดูอย่างไรจึงจะรู้ว่าเห็นนี้เป็นนาม กำลังได้ยิน ดูอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่าได้ยินนี้เป็นนาม

แต่เวลาที่ระลึกได้ รู้ว่าสภาพนี้เป็นสภาพรู้ ทางหูรู้ได้ไหม รู้ได้ถ้ามีสติ เมื่อระลึกได้แล้วก็ใส่ใจว่า สภาพที่กำลังปรากฏนี้เป็นลักษณะรู้ ปัญญารู้ได้ ถ้าท่านจะไปดู ท่านไม่ได้ละความไม่รู้ แต่ว่าเวลาที่ท่านรู้ขณะใด ท่านละความไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าบางทีท่านผู้ฟังก็บอกว่า เห็นก็มี ใครบ้างที่ไม่รู้ว่า กำลังเห็น ได้ยินก็มี ใครบ้างที่ไม่รู้ ดูเหมือนกับว่าทุกท่านนั้นมีสติสัมปชัญญะทุกๆ ขณะที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ แต่ที่ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานก็เพราะเหตุว่า เห็นจริง แต่ไม่รู้ว่ากำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นสภาพรู้ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ท่านที่มีจักขุปสาทก็เห็น ท่านที่มีโสตปสาทก็ได้ยิน ท่านเห็น ท่านได้ยินตามปกติ แต่ไม่รู้ลักษณะของเห็น ไม่รู้ลักษณะของได้ยิน แต่ผู้เจริญสติระลึกได้ พิจารณารู้ลักษณะของสภาพรู้ว่า ต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหูอย่างไร

นี่เป็นความต่างกัน เพราะส่วนมากท่านบอกว่ามีสติรู้ กำลังเห็นก็รู้ว่าเห็น กำลังได้ยินก็รู้ว่าได้ยิน ไม่มีความหลงลืม หรือเป็นผู้ขาดสติ แต่ในขณะนั้นถ้าไม่ได้พิจารณาว่า สภาพนั้นเป็นสภาพรู้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ความรู้ เป็นความไม่รู้

เพราะฉะนั้น ท่านก็จะเห็นความเป็นปกติของสติว่า สติไม่ระลึกรู้ที่อื่น แต่ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติธรรมดา ผู้เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่ปัญญาเจริญทุกขั้นทีเดียวตั้งแต่ขั้นต้น แม้แต่รู้ว่าอะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป ผู้เจริญสติปัฏฐานก็รู้เหตุถูกต้องตามความเป็นจริงว่า การที่ท่านเริ่มรู้ว่า สิ่งใดเป็นรูป สิ่งใดเป็นนามนั้น เพราะท่านพิจารณาอย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่ท่านกระทบ เย็นก็เย็น ร้อนก็ร้อน แต่จะต้องใส่ใจลักษณะที่กำลังปรากฏ และก็มีความรู้ว่า ขณะนั้นสภาพนั้นเป็นสภาพรู้ หรือว่าไม่ใช่สภาพรู้ ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะชินตามปกติธรรมดา แต่ให้ทราบว่าสติปัฏฐานนั้นไม่ใช่อย่างอื่น เป็นชีวิตปกติธรรมดา ไม่ว่าจะขับรถยนต์ ไม่ว่ากำลังรับประทานอาหารหรืออะไร ก็มีสิ่งที่ทำให้สติระลึกรู้ได้ เป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง จะ ต้องอยู่ในมหาสติปัฏฐานหมวดหนึ่งหมวดใดเสมอ เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นเป็นลักษณะที่ปรากฏ เป็นของจริง

ข้อสำคัญอวิชชากั้นไม่ให้สติเกิด เพราะเข้าใจว่าขณะนั้นสติเกิดไม่ได้ อย่างปุถุชนผู้ไม่เคยเจริญสติก็คิดว่า กำลังทำงานสติเกิดไม่ได้ เพราะไม่เคยเจริญสติ แต่ถ้าเจริญสติจะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่มีอะไรจะบังคับหรือกั้นไม่ให้สติเกิดเลย แล้วแต่สติจะเกิดเมื่อไรก็ได้ สติเป็นอนัตตา เป็นสภาพที่ระลึกได้ แล้วก็พิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

. ที่ว่าเจริญสติปัฏฐานนั้น ขณะรูปปรากฏ นามรู้ ตัวเราสามารถจะอธิบายได้หรือไม่

สุ. อธิบายหรือรู้ ผู้ที่มีสติรู้ได้ เพราะในขณะนั้นสติระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วปัญญาพิจารณาลักษณะนั้นก่อนที่จะรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้หรือว่าไม่ใช่สภาพรู้ เพราะเหตุว่าขณะนี้มีทั้งนามและรูปปรากฏทั้งสองอย่าง ทางตา ก็มีทั้งนามและรูป ทางหู ก็มีทั้งนามและรูป ถ้าได้กลิ่นทางจมูก ก็มีทั้งนามทั้งรูป ถ้าทางลิ้นกำลังรู้รส ก็มีทั้งนามทั้งรูป จะมีแต่รสปรากฏโดยที่ไม่รู้รสไม่ได้ ทางกายก็เหมือนกัน เวลาที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหวปรากฏ ก็จะต้องมีนามที่รู้ ลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อน ไหว เคร่ง ตึงนั้นด้วย

เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสติระลึกรู้ที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใด ปัญญาจึงต้องพิจารณาให้รู้ชัดว่า สภาพนั้นเป็นสภาพรู้หรือว่าไม่ใช่สภาพรู้ เพื่อละความที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้ชัดจริงๆ ยังสงสัยอยู่ ก็ยังยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นตัวตน การที่จะหมดความเห็นผิดยึดถือว่าเป็นตัวตนได้จะต้องมีปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ ถ้าพิจารณารูป ก็รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ แล้วแต่ลักษณะของรูปนั้น อย่าปนกันระหว่างสภาพรู้กับสภาพที่ไม่รู้ ซึ่งจะขาดปัญญาไม่ได้เลย ต้องพิจารณาให้รู้ชัด จึงจะชื่อว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่แค่รู้สึกตัวเท่านั้น เพียงรู้สึกตัวไม่พอ แต่ต้องพิจารณามากขึ้นด้วย

. แล้วต่อไปจะพิจารณาอย่างไร

สุ. ปัญญาที่จะรู้นี้ รู้ชัดในลักษณะเพียง ๒ อย่าง คือ ลักษณะที่เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง กับสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง ๒ อย่างเท่านั้นเอง ไม่ว่าในขณะไหนก็ตาม ถ้าจะคิดนึกต่อจากที่เย็นบ้าง ร้อนบ้าง ก็มีสติระลึกได้ รู้ว่าที่คิดนั้นก็เป็นสภาพรู้ คือ สภาพคิดเท่านั้นเอง เพราะรูปคิดไม่ได้

. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ก็ไม่เป็นไร เพราะเหตุว่าปัจจุบันธรรมนี้ปรากฏเพียงนิดเดียวแล้วก็หมดไป แต่เยื่อใยความที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนต่างหากที่พยายามจะย้อนกลับไปกลับมา ขณะใดที่มีสติระลึกได้ รู้ลักษณะของรูปใด ทั้งสติและรูปนั้นก็ดับ แล้วเวลาที่ลักษณะอื่นปรากฏ สติอีกขณะหนึ่งก็เกิดรู้ลักษณะของรูปนั้น หรือว่ารู้ลักษณะของนามต่อไป

ข้อสำคัญคือ จะต้องเข้าใจลักษณะของสติว่า ระลึกเมื่อไรก็ได้ จะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่าใฝ่หาหรืออย่าพอใจที่จะไปดูสิ่งที่ไม่ปกติ เพราะเหตุว่าสิ่งที่เกิดดับก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกตินั่นเอง

เสียงที่ปรากฏให้รู้ทางหูเมื่อสักครู่นี้ เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับ อย่าไปหวังอย่างอื่นเลย ถ้าจะรู้ความเกิดดับ ก็รู้ความเกิดดับของเห็น ของได้ยิน ของได้กลิ่น ของสี ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของเย็น ร้อน อ่อน แข็งตามปกติธรรมดานี่เอง และก็เป็นการละคลายความต้องการของท่านด้วย เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ต้องการจะไปดู ต้องการสงบ แต่ปัญญาไม่ได้ละความไม่รู้ในขณะที่เห็น ที่ได้ยินตามปกติเลย แล้วการที่จะรู้จักกาย เวทนา จิต ธรรม ตามปกติที่เป็นตัวเองจริงๆ ดีหรือไม่ดี จิตของเราจะให้คนอื่นรู้ดีไหม หรือว่าเราควรจะรู้ของเราเอง

ขณะใดเป็นโลภะมากหรือน้อยทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ ขณะใดเป็นความไม่แช่มชื่น เป็นโทสะ จะให้คนอื่นรู้ หรือว่าเราเองควรจะเป็นผู้รู้จิตนั้น เพราะเหตุว่าถ้าลักษณะของจิตอย่างนั้นเกิดขึ้นแล้วระลึกได้ เป็นการละความไม่รู้ เป็นการละความที่เคยยึดถือสภาพนั้นว่าเป็นตัวตนเพราะเหตุว่าโลภะก็ดับ โทสะก็ดับ ผู้ที่เจริญสติระลึกได้ตามปกติธรรมดา ไม่ว่ากำลังหวีผม กำลังใส่รองเท้า กำลังทำงาน กำลังใส่น้ำตาล น้ำปลา ท่านจะเห็นจริงๆ เท่านั้นเอง จะใส่เพราะพอใจในรส ก็หมดแล้ว ได้ยินอีกแล้ว เห็นอีกแล้ว พิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ จะไม่หวั่นไหว แม้ในโลภะหรือโทสะที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัยนั้น ท่านก็ไม่ได้ยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะเคยสะสมมาอย่างนั้นแล้วก็หมด ถ้าพิจารณาอย่างนี้ ก็รู้จักตัวเองมากขึ้น และจะรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามและรูปเท่านั้นเองจริงๆ แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ไม่มีโอกาสละความไม่รู้ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตนได้

เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะละความต้องการสิ่งอื่นที่ยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ

. สติควบคุมได้ไหม

สุ. ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เวลามีสติ อาจจะคิดว่าบังคับให้สติเกิดได้ แต่ความจริงบังคับไม่ได้ เพราะไม่มีตัวตน หมายความว่า รู้ปัจจัยว่าสติจะเกิดได้อย่างไร ถ้าทราบว่าสติเป็นอนัตตา เป็นธรรมชาติที่มีคุณ ไม่ควรให้จิตเป็นไปในโลภะ ในโทสะ ในโมหะ และการที่สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทำให้ปัญญาพิจารณาและรู้ชัดในลักษณะของสิ่งนั้นเพื่อละความไม่รู้ ถ้ารู้อย่างนี้สติก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ จนกว่าจะมีกำลัง แล้วในขณะที่สติเกิดก็ไม่ยึดถือว่าสตินั้นเป็นตัวตนและไม่คิดว่าบังคับสติได้ เพราะเหตุว่าปัญญาจะต้องรู้ชัดตามความเป็นจริงในลักษณะทั้ง ๓ ของสังขารธรรม คือ สภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าถ้ามีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ก็จะรู้ว่าสิ่งนั้นดับแล้วจึงเป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตนและบังคับบัญชาไม่ได้ เช่น ต้องการพิจารณานามได้ยินกับเสียง แต่นามได้ยินกับเสียงปรากฏชั่วขณะก็ดับไป หรือต้องการให้สติระลึกได้ในขณะนั้นขณะนี้ สติก็ไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ หรือยังไม่ทันเตรียมตัวว่าจะเจริญสติ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว สติจึงเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจ

. ขอให้อธิบายเรื่องพิจารณาเห็นอีกครั้งหนึ่ง ไม่ทราบว่าจะพิจารณาอย่างไร เพราะเหตุว่าพอเห็นก็รู้ว่าเป็นนาม

สุ. อย่าปนกันระหว่างการนึกรู้ด้วยความคิดว่ากำลังเห็นเป็นนาม กับการรู้ลักษณะจริงๆ ที่กำลังเห็นว่าเป็นสภาพรู้ เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาคนละขั้น ถ้าขณะที่กำลังเห็นนึกรู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นนามเป็นสภาพรู้ นั่นเป็นปัญญาขั้นการคิด ซึ่งอาจจะเกิดโดยไม่มีใครบังคับได้ จะห้ามไม่ให้คิดอย่างนั้นก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าการคิดเรื่องอะไรนั้นก็เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะฉะนั้น ขณะที่คิดให้ทราบว่า เป็นสภาพคิด เป็นนามอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ขณะที่กำลังคิดอย่างนั้นไม่ใช่ขณะที่รู้ลักษณะที่กำลังเห็นว่าเป็นนาม แต่ว่าเป็นการคิด เป็นปัญญาขั้นคิดที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ท่านอาจจะคิดหลายๆ ครั้ง ขณะที่กำลังนั่งแล้วเห็น ก็อาจจะนั่งคิดว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นนาม กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นนามๆ อาจจะคิดสัก ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๑๐ ครั้ง แต่ถึงแม้ไม่คิด เห็นก็มี การพิจารณาธรรมให้เกิดปัญญา ต้องเป็นผู้ละเอียด ต้องรู้ว่าขณะที่คิดนั้นอย่างหนึ่ง และถึงแม้ไม่คิด เห็นก็มี กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ก็เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่ดีใจ ไม่ใช่เสียใจ แต่เป็นสภาพรู้ทางตา กำลังเห็นขณะนี้เป็นสภาพรู้ ระลึกได้ แล้วก็รู้ว่ากำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะชินเนืองๆ บ่อยๆ เพราะเหตุว่าการเจริญสตินั้น เพื่อกั้นกระแสของโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ถ้าไม่ระลึกรู้ในขณะที่เห็น ก็เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง แต่ถ้าระลึกได้ พิจารณาเห็น หรือได้ยิน หรือสี หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือคิดนึกที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าคิดนึกก็บังคับไม่ได้ สติรู้ที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นมากขึ้น แล้วปัญญาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าปัญญานั้นจะรู้ชัด

เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น เห็นไม่ใช่สี เห็นเป็นสภาพรู้ซึ่งไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แต่ปัญญาระลึกรู้ได้ว่า กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรให้ผิดปกติ ไม่ต้องจ้องหรือไม่ต้องทำอะไรที่จะดูนามที่เห็น แต่รู้ว่ากำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ ละความไม่รู้ เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้ สติก็ไม่ได้ระลึก เมื่อสติไม่ได้ระลึก ปัญญาก็ไม่รู้ว่า กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ แต่ที่จะรู้อย่างนี้ได้หมายความว่า ต้องระลึกได้ และปัญญาก็รู้ว่าที่กำลังเห็นนี้ก็เป็นสภาพรู้เท่านั้น

เพราะฉะนั้น อย่าไปจ้องตรงจักขุปสาท เพราะเหตุว่านั่นไม่ใช่การรู้สภาพรู้ การรู้สภาพรู้เป็นแต่เพียงรู้ว่าเป็นสภาพรู้เท่านั้น

ถ้าเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องกั้น แต่โดยมากท่านไม่ได้แยกลักษณะของสติกับสมาธิเลยว่า สตินั้นเป็นสภาพที่ระลึก ได้ตามปกติธรรมดา และก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏที่เป็นปกติธรรมดาด้วย เห็นก็เห็นตามปกติ ได้ยินก็เป็นได้ยินตามปกติ แต่ระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏนั้น

จะถึงนามรูปปริจเฉทญาณหรือยัง ไม่ต้องสนใจเลย เป็นเรื่องของผลซึ่งต้องอาศัยเหตุ ถ้าเหตุคือสติที่ระลึกได้ และปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เนืองๆ บ่อยๆ แล้ว ทำไมจะต้องห่วงถึงผล คือ นามรูปปริจเฉทญาณ


หมายเลข  5418
ปรับปรุง  18 มิ.ย. 2565