แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1628

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๐


ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกเกิดกับกุศลทุกประเภท จนกระทั่งถึงโพชฌงค์ คือ เป็นองค์ธรรมที่เป็นองค์ของการตรัสรู้อริยสัจธรรม

เพราะฉะนั้น จะเห็นลักษณะความสำคัญของตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่ง ต้องตรงตั้งแต่กุศลในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งถึงการเจริญสติปัฏฐาน จนถึง ขั้นปัญญาที่จะเป็นองค์ของการตรัสรู้ ก็จะต้องมีตัตรมัชฌัตตตาซึ่งเป็น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ จึงควรเริ่มเป็นผู้ตรงด้วยตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่จะพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะรู้ว่า อกุศลเป็นอกุศล และกุศลเป็นกุศล

สำหรับลักษณะของกรุณาพรหมวิหาร

มีความเป็นไปโดยอาการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์เป็นลักษณะ

เวลาที่เห็นใครทำอย่างนี้รู้ได้ใช่ไหมว่า ในขณะนั้นเป็นกรุณาเจตสิก ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นสภาพของกรุณาเจตสิกซึ่ง มีความเป็นไปโดยอาการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์เป็นลักษณะ

มีการกำจัดทุกข์ของผู้อื่นเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

มีความไม่เบียดเบียนเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีความเห็นสัตว์ผู้ถูกทุกข์ครอบงำเป็นผู้น่าสงสารเป็นปทัฏฐาน

ควรพิจารณาคำที่ว่า เป็นผู้ที่น่าสงสาร ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ขณะนั้นจำเป็นต้องรู้สึกโทมนัสเสียใจในการช่วยเหลือบุคคลอื่นให้พ้นทุกข์

นี่เป็นสิ่งที่จะต้องมีตัตรมัชฌัตตตาที่จะต้องตรงว่า ขณะใดที่เห็นคนที่กำลังมีความทุกข์ ขณะนั้นความรู้สึกเป็นอย่างไร

ถ้ารู้สึกเสียใจเป็นทุกข์กับเขา ตัตรมัชฌัตตตาต้องตรงที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลที่กำลังพลอยเป็นทุกข์ไปด้วย บางท่านอาจจะถึงกับร้องไห้เสียใจไปด้วย ซึ่งขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้ารู้อย่างนี้จิตใจจะคลายจากความเศร้าหมองและรู้ว่า ขณะใดที่เป็นกรุณา ขณะนั้นไม่ใช่โทมนัสเวทนา เพราะกรุณาเป็นโสภณเจตสิก แต่ โทมนัสเวทนาเป็นอกุศลเจตสิก

เพราะฉะนั้น อาศัยปัญญาซึ่งเป็นผู้ตรงในขณะนั้นจะทำให้ไม่เศร้าหมอง แม้เห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ แต่กระทำกิจของกรุณาเจตสิกโดยกำจัดทุกข์ของคนอื่น ไม่เบียดเบียน และช่วยเหลือบุคคลอื่นให้พ้นจากทุกข์

ด้วยเหตุนี้กรุณาจึงมี โทมนัสอาศัยเรือน คือ ขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส หรือกระทบสัมผัส เป็นข้าศึกใกล้

จะต้องระวังจริงๆ ว่า เมื่อเห็นคนอื่นเป็นทุกข์แล้วอย่าเศร้าหมอง มีกรุณาเกิดขึ้นเป็นโสภณ แต่ไม่ควรที่จะให้เป็นโทสมูลจิต

มีความเบียดเบียนเป็นข้าศึกไกล

ขณะใดที่เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน ขณะนั้นจะกรุณาไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะใดที่กรุณาเจตสิกเกิด ขณะนั้นไม่เบียดเบียนคนอื่นแน่นอน

สำหรับกรุณานั้น

มีการสงบระงับวิหิงสา ความเบียดเบียน เป็นสมบัติ มีการเกิดความโศก เป็นวิบัติ

ท่านผู้ฟังเคยเกิดความโศกเวลาที่เห็นคนอื่นเป็นทุกข์ไหม เศร้า สลดใจ ซึ่งตัตรมัชฌัตตตาควรจะเกิดพิจารณารู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล การช่วยเหลือบุคคลอื่นโดยที่จิตใจไม่เป็นอกุศลย่อมดีกว่าช่วยแล้วเป็นอกุศลไปด้วย เพราะฉะนั้น ควรช่วยโดยที่ไม่เป็นอกุศลจะดีกว่า

ลักษณะของมุทิตาเจตสิก ซึ่งเป็นมุทิตาพรหมวิหาร คือ

มีความพลอยยินดีเป็นลักษณะ เมื่อเห็นความดีหรือเห็นสมบัติของคนอื่น

มีความไม่ริษยาเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

มีความกำจัดความไม่ยินดีเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีการเห็นสมบัติของสัตว์ทั้งหลายเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้

ถ้าสัตว์ทั้งหลายไม่ได้สมบัติ จะให้เกิดมุทิตาเจตสิกก็เป็นไปไม่ได้ สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น พรหมวิหารทั้ง ๔ ก็มีสัตว์บุคคล ในสภาพต่างๆ กันเป็นอารมณ์

สำหรับมุทิตาตรงกันข้ามกับกรุณา เพราะว่ากรุณาต้องมีคนที่กำลังเดือดร้อนเป็นทุกข์เป็นอารมณ์ แต่มุทิตาเป็นความพลอยยินดีกับความสุขหรือสมบัติของคนอื่น

และสำหรับข้อที่ว่า มีความกำจัดความไม่ยินดีเป็นปัจจุปัฏฐาน ทุกท่านต้องรู้จักตัวของท่านเองมากกว่าบุคคลอื่น ในบรรดาพรหมวิหาร ๔ พรหมวิหารไหน สะดวกสำหรับท่าน พรหมวิหารไหนยากสำหรับท่าน

เมตตาง่ายหรือยัง กรุณาง่ายหรือยัง มุทิตาง่ายหรือยัง อุเบกขาง่ายหรือยัง บางคนมุทิตาน้อย อาจจะมีกรุณาเวลาที่เห็นสัตว์อื่นตกทุกข์ได้ยากลำบาก แต่เมื่อถึงเรื่องของมุทิตา บางท่านไม่เกิด หรือเกิดน้อยมาก แต่ความจริง ถ้ารู้ลักษณะสภาพของมุทิตาเจตสิกซึ่งเป็นมุทิตาพรหมวิหาร จะเห็นได้ว่า ไม่ยากเลย และควรจะ อบรมด้วย เพราะว่าขณะใดที่พลอยยินดีกับคนอื่นซึ่งมีสมบัติหรือได้สมบัติ ได้ความสุข ในขณะนั้นไม่น่าจะยากเลย

สำหรับผู้ที่มุทิตาไม่ได้ ลองพิจารณาจริงๆ ว่า เป็นเพราะอะไร

ขณะที่ไม่มุทิตา ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล คิดดู

ได้ฟังข่าวดีที่น่าชื่นชมโสมนัส เป็นความสำเร็จ เป็นความสามารถใน การกระทำของบุคคลอื่นซึ่งสามารถทำประโยชน์ บางท่านอนุโมทนาได้แม้ตนเองไม่ใช่ผู้กระทำ แต่บางท่านเนื่องจากตนเองไม่ใช่ผู้กระทำ ก็ไม่อนุโมทนา หรืออนุโมทนาไม่ได้

นี่เป็นสภาพความละเอียดของจิตที่แต่ละคนจะรู้จักตัวเองว่า เป็นลักษณะสภาพของจิตขณะใด แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว มุทิตามีความไม่ริษยาเป็นกิจ และ มีความจำกัดความไม่ยินดีเป็นปัจจุปัฏฐาน แสดงให้เห็นว่า ก่อนหน้านี้ไม่มุทิตา แต่เมื่อมุทิตาเกิด ก็กำจัดความไม่ยินดีในสมบัติของคนอื่น ซึ่งในขณะที่มุทิตาไม่เกิดอาจจะไม่รู้สึกตัวว่าขณะนั้นไม่ยินดีกับสมบัติของคนอื่น แต่เมื่อมุทิตาเกิด กำจัดความไม่ยินดีในขณะนั้น คือ พลอยยินดีด้วยทันทีในขณะใด ขณะนั้นเป็น มุทิตาเจตสิก

ข้าศึกใกล้ของมุทิตา คือ โสมนัสด้วยโลภะ

คือ ถ้าเป็นผู้ที่ใกล้ชิด และได้รับความสุข ความสำเร็จ ความเจริญ อย่างมากมาย ขณะนั้นก็พลอยดีใจมากมายเกินกว่ามุทิตา ซึ่งเป็นโลภะแล้ว เวลาที่ ดีใจมากๆ ขอให้พิจารณาดูว่า ยังคงเป็นมุทิตาอย่างมากขึ้น หรือขณะนั้นเป็น โลภะแล้ว

ข้าศึกไกล คือ ความริษยา

เพราะว่าความริษยาเกิดร่วมกับมุทิตาเจตสิกไม่ได้

มีการสงบระงับความไม่ยินดีเป็นสมบัติ

แม้แต่รู้สึกเฉยๆ ก็คือไม่ยินดีด้วย

มีการเกิดความร่าเริงเป็นวิบัติ

นี่เป็นความละเอียดซึ่งตัตรมัชฌัตตตาต้องตรงจริงๆ ที่จะพิจารณาจิต เพื่อจะได้เป็นกุศลยิ่งขึ้น

ท่านเป็นผู้ที่ยินดีง่าย หรือยินดียากในความสุข ในสมบัติของบุคคลอื่น เป็นเรื่องที่ผู้ที่เจริญกุศลจะเพิ่มความเข้าใจตัวเองยิ่งขึ้น

สำหรับพรหมวิหารที่ ๔ คือ อุเบกขาพรหมวิหาร ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ถ้าเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันขณะใด ขณะนั้นเป็นความสงบของจิต เพราะว่าเป็น กุศลจิต

ลักษณะของอุเบกขาพรหมวิหาร คือ

มีความเป็นไปโดยอาการเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลายเป็นลักษณะ

มีความเห็นความเสมอกันในสัตว์ทั้งหลายเป็นรสะ

มีการเข้าไปสงบระงับความยินดีและความยินร้ายเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีการเห็นความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตนเป็นปทัฏฐาน

คือ มีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมมีกรรมเป็นของของตน ไม่ว่าสัตว์เหล่านั้นจะมีสุข หรือจะพ้นจากทุกข์ จะไม่เสื่อมจากสมบัติ ก็ไม่ใช่เป็นไปตามความพอใจหรือความต้องการของใคร ขณะที่รู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ขณะนั้น เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร

ต่างกับขณะที่เห็นอะไรก็เฉย ใช่ไหม เพราะในขณะนั้นไม่ได้รู้เลยว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ใครกำลังได้ลาภ เพราะอะไร เพราะกรรมของบุคคลนั้น ใครกำลังเสื่อมลาภ เพราะอะไร เพราะกรรมของบุคคลนั้น ใครกำลัง เป็นทุกข์ประสบความทุกข์ยากต่างๆ เพราะอะไร เพราะกรรมของบุคคลนั้น ใครกำลังประสบความสุข เพราะอะไร เพราะกรรมของคนนั้น ขณะที่รู้อย่างนี้ จิตเป็นกลางอย่างนี้ สม่ำเสมอในสัตว์ทั้งหลาย ในขณะนั้นเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร คือ รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เพราะฉะนั้น ก็เป็นกลางในสัตว์ทั้งหลายโดย ไม่หวั่นไหว ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย

ข้าศึกใกล้ของอุเบกขาพรหมวิหาร คือ อุเบกขาอาศัยเรือน

ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และอุเบกขา คือ เฉยๆ โดยที่ไม่ได้พิจารณาด้วยความเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย

ข้าศึกไกลของอุเบกขาพรหมวิหาร คือ โลภะและโทสะ

เพราะว่าโลภะและโทสะเกิดร่วมกับอุเบกขาพรหมวิหารไม่ได้

ถ. ในพรหมวิหาร ๔ นี้ อุเบกขาเป็นพรหมวิหารที่สำคัญมาก อย่าไปเห็นว่า เฉยๆ ไม่เอาเรื่องเอาราว เพราะอาจารย์บอกว่าจะต้องมีการพิจารณาว่า มีกรรมเป็นของของตน ความจริงก่อนศึกษาธรรม หรือเริ่มศึกษาธรรมแต่ยังไม่มีความเข้าใจมาก ขณะนั้นก็เคยพิจารณาว่า ทำไมคนนี้ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต ทำไมคนนี้ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เราก็พิจารณาว่า เขามีกรรมเป็นของตัวและเขาก็ได้รับ ซึ่งตอนนั้นไม่รู้ว่านี่คืออุเบกขาพรหมวิหาร เมื่อมาฟังจากอาจารย์บอกว่า ต้องพิจารณาว่า สัตว์นั้นมีกรรมเป็นของของตน มีความเป็นกลางในสัตว์ แต่ผมว่าไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เนื่องจากอุเบกขาเป็นทั้งบารมี เป็นทั้งสัมโพชฌงค์ เป็นองค์ของการตรัสรู้ได้ เพราะฉะนั้น อุเบกขาสำคัญมาก แต่ใจเป็นอย่างไรจึงจะเรียกว่า เป็นกลาง ที่เป็นกุศล ที่เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ที่มีอะไรลึกซึ้งกว่านี้

สุ. ถ้าเป็นเรื่องของการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่อุเบกขาพรหมวิหาร แต่เป็นตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกซึ่งมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เป็นเรื่องของการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งต้องเป็นกลางต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นจนสามารถรู้ชัดขึ้นในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

เพราะฉะนั้น ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกมีหลายระดับ และอาการหนึ่งลักษณะหนึ่ง คือ เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ซึ่งในขณะใดที่เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ขณะนั้นต้อง มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ แต่เวลาที่เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นองค์ของการตรัสรู้ ในขณะนั้นไม่ใช่มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์

ถ. ลักษณะของสติที่ระลึก ... (ได้ยินไม่ชัด)

สุ. ทุกอย่าง คือ ส่วนมากแล้วทุกคนจะมาถึงปัญหาที่ว่า ขณะนี้ ขณะนั้นเป็นสิ่งที่สติระลึกได้ไหมในชีวิตประจำวัน ดูเสมือนว่าช่างยากจริงๆ ที่สติจะระลึก เช่น ในขณะที่กำลังพูด และในขณะที่พูดนั้นก็ได้ยินด้วย เห็นด้วย คิดนึกด้วย เพราะฉะนั้น จะยากสักเพียงไรที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงนามธรรมแต่ละอย่าง และมักจะมีปัญหาว่า ในขณะอย่างนั้นสติจะระลึกได้ไหม จะรู้ได้ไหมว่าเป็นนามธรรม ซึ่งความจริงแล้ว สติจะต้องระลึก จนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ

ถ. ขณะพูด ต้องคิดด้วยไม่ใช่หรือ ต้องรู้ความหมายของคำพูดที่เรา พูดออกไป

สุ. ขณะนั้นเป็นนามธรรมที่รู้ นามธรรมหมายถึงสภาพรู้ อาการรู้ ขณะใดที่เป็นสภาพรู้ ขณะนั้นเป็นนามธรรม จะไม่ใช้คำว่านามธรรมก็ได้ เพราะขณะนั้น เป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอาการรู้

ถ. ต้องคิดก่อนและจึงจะพูด

สุ. ขอให้ทราบหลักอย่างหนึ่ง สำหรับบางท่านซึ่งอาจจะยังไม่ทราบว่า เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม อย่างนั้น อย่างนี้ คือ คนตายไม่ได้พูด ใช่ไหม เพราะฉะนั้น คนตายก็ไม่คิดที่จะพูด และคนตายก็ไม่เห็น ถ้าเทียบกับคนตายจะรู้ว่า คนเป็นมีนามธรรมซึ่งเป็นสภาพที่รู้ คนตายไม่รู้ เพราะว่าคนตายไม่มีนามธรรม เพราะฉะนั้น คนตายไม่พูด คนตายไม่คิด คนตายไม่ได้ยิน คนตายไม่เห็น ขณะใดที่พูด คือ คนเป็น เพราะเป็นนามธรรม ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ มีนามธรรมเกิดขึ้น

ถ. แต่เวลาพูดจะระลึกรู้ลำบากมาก เพราะว่าต้องพูดไปด้วย

สุ. เป็นเรื่องที่จะต้องอบรม แต่ให้ทราบความต่างกันของคนเป็นกับคนตาย คือ คนตายไม่มีนามธรรม เพราะฉะนั้น อาการอื่นทั้งหมด เช่น เห็นบ้าง คิดบ้าง เป็นนามธรรมทั้งหมด

ถ. และลักษณะของสติที่เกิดเพียงขณะจิตเดียว จะระลึกรู้ทันหรือ เพราะว่าเร็วมาก

สุ. เวลาที่สติเกิด หมายความว่าขณะนั้นระลึกที่ลักษณะของปรมัตถธรรม ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล จึงเป็นสติปัฏฐาน แต่กว่าจะรู้ว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ต้องอาศัยสติเกิดบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว เพราะว่าสติเกิดและก็ดับ

ถ. และลักษณะของสติที่ระลึกอีกที ที่เราต้องพิจารณาว่า สตินั้น ก็นามธรรม เร็วมาก

สุ. โดยมากใหม่ๆ ท่านผู้ฟังจะคิดว่า นามธรรมซ้อนกันอยู่เรื่อยๆ ใช่ไหม คือ เวลาสติเกิดระลึกที่รูป และนามธรรมก็ระลึกที่สติที่ระลึกที่รูปอีก หรือว่า ...

ถ. ไม่ต้องถึงขนาดนั้น

สุ. ไม่ต้อง ง่ายที่สุด คือ สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ศึกษาพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมนั้นเท่านั้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกอะไร ได้ทุกอย่าง

ถ. อย่างสติที่ระลึกรู้แข็ง ระลึกรู้แล้ว เราจะพิจารณาลักษณะของสติ ที่ระลึกรู้นั้นอีกทีหนึ่ง

สุ. แล้วแต่สติจะระลึกอะไร

ถ. เร็วมาก

สุ. เร็วก็ไม่เป็นไร มีสติเกิดอีก มีเห็นเกิดอีก มีได้ยินเกิดอีก คือ ขณะนี้ มีของจริงทั้งนั้นที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไปด้วย เพราะฉะนั้น จะรู้อย่างนี้ได้ก็ต่อเมื่อสติเกิด ถ้าสติไม่เกิด ก็ระลึกไม่ได้ รู้ไม่ได้

ถ. ถ้าเราต้องการรู้ลักษณะของสติที่รู้

สุ. เราไม่ควรจะต้องการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยเฉพาะ ให้เป็นหน้าที่ของสติ ที่เกิด แล้วแต่สติจะระลึกอะไร

ถ. ก็มีจริง

สุ. มีจริง และใครระลึก

ถ. สติระลึก

สุ. เมื่อสติระลึก ก็แล้วแต่สติจะระลึกอะไร ไม่ต้องไปจัดการให้สติ

ถ. แต่ถ้าอยากจะรู้ให้ทั่วถึง

สุ. ที่อยากจะรู้นั่นเป็นสติหรือเปล่า ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ทิ้งไป ขณะนั้นเป็นความต้องการ เป็นความอยาก ไม่ใช่ขณะที่สติระลึก ที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ต้องขณะที่สติระลึก ไม่ใช่ขณะที่อยาก แล้วแต่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด

ถ. ถ้าระลึกรู้ไม่ได้ ทำอย่างไร

สุ. ระลึกรู้อะไรไม่ได้

ถ. ลักษณะของสติที่ระลึกรู้

สุ. สติระลึกได้ทุกอย่างที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ระลึกทางตาได้ไหม ทางหู ค่อยๆ ระลึกไปเรื่อยๆ

เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญตลอดชีวิต ไม่ใช่เฉพาะชาติเดียว เพราะกว่าจะ ถ่ายถอนความเป็นตัวตน ต้องรู้ก่อนว่ากำลังเห็นเป็นตัวตนอย่างไร เป็นตัวตน ก็เพราะว่ากำลังเห็นสัตว์ บุคคล วัตถุสิ่งต่างๆ ซึ่งขณะนั้นต้องรู้ว่า ไม่ใช่เห็น แต่เป็นคิด ต้องแยกออกทีละทวารตามความเป็นจริง ค่อยๆ อบรมเจริญไปเรื่อยๆ

ถ. ถ้าเห็น ระลึกที่เห็น ระลึกตรง เป็นตัตรมัชฌัตตตาไหม

สุ. แน่นอน

ถ. ผมเข้าใจผิด นึกว่าอุเบกขาพรหมวิหารเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อาจารย์ก็กรุณาชี้แจงแล้ว ส่วนอุเบกขาบารมีที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญนั้นเป็นอย่างไร

สุ. ตัตรมัชฌัตตตานั่นเอง เป็นเจตสิกซึ่งมีลักษณะอาการแล้วแต่จะเกิดกับจิตขณะไหน ถ้าขณะใดที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ขณะนั้นกำลังมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ ก็เป็นอาการของอุเบกขาพรหมวิหาร

ในชีวิตประจำวัน สามารถที่จะรู้ได้ว่ามีเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา ถ้าอุเบกขายังไม่เคยมีเลย ก็เริ่มที่จะมีอุเบกขาโดยเห็นกรรมของสัตว์ทั้งหลาย สามารถช่วยใครก็ได้ แต่ขณะนั้นก็รู้ถึงกรรมของบุคคลนั้นด้วย จึงเป็นผู้ที่เป็นกลาง ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ จะช่วยได้หรือช่วยไม่ได้ ต้องแล้วแต่กรรม ขณะที่รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม ขณะนั้นก็ไม่หวั่นไหว จึงเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร

เปิด  167
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565