แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 41


ในตอนนี้มีท่านผู้ใดสงสัยในการสติปัฏฐาน ๔ บ้าง หรือยังไม่เข้าใจ ยังไม่เห็นด้วยว่า สิ่งที่มีอยู่ทุกๆ ขณะในชีวิตประจำวันนั้นเป็นสติปัฏฐาน หรือคิดว่าขณะไหนไม่ใช่สติปัฏฐาน ขณะไหนเป็นสติปัฏฐาน

. มีผู้เถียงเสมอว่า เวลาเจริญสติปัฏฐานนั้นขับรถยนต์ไม่ได้

สุ. เวลาขับรถยนต์นั้น ใครขับ มีตัวตน มีสัตว์บุคคลที่กำลังขับรถยนต์หรือเปล่า พิจารณาด้วยตัวของท่านเองว่า ท่านก็เคยขับรถยนต์ เคยดูละคร เคยอ่านหนังสือพิมพ์ เคยโทรศัพท์ ก็เป็นนามเป็นรูปประเภทต่างๆ เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโมหะบ้าง เป็นกุศลที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในการเจริญความสงบ เท่านั้นเอง แต่ความรวดเร็วของนามและรูปซึ่งเป็นสังขารธรรม ทั้งจิตก็ดี เจตสิกที่เกิดกับจิตก็ดี รูปก็ดี เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วมากทีเดียว มากจนกระทั่งทำให้ผู้ที่หลงลืมสติ ไม่ได้พิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปแต่ละชนิดตามความเป็นจริง เข้าใจผิด ยึดถือว่า เป็นตัวตน เพราะเหตุว่านามรูป เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

ผู้ที่ยังไม่เจริญสติเลย ก็คิดว่าทุกขณะมีตัวตนแน่นอน แต่ให้ทราบว่า ผู้ที่ตรัสรู้แล้วประจักษ์ลักษณะของนามรูปชัดเจนถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ทุกขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพรู้อย่างหนึ่ง และสภาพที่ไม่รู้อะไร แต่เป็นสภาพที่ปรากฏให้รู้ได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุว่าเมื่อย่อโลกลง จะมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ ลักษณะ คือ สภาพรู้อย่าง ๑ และสภาพที่ไม่รู้อย่าง ๑ ถ้าไม่มีสติ ไม่พิจารณา ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปชนิดหนึ่งชนิดใดแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะได้รู้เลยว่า โลภะเกิดขึ้นก็ดับไป ทุกคนมีโลภะ ดับไหม ดับ แต่ไม่ประจักษ์ เพียงขั้นการศึกษาว่า โลภะดับ แต่ไม่ประจักษ์ความดับของโลภะ เพราะว่า สติไม่ได้รู้ลักษณะของโลภะที่กำลังปรากฏ กำลังเห็นดับไหม โดยการศึกษาทราบว่า การเห็นเกิดดับทุกขณะ แต่ไม่ประจักษ์การเกิดดับของเห็นที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ เพราะเหตุว่าไม่ระลึกรู้ลักษณะที่กำลังเห็นตามความเป็นจริง

เวลานี้เห็นมีไหม มี ได้ยินมีไหม มี คิดนึกด้วยหรือเปล่า คิดนึกด้วย ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งคิดนึก นี่แสดงถึงความรวดเร็วของจิต แต่โดยสภาพความจริงแล้ว จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ หรือว่าทีละ ๑ ดวงเท่านั้น จะเกิดพร้อมกันทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งคิดนึกไม่ได้เลย แต่ถ้าผู้นั้นเจริญสติ เห็นก็ยังคงเป็นเห็นตามปกติธรรมดา แต่สติรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นว่า ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่ร้อน ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ แต่ว่าเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่งซึ่งเกิดเพราะมีตา หรือว่าอาศัยตา จึงมีการเห็นเกิดขึ้นได้

เพราะฉะนั้น คนหนึ่งกำลังเจริญสติปัฏฐาน อีกคนหนึ่งไม่เจริญสติปัฏฐาน ในขณะที่คนซึ่งไม่ได้เจริญสติ เห็น แล้วก็ชอบ แล้วก็อยากได้ ผู้เจริญสติเห็น อาจจะชอบ แต่มีสติ ระลึกรู้ลักษณะที่เห็นก็ได้ ระลึกรู้ลักษณะความพอใจที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก็ได้

สำหรับเรื่องขับรถยนต์ ขอให้พิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริงว่า ผู้ที่กำลังขับรถยนต์กันอยู่ในท้องถนนขณะนี้นั้น เจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า กำลังรับประทานอาหาร กำลังนั่ง นอน ยืน เดิน เคลื่อนไหว เหยียดคู้ พูด นิ่ง คิด ตามปกติ เจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า

บางท่านก็เข้าใจผิดว่า ถ้าเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะขับรถยนต์ชน แต่ขอให้คิดถึงปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันว่า ที่ขับรถยนต์ทุกๆ วัน มีโลภะไหม มีโทสะไหม มีโมหะไหม ถ้าท่านเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เจริญสมาธิ ไม่ใช่บังคับ เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นอนุสติ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ต้องสร้างอะไรขึ้นมาเลย เย็นมีไหม ร้อนมีไหม เห็นมีไหม ได้ยินมีไหม รู้ว่าเป็นคน เป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย ได้ยินเสียงรู้ความหมายต่างๆ ตามปกติ ผู้ที่เจริญสติ แทนที่โลภะจะเกิด โทสะจะเกิด โมหะจะเกิด สติก็เกิดรู้ลักษณะของสิ่งนั้นตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น การเจริญสติไม่เป็นโทษ ไม่เป็นภัย ไม่ค้านกับพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ให้พุทธบริษัทเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ เลย แต่ที่ท่านเข้าใจผิด เพราะไม่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง และข้อสำคัญที่สุดที่จะทำให้คลาดเคลื่อนก็คือไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน ท่านได้ยินคำว่า วิปัสสนา เป็นการเจริญกุศลขั้นสูงในพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคตรัสรู้หนทางที่เป็นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวที่จะทำให้สัตว์โลกเจริญปัญญา สามารถดับกิเลส ดับทุกข์ได้สิ้นเชิงเป็นสมุจเฉท

เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องการเจริญวิปัสสนา โดยที่ยังไม่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน เท่าที่สอบถาม โดยมากต้องการความสงบ ต้องการพักผ่อนจิตใจ ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งจุดประสงค์คือ การเจริญปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง มีสัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ ถูกต้องตามลักษณะของสิ่งนั้น

การละความไม่รู้ จะปราศจากปัญญาไม่ได้ เพราะเหตุว่าทางตาก็ไม่รู้ ทางหูก็ไม่รู้ ทางจมูกก็ไม่รู้ ทางลิ้นก็ไม่รู้ ทางกายก็ไม่รู้ ทางใจก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้อยู่ทุกวัน ๆ ตั้งแต่ก่อนเจริญสติปัฏฐาน รวมทั้งในอดีตอนันตชาติด้วย ถ้าไม่เจริญปัญญาให้เกิดความรู้ขึ้นแล้ว จะละความไม่รู้นั้นได้อย่างไร

บางท่านก็ถามว่า โลกุตตรจิต โสดาปัตติมัคคจิตก็ดี สกทาคามิมัคคจิตก็ดี อนาคามิมัคคจิตก็ดี อรหัตตมัคคจิตก็ดี เกิดขึ้นเพียงขณะเดียวเท่านั้น เหตุใดจึงละกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ก่อนที่โสดาปัตติมัคคจิตจะเกิดนั้น ผู้นั้นต้องอบรมเจริญปัญญาเนืองๆ บ่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งรู้ชัด ละคลายความไม่รู้ ความเห็นผิด บุคคลในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานนั้น ถึงท่านจะเป็นพระภิกษุ ละอาคารบ้านเรือนแล้ว เจริญสติปัฏฐานอยู่เนืองนิจ บางท่านเจริญ ๓๐ ปี ๕๐ ปี ก็ยังไม่บรรลุมรรคผล

เพราะฉะนั้น บุคคลในครั้งนี้ต้องการบรรลุมรรคผลโดยไม่รู้อะไร โดยที่หวังจะไปเจริญความสงบเพียงแค่ ๑๐ วัน ๑๕ วัน เดือน ๑ บ้าง ๒ เดือนบ้าง แล้วจะเป็นไปได้ไหมในสมัยนี้ ซึ่งหาบุคคลที่เป็นอุคฆฏิตัญญู วิปัญจิตัญญู นั้นยากนัก ถ้าจะเป็นได้ ก็เป็นเนยยบุคคล คือผู้ที่ฟัง ศึกษา ตรวจสอบ ใคร่ครวญ พิจารณาเจริญเหตุอย่างมากทีเดียว ผลที่สมควรจึงจะเกิดขึ้นได้

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้เข้าใจสติปัฏฐานว่า ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่ และการเจริญสติปัฏฐานไม่เคยเกิดอันตรายเลย เพราะเหตุว่ารู้สภาพของนามและรูปถูกต้องตามความเป็นจริงตามปกติ เคยเห็นอย่างไร ก็เห็นอย่างนั้น ได้ยินอย่างไร ก็ได้ยินอย่างนั้น แต่สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น มากขึ้น ถ้าขณะใดที่ท่านไม่รู้กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ยังไม่เป็นพระอริยเจ้าแน่นอน

ถ้าขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ ไม่มีสติ ไม่รู้ว่า เป็นสภาพที่ปรากฏทางหู หรือว่าเป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่งทางหู ถ้าไม่รู้อย่างนี้ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ท่านก็ไม่มีโอกาสเป็นพระอริยเจ้า เพราะว่าผู้ที่เป็นพระอริยเจ้านั้นรู้ชัดในโลก ๖ โลก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นในโลกมนุษย์ หรือบนสวรรค์ ก็เจริญสติปัฏฐานได้ เพราะเหตุว่ามีโลก ๖ โลกนี้ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะประณีต หรือไม่ประณีตก็ตาม ถ้ามีสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพนั้นแล้ว ปัญญาก็รู้ชัดตามความเป็นจริงได้

ถ้าไม่ใช่เฉพาะขับรถยนต์ ไปที่พระจันทร์ เจริญสติปัฏฐานได้ไหม เดี๋ยวจะมีเครื่องกั้นอีก ที่โน่นไม่ได้ ที่นี่ไม่ได้ อยู่ในโลกนี้ได้ ที่อื่นไม่ได้แล้ว จะไม่ได้อย่างไรในเมื่อเห็นก็มี ได้ยินก็มี ได้กลิ่นก็มี คิดนึกก็มี ก็เป็นของจริงทุกๆ ขณะ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าผู้นั้นเจริญสติปัฏฐานแล้วหรือยัง ถ้าผู้นั้นเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ จะไม่มีอะไรกั้นเลย สติเป็นอนัตตาย่อมเจริญขึ้น แต่โดยมากมีตัวตนที่ไปกั้นสติ ไม่ให้สติเกิด เพราะคิดว่าสติเกิดไม่ได้ โลภะก็ยังเกิดได้ โทสะก็ยังเกิดได้ เพราะมีเหตุปัจจัย ถ้ามีเหตุปัจจัย คือ การฟังเรื่องการเจริญสติเข้าใจแล้ว ทำไมสติจะไม่เกิด

. ตัวของตัวเองเท่านั้นใช่ไหมที่รู้ คนอื่นรู้ไม่ได้

สุ. ถ้าไม่สามารถรู้วาระจิตของผู้อื่นแล้วก็รู้ไม่ได้ เหมือนกับความคิดในขณะนี้ กำลังเห็น แต่ความคิด ๑๐๐ คน ก็ ๑๐๐ อย่าง คนอื่นรู้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ใครจะมีสติรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ คนอื่นก็รู้ไม่ได้ เพราะเป็นปกติ เป็นนามธรรม ทางกายไม่ผิดปกติที่จะปรากฏให้คนอื่นรู้ได้เลย

. การทำสมาธิให้จิตสงบนั้น ถ้าไม่เอาสติทำแล้ว เอาอะไรทำ

สุ. ผู้ที่เจริญสมาธิมีตัวตนกำลังเจริญสมาธิ ไม่ได้รู้เลยว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่มีใครบังคับสติได้ การเจริญสมถภาวนานั้นไม่ใช่เป็นการดับกิเลสที่ยึดถือนามและรูปว่าเป็นตัวตน เป็นแต่เพียงการให้จิตสงบระงับชั่วขณะเท่านั้นเอง

ความสงบก็จริง เกิดดับด้วย เป็นปรมัตถธรรม ใครรู้ ถ้าผู้นั้นไม่เจริญสติ เนืองๆ บ่อยๆ จะไม่รู้เลยว่า แม้จิตที่สงบนั้นก็เป็นแต่เพียงนามชนิดหนึ่ง แล้วก็ดับไป ไม่ใช่ไม่ดับ ไม่ใช่ตัวตน แต่ใครจะรู้ ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ แล้วปัญญาก็รู้ชัด จึงจะละความเห็นผิดได้ เพราะว่าการเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญปัญญารู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ปัญญานั้นละความไม่รู้ ละความเห็นผิด แต่ผู้ที่เจริญสมาธิ ต้องการสงบ ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของสมาธิ ไม่ใช่ต้องการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

. สงบกับการเข้าไปเห็นความจริงนั้น อย่างไหนจะดีกว่ากัน

สุ. ท่านต้องการอย่างไหน คงจะตอบได้เอง สำหรับพุทธบริษัทที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะเห็นว่า สติปัฏฐานกับชีวิตประจำวันแยกกันไม่ได้เลย แต่การเจริญสติปัฏฐานนั้นละเอียด ฟังเพียงครั้งเดียวคงจะเข้าใจแจ่มแจ้งไม่ได้ ถึงแม้พระผู้มีพระภาคเองก็ทรงแสดงธรรมถึง ๔๕ พรรษา เพื่ออุปการะพุทธบริษัทให้เจริญกุศลทุกขั้น ที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน แล้วได้ฟังธรรมอุปการะให้เกิดศรัทธา ให้น้อมนำไปในการให้มีสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นได้ เพราะสติเป็นอนัตตา ต้องอาศัยการฟังธรรมเป็นประจำทุกวัน มิฉะนั้นแล้วชีวิตประจำวันย่อมมีปัจจัยให้แก่โลภะ ให้แก่โทสะ ให้แก่โมหะ แทนที่จะอุปการะแก่สติ ถ้าขณะใดฟังธรรมเนืองๆ บ่อยๆ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ไม่ว่าพระองค์จะประทับ ณ ที่ใด พุทธศาสนิกชนก็ไปเฝ้าฟังพระธรรมเป็นเนืองนิจ

เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงอุปการะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม ทั้งขัดเกลาจิตใจ มิฉะนั้นแล้ว ถึงท่านหวังจะเจริญสติ เข้าใจการเจริญสติพอสมควร แต่ขาดการฟังธรรมที่จะเป็นเหตุปัจจัยที่จะอุปการะให้สติเกิด หมกมุ่นไป เพลิดเพลินไป มีปัจจัยของโลภะ ของโทสะ ของโมหะแล้ว สติก็ไม่เกิด ความเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานและรู้ว่าอะไรเป็นสติปัฏฐานนั้นสำคัญที่สุด ชีวิตประจำวันทุกๆ ขณะนี้เป็นสติปัฏฐาน เมื่อฟังมากขึ้น ก็จะรู้ลักษณะของสติว่าไม่ใช่ลักษณะของสมาธิ

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานกับการเจริญสมถภาวนาจึงต่างกัน เพราะเหตุว่า ลักษณะของสตินั้นเป็นสภาพที่ระลึกได้ เป็นคุณธรรม ส่วนสภาพของสมาธินั้น เป็นสภาพที่จิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียว ซึ่งต่างกัน เคยมีท่านผู้ฟังที่เขียนจดหมายมาถามว่า เมื่อเป็นเวลาที่ว่างซึ่งเหมาะแก่การเจริญสมณธรรม ท่านใช้คำอย่างนั้น ก็เห็นแล้วว่า ท่านเข้าใจเฉพาะการเจริญสมาธิ ไม่ได้เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้นั้นนั่งขัดสมาธิเท้าขวาทับเท้าซ้าย แล้วก็มือขวาก็ทับมือซ้าย กำหนดลมหายใจเข้าออก เวลาที่กำหนดลมหายใจเข้าออกนั้น ก็สามารถที่จะรู้ลมหายใจเข้าออกนั้นได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง แล้วจิตก็ตกไป แสดงว่า ท่านต้องการที่จะให้สติอยู่ที่ลมหายใจ เลือกอารมณ์ ไม่ใช่รู้ตั้งแต่ต้นว่า สติเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ถ้าได้ฟังบ่อยๆ ว่า เมื่อเห็นก็ควรจะระลึกได้ว่า กำลังเห็นนี้ก็เป็นสภาพรู้ หรือขณะที่กำลังได้ยิน ก็ระลึกได้รู้ว่า สภาพนี้เป็นสภาพรู้ทางหู ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่คิดนึก ไม่สุข ไม่ใช่ทุกข์ เป็นลักษณะของนามต่าง ๆ กัน แล้วสติเป็นอนัตตาจริงๆ จะเกิดเมื่อไรได้ทั้งนั้น ไม่มีกำหนดเวลาที่กะเกณฑ์ ไม่จดจ้องเฉพาะนามนั้น หรือรูปนั้นเท่านั้น

ข้อความที่ถามต่อไปมีว่า ก็มีเสียงจิ้งจก สติก็ตกไปอีก ไปอยู่ที่เสียงจิ้งจกขณะหนึ่ง คำว่า สติตก นี้ก็หมายความว่า ไม่อยู่ที่ลมหายใจนั่นเอง แต่ความจริงได้ยินก็เป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้ได้ยินเกิดขึ้น ได้ยินก็เกิด แล้วได้ยินเป็นของจริง ถ้าไม่รู้ลักษณะที่กำลังได้ยิน ไม่พิจารณาได้ยิน ก็เป็นตัวตนที่กำลังได้ยิน แม้ว่าต้องการให้สติอยู่ที่ลมหายใจ สติก็ไม่อยู่ เมื่อมีเสียงจิ้งจกได้ยินก็มี ท่านผู้นั้นก็บอกว่า สติก็ตกไปที่เสียงอีก เพราะฉะนั้น ก็ยกสติไปที่ลมหายใจอีก

นี่เป็นลักษณะของตัวตน เป็นลักษณะของการเจริญสมาธิ แล้วปรากฏว่า สติอยู่ที่ลมหายใจเพียงชั่วขณะเท่านั้น ก็เกิดสภาวธรรม คือความคัน ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานแล้วจะไม่มีลักษณะอาการอย่างนั้น วันหนึ่งๆ มีใครคันบ้างไหม หรือว่าพอสงบๆ เข้าก็คัน เป็นเรื่องที่คล้ายๆ จะติดกันมาทีเดียวว่า พอสงบเข้าแล้วก็คงจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นสักอย่างหนึ่ง แล้วอย่างหนึ่งนั้นก็ไม่ใช่ความสงบอีกต่อไป คือเกิดอาการคันขึ้นมาบ้าง เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นอย่างนี้บ้าง

นี่เป็นธรรมดาของท่านที่เจริญสมาธิ แต่ว่าถ้าเจริญสติปัฏฐานตามปกติ กำลังเห็น กำลังนั่งในขณะนี้ มีใครคันบ้างไหม

มีแล้วเป็นอะไรหรือเปล่า ถ้าเป็นของจริงก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เท่านั้นเอง แล้วก็มีอย่างอื่นต่อไปอีก เพราะรู้คันก็ปรากฏเพียงนิดเดียว ถ้าคันนานก็นาน แล้วก็พิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่เลือก

. เวลาคัน สงบสติไม่ได้ บาปไหม

สุ. ห้ามคันก็ไม่ได้ ห้ามโลภะก็ไม่ได้ ห้ามโทสะก็ไม่ได้ ห้ามโมหะก็ไม่ได้ แต่สามารถรู้ลักษณะของสิ่งนั้นตามความเป็นจริง ขณะใดที่รู้ลักษณะของสิ่งนั้นตามความเป็นจริงเป็นกุศล


หมายเลข  5428
ปรับปรุง  26 มิ.ย. 2565