แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1684

สนทนาธรรมที่กุรุน้อย จังหวัดราชบุรี

วันเสาร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๐


. ซึ่งก็คือผลของกุศล หรือผลของอกุศล สมัยก่อนผมเข้าใจว่า ง่ายจริงๆ ฟังดูคล้ายกับเข้าใจแล้ว แต่ฟังไปฟังมานานเข้า ไม่เข้าใจเลย ตอนหลังผมไม่ทราบว่า วิบากที่อาจารย์กล่าว คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น คืออย่างไร

สุ. วิบากหมายความถึงจิตเห็นที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส วิบากหมายถึงจิต

. ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏ

สุ. ไม่ใช่ รูปไม่ใช่วิบาก รูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ใช่วิบาก ตัวจิตเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก

. เมื่อเห็นแล้วเป็นทุกข์ ไม่ใช่วิบาก

สุ. ไม่ใช่ ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ไม่เห็นวิบากตามความเป็นจริง แต่เมื่อเจริญสติปัฏฐานจึงรู้ว่า หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน อย่างเสียงที่ปรากฏ กับจิตที่ได้ยิน เสียงเล็กเสียงน้อยทั้งหมดหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เป็นสภาพที่เป็นวิบาก แต่หลังจากนั้นแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นอุเบกขาหรือโสมนัส โทมนัส

. ผู้ที่จะรู้วิบากจริง ต้องรู้ลักษณะของสภาพจิตที่เห็นหรือได้ยิน

สุ. แน่นอน ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจึงจะรู้กรรม

. ถ้าเราเห็นของสิ่งเดียวกัน บางคนอาจจะเป็นกุศลวิบาก บางคนอาจจะเป็นอกุศลวิบากก็ได้ ใช่ไหม

สุ. ไม่ใช่ ต้องเป็นกุศลวิบากด้วยกัน แต่หลังจากนั้นแล้วจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือกุศล ก็แล้วแต่การสะสม

. จิตที่เห็น ยังไม่มีความพอใจหรือไม่พอใจ

สุ. ถ้ายังไม่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้แยกวิบากกับกุศล อกุศล เมื่อเจริญ สติปัฏฐานแล้วจึงได้รู้ว่าเป็นจิตต่างชนิด

. คนกับสัตว์เห็นอย่างเดียวกัน ก็เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากเหมือนกัน

สุ. แน่นอน

. เป็นเพียงแต่สภาพที่เห็น คือ วิบาก แต่ยังไม่ใช่พอใจหรือไม่พอใจ

สุ. จึงต้องรู้เรื่องชาติของจิต ๔ ชาติ

. วิบากเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลมากกว่ากุศล ใช่ไหม

สุ. แล้วแต่บุคคล ถ้าเขาสะสมมาที่จะไม่เกิดอกุศล เขาก็ไม่เกิดอกุศล คุณกาญจนาร้อนไหม ร้อนแล้วรู้สึกอย่างไร เป็นอกุศล ใช่ไหม ถ้าร้อนก็เรื่องของร้อน และสติก็ระลึกรู้ร้อนนั้น เป็นกุศล ใช่ไหม ก็แล้วแต่บุคคล ร้อนแล้วต้องบ่นไหม ถ้าบ่นก็ยังร้อน ไม่บ่นก็ยังร้อน บ่นจะมีประโยชน์ไหม บ่นแล้วหายร้อนไหม หรือยิ่งบ่นยิ่งเครียด

. อย่างเดินมาด้วยกัน ๒ คน เห็นคนถูกรถชนตาย คนหนึ่งอาจจะเกิดอกุศล อีกคนหนึ่งอาจจะเกิดกุศลก็ได้ ใช่ไหม บางคนหวั่นไหว บางคนก็ไม่หวั่นไหว

ผู้ฟัง น้อมมาหาตัวเรา บางทีดิฉันเปิดเทปอาจารย์ทั้งวันเลยในบ้าน แต่บางครั้งที่เปิด จิตไม่ได้เป็นกุศลก็มี ฟังๆ แล้วก็เหนื่อย ก็ปิด ดิฉันมีความรู้สึกว่า ไม่อยากฟังแล้ว ก็ปิดทันที เพราะเราเริ่มรู้แล้วว่า ถ้าฟังต่อไปจิตไม่เป็นกุศล ก็ไม่ฟัง แต่เพื่อนบางคนกลับพูดว่า เปิดฟังไปเถอะ ฟังไปเรื่อยๆ เพราะการฟังไปเรื่อยๆ บางครั้งหลังจากที่เกิดอกุศลแล้ว ก็อาจจะเกิดกุศลขึ้นมาได้อีก ท่านอาจารย์ว่าจริงไหม

และอย่างเรื่องวิบาก ในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่ได้รับอกุศลวิบาก ส่วนมากจะนึกได้เมื่อเป็นอกุศลวิบาก ถ้าเป็นกุศลวิบากนี่ไม่นึกเลย ถ้าเป็นอกุศลวิบากบางครั้งจะพิจารณาได้ว่า เป็นสิ่งที่เราจะต้องได้รับ แต่เป็นเพียงขั้นที่นึกได้เท่านั้น ยังไม่เป็นสติ

สุ. เป็นเครื่องทดสอบให้เราเห็นตัวของเราเองชัดเจนว่า เราจะมีกุศลตลอดเวลาไม่ได้ แม้แต่ผู้ที่เรียกว่า ใส่ใจธรรม สนใจธรรม อยากจะเข้าใจธรรม แต่ก็มีเวลาที่อกุศลจิตจะเกิดให้เห็นว่า ขณะนี้เราไม่ฟัง เพราะว่าใครเลยจะฟังไปได้ ๒๔ ชั่วโมง ๔๘ ชั่วโมง และก็คูณขึ้นไปทุกวันๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะว่าความจริงก็ต้องเป็นความจริง คือ ในเมื่อยังเป็นผู้ที่มีอกุศลอยู่ อกุศลก็ ต้องเกิด ขณะที่อกุศลเกิดจะฟังไหมพระธรรม ก็ไม่ฟัง ทำอะไรดี มีเครื่องเพลิดเพลินหลายอย่างมากมาย อาจจะเป็นโทรทัศน์ วีดีโอ เพลง อ่านหนังสือ ทำอะไรก็ได้ สนทนากับเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง

วันหนึ่งๆ ชีวิตตามความเป็นจริงต้องรู้ว่า เราไม่ได้มีแต่กุศล เรามีอกุศลมากด้วย และสำหรับบางคนก็อาจจะมีกุศลมากกว่าคนอื่น แต่ก็ยังกล่าวไม่ได้จริงๆ ว่า มีกุศลมากกว่าอกุศล ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจะกล่าวอย่างนั้นไม่ได้เลย เพราะว่าวันหนึ่งๆ ไหลไปตามกระแสของอกุศลตั้งแต่เช้าลืมตาตื่น จนกว่าสติจะเกิดระลึกเป็นไปใน กุศลขณะใด ขณะนั้นกั้น แต่จะกั้นได้นานเท่าไร คิดดู เวลาอกุศลจิตเกิดก็รู้ได้ว่าขณะนั้นไม่ฟัง เท่านั้นเอง เป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริง แต่ก็เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ฟังอีก

ท่านที่แนะนำว่า แม้เบื่อไม่อยากจะฟัง ก็ไม่ควรจะปิด ก็เปิดไป เผื่อว่ากุศลจะเกิดอีก เมื่อกุศลเกิดสนใจเมื่อไร ที่เป็นอกุศลดับไปแล้ว ก็เกิดความสนใจที่จะฟังข้อความตอนนั้น เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการฟังมากมายมหาศาลจริงๆ

ตอนแรกๆ อาจจะฟังนิดๆ หน่อยๆ อาจจะฟังและก็เบื่อๆ เดี๋ยวตอนนี้ก็ ไม่ถูกใจ ตอนนั้นก็หนักเกินไป หรือยังไม่อยากจะสนใจตอนนี้ ก็เป็นเครื่องตรวจสอบอกุศลจิตของเราทั้งนั้น จนกว่าปัญญาของเราจะเกิด พร้อมที่จะเห็นคุณประโยชน์ของพระธรรมทุกประการ และอบรมเจริญปัญญาด้วย

. จากที่ผมฟังปัญหาของผู้ฟังธรรมของท่านอาจารย์ มีหลายคนบอกว่าเริ่มฟัง ตั้งใจฟัง ก็ติดศัพท์แล้ว ติดศัพท์คำที่ ๑ ที่ ๒ ไปไม่ได้แล้ว เพราะมัวไปนึกถึงศัพท์คำนั้น คำบรรยายของท่านอาจารย์ก็ผ่านไปๆ ทำให้จำข้อความที่ท่านอาจารย์พูดไม่ได้ ทำให้เขารู้สึกว่าธรรมของท่านอาจารย์นั้นสูงไป

สุ. เรื่องของการติดศัพท์นี่เข้าใจว่า ขาดความอดทน เพราะแม้แต่ดิฉันเองไม่ใช่ว่าจะเข้าใจคำทุกคำในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นภาษาบาลี คำที่ไม่เข้าใจก็มี คำยาวๆ ที่ไม่เข้าใจก็มี แต่ใครก็ตามที่ได้ยินได้ฟังคำที่ไม่เข้าใจ ก่อนอื่นจะคิดความหมายของ คำนั้นว่าคืออะไร อย่างกุศลหรืออกุศล บางคนอาจจะบอกว่าใหม่เอี่ยมจริงๆ ไม่เคยเข้าวัดวาอาราม ไม่เคยเปิดวิทยุเลย เพราะฉะนั้น กุศลแปลว่าอะไร อกุศลแปลว่าอะไร ก็ฟังต่อไป โลภะ โทสะ โมหะ เอ๊ะ เป็นอะไรอีก ก็ติดศัพท์อีก ถ้าจะกล่าวโดยนัยนี้ โดยเฉพาะสำหรับชาวต่างประเทศ แต่สำหรับคนไทยเราได้เปรียบกว่า คือ เราสามารถที่จะได้ยินได้ฟังมาบ้าง เพราะฉะนั้น ขั้นแรกเพียงแต่คิดว่า คำนั้นดีหรือ ไม่ดี อย่างอาสวะ ยังไม่ต้องรู้ว่าแปลว่าอะไร แต่ว่าดีไหม คนนี้มีอาสวะ จะต้องดับ อาสวะ จะต้องละอาสวะ พูดแค่นี้ อาสวะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี และโดยมากเนื้อเรื่องก็จะบอกอยู่แล้ว

อย่างสติดีหรือไม่ดี เจริญสติ ก็ต้องดี เพราะฉะนั้น สติก็ต้องดี แต่ยังไม่เข้าใจลักษณะของสติ นั่นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องฟังเพิ่มขึ้น แต่กล่าวว่าติดศัพท์ ดิฉันไม่คิดว่าในภาษาไทยเราจะมีปัญหามากนัก เพราะว่าในการบรรยายแต่ละครั้ง ภาษาไทย ก็มาก ศัพท์มีไม่กี่ตัว ไม่ใช่ว่าศัพท์ตั้งครึ่งหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย และถ้าฟังครั้งที่ ๒ ก็จะเข้าใจศัพท์นั้นเพิ่มขึ้นด้วย และถ้าขวนขวาย อย่างคำว่า ขันธ์ ขันธ์ ๕ ได้แก่อะไรบ้าง ขันธ์แปลว่าอะไรถามแต่ละคนในที่นี้ เขาอาจจะตอบไม่ได้เลยโดยละเอียด แต่ก็รู้ว่าขันธ์หมายความถึงสิ่งที่เกิดดับ แค่นี้ก็พอแล้ว แต่จะหยาบ ละเอียด เลว ประณีต ไกล ใกล้ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาต่อไปว่า คำว่า ขันธ์ มีความหมายจำแนกธรรมออกเป็นกี่ประเภท หรืออะไรอย่างนั้น แต่โดยการฟังซึ่งเป็นภาษาไทย ส่วนใหญ่ ควรที่จะเข้าใจได้ ไม่ควรจะเป็นข้ออ้าง และสำหรับดิฉันเองที่ศึกษาธรรม สิ่งไหนที่ไม่รู้ ดิฉันพยายามที่จะรู้ขึ้น ไม่ใช่เมื่อไม่รู้แล้วก็ไม่รู้เลย

. ไปรักษาศีลที่วัด เขาให้นั่งทำสมาธิ จะไม่นั่งก็กลัวเขาว่า ก็นั่งกับเขา อย่างนี้เวลาไปไม่ต้องนั่งหรือ

. เวลานั่งเป็นกุศลจิตหรือเปล่า

. เป็นแต่อกุศล คือ ปวดเมื่อย จะพิจารณาอะไรก็ไม่ออก

. อย่าทำดีกว่า

. เวลาไปที่ไหน มักให้สมาทานศีลก่อน อย่างน้อยก็ศีล ๕ เพื่อที่จะปฏิบัติธรรมต่อไป หรือบางคนก็สมาทานศีล ๘ และอยู่ที่วัด โดยที่บางคนก็นอนเฉยๆ และบอกว่าศีลบริสุทธิ์เหลือเกิน เพราะว่าไม่ได้ทำอะไรเลย บางคนก็ไม่พูดเลย เพราะฉะนั้น วจีกรรมก็ไม่มี บริสุทธิ์ทุกอย่าง หลังจากนั้นพระท่านก็บอกว่า ได้กุศลมาก และมีการอุทิศส่วนกุศล แต่โดยข้อเท็จจริง หนูไม่คิดว่าจิตใจข้างในนั้น จะบริสุทธิ์แท้ หมายความว่าไม่มีอกุศลผ่านมาเลยสักขณะจิตหนึ่ง คงจะเป็นไปไม่ได้ ทำอย่างไรจึงจะเป็นการรักษาศีลที่ถูกต้องที่สุด

. คิดว่าสิ่งที่ดีที่สุด บางทีอาจจะไม่ครบศีล ๕ ด้วยซ้ำ แต่มีสติเกิดขึ้นบ้าง ค่อยๆ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เพราะว่าคนที่พยายามรักษาศีล ๕ และรักษาได้มาก หรือรักษาศีล ๘ และรักษาได้มาก ถ้าคนนั้นไม่รู้เรื่องของการเจริญ สติปัฏฐาน ก็ต้องรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ตลอดสังสารวัฏฏ์ ไม่มีสิ้นสุดเลย เพราะไม่มีทางที่จะละกิเลสได้

ถ้าพูดถึงประโยชน์ ประโยชน์ คือ เจริญสติ ไม่ว่าศีลเป็นอย่างไร รู้ว่าศีลมีประโยชน์ ใช่ พยายามรักษาศีลเท่าที่สะสมมาที่จะสามารถรักษาได้ แต่แม้แต่คนที่ศีลดีมาก ก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่สามารถบกพร่องได้ เพราะว่ามีแต่พระโสดาบันที่รักษาศีล ๕ ครบถ้วน เพราะฉะนั้น ทุกคนที่ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ยังมีโอกาสที่จะ ล่วงศีลได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ไม่ต้องเอาศีล ๕ ศีล ๘ มาเป็นข้อสำคัญที่สุด

สิ่งที่สำคัญที่สุดแน่นอน คือ ฟัง พิจารณา พยายามเข้าใจจนกระทั่งสติ และปัญญาค่อยๆ เกิด ค่อยๆ รู้เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน รู้สิ่งที่ปรากฏ ถูกต้องตามความเป็นจริง พร้อมด้วยการรักษาศีล พร้อมกับหาโอกาสทุกโอกาสที่จะเจริญกุศล ทำบุญได้เท่าที่สะสมมาที่สนใจที่จะทำได้ ให้ทานบ้าง รักษาศีลเป็นปกติ ในชีวิตประจำวัน มากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็ดี แต่ต้องมี สติด้วย และเวลาล่วงศีล เวลาที่มีสติเกิดขึ้นขณะนั้นก็ดี ไม่ใช่ตัวตนที่ล่วงศีล และไม่ใช่ตัวตนที่รักษาศีลด้วย ขณะที่รักษาศีลก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน

สุ. ปัญหาแต่ละอย่าง ควรที่จะได้พิจารณาหลายๆ นัย หลายๆ แง่มุม เพราะว่าเป็นชีวิตประจำวันสำหรับทุกคนจริงๆ และทุกคนควรจะทำทุกอย่าง ด้วยเหตุผล เพราะว่าตัวเหตุผลเป็นตัวปัญญา จึงควรจะต้องมีเหตุผล และควรที่จะ ฉุกใจคิดว่า สิ่งที่กำลังต้องการนี่คืออะไร อย่างเรื่องของศีลบริสุทธิ์ อยากจะทราบ จริงๆ ว่า ทำไมต้องการศีลบริสุทธิ์

ต้องมีเหตุผลในทุกอย่าง ถ้าต้องการอะไรขึ้นมา ก็ควรจะได้คิดว่า เพราะอะไร ทำไมถึงต้องการศีลบริสุทธิ์ เพราะอะไร มีเหตุผลหรือเปล่า ศีลพอไหม หรือยังต้องให้บริสุทธิ์ และศีลบริสุทธิ์นั้นคืออะไรที่ต้องการ

ข้อความในพระไตรปิฎกมีที่พูดถึงเรื่องผู้ชายคนหนึ่ง เขาแสวงหาผู้หญิงงาม แต่ไม่รู้ว่ารูปร่างเป็นอย่างไร หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เขามีทางที่จะหาเจอไหม

เราทุกคนรู้จักคำว่า ศีล ว่าเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา ถ้ากายดี วาจาดี ก็เป็นศีลที่ดี ถ้ากายวาจาไม่ดีก็เป็นอกุศลศีล เพราะฉะนั้น ความประพฤติทางกายทางวาจาของเราในวันหนึ่งๆ เราดีแล้วหรือยัง แทนที่จะไปคิดถึงว่า ศีลบริสุทธิ์เป็นอย่างไร หรืออยากจะให้ถึงศีลบริสุทธิ์ แต่ในชีวิตประจำวันของเรา กายของเราดีแค่ไหน วาจาดีแค่ไหน และจะดีขึ้นอีกได้ไหม เพราะว่าทุกคนต้องมี กายที่ไม่ดี ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเรียบร้อยงดงาม ไม่มีที่ติ และเป็นที่ชื่นชม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทุกๆ อย่างได้ บางเวลาก็มีความเห็นแก่ตัว แทนที่จะคิดถึงประโยชน์สุขของคนอื่น และวาจาของเราดีพร้อมหรือยัง เพราะว่าบางครั้งเวลาเราโกรธ เราก็อาจจะใช้คำที่ ไม่เหมาะสม หรือบางคนอาจจะประชดประชัน อาจจะทำอะไรก็แล้วแต่ซึ่งเป็นเรื่องของวาจา แค่นี้พอที่จะให้มันดีหรือยัง แทนที่จะไปคิดถึงว่า ต้องการให้มี ศีลบริสุทธิ์ โดยที่ยังไม่รู้ว่าศีลบริสุทธิ์นั้นคืออะไร หมายความว่าอย่างไร และจะทำได้อย่างไร

เพียงได้ยินชื่อก็จะเอาเสียแล้ว ศีลบริสุทธิ์ แต่ไม่ได้คิดถึงชีวิตประจำวันจริงๆ ว่า ทางกาย ทางวาจาของเรา ศีลของเรา ความประพฤติที่ดีเพิ่มขึ้น หรือดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

ก็ขอย้อนถามว่า ศีลบริสุทธิ์นั้นคืออะไรที่ต้องการ จะต้องการให้บริสุทธิ์แค่ไหน และหมายความว่าอย่างไร หรือไม่ทราบว่าสาวงามนั้นอยู่ที่ไหน รูปร่างหน้าตา เป็นอย่างไรก็ไม่รู้ แต่อยากจะแสวงหา

. เท่าที่ได้สอบถาม หมายถึงตอนแรกๆ เมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีมาแล้วที่เคยทำ ระหว่างนั้นยังไม่ทราบธรรมอย่างแจ่มแจ้งนัก ไม่ทราบเลย แทบจะบอดเลย เข้าใจว่ารักษาศีลก็เพื่อเป็นกุศลสูงสุด ถ้าผู้มีพระคุณของเราสิ้นชีวิตไป และต้องการทำกุศลให้เขามากๆ ก็ไปถือศีลให้เขา และคิดว่าเป็นกุศลมากมายที่สามารถจะ อุทิศให้ใครๆ ได้

สุ. ทำช่วงหนึ่ง ใช่ไหม

. ทำช่วงเดียว แต่ออกมาแล้วก็เละเทะเหมือนเดิม

สุ. นั่นล่ะ จะเรียกว่าบริสุทธิ์ไม่ได้เลย เพราะที่จริงแล้วศีลวิสุทธิ หมายความถึงขณะที่กายวาจาเป็นปกติศีล และปัญญารู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน วิสุทธิจากการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน ซึ่งจะทำให้บรรลุถึงการเป็นผู้ที่มี ศีล ๕ สมบูรณ์ในวันหนึ่ง ด้วยการเป็นพระโสดาบันซึ่งจะไม่ล่วงศีลเลย

เปิด  185
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565