ชุด บารมีในชีวิตประจำวัน แผ่นที่ ๑ ตอนที่ ๒*


    แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่พอสักที ยังคงมีความต้องการอย่างมากๆ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และจะดับได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น บารมี คือ เริ่มรู้สึกตัว พิจารณา และสำรวจตัวเองว่า เคยพอบ้างไหม ถ้ายังไม่เคยพอ ก็ควรที่จะเริ่มรู้จักพอกับสิ่งที่มีอยู่ เป็นการที่จะมีความสันโดษ ความพอใจเฉพาะในสิ่งที่มี มีแล้วก็พอแล้ว ถ้าได้มาอีกและจะเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลอื่น ก็สามารถที่จะสละให้ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะเป็นบารมีที่จะทำให้เกิดเนกขัมมวิตกแทนกามวิตก ดังนั้น ท่านที่จะดับกิเลส อย่าลืม บารมีเป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง เนกขัมมวิตก รู้สึกว่าเป็นธรรมฝ่ายดีที่น่าปรารถนา ถ้าหากว่าจิตเกิดความยินดีพอใจ หรือต้องการในสิ่งใดๆ และมีสติระลึกรู้ จะเป็นการเจริญเนกขัมมะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นแน่นอน ขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเนกขัมมะ ไม่ว่าจะเป็นในกุศลประการใดก็ตาม ขณะที่สติระลึก ขณะนั้นเป็นกุศล และก็เป็นเนกขัมมะ เป็นการตรึกที่จะออกจากกามจึงระลึก แต่ว่าก็ชั่วขณะที่ระลึก เพราะว่าปัญญายังไม่มีกำลังถึงกับจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยบารมี คือ การที่จะเข้าใจ เห็นโทษของกาม เห็นโทษของการติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และเจริญกุศลประกอบกันไปด้วย ในการที่จะให้สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ เพื่อปัญญารู้ชัด และละเยื่อใยการยึดถือในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย

    ผู้ฟัง ขณะที่ตรึกเป็นไปในกาม และระลึกรู้ในสภาพจิตนั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นเนกขัมมะ เป็นการออกจากกาม แต่เพราะปัญญายังรู้ไม่ชัด ยังไม่มีกำลังพอ เพราะฉะนั้น ก็ยังคงมีการตรึกในกามต่อไป แต่เมื่อมีการตรึกในกามแล้ว ทุกท่านรู้ว่า ท่านต้องการดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะเพิ่มความรู้จักพอ ความรู้สึกพอ เพื่อที่จะได้ถึงกาลที่สามารถจะดับได้เป็นสมุจเฉทด้วย จะอาศัยเพียงกำลังของสติเท่านั้นไม่พอ จนกว่าปัญญาจะคมกล้าถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล

    ผู้ฟัง ธรรมฝ่ายตรงกันข้ามกับเนกขัมมบารมี ก็คือ

    ท่านอาจารย์ กามวิตก ที่ตรงกันข้ามกับเนกขัมมะ

    ผู้ฟัง ขณะที่มีสติระลึกรู้ความต้องการ หรือความยินดีพอใจในกามคุณทั้ง ๖ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นการเพียรละอยู่แล้วใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าถ้ารู้แล้ว ชั่วขณะที่ระลึกก็หมดไป ความต้องการ ความติดอย่างมากก็เกิดขึ้นอีกได้ เพราะฉะนั้น สติจึงต้องมีหลายขั้น แม้แต่ขั้นที่เห็นโทษของกามวิตกว่า ตรงกันข้ามกับเนกขัมมบารมี ถ้ายังมีการตรึก การวิตก ความไม่รู้จักพอในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเติมเข้าอยู่เรื่อยๆ การที่จะดับ การที่จะสละ การที่จะละออกไปนี่จะยากสักแค่ไหน เพราะฉะนั้น เพียงแค่ให้พอเท่านั้น พอได้ไหมเท่านั้นเอง ก็จะเปรียบให้เห็นได้ว่า กุศลธรรมมีกำลัง หรือว่าอกุศลธรรมมีกำลัง

    ผู้ฟัง รู้สึกว่าก็เหมือนๆ กัน หลายๆ คนก็คงรู้สึกอย่างนี้ คือ มีความยินดีพอใจในกามคุณทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าความยินดีพอใจห้ามยาก ใช่ไหม เกิดแล้ว ทั้งๆ ที่กายยังไม่ได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะได้มา วาจาก็ยังไม่ได้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะได้มา แต่ความพอใจเกิดแล้ว ทันทีที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้โผฏฐัพพะบ้าง เพราะฉะนั้น เวลาที่กายไหวไปเพื่อที่จะได้มา วาจาไหวไปเพื่อที่จะได้มา นั่นก็มีกำลังแล้ว ถ้ายิ่งพร้อมไปด้วยความพากเพียรอย่างมากที่จะได้มาด้วยความอุตสาหะ นั่นก็ยิ่งแสดงถึงความพอใจ ความติดอย่างมากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ถ้ามีเพียงความพอใจ และมีสติเกิดขึ้นรู้สึกว่าพอแล้ว จะดีไหม หรือว่าจะปล่อยให้ขวนขวายไปด้วยความอุตสาหะอย่างแรงกล้า

    ผู้ฟัง ขณะใดที่มีความนึกคิดว่า พอแล้ว แค่นี้พอ และมีสติระลึกรู้สภาพจิตนั้น นี่ถูกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นการเจริญสติปัฏฐานที่จะเห็นว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และก็เริ่มเข้าใจว่า ตัวเองซึ่งไม่เคยพอ เปลี่ยนนิสัยแล้ว เริ่มที่จะพอ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ใหม่ๆ อาจจะรู้สึกว่า ยังไม่พออยู่ แต่พอเริ่มพอแล้วจะเห็นได้ว่า เป็นผู้ที่พอแล้วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในสิ่งที่มี ในสิ่งที่พอจะแสวงหาได้ ในสิ่งที่ไม่เป็นโทษ เพราะฉะนั้น ความรู้จักพอก็จะเพิ่มขึ้น จนกระทั่งตัวเองสามารถที่จะรู้ได้ว่าขั้นไหน แต่ยากนักที่จะให้ถึงขั้นบรรพชาอุปสมบทโดยอุปนิสัยที่แท้จริง เพราะว่าธรรมทั้งหลายต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป

    ผู้ฟัง มีผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่งฟังธรรมที่อาจารย์บรรยายนี้ และนำไปปฏิบัติ เขาบอกว่า เมื่อก่อนเขาก็มีฐานะอย่างนี้ แต่ตอนนั้นเขาเดือดร้อนเหลือเกิน เพราะดำรงชีวิตด้วยความกลัว คือ กลัวจะขาดอย่างนั้น กลัวจะไม่พออย่างนี้ กลัวจะมีเหตุการณ์อย่างนั้น แต่ขณะที่เขาปฏิบัติธรรมมา เขาได้รับความร่มเย็นพอสมควร คือ รวยก็รวยเท่าเก่า จนก็จนเท่าเก่า กิจการงานก็มีเท่าเก่า แต่รู้สึกว่าตัวเองได้รับความสบายใจจากการพอ คือ รู้สึกว่าพอขึ้น

    ท่านอาจารย์ ทุกท่านจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และจะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้วย จากผู้ที่มักจะมีกามวิตก ก็จะเริ่มมีเนกขัมมวิตกบ้าง

    ผู้ฟัง อย่างที่อาจารย์ว่า ทุกคนเข้าใจว่า เนกขัมมะ คือ การบวช หรือการออกจากเรือน หมายความว่า วันอุโบสถไปนอนที่วัด คืนนั้นก็เป็นเนกขัมมวิตก แต่ที่อาจารย์ได้กล่าวความละเอียดขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่เคยได้ฟังว่า คำว่า พอ ก็เป็นเนกขัมมวิตก เป็นคำใหม่สำหรับผม ซึ่งผมสงสัยว่า คนที่รู้จักคำว่า พอ บางครั้งถ้ามีอุปสรรคในครอบครัวก็ดี หรือในตัวเองก็ดี เช่น เกิดป่วยไข้อย่างหนัก หรือเกิดความขัดแย้งในครอบครัว ทำให้เขาเกิดพอขึ้นมา ไม่ขวนขวายต่อไป จะเป็นเนกขัมมวิตกไหม

    ท่านอาจารย์ ธรรมเฉพาะตนๆ ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะตอบแทนบุคคลอื่นได้เลย ที่ว่าเป็นความจำเป็น แต่จิตขณะนั้น เป็นสภาพที่เป็นเนกขัมมะจริงๆ หรือเปล่า ท่านอาจจะได้รับลาภ ช่วยไม่ได้ในเมื่อเป็นวิบาก ผลของกรรมของท่านที่ท่านจะต้องได้รับ ท่านอาจจะได้รับยศ ได้รับสรรเสริญ สุข แต่ว่าขณะที่รับ รับอย่างไร ถ้าด้วยความติด ที่ได้มาก็ยังไม่พอ แต่ถ้ารับตามปกติตามความเป็นจริง มาอย่างไรก็เป็นปกติอย่างนั้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่ได้ติดข้อง ไม่ว่าจะในลาภ วัตถุต่างๆ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข ก็เหมือนพอใช่ไหม เพราะว่าไม่ติด ไม่ได้ขวนขวาย ไม่ได้ต้องการยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง ไม่ได้พูดถึงเรื่องที่เขาได้รับ แต่พูดถึงขณะที่เขาคิด คือ บางคนป่วยอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทำให้เขาคิดว่า เมื่อเราป่วยแล้ว ทรัพย์สินของเรามากมายนี้จะไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเราตายไป ทรัพย์สินเงินทองต่างๆ ที่เรามีอยู่ก็ไม่มีประโยชน์ต่อตัวเรา เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า พอแล้ว จะไม่ขวนขวายต่อไป ผมถามว่า ขณะที่เขาคิดอย่างนั้น จะเป็นเนกขัมมวิตกไหม

    ท่านอาจารย์ ยากที่จะตอบ รอให้หายป่วยเสียก่อนดีไหม และดูซิว่าสภาพจิตของเขาจะเป็นอย่างไร ยามป่วยก็คิดไปได้ต่างๆ นานา แต่เวลาหายป่วยแล้ว เปลี่ยนเสียอีกแล้ว เพราะฉะนั้น เนกขัมมวิตกหรือไม่ อยู่ที่จิตของเขาในขณะนั้น แต่ถ้าจะพิจารณาโดยทั่วๆ ไป ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ใช่อกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะเป็นช่วงป่วยไข้ และเกิดความรู้สึกพอขึ้น ก็ยังดีกว่าผู้ป่วยไข้ที่ไม่รู้สึกพอ แต่ว่าไม่ควรจะเฉพาะเจาะจงแต่เฉพาะยามใดยามหนึ่งหรือว่าช่วงใดช่วงหนึ่ง แม้หายป่วยไข้แล้ว สภาพของจิตก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่ายามป่วยไข้เป็นอย่างหนึ่ง ยามหายป่วยไข้ก็เป็นเสียอีกอย่างหนึ่ง

    การอบรมเจริญปัญญาและบารมีทั้งหลาย ควรที่จะเจริญขึ้น แม้จะทีละเล็กทีละน้อยในแต่ละทาง ยังไม่ฝันใฝ่ถึงกับบรรพชาอุปสมบท เพียงชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง เพียงแค่พอ ยังไม่ได้ให้สละ ยังไม่ได้ให้ละ ยังไม่ได้ให้ถึงกับตัด แม้ความยินดีพอใจยังมีอยู่ เพียงแค่พอแล้ว ยังไม่ถึงขั้นอุตสาหะวิริยะ ขวนขวาย ติดข้อง จนกระทั่งในความรู้สึก รู้สึกได้เลยว่า ไม่พอ ต้องการอีกๆ

    สำหรับบารมีต่อไป คือ ปัญญาบารมี ซึ่งทุกท่านที่สนใจในการศึกษาธรรม ในการเจริญสติปัฏฐานจะเห็นได้ว่า เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ว่าท่านจะมีคุณความดีประการอื่นเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้น ถ้าปัญญาไม่คมกล้า ถ้าปัญญาไม่รู้แจ้งในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะเห็นคุณอันประเสริฐยิ่งของปัญญา และอบรมให้มากขึ้น อย่าหวังสิ่งอื่นเลย เพราะว่าไม่สามารถดับกิเลสได้ ถ้าเป็นการหวังในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ยิ่งเพิ่มความต้องการ เพิ่มกิเลส เพราะฉะนั้น ควรที่จะขวนขวายในการเจริญปัญญาให้มากที่สุดที่จะกระทำได้ และสำหรับผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐาน การขวนขวายไม่เว้นที่จะสร้างสมปัญญานั้น ก็เป็นบารมีที่จะทำให้ปัญญาเจริญคมกล้าถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ซึ่งผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานทุกท่าน ก็คงจะเห็นคุณของปัญญา และเป็นผู้ที่ขวนขวายอยู่เสมอในการที่จะเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้น

    บารมีต่อไป คือ วิริยบารมี ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้แต่ในเรื่องของทาน ก็ต้องมีวิริยะ คือ ความเพียร บางท่านมีกุศลจิตใคร่ที่จะให้ แต่ว่ายุ่งยากเหลือเกินในการที่จะให้ ก็อย่าให้เสียเลย ขี้เกียจเสียแล้ว ทั้งๆ ที่มีวัตถุที่จะให้ และก็มีศรัทธา มีเจตนาที่จะให้ แต่ถ้าขาดวิริยะ ทานที่จะสำเร็จด้วยวิริยะก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ เพราะฉะนั้น บารมีประการที่สำคัญประการหนึ่ง คือ วิริยะ ซึ่งจะเกื้อกูลบารมีประการอื่น เช่น ทานและศีลด้วย

    ผู้ฟัง ทาน ๕ อย่าง คือ ๑.ให้ของที่เลวกว่าที่ตนกินตนใช้ ๒.ไม่ได้ให้ทานด้วยตนเอง สั่งให้คนอื่นให้ ๓.ให้ทานโดยไม่ได้ตั้งใจ คือ ให้ๆ ไปอย่างนั้นเอง ๔.ให้ของที่ทิ้งเป็นทาน ๕.ให้ทานโดยไม่ได้หวังผลภายหน้า ทาน ๕ อย่างนี้ เป็นกุศลหรืออกุศล

    ท่านอาจารย์ ขึ้นอยู่กับเจตนา บุคคล ๒ คนกระทำสิ่งเดียวกัน ดูภายนอกเหมือนเป็นอาการเดียวกัน แต่ว่าแท้ที่จริงแล้วต่างกันมากโดยสภาพของจิต สำหรับผู้ที่ไม่มีสิ่งที่ดีจะให้ จำเป็นต้องให้สิ่งที่มีซึ่งใช้อยู่ ก็ให้ในสิ่งนั้น แต่การให้ในขณะนั้นประกอบด้วยความผ่องใสของจิต ความยินดีในการให้ ต่างกับบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่มีมาก แต่เวลาที่จะให้คนอื่น ก็ให้สิ่งที่เสมอกัน หรือว่าเลวกว่า และปราศจากความผ่องใสของจิตใจ เพราะฉะนั้น อาการภายนอกไม่สามารถที่จะบอกได้

    ผู้ฟัง เด็กผู้หญิงที่บ้าน เขาทำงานมีเงินเดือนแล้ว เสื้อผ้าก็มีหลายชุด ตัดมาใหม่เรื่อยๆ พ่อแม่เขาก็เอาเสื้อผ้าที่เขาไม่ใช้แล้วไปให้ขอทานที่มาขอเสื้อผ้าโดยไม่ได้บอกเขาก่อน แต่ภายหลังเมื่อเขารู้ เขาก็เฉยๆ การที่เอาของไม่ใช้แล้วไปให้ เป็นกุศลหรือไม่ใช่กุศล

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นกุศล แต่ว่ากุศลของใคร

    ผู้ฟัง เป็นของเจ้าของ

    ท่านอาจารย์ เจ้าของมีเจตนาที่จะให้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง แต่ภายหลังเขาก็ยินดีเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่แล้วแต่สภาพของจิต ขณะใดที่กุศลเกิดขึ้นก็เป็นกุศล ขณะนั้นจะเป็นอกุศลไม่ได้ ขณะใดที่อกุศลเกิดขึ้นก็ต้องเป็นอกุศล และจิตก็เกิดดับสืบต่อกันรวดเร็วเหลือเกิน ยากที่ใครจะไปจับจิตของใครมารู้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะฉะนั้น ตนเองเท่านั้นที่จะทราบตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง มีคนมาขอสตางค์ขณะที่นั่งรับประทานอาหารในร้าน ก็ให้ไปเพราะรำคาญ จะเป็นบุญหรือไม่ใช่บุญ

    ท่านอาจารย์ ซั่วขณะที่ให้ จิตที่ให้มี ไม่ใช่จิตที่ไม่ให้ เพราะฉะนั้น ชั่วขณะนั้นเป็นกุศล จะเล็ก จะน้อย จะนาน จะมากอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ขณะที่ให้ ขณะนั้นเป็นกุศลชั่วขณะเล็กน้อย

    ผู้ฟัง แต่ให้ด้วยความรำคาญ

    ท่านอาจารย์ ความรำคาญเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้น ต้องตรงต่อสภาพธรรม ถ้าเป็นอกุศลตลอด ก็ไม่มีขณะจิตที่จะให้ แต่ขณะใดที่ให้ แม้ว่าจะมีความรำคาญ ก็แสดงว่า ขณะที่ให้นั้นเล็กน้อยกว่าขณะที่รำคาญ ขณะที่รำคาญมีมากกว่าจึงปรากฏลักษณะของการให้ด้วยความรำคาญ

    ขณะที่ให้เป็นกุศล ขณะที่รำคาญเป็นอกุศล เกิดดับสลับกันเร็วมาก มีใครบ้างที่จะมีกุศลโดยตลอด โดยที่ไม่มีอกุศลเกิดคั่นเลย ในการทำบุญเลี้ยงพระแต่ละครั้งๆ ในการทำกุศลแต่ละครั้ง มีใครบ้างที่มีกุศลจิตเกิดโดยตลอดโดยไม่มีอกุศลเกิดคั่นเลย

    ผู้ฟัง ให้ทานโดยของที่อยากจะเททิ้งเสีย มีทั้งกุศลและอกุศลใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มีประโยชน์สำหรับผู้รับไหม เป็นประโยชน์หรือเปล่า ถ้าให้สิ่งที่เป็นประโยชน์จึงเป็นทาน ถ้าให้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่เป็น ของเน่า ของเสีย เขาได้ไปก็เอาไปทิ้ง จะชื่อว่าเราได้กุศล หรือจิตเป็นกุศลได้อย่างไร ไปทำให้คนอื่นเขามีภาระเดือดร้อนรำคาญต่างหาก ถ้าของนั้นยังเป็นประโยชน์อยู่ ควรให้ อย่าทิ้ง กรุณาอย่าทิ้งสิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลอื่น

    ผู้ฟัง ให้ทานโดยไม่ได้หวังผลภายหน้าเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คือ ไม่ใช่เพื่อต้องการจะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นต่างๆ หรือว่าไม่ใช่เพื่อที่เราให้เขาวันนี้ เราจะได้วันหน้า หรือให้เขาไปหน่อยหนึ่ง เราก็คงจะได้ลาภมากๆ อะไรอย่างนั้น

    สำหรับวิริยบารมี ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เป็นธรรมที่เกื้อกูลกุศลประการต่างๆ อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าท่านที่ยังเป็นคนย่อหย่อนเกียจคร้านในการกุศล ลำบากจัง เหนื่อยนัก หรือว่าเสียเวลามาก หรือว่าลำบากนิดหน่อย ก็แล้วแต่ ในความรู้สึกของท่าน ขณะนั้นเป็นอกุศล ถูกครอบงำแล้วด้วยอกุศล กุศลจึงเกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เป็นบารมี กระทำทันที หรือถ้ารู้ว่าท่านเป็นผู้ที่กระทำกุศลยากเพราะเป็นผู้ที่ย่อหย่อนเกียจคร้านในการกุศล ก็ต้องเป็นผู้ที่ขยันเดี๋ยวนั้นทันที เพราะชีวิตแต่ละขณะไม่ใช่ยืนยาวเลย ชั่วขณะจิตเดียว ขณะจิตเดียวที่จะเป็นกุศลหรืออกุศล ขึ้นอยู่แต่ละขณะจิต เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะทอดธุระ หรือว่าเป็นผู้ที่ยังคง ย่อหย่อนเกียจคร้านในการเจริญกุศล มิฉะนั้นแล้วก็จะขาดวิริยบารมี ซึ่งจะไม่ทำให้อกุศลเบาบางเลย ทางเดียวที่จะทำให้อกุศลเบาบางได้ คือ เป็นผู้ที่ขยันไม่เกียจคร้านในการกุศลทั้งปวงที่สามารถจะกระทำได้

    บางท่าน เมื่อเวลาผ่านไป ท่านก็เกิดเสียดายโอกาสของกุศลที่ควรจะได้กระทำ แต่ไม่ได้กระทำ เพราะว่าขณะนั้นเป็นผู้ที่ย่อหย่อนเกียจคร้านในกุศล เพราะฉะนั้น ควรที่จะระลึกถึงวิริยบารมี และสร้างวิริยบารมี เพื่อที่จะละคลายอกุศล

    บารมีต่อไป คือ ขันติบารมี ความอดทน ซึ่งมีความหมายกว้างขวางมาก เพราะไม่ใช่อดทนต่อเฉพาะอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ แม้สิ่งที่น่าพอใจ ก็อดทนที่จะไม่เกิดโลภะ ความยินดี ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ปรากฏด้วย

    ขันติเป็นกุศลธรรม เป็นโสภณธรรม เพราะฉะนั้น จะไม่เกิดกับอกุศล จะไม่เกิดกับโลภมูลจิต ต้องเกิดกับโสภณจิต ความอดทนที่เป็นอกุศลมีได้มากมายใช่ไหม ด้วยโลภะ ด้วยความต้องการ ท่านทนทุกอย่างเพื่อที่จะได้สิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะค่ำคืนดึกดื่นก็ทนได้ เพื่อได้สิ่งที่ต้องการ แต่ถ้าเป็นค่ำคืนดึกดื่นเพื่อที่จะเจริญกุศล กระทำกุศล ทนได้ไหม ถ้าทนได้ ก็เป็นขันติบารมี และอย่าลืมว่า ความอดทนนั้นไม่ใช่อดทนเฉพาะสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ แม้สิ่งที่น่าปรารถนา น่าพอใจ ก็ย่อมสามารถที่จะอดทน คือ มีขันติได้

    ทุกท่านย่อมรู้จักตัวเองว่า ความอดทนของท่านมีมากหรือมีน้อย หนาว อดทนได้ไหม ร้อน อดทนได้ไหม อดทนที่นี่ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะต้องทนหนาว แต่หมายความว่า ไม่เกิดอกุศล ไม่เกิดความรำคาญ ไม่เกิดความเดือดร้อน อากาศร้อนทนได้ไหม ไม่ได้หมายความว่า ต้องให้ท่านทนร้อนจนกระทั่งไม่แก้ไขให้ร่างกายสบายขึ้น แต่ทนที่จะไม่เดือดร้อนได้ไหมในขณะนั้น ท่านจะทำสิ่งใดก็ได้ แต่ต้องระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรืออกุศล

    ถ้าเป็นความไม่แช่มชื่นของจิตในขณะที่หนาว ในขณะที่ร้อน ในขณะที่รสอาหารไม่น่าพอใจ หรือในขณะที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งไม่น่าพอใจ ในขณะนั้นต้องรู้ว่าสภาพของจิตเป็นอย่างไร หนาว จิตเป็นอย่างไร พอใจหรือไม่พอใจ ซึ่งควรจะต้องไม่ใช่ทั้ง ๒ อย่าง เพราะว่าถ้าพอใจก็เป็นโลภะ ถ้าไม่พอใจก็เป็นโทสะ จะเป็นบารมีได้ไหมอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ความอดทนนี้ คือ อดทนที่จะเป็นผู้สงบในขณะนั้น ไม่เป็นโลภะ ไม่เป็นโทสะ

    ผู้ฟัง ผู้ปฏิบัติธรรมที่ไม่ทราบสภาพธรรมตามความเป็นจริง คิดว่าเป็นขันติบารมี คือ เขาต่อสู้กับความง่วง ความเจ็บ ความปวด บางคนนั่งสมาธิตลอดคืน หรือเป็นชั่วโมงๆ บางคนก็ดูรูปดูนามตลอดคืนในสำนักปฏิบัติ เขาก็คิดว่า เขามีวิริยะด้วย มีความอดทนด้วย แต่ว่าจะเป็นขันติ หรือเป็นวิริยะจริงหรือไม่จริง เขาก็ไม่รู้ ที่ว่าขันติบารมีที่แท้จริงในการปฏิบัติธรรม ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายโดยละเอียด

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล ความอดทนที่เป็นกุศล จะให้กุศลจิตเกิด ไม่ใช่ให้อกุศลจิตเกิด

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นกุศลจิต เป็นความอดทน แต่ขณะที่ดูรูปดูนาม ขณะนั้นอาจจะเป็นอกุศลก็ได้ แต่ผู้ปฏิบัตินั้นไม่เข้าใจ ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็คิดว่า เป็นขันติ เป็นความอดทน อย่างนี้เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่บารมี เพราะว่าบารมีต้องเป็นสภาพธรรมที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงฝั่งคือพระนิพพาน ถ้าข้อปฏิบัติผิดจะไม่มีวันถึงฝั่ง คือ พระนิพพานได้เลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่บารมี

    บารมี สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเพื่อการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าใครจะเป็นกุศล แต่ไม่ต้องการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ไม่ใช่บารมี

    ที่มา ...

    บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 02


    นาที 23:02

    ผู้ฟัง ในโอวาทปาติโมกข์ บาลีท่านว่าอย่างนี้ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอดทน และท่านขยายว่า ตีติกฺขา คือ ความอดกลั้นเป็นตบะอันสูงสุด คือ อดทนมีความอดกลั้นด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะคำว่า ตปะ หมายความถึงธรรมที่เผากิเลส ขันติ คือ ความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีความอดทนที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้จะถึงฝั่งไหม รูปารมณ์กำลังปรากฏ จักขุวิญญาณกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่อดทนที่จะระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้จะถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน ได้ไหม

    ถ. ... (ได้ยินไม่ชัด)

    ท่านอาจารย์ อดกลั้นต่อโลภะ โทสะ มิฉะนั้นแล้วจะเผากิเลสได้อย่างไร จะเอาโลภะไปเผากิเลส ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะเอาโทสะไปเผากิเลส ก็เป็นไปไม่ได้

    ท่านที่ขาดความอดทน ก็จะรู้ได้ว่า ไม่ถึงฝั่ง ไม่ถึงนิพพาน ไม่ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น บารมีทั้ง ๑๐ เป็นเครื่องสำรวจ เพื่อที่ท่านจะสร้างบารมี ที่ท่านยังย่อหย่อนให้เพิ่มพูนขึ้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และมีท่านผู้หนึ่งผู้ใดเข้าใจท่านผิด ว่าร้ายท่านต่างๆ ขันติ ความอดทน มีไหมที่จะไม่โกรธ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่มีคน ไม่มีตัวตน ไม่มีใครที่กำลังว่า เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่รู้เสียง และต่อจากนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่รู้ความหมายของเสียงสูงเสียงต่ำนั้นๆ ซึ่งแล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะปรากฏ

    ผู้ฟัง รู้สึกว่า จะต้องใช้ความอดทนตั้งแต่ขั้นการฟังทีเดียว คือ ขณะที่ฟังคำบรรยาย ก็รับฟังด้วยความอดทน บางครั้งขณะที่ฟังอาจจะเกิดอกุศลจิตคิดว่า อาจารย์ผู้นี้บรรยายไม่ได้ความ ต้องอาจารย์โน้น โดยไม่ได้พิจารณาธรรมว่า ธรรมที่บรรยายนี้ตรงตามพระพุทธพจน์หรือไม่ ถ้าเข้าใจผิดไขว้เขวไป ความอดทนที่จะพิจารณาก็ไม่มี อย่างนี้จะถูกไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความอดทนควรจะมีในที่ทั้งปวง แม้แต่ในขณะที่ฟังธรรม ถ้าเป็นธรรมที่ยาก ลึกซึ้ง ก็อดทนที่จะต้องติดตามฟังต่อไป แม้ว่าในตอนตั้งต้นอาจจะรู้สึกว่าเข้าใจยาก หรือว่าเข้าใจได้น้อย ถ้าเป็นธรรมที่ผิดคลาดเคลื่อน ก็จะต้องอดทนฟังที่จะรู้ว่าผิดตรงไหน คลาดเคลื่อนตรงไหน เพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ถูกตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดผิด สิ่งใดคลาดเคลื่อน สิ่งใดไม่จริง

    ผู้ฟัง จากขั้นการฟัง เมื่อฟังเข้าใจแล้ว ก็ยังเหลือขั้นการคิด ขั้นการคิดนี้ต้องใช้ความอดทนพากเพียรพิจารณาถ้อยคำ และทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้ฟังมาให้เข้าใจถ่องแท้ นี่ก็ต้องอดทนเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าท่านใจร้อน ท่านก็จะรีบไปปฏิบัติโดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่ได้รู้ว่าธรรมละเอียดลึกซึ้งจริงๆ เพราะฉะนั้น ที่จะเข้าใจธรรมได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่อดทนในการพิจารณา ไตร่ตรอง เทียบเคียง เพื่อให้เป็นความเข้าใจถูกจริงๆ เพื่อการปฏิบัติจะได้ไม่ผิดไป

    ผู้ฟัง เมื่อเข้าใจขั้นไตร่ตรอง จนเป็นที่พอใจว่าเข้าใจถ่องแท้แล้ว ก็ลงมือปฏิบัติ คือ ถ้าฟังยังไม่เข้าใจแล้วไปปฏิบัติ ก็ไม่ถูก ยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้สัมมาสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง มีผู้ที่มาฟังธรรมท่านหนึ่ง มาจากต่างจังหวัด เขาฟังมานาน ๓ ปีแล้ว ดิฉันก็นึกอนุโมทนาในการที่เขาพากเพียรฟัง เขาบอกว่ายังไม่เข้าใจ แต่ก็ชอบฟังที่อาจารย์บรรยาย เขาถามดิฉันว่า เริ่มต้นที่ตรงไหน ดิฉันก็บอกว่า ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ๖ ทวารนี้มีธรรมอะไรที่ปรากฏ ก็ระลึกรู้ทันทีตามความเป็นจริง เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ปรากฏที่กาย ระลึกรู้ทันที ตาก็มีเห็น หูก็มีเสียง จมูกก็มีกลิ่น ลิ้นก็มีรส กายก็สัมผัส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ขณะใดที่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ระลึกทันที ซึ่งอาจารย์ก็ย้ำเสมอว่า เป็นผู้ขยัน บ่อยๆ เนืองๆ ที่จะระลึกรู้

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า บารมีนี้แสนไกล กว่าจะอบรมจากการไม่รู้ ฟังไปแล้วตั้งนาน ก็ยังต้องอดทน และมีความเพียรที่จะฟังต่อไปที่จะให้เข้าใจขึ้น ที่จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกและให้ปัญญาค่อยๆ เกิดขึ้น จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ท่านอาจารย์ สำหรับบารมีต่อไป คือ สัจจบารมี ความจริง กายจริง วาจาจริง ใจจริง เพราะว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตนเอง คือ ตรงต่อสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง กุศลเป็นกุศล จะเป็นอกุศลไม่ได้ อกุศลเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเป็นของท่านเอง หรือของใครก็ตาม เป็นกุศลไม่ได้

    สัจจบารมี พูดจริง ทำจริง และจริงใจ

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านสำรวจตัวของท่านเองได้ว่า เคยหลอกตัวเองบ้างไหม และหลอกคนอื่นด้วยหรือเปล่า บ่อยๆ ไหม ขณะใดที่สติเกิดจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล หาใช่กุศลไม่ สภาพธรรมทั้งหลายที่ไม่จริงใจ ไม่จริง ไม่ตรง ไม่ว่าจะเป็นด้วยกาย หรือว่าด้วยวาจา ด้วยใจก็ตาม ต้องเป็นอกุศล ในเมื่อทุกท่านยังมีอกุศลอยู่ ก็ย่อมมีปัจจัยที่จะให้ไม่จริงใจ หรือว่ากายไม่จริงบ้าง วาจาไม่จริงบ้าง มากหรือน้อยตามการสะสม

    เมื่อเห็นโทษของความไม่จริง ก็ต้องอบรมบารมี ซึ่งเป็นความจริงให้ยิ่งขึ้น พูดจริงเสมอหรือเปล่า ในพระไตรปิฎกมีข้อความเกี่ยวกับคำพูดสำหรับคำพูดที่ไม่จริงว่า อุปมาเหมือนแกงถั่ว เพราะว่าถั่วนี้เวลาต้มย่อมมีสุกบ้าง ไม่สุกบ้าง เวลารับประทานไป บางครั้งก็เจอเม็ดแข็งๆ ที่ไม่สุก ก็เหมือนกับคำพูด พูดกันมาก จะมีส่วนที่ไม่จริงแทรกขึ้นมาบ้างไหมในคำพูดนั้น หรือว่าจริงหมดโดยตลอดตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้าย ใครจะรู้ นอกจากตัวท่านเอง เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดเกิดคำไม่จริงขึ้น ก็รู้ว่าตัวท่านนี้มีไม่จริงมาก หรือจริงมาก

    อกุศลทั้งหลายจะละหมดได้ ก็ต่อเมื่อปัญญารู้อกุศลนั้นตามความเป็นจริง ถ้าเห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นปัญญา ซึ่งย่อมจะเห็นว่า น่ารังเกียจ เป็นโทษ และปัญญาขั้นต่อไป ก็คิดที่จะละคลายอกุศลที่น่ารังเกียจนั้นให้เบาบาง

    ถ้าเป็นอกุศลธรรม จะไม่เห็นโทษของอกุศลเลย แต่จะเป็นไปกับอกุศลด้วยความยินดี ด้วยความพอใจในอกุศลธรรมนั้นๆ เมื่อไม่เห็นว่าเป็นโทษ ไม่เห็นว่าเป็นภัย ก็ย่อมเพิ่มอกุศลนั้นยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ต้องเป็นผู้ที่จริงทั้งกาย ทั้งวาจา และทั้งใจด้วย

    ถ้าท่านผู้ใดพิจารณาตนเองและเห็นว่า บารมีข้อนี้ยังย่อหย่อน สติก็จะทำให้รังเกียจในอกุศลธรรมในขณะนั้น ซึ่งถ้าไม่ละเว้นในขณะนั้น ยังคงไม่จริงต่อไป ก็ย่อมจะไม่ถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน

    เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมทั้งหลายที่มีปัจจัยเกิดขึ้น ต้องอาศัยสติเกิดขึ้นระลึกรู้ในสภาพของอกุศลธรรมในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงต่อสภาพธรรมนั้น เมื่อเป็นอกุศลก็ละเสีย อย่ารอว่าวันหลังจะละ เพราะว่าเมื่อเพิ่มพูนขึ้นจนถึงวันหลัง ย่อมยากแก่การที่จะละได้

    สัจจบารมี บอกว่าจะทำอะไร ก็ทำให้จริงตามความคิด ตามคำพูด เป็นผู้ที่จริงทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ

    สำหรับบารมีต่อไป คือ อธิษฐานบารมี มีความตั้งใจมั่นในการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงแม้ว่าจะเป็นหนทางที่ไกลมาก นานมาก แต่ถ้ามีความตั้งใจมั่น วันหนึ่งย่อมจะถึงได้ เพราะฉะนั้น การตั้งใจมั่นในชาตินี้ ก็ควรจะเป็นความตั้งใจมั่นที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่เปลี่ยนความปรารถนา หรือความตั้งใจมั่นไปเป็นอื่น ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะว่านั่นเป็นการติดเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นการสละ ไม่ใช่เป็นการละ

    บารมีต่อไป คือ เมตตาบารมี ในชีวิตประจำวัน

    ชีวิตแต่ละขณะที่ท่านเห็นว่าเป็นตัวท่าน ยึดถือว่าเป็นตัวท่านก็ดี หรือว่าเป็นชีวิตของท่านก็ดี ความจริงแล้วก็คือสภาพธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้น และก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    ที่มา ...

    บารมีในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 03


    หมายเลข 156
    26 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ