แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1681

ที่กุรุน้อย จังหวัดราชบุรี

วันอังคารที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๐


. การเจริญสติ เบื้องต้นต้องอาศัยการฟังเพื่อเป็นปัจจัยทำให้เกิดสติ ในภายหน้าขึ้น ต้องให้ถึงความเข้าใจก่อน ความเข้าใจนี้ กรณีที่เราไม่ทราบว่า เราเข้าใจถูกหรือไม่ถูก คำว่า ไม่มีตัวตน ถ้าเราสัมผัสของแข็งเราคิดว่า เป็นสภาพ รู้ว่าแข็ง และมีความคิดต่อไปว่า นี่คือโต๊ะ ถ้าเวลานั้นสติเกิด จะคิดอย่างไรต่อไป

สุ. ถ้าใช้คำว่า คิด ก็แปลว่าไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะเมื่อกี้มีอยู่คำหนึ่งที่ว่า รู้ว่าแข็ง แต่จริงๆ ต้องเป็นสภาพรู้แข็ง ไม่ใช่รู้ว่าแข็ง

. เมื่อสภาพนั้นเกิดขึ้นแล้ว เกิดความรู้ว่าแข็ง

สุ. ไม่ใช่รู้ว่าแข็ง แต่รู้แข็ง สภาพรู้แข็ง รู้ลักษณะที่แข็ง เวลานี้ทุกคนบอกว่าโต๊ะแข็ง แต่ไม่ใช่รู้แข็ง เพียงแต่จำ แต่จะรู้แข็งต่อเมื่อกระทบสัมผัส จะแข็งมาก แข็งน้อยอย่างไร ลักษณะที่รู้แข็งนั้นเป็นสภาพที่รู้แข็ง ซึ่งต่างกับคิด อาจจะคิดว่าแข็ง แต่ยังไม่ได้รู้ว่าแข็งนั้นคือแข็งอย่างไร จนกว่าจะสัมผัสเมื่อไรก็มีสภาพที่รู้แข็งว่า แข็งนั้น แข็งอย่างไร ไม่ใช่รู้ว่าแข็ง ไม่ใช่นึกว่าแข็ง แต่เป็นการรู้ลักษณะที่แข็ง

. สภาพจิตที่เกิดต่อกันหลายขณะจนกระทั่งสรุปเอาว่า สิ่งนี่คือโต๊ะ เราควรจะทราบว่าอะไร

สุ. จะต้องแยกโลก ๖ โลกออกจากกันจึงจะปรากฏว่าไม่ใช่ตัวตนได้ ถ้ายังรวมกันก็ต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ อย่างทางตาชั่วขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดและดับเร็วแค่ไหนจึงจะไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้ายังเกิดทางหูสลับ และทางตาก็เห็นซ้ำอีก และจำ สิ่งที่ปรากฏทางตาไว้ซ้ำอีกเรื่อยๆ ก็จะปรากฏเป็นคนกำลังเคลื่อนไหว หรือกำลังพูด ถูกไหม ซึ่งความจริงสิ่งที่ปรากฏทางตาดับเร็วเหมือนเสียงที่ปรากฏทางหูดับ แต่การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ถ้าสติปัฏฐานไม่อบรมเจริญ ก็ไม่สามารถ รู้ได้เลย

เช่น ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง คิดถึงความหมายของเสียงไปพร้อมกันเลย ใช่ไหม เหมือนกับว่าได้ยินคำ แต่ความจริงขณะที่จิตกำลังได้ยินเสียง ไม่ใช่ขณะที่จิตนึกถึงคำหรือความหมาย ถ้าแยกทางหูออก รูปเฉพาะเสียงจริงๆ จะดับเร็วสักแค่ไหน ก่อนที่จะเกิดการคิดนึกเป็นคำๆ เกิดความหมายของแต่ละคำขึ้น เพราะฉะนั้น ทางตาก็ต้องดับเร็วอย่างนั้นเหมือนกัน

ในขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับสลับเร็วมาก คือ หลังจากที่เห็นแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น และมโนทวารวิถีจิตคือจิตที่รับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นต่อ เพราะว่า เราต้องมีสภาพคิดอยู่เสมอ เห็นอะไรต้องคิดถึงสิ่งนั้น ได้ยินอะไรต้องคิดถึงเสียงนั้น หรือความหมายของเสียงนั้นจึงจะรู้เรื่อง การคิดจะติดตามจิตทางทวารอื่นๆ อยู่ตลอด เช่น ทางตาเห็น ภวังค์เกิดคั่น ทางใจคิดถึงสิ่งที่เห็นเมื่อกี้และจำไว้ด้วย และมีทางหูสลับ ทั้งเสียง ทั้งคิด รวดเร็วจนกระทั่งทำให้ปรากฏเหมือนกับวัตถุนั้นเที่ยง มั่นคง ไม่ดับเลย เช่น ในขณะนี้เอง ซึ่งทุกคนก็พิสูจน์ได้

ถ้าปัญญายังไม่ได้อบรมเจริญถึงขั้นที่จะแยกลักษณะของโลกแต่ละโลกออกจากกันโดยมโนทวารวิถี ซึ่งสามารถรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างตามทวารต่างๆ ได้ ถ้ายังไม่เป็นอย่างนั้น ก็ย่อมปรากฏอย่างที่ทุกคนเห็น คือ เห็นคนเยอะๆ อยู่ในที่นี้ ไม่ได้มีความรู้ว่าเป็นเพียงชั่วขณะที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาและดับก่อนได้ยิน

. การเจริญสติ ต้องอาศัยความสามารถของเซลล์สมองช่วยไหม

สุ. ไม่เกี่ยว คือ ทางโลกจะมีความสามารถในเรื่องของการศึกษา เรื่องรูปธรรมทางการแพทย์ แต่เรื่องของปัญญาที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมและ รู้ชัด ต้องเป็นเรื่องของการสะสมที่เกิดจากการฟัง ถ้าคนที่มีมันสมองฉลาดมาก อย่างที่ว่า แต่ไม่เคยสะสมความเข้าใจในเรื่องนี้เลย ก็ต้องเริ่มสะสม ไม่ใช่ว่า คนที่มีความสามารถทางรูปวัตถุนั้น เมื่อได้ฟังแล้วเขาจะเข้าใจได้ทันที

. ผมฟังอาจารย์พูดว่า สภาพแข็งที่ปรากฏเป็นปัจจุบัน ให้มีสติระลึกรู้ ผมพิจารณาแล้วมันเป็นการนึกคิด ซึ่งการนึกคิดผมก็มาระลึกว่าเป็นสภาพคิดนึก ปรากฏทางมโนทวาร แต่การที่ผมได้เข้าไปใน ... (ได้ยินไม่ชัด) ถ้าจะรู้แข็งให้ระลึก อยู่ที่กาย มีสิ่งที่ถูกต้องที่กาย

สุ. ขอประทานโทษ ไม่อยากให้ใช้คำว่า ให้ระลึก คือ สติเกิดและสติระลึก ไม่ทราบจะทำอย่างไรจึงจะเอาความคิดที่จะตระเตรียมหรือเตรียมตัวออกไป

. ระลึกที่กาย มีสิ่งหนึ่งถูกต้อง

สุ. ระลึกที่กาย ตรงไหน

. ตรงไหนก็ได้

สุ. ระลึกที่แข็งที่ปรากฏ

. ยังๆ แค่ระลึกที่กาย

สุ. ทำไมต้องไประลึกที่กาย

. ก็มีสิ่งหนึ่งมาถูกต้อง

สุ. ลักษณะอย่างไรที่ปรากฏที่กาย ที่มาถูกต้องมีลักษณะอย่างไร

. ยังก่อน

สุ. สติปัฏฐานต้องมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ไม่ใช่ให้นึกเอาเอง

. คือ มีสิ่งมาถูกต้องกาย ก็ระลึกตรงนั้น

สุ. เพราะฉะนั้น ระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

. ระลึกตรงนั้น ยังไม่ใช่สภาพรู้ใช่ไหม เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่มาถูกต้อง

สุ. ถ้าไม่รู้จะรู้ว่ามีสิ่งหนึ่งมาถูกต้องได้อย่างไร เพราะว่ามีรู้แล้ว จึงได้กล่าวว่ามีสิ่งที่ถูกต้อง

. มีอาการรู้แล้ว แต่ยังไม่ใช่สภาพรู้

สุ. ไม่ใช่สภาพรู้ไม่ได้ เมื่อมีสิ่งที่ถูกต้อง ทำไมรู้ว่ามีสิ่งที่ถูกต้อง

. ก็ระลึกที่กาย

สุ. ไม่ได้ ขณะที่มีสิ่งที่ถูกต้อง ที่รู้สิ่งที่ถูกต้องนั้นคือสภาพรู้ เป็นสภาพรู้แล้ว ตั้งแต่เกิดไม่เคยขาดสภาพรู้เลย

. แต่ยังไม่ใช่รู้แข็ง

สุ. ขณะเห็นทางตา รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่ได้ยินเสียง รู้เสียง เพราะฉะนั้น สภาพรู้เกิดและดับไป เกิดและดับไป ไม่ขาดสภาพรู้เลยตั้งแต่เกิด จนตาย

. สภาพรู้มีหลายทาง

สุ. เกิดและดับไปเร็วมาก แต่ไม่เคยขาด

. ก่อนที่จะรู้แข็ง จะต้องรู้ทางมโนทวาร ใช่ไหม

สุ. ไม่ต้องไปนึกถึงอะไรเลย ตำรับตำราทั้งหลายที่ว่านึกทางมโนทวาร หรืออะไร ข้อสำคัญ คือ พระธรรมเตือนให้รู้ว่ากำลังมีสิ่งที่ปรากฏ ที่ฟังพระธรรมเพื่อให้รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏนี้เป็นอะไร มีแล้ว เพียงแต่จะมีปัจจัยให้สติระลึกหรือไม่เท่านั้น แต่ไม่เคยขาดสิ่งที่ปรากฏเลย

เพราะฉะนั้น ฟังเพื่อให้เป็นปัจจัยให้เกิดระลึกศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าสติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็ฟังให้เข้าใจเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏอีกเรื่อยๆ เท่านั้นเอง ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าสติยังไม่ได้ระลึกเลยก็ต้องรู้ว่า ต้องฟังอีกมากจนกว่าสติจะระลึกได้ที่จะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นของจริงอย่างหนึ่ง จนกว่าจะไม่ปรากฏเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น

. ผมฟังเทปอาจารย์และพยายามพิจารณาเรื่องสักกายทิฏฐิ ๒๐ ผมฟังมา ๔ – ๕ เที่ยวแล้ว พยายามตามไป ผมขอนำมาเรียนให้ทราบว่า ผมเข้าใจอย่างไร คือ ถ้าละสักกายทิฏฐิได้ ก็คล้ายๆ กับว่าจะเกิดการไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เรื่องรูปขันธ์ ท่านอาจารย์บอกว่า เห็นรูปเป็นตน อุปมาเหมือนกับเห็นเปลวไฟใน แสงสว่าง เห็นตนมีรูป อุปมาเหมือนต้นไม้กับเงา เห็นรูปในตน ก็เหมือนกลิ่นดอกไม้ที่อยู่ในดอกไม้ และสุดท้ายเห็นตนมีรูป ก็เหมือนกับแก้วมณีอยู่ในขวด ผมก็พยายามแกะไปเพื่อให้เห็นในด้านความคิดก่อน โดยใช้การพิจารณาว่า วัตถุประสงค์ของการพิจารณา คือ ต้องการให้ความรู้สึกเป็นตัวตนน้อยลงไป ให้ละไป แต่พิจารณาไม่ออก ได้แต่จำของอาจารย์มาเล่าให้ฟัง

สุ. เมื่อกี้กำลังหาฐานให้สติลง แต่ทำอย่างนี้ยิ่งช้าไปอีก แทนที่ขณะนี้ยึดถือเห็นว่าเป็นเราหรือเปล่า กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นเราเห็นหรือเปล่า

. เราเห็น

สุ. กำลังได้ยิน ก็เป็นเราได้ยิน ก็พิจารณาเพื่อที่จะให้รู้ว่า ธาตุรู้ ลักษณะรู้เป็นอย่างไร นี่จะเร็วกว่าไปนั่งคิดเรื่องอื่นๆ เพราะว่าการฟังพระธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพระอภิธรรมปิฎก หรืออรรถกถา หรือพระสูตร หรืออะไรก็ตาม จุดประสงค์เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เกิดการระลึกได้ แม้จะได้ฟังสั้นๆ ว่า รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ นามธรรมเป็นสภาพรู้ เพียงสองคำนี้ ปัญญาต้องสามารถเข้าถึงอรรถหรือลักษณะ จริงๆ ของเห็น ของได้ยิน ของทุกๆ ขณะที่ปรากฏ

การฟังพระธรรมไม่จำเป็นต้องมาก ถ้าเข้าใจ แต่เมื่อฟังแล้วยังไม่เข้าใจ จึงต้องฟังอีก เพื่อจะได้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจนคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ประโยชน์จริงๆ คือ ขณะที่สติระลึก

เพราะฉะนั้น จะฟังนานมากน้อยเท่าไรก็ตาม ขอให้ทราบว่า ประโยชน์จริงๆ คือ ขณะที่สติปัฏฐานระลึกได้ ที่จะศึกษาสังเกตลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

. ฟังจนกว่าจะเข้าใจ

สุ. ใช่ เพื่อละความไม่รู้

. ถ้าเป็นอย่างอาจารย์ว่า ก็คงไม่กลุ้มใจมากนัก

สุ. ไม่เลย ปกติธรรมดา

. เมื่อถึงตอนนั้น อินทรีย์บารมีเขาเกิดมีขึ้นตามธรรมชาติที่ได้สะสมมา ก็เป็นเอง

สุ. ถูกต้อง ไม่น่าจะต้องกังวลกับเรื่องอยากปฏิบัติ ไม่ทราบว่าทำไมมีการชักชวนมากมายเร่งรัดให้ปฏิบัติ ซึ่งไม่มีใครไปทำ แต่เป็นเรื่องของการละความไม่รู้ ด้วยการฟังพระธรรมจนเข้าใจ และสติปัฏฐานมีปัจจัยก็เกิด ซึ่งตอนแรกๆ ก็เกิด ไม่มาก จะเกิดมากได้อย่างไรเมื่อไม่ใช่พระอรหันต์ ก็จะต้องมีการะลึกได้บ้าง และส่วนใหญ่ก็มีการหลงลืม แต่ให้ทราบว่า ขณะที่ระลึกนั้นจะต้องพยายาม คือ วิริยะ สังเกต พิจารณาสภาพที่เป็นลักษณะรู้ และสภาพของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เท่านี้เองตลอดชีวิต ไม่ต้องทำอย่างอื่นอีกแล้ว เท่านี้ไปเรื่อยๆ ตามปกติ

. ผมฟังท่านอาจารย์สอน ผมว่าไม่ยากสำหรับท่านอาจารย์ แต่ สำหรับผม รู้สึกว่าข้ามสิ่งที่กั้นอยู่ไม่ได้

สุ. อะไรยาก

. ที่คิด ที่ตรึกไป บางทีก็ตัน มันไม่ไป ก็ฟังอีก

สุ. ขณะที่ไม่ไปนั้น เห็นหรือเปล่า

. เห็นอะไร

สุ. เห็น ก็เห็นธรรมดา ทำไมไม่ศึกษาสิ่งที่กำลังปรากฏ

. นั่นน่ะซิ ตอนนี้ผมจึงได้ถามตัวเองว่า ทำไมไม่ศึกษา

สุ. ก็เพราะว่า อยาก ที่ไม่ศึกษาเพราะอยากจะทำ ไม่ใช่เป็นสติที่ระลึกได้ ถ้าอยากจะทำ เรื่องยุ่งจริงๆ วุ่นวายเหน็ดเหนื่อยด้วยความอยาก แต่ถึงอยากเท่าไร เมื่อปัจจัยไม่พอที่สติปัฏฐานจะเกิด สติปัฏฐานก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น พวกอยากมาก ก็หาวิธีทำต่างๆ เพื่อส่งเสริม ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่ามีหนทางเดียว คือ สติเกิดระลึกทันทีที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

ไม่ได้ให้ไปทำอย่างอื่นเลย แต่พวกอยากก็จะไปทำอย่างอื่น ข้ามการระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏ จึงไม่เข้าใจว่าลักษณะของสติคืออย่างไร ซึ่งสิ่งนี้กำลังปรากฏแล้ว ก็ศึกษา สังเกต พิจารณาไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง แต่จะรู้ทันทีไม่ได้ ถ้าระลึกได้และ ศึกษารู้ทันที ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ในวันนี้พรุ่งนี้แน่ๆ แต่เพราะว่าไม่เคยสังเกต เพราะฉะนั้น ก็ต้องสะสมการสังเกต สะสมการพิจารณา และต้องสังเกตทันที ระลึกทันที ไม่ใช่ให้ทำอย่างอื่น

. ถ้าสติเจริญไป จะมีทางที่สติจะละอาสวะได้อย่างไร

สุ. สติละไม่ได้ ปัญญาละ สติเป็นสภาพที่ระลึกบ่อยๆ เพื่อให้ปัญญาสังเกตพิจารณาจนกว่าจะรู้ชัด

. เพราะฉะนั้น สติเป็นปัจจัยของปัญญา ใช่ไหม

สุ. เกิดด้วยกัน พร้อมกัน สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวไม่มี ต้องอาศัยกันเกิดขึ้นหลายอย่าง

เปิด  182
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565