เรื่อง รูปปรมัตถ์ ตอนที่ ๓


    ขอกล่าวถึงเรื่องกลาปหรือกลุ่มของรูปต่างๆ ว่า แต่ละกลุ่มๆ มีรูปอะไรเกิดขึ้นบ้าง และการเกิดขึ้นของกลุ่มต่างๆ เหล่านั้น ทำให้มีสัญญา ความจำต่างๆ กัน ได้อย่างไร

    สำหรับกลาป คือ กลุ่มของรูปที่เล็กที่สุด มีรูปรวมกันไม่น้อยกว่า ๘ รูป ไม่ว่าจะเล็กที่สุดที่มีอากาศธาตุคั่นซึ่งแยกออกไปอีกไม่ได้ก็จะต้องมีรูปรวมกัน ๘ รูป เรียกว่า สุทธัฏฐกกลาป

    รูป ๘ รูป คือ ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑ เป็นมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปอีก ๔ คือ สี ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ โอชา ๑ รวม ๘ รูป ไม่มีรูปอื่นเจือปนอีกเลย จึงเป็นสุทธัฏฐกกลาป

    สุทธัฏฐกกลาป กลุ่มของรูปที่เล็กที่สุด ๘ รูปนี้ บางกลาปเกิดขึ้นเพราะจิต บางกลาปเกิดขึ้นเพราะอุตุ และบางกลาปเกิดขึ้นเพราะอาหาร เป็นสมุฏฐาน

    สำหรับสมุฏฐานที่จะให้เกิดรูป มีเพียง ๔ เท่านั้น คือ กรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิด รูปได้ จิตเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้ อุตุเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้ อาหารเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปได้ แต่สุทธัฏฐกกลาปซึ่งมีรูปรวมกัน ๘ รูปนี้ เกิดจากสมุฏฐาน ๓ เท่านั้น ได้แก่ บางกลุ่มหรือบางกลาปเกิดจากจิต บางกลุ่มหรือบางกลาปเกิดจากอุตุ บางกลุ่มหรือบางกลาปเกิดจากอาหาร เพราะถ้าเป็นรูปที่เกิดจากกรรม จะมีรูปมากกว่า ๘ รูปเสมอ คือ จะต้องเพิ่มชีวิตินทริยรูป

    เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากกรรม อย่างน้อยที่สุดต้องมี ๙ รูป ชื่อว่า ชีวิตนวกกลาป เพราะว่าเพิ่มชีวิตรูปอีก ๑ รูป

    สำหรับสุทธัฏฐกกลาป ถ้ากล่าวอย่างนี้ก็ทราบว่า เป็นกลุ่มของรูปซึ่งมีรูปเพียง ๘ รูป สมุฏฐานยังไม่ต้องพูดถึงก็ได้ ถ้ากล่าวเพียงว่า สุทธัฏฐกกลาป เป็นกลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกัน ๘ รูป เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี

    ถ้าเกิดจากจิต ตัวอย่างได้แก่ ลมหายใจ น้ำตา เหงื่อ น้ำลาย น้ำมูก นี่เป็นกลุ่มของรูปเพียง ๘ รูป ซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน

    สำหรับน้ำตา หรือเหงื่อ น้ำลาย น้ำมูก นอกจากเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานแล้ว ยังเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐานได้ด้วย บางครั้งรู้สึกโทมนัสเสียใจ ร้องไห้ แต่เวลานี้ น้ำตาไม่มี เพราะว่าความรู้สึกโทมนัสไม่มี จิตขณะนี้ไม่เป็นปัจจัยทำให้น้ำตาเกิดขึ้น แต่เวลาที่โทสมูลจิตเกิด มีความรู้สึกโทมนัสอย่างมาก ขณะนั้นเป็นปัจจัยให้กลุ่มของรูป คือ สุทธัฏฐกกลาปที่เป็นน้ำตาเกิดขึ้น ประกอบด้วยรูปเพียง ๘ รูป เหงื่อก็มีรูปเพียง ๘ รูปเกิดขึ้นเพราะจิต เวลาตกใจมากบางคนอาจจะเหงื่อออกมากก็ได้ หรือว่าน้ำลาย บางคนอาจจะมีน้ำลายออกบางครั้งบางคราวเพราะจิตในขณะนั้นเป็นสมุฏฐานเป็นปัจจัยให้น้ำลายเกิดขึ้น เป็นกลุ่มของรูปซึ่งประกอบด้วยรูป ๘ รูป น้ำมูกก็เกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน หรืออุตุเป็นสมุฏฐาน

    แต่สำหรับปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำหนอง น้ำมูก เกิดขึ้นเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน ไม่มีใครไปแปรเปลี่ยนสภาพของอาหารที่ล่วงลำคอเข้าไปเป็นอาหารใหม่ และจะกลายเป็นอาหารเก่า และส่วนเกินก็อาจจะเป็นน้ำหนอง น้ำมูตร เป็นปัสสาวะ เป็นเรื่องของอุตุทั้งนั้น ที่จะเป็นสมุฏฐานให้รูปเหล่านี้เกิดขึ้น

    สำหรับอาหารที่รับประทานเข้าไป ก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดกลุ่มของรูป ๘ รูป เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ส่วนต่างๆ ของร่างกายทั้งหมดนอกจากนี้ ก็เกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน

    ฉะนั้น ถ้าจำแนกแยกรูปต่างๆ เหล่านั้นออกให้ละเอียดที่สุด จะมีรูปเพียง ๘ รูปเท่านั้น ชื่อว่าสุทธัฏฐกกลาป เกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐานบ้าง เกิดขึ้นเพราะ อุตุเป็นสมุฏฐานบ้าง เกิดขึ้นเพราะอาหารเป็นสมุฏฐานบ้าง

    แต่ถ้ากลุ่มของรูปใดเกิดเพราะกรรม ต้องมีรูปมากกว่า ๘ รูป เพราะต้องมี ชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย ทำให้กลุ่มของรูปนั้นมีรูป ๙ รูป ชื่อว่านวกกลาป และ เพราะว่ามีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย จึงชื่อว่า ชีวิตนวกกลาป

    เพราะฉะนั้น ต้นไม้ใบหญ้าที่มองดูสด ก็เพราะ ธาตุไฟ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ซึ่งมีส่วนประกอบต่างๆ กันไป ทำให้มีการเจริญเติบโตขึ้น แต่ไม่ใช่ว่ามีชีวิตินทริยรูปที่จะทำให้เป็นรูปที่ดำรงชีวิตหรือทรงชีวิตเหมือนอย่างรูปของสิ่งที่มีชีวิต เช่น คนและสัตว์

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1453

    นาที 06:33

    สำหรับกลาปคือกลุ่มของรูปที่มีรูป ๙ รูป อีกกลุ่มหนึ่ง คือ สัททนวกกลาป

    ฟังอย่างนี้ ทราบได้เลยว่า คือ สัททะ + นวกะ + กลาป หมายความถึง กลุ่มของรูป ๙ รูป ที่มีเสียงรวมอยู่ด้วย

    เมื่อกี้เป็นชีวิตนวกกลาป กลุ่มของรูป ๙ รูป ซึ่งมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย เพราะเป็นรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่กลุ่มของรูปอื่นซึ่งมีรูป ๙ รูปที่มีเสียงรวมอยู่ด้วย ชื่อว่าสัททนวกกลาป เป็นเสียงที่เป็นอวิญญาณกะ เพราะว่าเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน

    นี่คือความต่างกันของเสียงที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน และเสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ถ้าเป็นเสียงที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐานจะมีรูปรวมอยู่ในที่นั้นเพียง ๙ รูปเท่านั้น ต่างกับเสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน

    สำหรับกลาปคือกลุ่มของรูปที่มี ๙ รูป กลุ่มต่อไป คือ กายวิญญัตตินวกกลาป ชื่อยาก แต่ความหมาย คือ กลุ่มของรูป ๙ รูป ที่มีกายวิญญัตติรวมอยู่ด้วย

    กายวิญญัตติ เป็นรูปที่ทำให้รู้ความหมาย หรือว่าแสดงความหมายตามความต้องการของจิต ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลีนี รูปกัณฑ์ พระบาลีกายวิญญัตตินิทเทส แสดงว่า

    รูปที่เรียกว่ากายวิญญัตตินั้น เป็นไฉน คือ ความเคร่งตึง กิริยาที่เคร่งตึงด้วยดี ความเคร่งตึงด้วยดี การแสดงให้รู้ความหมาย กิริยาที่แสดงให้รู้ความหมาย ความแสดงให้รู้ความหมายแห่งกายของบุคคลผู้มีจิตเป็นกุศล หรือมีจิตเป็นอกุศล หรือมีจิตเป็นอัพยากต (คือ ไม่ใช่กุศลและอกุศล ได้แก่ จิตที่เป็นกิริยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของพระอรหันต์) ก้าวไปอยู่ ถอยกลับอยู่ แลดูอยู่ เหลียวซ้ายแลขวาอยู่ คู้เข่าอยู่ หรือเหยียดออกอยู่อันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า กายวิญญัตติ

    กายวิญญัตติ เป็นกลุ่มของรูปที่ทำเกิดการแสดงให้รู้ความหมายทางกาย ซึ่ง มีอยู่เป็นประจำในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ทราบเลยว่า ในขณะที่เกิดรูปซึ่งมีความหมายขึ้นได้นั้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน และในขณะนั้นมีรูปกี่รูปรวมอยู่ในกลาปหรือในกลุ่มของรูปนั้น

    ไม่ต้องอาศัยเสียง แต่อาศัยกายแสดงความหมาย เช่น ถลึงตา หน้าบึ้ง เพราะฉะนั้น กลาปนั้นต้องมีรูปเพิ่มขึ้นจาก ๘ รูป โดยรวมกายวิญญัตติรูปอีก ๑ รูป ทำให้รูปกลุ่มนั้นมี ๙ รูป เป็นกายวิญญัตตินวกกลาป

    เคยพยักหน้าแทนการพูดไหม หรือกระแทกเท้า หรือกวักมือ ถ้าเป็น กุศลจิตก็ยกมือไหว้ หรือก้มตัว สิ่งต่างๆ เหล่านี้แสดงถึงความหมายเพราะจิต ในขณะนั้นเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นจึงมีความหมายเกิดขึ้นร่วมด้วย เป็นกายวิญญัตติรูป เพราะฉะนั้น กลาปนั้นต้องมีรูปเพิ่มขึ้นจาก ๘ รูป โดยรวมกายวิญญัตติรูปอีก ๑ รูป ทำให้รูปกลุ่มนั้นมีรูป ๙ รูป เป็นกายวิญญัตตินวกกลาป ไม่ว่าจะเป็นการยักคิ้ว หลิ่วตา พยักเพยิก ชี้มือ โบกมือ ทั้งหมดที่ทำให้เกิดความหมาย เป็นกายวิญญัตติ

    นี่เพียงแต่เพิ่มรูปขึ้นอีก ๑ รูป ความหมายหรือลักษณะอาการของรูปนั้นก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น กลุ่มของรูปที่มีรูป ๙ รูป มี ๓ กลุ่ม หรือ ๓ กลาป ได้แก่ ชีวิตนวกกลาป ๑ สัททนวกกลาปซึ่งเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน ๑ และกายวิญญัตตินวกกลาป ๑ ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปพร้อมกับจิต ถ้าเป็นกายวิญญัตติรูปไม่เหมือนกับ รูปอื่น เพราะว่าลักษณะที่จะเคร่งตึง หรือทำให้เกิดความหมายขึ้น ตั้งอยู่ หรือมีอยู่ ดำรงอยู่เพียงชั่วที่ขณะจิตต้องการ ขณะจิตที่ไม่ต้องการรูปนั้นก็เป็นเพียงมหาภูตรูปธรรมดา ไม่มีลักษณะพิเศษที่จะทำให้รู้ความหมายนั้นได้

    จากกลุ่มของรูปที่มี ๘ รูป ซึ่งอย่างต่ำที่สุดต้องมีรูป ๘ รูป และเพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มของรูปที่มีรูป ๙ รูป เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากกรรมจะมีรูปในกลุ่มนั้นเกินกว่า ๘ รูป เพราะต้องมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยทุกกลุ่มหรือทุกกลาป ด้วยเหตุนี้จึงมี ชีวิตนวกกลาป

    สำหรับเสียงซึ่งเกิดจากอุตุ ไม่ได้เกิดจากจิต ก็มีรูปรวมกัน ๙ รูป คือ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี กลิ่น รส โอชา และมีเสียง คือ สัททรูป จึงรวมเป็น สัททนวกกลาป

    สำหรับในร่างกายของเรา ขณะใดที่ต้องการแสดงความหมายออกทางกาย ในขณะนั้นจะมีกลุ่มของรูปที่เกิดเพราะจิต ซึ่งแต่ละกลุ่มนั้นมีรูปรวมกัน ๙ รูป เรียกว่า กายวิญญัตตินวกกลาป คือ นอกจากมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และมีสี กลิ่น รส โอชาแล้ว ต้องมีกายวิญญัตติรูปในกลุ่มนั้นด้วย

    แต่กายวิญญัตติรูปจะตั้ง หรือดำรงอยู่เพียงชั่วขณะที่จิตต้องการให้รูปนั้น มีความหมายอย่างนั้นเท่านั้น ขณะใดที่ไม่ต้องการให้รูปนั้นมีความหมาย ก็เป็นกลุ่มหรือกลาปของรูปที่มีเพียง ๘ รูป ไม่มีกายวิญญัตติในขณะนั้นด้วย

    ทุกคน ขณะใดที่ต้องการให้กายแสดงความหมาย ขณะนั้นก็ทราบได้ว่า ขณะนั้นต้องมีรูปเกินกว่า ๘ รูป เพราะว่ามีกายวิญญัตติรูปด้วย รูปนั้นจึงปรากฏความหมายขึ้น

    ต่อจากนั้น จะมีกลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป เพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่เล็กที่สุด ๘ รูป และกลุ่มที่มีรูปรวมกัน ๙ รูป ก็ถึงกลาป คือ กลุ่มของรูปที่มีรูป ๑๐ รูป จำนวน ๑๐ เป็นทสกะ จำนวน ๘ เป็นอัฏฐกะ จำนวน ๙ เป็นนวกะ

    สำหรับกลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป ได้แก่ จักขุทสกกลาป เป็นต้น รูปใดก็ตามที่มีจักขุปสาทรูปเกิดร่วมด้วย ในที่นั้นจะมีรูปรวมกันในกลุ่มนั้น ๑๐ รูป เพราะนอกจากจะมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา รวม ๘ รูปแล้ว ต้องมีชีวิตินทริยรูป เพราะจักขุปสาทรูปเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น ในกลุ่มของจักขุปสาทต้องมีชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย ๑ รูป รวมเป็น ๙ รูป และรวมจักขุปสาทรูปอีก ๑ เป็น ๑๐ รูป เรียกว่า จักขุทสกกลาป

    สำหรับโสตทสกะ ฆานทสกะ ชิวหาทสกะ กายทสกะ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ เป็นกลุ่มของรูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งมีรูปรวมกันในกลาปนั้น ๑๐ รูป

    นอกจากนั้น อิตถีภาวทสกกลาปซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว ก็มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป คือ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ชีวิตินทริยรูป และอิตถีภาวรูป สำหรับผู้หญิง ถ้าสำหรับผู้ชายก็เป็นปุริสภาวรูป

    สำหรับรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต รูปนี้มีกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น รูปนี้ เกิดในกลุ่มซึ่งมีรูปรวมกันทั้งหมด ๑๐ รูป คือ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ชีวิตินทริยรูป และหทยรูป

    นี่เป็นรูปที่เกิดจากกรรม

    ในกลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป นอกจากรูปที่เกิดเพราะกรรมแล้ว ยังมีกลุ่มของรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานอีก ๑ กลาป คือ วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป หมายถึงกลุ่มของรูปซึ่งมีเสียง ที่มีวจีวิญญัตติรูปเกิดร่วมด้วย

    ขณะที่ทุกคนพูด ในชีวิตประจำวันนี่เอง ที่เสียงจะปรากฏกระทบหูได้ เสียงนั้นต้องมีวจีวิญญัตติรูปเกิดร่วมกับกลุ่มของเสียงนั้น ในขณะที่เป็นเสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ในกลุ่มนี้ คือ กลุ่มของเสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน มี รูปรวม ๑๐ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา และวจีวิญญัตติรูป ๑ เป็น ๙ และสัททรูป คือ เสียง อีก ๑ เป็น ๑๐ ในขณะที่พูด ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรก็ตามแต่ ทั้งหมดเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน แม้แต่เพียงพยางค์เดียว คำเดียว ขณะนั้นเสียงที่เกิดเพราะจิตนั้นต้องมีรูปรวมกัน ๑๐ รูป อยู่เฉยๆ มีเสียงไหม ไม่มี แต่ถ้าจะมี ต้องมีวจีวิญญัตติรูปซึ่งเป็นรูปที่ทำให้มีการกระทบกันที่ฐานของเสียงตามความประสงค์ของจิตที่จะพูด

    เวลาที่ทุกคนพูด ดูเหมือนว่าไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นแต่เพียงจิตคิด ก่อนจะพูด ต้องคิด ใช่ไหม เพราะบางครั้งยังไม่ได้พูด แต่คิด บางทีก็คิดว่า จะพูดหรือไม่พูด หรือบางครั้งก็คิดว่า จะพูดอย่างไรดี จะพูดอย่างนี้หรือจะพูดอย่างนั้น ซึ่งความวิจิตรของจิตมีมากในเรื่องของการพูด

    บางคนพูดตรงไม่น่าฟังเลย ตามการสะสมของจิต บางคนอาจจะพูดสิ่งที่จริงเป็นประโยชน์และน่าฟังด้วย ก็ตามการสะสมของจิต บางคนพูดสิ่งที่ไม่จริง ตามการสะสมของจิต บางคนจริงนิดหนึ่ง ไม่จริงมากกว่า หรือว่าจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง สลับคั่นกันไป หรือบางครั้งเป็นเรื่องจริง แต่เฉ และเอียงนิดหน่อย ไม่ตรงแท้จริงๆ ก็ได้ ตามการสะสมของจิต

    จะเห็นได้จริงๆ ว่า ขณะที่จะพูดแต่ละครั้ง ย่อมแล้วแต่สภาพของจิตที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นวจีทุจริต ต้องเป็นอกุศลอย่างแรง เพราะว่าสามารถพูดสิ่งที่ไม่จริงได้ หรือพูดคำส่อเสียดให้มีการแตกแยกเพื่อตนเองเป็นที่รักหรือคนอื่นเป็นที่ชัง หรือพูดคำที่ไม่น่าฟัง เป็นผรุสวาจา หรือพูดคำที่ไร้ประโยชน์ที่ทำให้เกิดโลภะ โทสะมากๆ ก็ได้ แต่จะเห็นได้ว่า ก่อนที่เสียงแต่ละคำจะเกิดขึ้นปรากฏนั้น ย่อมแล้วแต่ว่าวิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ตรึกหรือคิดในขณะนั้น เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ทวาร หรือทางของกรรม ได้แก่ วจีวิญญัตติรูป เพราะว่าต้องอาศัยการตรึก หรือการคิดที่เป็นกุศลหรือที่เป็นอกุศลก่อนที่จะมีคำพูดนั้นๆ เกิดขึ้นได้ และขณะใดก็ตามที่มีเสียงเกิดขึ้นเพราะจิต ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นเพราะกลาปหรือกลุ่มของรูปกลุ่มนั้นมีรูปรวมกัน ๑๐ รูป เสียงที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานจึงเกิดขึ้นได้

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1454

    นาที 20:56

    สำหรับกลุ่มของรูปกลุ่มอื่นๆ ที่มีรูปเกิดรวมกันมากกว่า ๑๐ รูป ต้องเป็นรูปที่เกิดจากจิต จากอุตุ และจากอาหาร

    กลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกัน ๑๑ รูป คือ ทุกขณะที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้เอง เพราะว่าทุกขณะนี้มีจิต มีอุตุ และมีอาหาร แต่เป็นรูปภายใน

    กลาป คือ กลุ่มของรูป ที่มีรูปรวมกันเพิ่มขึ้นอีกเป็น ๑๑ รูป ได้แก่ กลุ่มของรูปที่มีวิการรูป ๓ รวมอยู่ด้วยกับอวินิพโภครูป ๘ จึงเป็น ๑๑ รูป เรียกว่า ลหุตาทิเอกาทสกกลาป เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี

    ธรรมดารูปกลุ่มที่เล็กที่สุดจะมีรูปเพียง ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา ที่ผม ที่เล็บ มีรูปเพียง ๘ รูป คือ เมื่อกระทบสัมผัสก็มีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ธาตุน้ำไม่ปรากฏในขณะที่กระทบ ซึ่งในกลุ่มนั้นก็มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา แต่ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือว่าทำอะไรได้เลย ถ้าเป็นรูปที่มีกลุ่มของรูปเพียง ๘ รูป

    แต่สำหรับในสัตว์บุคคลที่มีชีวิต จะมีความต่างกันกับคนที่ตายแล้วหรือ สิ่งที่ไม่มีชีวิต เพราะว่ามีวิการรูป ๓ คือ ลหุตารูป รูปที่เบา มุทุตารูป รูปที่อ่อน กัมมัญญตารูป รูปที่ควรแก่การงาน ทำให้เมื่อกลุ่มของรูปเหล่านี้เกิดขึ้น จะสามารถ มีอิริยาบถต่างๆ มีการเคลื่อนไหว เหยียดคู้ ประกอบกิจการงานได้เพราะว่ามีวิการรูปรวมอยู่ในกลุ่มของรูป ซึ่งบางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะจิต บางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะอุตุ บางกลุ่มเกิดขึ้นเพราะอาหาร ตราบใดที่ยังมีการเคลื่อนไหว เหยียดคู้ มีการพูดต่างๆ ได้ แสดงให้เห็นว่า ต้องมีวิการรูปรวมอยู่ในกลุ่มของรูปที่มีรูปเพียง ๘ รูป ที่เป็น สุทธัฏฐกกลาป

    สุทธัฏฐกกลาป มีรูป ๘ รูป เมื่อเพิ่มวิการรูปอีก ๓ รูป จึงรวมเป็น ๑๑ รูป สำหรับวิการรูป ๓ ไม่แยกจากกันเลย ไม่ใช่ว่ามีแต่ลหุตารูปโดยไม่มีมุทุตารูป ไม่มีกัมมัญญตารูป แต่เมื่อใดที่มีลหุตารูป ต้องมีมุทุตารูป และกัมมัญญตารูปด้วย

    ขณะที่กำลังนั่งอยู่นี่ ก็มีกลุ่มของรูป ๑๑ รูป ซึ่งเกิดเพราะจิตบ้าง เกิดเพราะ อุตุบ้าง เกิดเพราะอาหารบ้าง

    ต่อไปเป็นกลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกันมากขึ้นอีก คือ มีรูปรวมกัน ๑๒ รูป

    สำหรับกลุ่มของรูปที่มีรูปรวมกัน ๑๒ รูป เกิดจากจิตบ้าง เกิดจากอุตุบ้าง

    กลุ่มที่มีรูปรวมกัน ๑๒ รูป เกิดจากจิต ๑ กลาป คือ กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป มีรูป ๘ รูป ซึ่งเป็นอวินิพโภครูป และมีวิการรูปอีก ๓ และมี กายวิญญัตติรูปอีก ๑ จึงรวมกันเป็นกลุ่มของรูปที่มีรูป ๑๒ รูป

    สำหรับกลุ่มของรูปที่มี ๑๒ รูป ที่เกิดจากอุตุมี ๑ กลาป คือ สัททลหุตาทิทวาทสกกลาป มีอวินิพโภครูป ๘ มีวิการรูป ๓ และมีสัททรูปอีก ๑

    กลุ่มของรูปที่มี ๘ รูป เล็กที่สุด กลุ่มของรูปที่มีรูป ๙ รูป เพิ่มขึ้นอีกรูปเดียว ก็ต้องเล็กมาก กลุ่มของรูปที่มีรูป ๑๐ รูป เพิ่มขึ้นอีกเพียงรูปเดียว ก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร กลุ่มของรูปที่มีรูป ๑๑ รูป ก็เล็ก กลุ่มของรูปที่มีรูป ๑๒ รูป ก็เล็ก

    สำหรับกลุ่มของรูปที่มีรูป ๑๒ รูป ที่เกิดขึ้นเพราะจิต ชื่อว่ากายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป คือ กลุ่มของรูปที่มีวิการรูป ๓ และกายวิญญัตติรูปรวมกัน

    ธรรมดาขณะที่นั่งเฉยๆ ไม่ต้องการให้เกิดความหมายอะไรขึ้น รูปกลุ่มนั้นจะ มีรูป ๘ รูป รวมกับวิการรูปอีก ๓ เป็น ๑๑ รูป แต่ขณะใดที่มีกลุ่มของรูป ๘ รูป รวมกับวิการรูป ๓ และต้องการให้มีกายวิญญัตติ คือ เป็นรูปที่แสดงความหมายขึ้น ขณะนั้นก็มีรูปเพิ่มขึ้นอีก ๑ รูป จึงเป็น ๑๒ รูป

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1455

    นาที 26:12

    สำหรับอีกกลุ่มหนึ่งที่มีรูปรวมกัน ๑๒ รูป ไม่ได้เกิดจากจิต เป็นรูปที่เกิดจากอุตุ เป็นสัททลหุตาทิทวาทสกกลาป กลุ่มของรูป ๑๒ รูป ที่มีวิการรูปเกิดร่วมกับสัททะ คือ เสียง

    อย่างเวลาที่ตบมือ ถ้าไม่มีวิการรูปก็ตบมือไม่ได้ แต่เมื่อตบมือแล้วมีเสียง เพราะฉะนั้น การที่จะมีเสียงเกิดขึ้นจากการกระทบกันของรูป ต้องมีวิการรูปเกิดร่วมกับเสียงที่วิการรูปนั้นทำให้เกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น กลุ่มนั้นมีรูปรวมกัน ๑๒ รูป

    ต่อไปนี้ก็อาจจะนับได้ ใช่ไหม เวลาตบมือ กระทืบเท้า หรือทำอะไรก็ตามที่จะให้เกิดเสียงขึ้น ก็จะได้รู้ว่า ถ้าไม่ใช่เสียงซึ่งกระทบกันที่ฐานของเสียงที่ทำให้เกิดเป็นคำพูด เสียงอื่นที่กาย เช่น การดีดนิ้วมือ เป็นต้น ขณะนั้นต้องเป็นกลุ่มของรูปที่มีรูป ๑๒ รูป

    สำหรับกลุ่มของรูปที่มีรูปมากที่สุด จะไม่เกิน ๑๓ รูปเลย และเป็นรูปที่เกิดจากจิตเท่านั้น คือ วจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกลาป มีอวินิพโภครูป ๘ รวมกับ วิการรูป ๓ รวมกับวจีวิญญัตติรูป ๑ รวมกับสัททรูป ๑ รวมเป็น ๑๓ รูป

    ธรรมดาปกติจะเป็นกลุ่มไหน ในขณะที่พูด

    กลุ่มของเสียงที่เกิดจากจิตที่พูด ทำให้เกิดเป็นคำที่มีความหมายขึ้น ที่เป็น วจีวิญญัตติสัทททสกกลาปนั้น มีรูปรวมกัน ๑๐ รูป คือ มีอวินิพโภครูป ๘ วจีวิญญัตติรูป ๑ สัททรูป ๑ แต่กลุ่มที่มี ๑๓ รูปนั้น เพิ่มวิการรูป ๓ จึงเป็น ๑๓ รูปเพราะฉะนั้น ปกติในชีวิตประจำวัน จะเป็นกลุ่มของรูปกลุ่มไหน ๑๐ รูป หรือ ๑๓ รูป

    มีความต่างกันไหม ระหว่างกลุ่มของรูปที่มีเสียงเกิดจากจิต ๑๐ รูป กับกลุ่มของรูปที่มีเสียงเกิดจากจิต ๑๓ รูป

    ต่างกัน คือ กลุ่มหนึ่งไม่มีวิการรูป อีกกลุ่มหนึ่งมีวิการรูปรวมอยู่ด้วย

    สำหรับกลุ่มที่มีวิการรูปรวมอยู่ด้วย ต้องอาศัยความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงานของรูปที่จะให้เสียงนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นพิเศษ เช่น เพลงลูกทุ่ง ร้องยากหรือร้องง่าย จะเห็นได้ว่าแสนยากจริงๆ ถ้าไม่มีวิการรูปที่ชำนาญที่จะทำให้เสียงนั้นเกิดขึ้น ไม่เหมือนเสียงพูดธรรมดาปกติ ปกติจะพูดอะไรก็พูดได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นกลุ่มของรูปที่มีวจีวิญญัตติรูป และสัททรูป รวมกับอวินิพโภครูป ๘ เป็น ๑๐ รูป แต่เวลาที่จะให้มีเสียงพิเศษเกิดขึ้น ต้องอาศัยความเบา ความอ่อน ความควรแก่ การงานเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้น ขณะที่นักร้องฝึกหัดร้องเพลง ไม่ว่าจะเป็นนักร้องประเภทใดก็ตาม ขณะนั้นต้องเป็นกลุ่มของรูปซึ่งมีรูปรวมกัน ๑๓ รูป

    ๑๓ รูป ก็เป็นกลุ่มที่เล็กมาก แต่ทำให้เกิดเสียงซึ่งพิเศษจากปกติ เพราะอาศัยวิการรูป ๓

    นี่คือชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่ว่าจะพูดหรือไม่ว่าจะแสดงกิริยาอาการต่างๆ ก็ตาม ต้องเป็นเพราะกลุ่มของรูปที่อาศัยจิตเป็นสมุฏฐาน จึงจะมีการเคลื่อนไหวหรือการพูดได้ เพราะถ้าเป็นกลุ่มของรูปที่เกิดเพราะกรรม ไม่สามารถทำอะไรได้เลย จักขุปสาททำอะไรไม่ได้ เป็นแต่เพียงกระทบกับสีสันวัณณะที่ปรากฏ ทางตาเท่านั้น แต่ไม่มีวิการรูปหรือว่าอะไรที่ทำให้เกิดความอ่อน ความควรแก่การงานในกลุ่มของรูปที่เป็นจักขุทสกกลาป แต่ที่สามารถกลิ้งตา กลอกตาได้ ขณะนั้นต้องเป็นรูปที่เกิดเพราะจิต ซึ่งนอกจากอวินิพโภครูป ๘ แล้ว ต้องมีวิการรูป ๓ รวมอยู่ด้วย จึงจะทำให้มีการเคลื่อนไหวได้

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1456



    หมายเลข 107
    4 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ