แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1624

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๓๐


สำหรับเมตตาบารมีที่ ๙ ได้แก่ อโทสเจตสิก และอุเบกขาบารมีที่ ๑๐ ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นกลาง เที่ยงตรง ไม่เอนเอียง ซึ่งเป็นโสภณสาธารณเจตสิกดวงต่อไปที่จะกล่าวถึง คือ ดวงที่ ๗ ต่อจากสัทธาเจตสิก สติเจตสิก หิริเจตสิก โอตตัปปเจตสิก อโลภเจตสิก และอโทสเจตสิกที่ได้กล่าวถึงแล้ว

สำหรับเจตสิกดวงที่ ๗ คือ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ถ้าได้ฟังบ่อยๆ คงจะจำได้ เจตสิกนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่เอนเอียง เที่ยงตรง เป็นกลาง จึงเป็นกุศลได้ ซึ่งเป็นการยาก ขอให้คิดดูถึงการเป็นผู้ที่ตรง ไม่เอนเอียง ในเมื่อยังมีความเห็นผิดบ้าง มีความเห็นถูกบ้าง มีความเข้าใจผิดบ้าง มีความเข้าใจถูกบ้าง และยังเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยโลภะ โทสะ โมหะ และในวันหนึ่งๆ ที่กุศลจิตจะเกิด ต้องประกอบด้วยโสภณสาธารณเจตสิก แต่เพราะเหตุใดจึงไม่ง่ายที่กุศลจิตจะเกิด ก็เพราะว่า นอกจากจะต้องเป็นผู้มีศรัทธา มีสติระลึกได้ มีหิริ ความรังเกียจอกุศล มีโอตตัปปะ ที่เห็นโทษภัยของอกุศลและถอยกลับจากอกุศล ยังต้องมีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ ที่เป็นโสภณสาธารณเจตสิก ซึ่งจะขาดดวงหนึ่งดวงใดไม่ได้เลย ในการที่กุศลจิตแต่ละขณะจะเกิด เช่น หิริกับโอตตัปปะ ทุกคนรู้ว่าสภาพธรรมใด เป็นอกุศล โลภะเป็นอกุศล โทสะเป็นอกุศล โมหะเป็นอกุศล แต่ทำไมไม่ถอยกลับจากขณะที่เป็นโลภะ จากขณะที่เป็นโทสะ หรือจากขณะที่เป็นโมหะ ก็เพราะว่า หิริเจตสิกและโอตตัปปเจตสิกไม่เกิด จึงไม่รังเกียจ ไม่ละอาย ไม่เห็นโทษภัยของอกุศล

เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยโสภณสาธารณเจตสิกครบทั้ง ๑๙ ประเภท หรือ ๑๙ ดวง กุศลจิตจึงจะเกิดขึ้นได้

เวลาที่ไม่โกรธ เป็นกุศลหรือเปล่า ไม่แน่ เพราะถ้าโทสะไม่เกิด โลภะอาจจะเกิดได้ และวันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่โทสมูลจิตที่เกิด แต่เป็นโลภมูลจิตนั่นเอง ที่เกิดจนชิน จนไม่รู้สึกตัว เพราะฉะนั้น ถ้าโทสะไม่เกิด ไม่มีโทสะ ก็อย่าเพิ่งคิดว่า ดีแล้ว เพราะต้องพิจารณาต่อไปด้วยความเป็นผู้ตรงจริงๆ ว่า เมื่อโทสะซึ่งเป็นอกุศลชนิดหนึ่งไม่เกิด อกุศลอื่น เช่น โลภะ เกิดหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นเป็นโลภะ ก็ขาดศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ และตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก เพราะฉะนั้น ขณะนั้นอกุศลจิตเกิด

เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณา และต้องเป็นผู้ตรงต่อสภาพของจิตจริงๆ ถ้ายังไม่รู้ตัวเองว่า ไม่มีโทสะ แต่มีโลภะ ถ้าไม่รู้อย่างนี้โลภะก็เกิดต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นชีวิตจริงๆ ของทุกคนในทุกวัน ต่อเมื่อใดโสภณสาธารณเจตสิกเกิด มีตัตรมัชฌัตตตาและเห็นว่าแม้โลภะก็เป็นสิ่งซึ่งไม่ควรจะเกิด เมื่อนั้นขณะนั้นจิตที่เป็นกุศลจึงจะเกิดขึ้นเป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีลบ้าง เป็นไปในความสงบของจิตบ้าง เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็น สติปัฏฐานบ้าง

นี่คือชีวิตตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคล

สำหรับโสภณสาธารณเจตสิกดวงที่ ๗ คือ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก เป็น สภาพธรรมที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยอคติ คือ ไม่เอนเอียงด้วยฉันทาคติ ความพอใจ หรือโทสาคติ ความไม่พอใจ หรือโมหาคติ ความไม่รู้ความจริง และภยาคติ คือ ความกลัว ต้องเป็นผู้ตรงที่จะพิจารณาเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ และสภาพของจิตแต่ละขณะในแต่ละเหตุการณ์นั้นด้วย จึงจะรู้ว่ามีฉันทาคติ เป็นผู้ที่ไม่ตรง เพราะมีความชอบใจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือเปล่า มีโทสาคติ เพราะ ไม่ชอบใจบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือเปล่า มีโมหาคติ เพราะไม่ได้รู้เรื่องจริงๆ ว่า เป็นอย่างไรหรือเปล่า และมีภยาคติ คือ ความกลัว อาจจะกลัวความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ หรือการที่บุคคลอื่นจะติเตียน ต้องการที่จะให้เป็นที่รักที่ชอบใจ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่ตรง ในขณะที่ทำด้วยอกุศลจิต

สภาพของตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก คือ

จิตตเจตสิกานัง สมวาหิตลักขณา มีการยังจิตและเจตสิกให้เป็นไปสม่ำเสมอ เป็นลักษณะ

คือ ไม่หวั่นไหวและไม่เอนเอียงไปด้วยความรักและความชัง

อูนาธิกตานิวารณรสา มีการห้ามความยิ่งและหย่อนของจิตและเจตสิกเป็นกิจ

คือ ไม่ให้ตกไปฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

หรือ

ปักขปาตุปัจเฉทนรสา วา หรือมีการตัดขาดการตกไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นกิจ

คือ ตัดความไม่เสมอในอารมณ์ทั้งหลาย คือ ด้วยโลภะ หรือโทสะ เป็นต้น

มัชฌัตตภาวปัจจุปัฏฐานา มีความเป็นกลางเป็นอาการปรากฏ

สัมปยุตตปทัฏฐานา มีสัมปยุตตธรรมเป็นเหตุใกล้

สัมปยุตตธรรม ได้แก่ เจตสิกอื่นๆ ที่ได้กล่าวถึงแล้วที่เป็นโสภณสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือ ต้องมีศรัทธา มีสติ มีหิริ มีโอตตัปปะ มีอโลภะ มีอโทสะ เป็นต้น เกิดในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วจะไม่เป็นผู้ที่ตรง

การที่จะอบรมตน ฝึกตน มีทุกเหตุการณ์ เพราะว่าไม่มีใครเลยที่จะไม่ประสบกับโลกธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเห็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ ได้ยินเรื่องที่ น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจก็ตาม ขณะนั้นต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ไม่ประกอบด้วยอคติ

ขุททกนิกาย มหานิทเทส ปรมัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๕ มีข้อความที่แสดง ให้เห็นถึงลักษณะของตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก เพราะถ้าไม่มีเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใด ก็ยากที่จะรู้ได้ว่า ขณะที่กุศลจิตเกิดมีตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกแล้ว

ข้อ ๑๖๓

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

นรชนเหล่านั้นละตนแล้ว ไม่ถือมั่น ไม่ทำนิสัยแม้ในเพราะญาณ เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน นรชนนั้นไม่แล่นไปกับพวก ไม่ถึงเฉพาะแม้ซึ่งทิฏฐิอะไร

ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ทุกคนจะต้องมีเรื่องต่างๆ ทุกวัน ถ้ามีเรื่องหนึ่งเรื่องใดเกิดขึ้นจะต้องมีการพิจารณาว่า ใครถูก ใครผิด หรือใครเป็นกุศล ใครเป็นอกุศล นี่เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ในทุกบ้าน แม้แต่ระหว่างพี่น้อง ญาติสนิทในมิตรสหาย ก็จะต้องมีความเห็นต่างกัน แต่ใครก็ตามที่มีความเห็นต่างกัน ก็ตามอัธยาศัย ผู้ที่ ละตนแล้ว ไม่ถือมั่น ไม่ทำนิสัยแม้ในเพราะญาณ เมื่อชนทั้งหลายแตกกัน นรชนนั้นไม่แล่นไปกับพวก ไม่ถึงเฉพาะแม้ซึ่งทิฏฐิอะไร

ข้อ ๑๖๖ มีข้อความอธิบายว่า

คำว่า เมื่อชนทั้งหลายแตกกันแล้ว นรชนนั้นก็ไม่แล่นไปกับพวก (คือ ผู้ที่ เป็นผู้ตรง) มีความว่า เมื่อชนทั้งหลายแยกกัน แตกกัน ถึงความเป็นสองฝ่าย เกิดเป็นสองพวก มีทิฏฐิต่างกัน มีความควรต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน มีลัทธิต่างกัน อาศัยทิฏฐินิสัยต่างกัน ถึงฉันทาคติ ถึงโทสาคติ ถึงโมหาคติ ถึงภยาคติ นรชนนั้น (คือ ผู้ที่มีตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก คือ ผู้ที่เป็นกลาง ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง) ย่อมไม่ถึงฉันทาคติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถึงโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ ไม่ถึงด้วยอำนาจแห่งราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา อนุสัย และไม่ไป ไม่ดำเนินไป ไม่เลื่อนลอยไป ไม่แล่นไป เพราะธรรมทั้งหลายอันทำความเป็นพวก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมื่อชนทั้งหลายแตกกันแล้ว นรชนไม่แล่นไปกับพวก

เป็นอย่างนี้ได้ทุกเหตุการณ์ก็คงจะเป็นผู้ประเสริฐจริงๆ

ต้องเป็นผู้ตรง เป็นอย่างนี้ได้หรือยัง หรือยังไม่ได้เป็น หรือเป็นใน บางเหตุการณ์ แต่บางเหตุการณ์ก็ยังไม่เป็น

ไม่มีใครจะช่วยใครได้เลย นอกจากสติที่ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นผู้ตรงหรือเปล่า เป็นผู้ที่ไม่เอนเอียงด้วยโทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา และอนุสัยอื่นๆ

เพราะฉะนั้น ทุกคนเป็นผู้ที่ประมาทไม่ได้ บางกาลบางเหตุการณ์เป็นผู้ตรง เพราะว่าไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นเพราะตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกและโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิด แต่บางกาลขณะที่เป็นผู้ที่ไม่ตรง จะไม่มีการรู้สึกตัวเลยว่า ขณะนั้นเป็นผู้ที่ไม่ตรง เพราะอวิชชาไม่สามารถรู้ความจริง ไม่สามารถเป็นสติที่ระลึกและรู้ได้ว่า ธรรมใดถูก ธรรมใดเป็นกุศล ธรรมใดเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะต้องฝึกอบรมจิตใจ อยู่ตลอดเวลา ในเมื่อทุกท่านพิจารณาเห็นจิตของตัวเองว่า ยังเป็นจิตที่มากด้วยกิเลส แต่ถ้าเห็นแล้วไม่สนใจ นั่นก็ใกล้ที่จะถึงสภาพของการเป็นอัมพาตทางจิต คือ ไม่สามารถที่จะมีความไว ความชำนาญ ความคล่องแคล่วต่อการงานในการที่จะ แก้ไขจากอกุศลเป็นกุศลได้

ถ. ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกกับอุเบกขาเวทนาเหมือนกันหรือเปล่า

สุ. ไม่เหมือนกัน อุเบกขาเวทนาเป็นความรู้สึก ซึ่งถ้าจะให้ชัดก็ใช้คำว่า อทุกขมสุขเวทนา หมายถึงความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ นั่นเป็นลักษณะของเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพความรู้สึก แต่ตัตรมัชฌัตตตาไม่ใช่ความรู้สึก เป็นสภาพที่เป็นกลาง สภาพที่ไม่เอนเอียง สภาพที่ทำให้จิตและเจตสิกสม่ำเสมอ

. อุเบกขาเวทนาเกิดได้กับจิตทุกประเภท ทั้งที่เป็นกุศล อกุศล ส่วน ตัตรมัชฌัตตตาเป็นโสภณเจตสิก

สุ. ต้องเกิดกับโสภณจิตเท่านั้น

ถ. อุเบกขาบารมี ก็เป็นตัตรมัชฌัตตตา

สุ. แน่นอน ต่อไปจะเห็นความสำคัญของตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ต้องเป็น ผู้ตรงตั้งแต่ขั้นต้นของกุศลธรรมดาในชีวิตประจำวัน แม้ในขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบของจิต ขั้นที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ตลอดไปจนกระทั่งถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกจะเป็นถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์

ถ. ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่ว่า มีตนเสมอ เป็นกลางในอารมณ์

สุ. ไม่ตกไปในฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรืออคติต่างๆ

ถ. ก็คล้ายๆ กับอุเบกขา

สุ. อุเบกขาเวทนา เป็นความรู้สึกที่เกิดกับโลภะก็ได้ แต่ตัตรมัชฌัตตตาเกิดกับโลภะไม่ได้ ต้องเป็นโสภณ

อารมณ์เป็นอะไรก็ได้ แต่จิตเป็นกุศล อารมณ์ที่ปรากฏเป็นอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเลย แต่จิตไม่หวั่นไหว ขณะนั้นเพราะมีศรัทธา มีสติ มีหิริ มีโอตตัปปะ มีอโลภะ มีอโทสะ มีตัตรมัชฌัตตตาด้วย ซึ่งทำให้เป็นสภาพที่ตรง ต่อการที่จะไม่ตกไปด้วยอนิฏฐารมณ์ที่ปรากฏ ซึ่งจะทำให้เกิดอกุศลจิต คือ สภาพที่ไม่พอใจ

ถ. หมายความว่า ไม่ว่าอารมณ์จะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ แต่ เมื่อมีตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก …

สุ. จะไม่ตกไปในอกุศลที่เป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ด้วยการเป็นผู้ที่ มีสภาพธรรมที่เป็นโสภณสาธารณะเกิดร่วมกัน ทั้งศรัทธาด้วย สติด้วย หิริด้วย โอตตัปปะด้วย อโลภะด้วย อโทสะด้วย และต้องมีตัตรมัชฌัตตตาด้วย

ถ. แต่ถ้ายินดีในอิฏฐารมณ์ที่เป็นกุศล ก็ยังไม่ใช่เป็นตัตรมัชฌัตตตา

สุ. ต้องไม่ลืมว่า ถ้าไม่ตรงจะเป็นกุศลไม่ได้ อย่างเห็นพระพุทธรูป ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องมีตัตรมัชฌัตตตาที่จะต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็เข้าใจว่าเป็นกุศลใช่ไหม แต่เวลาเห็น จิตในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าไม่รู้ก็ เป็นอวิชชา เป็นโมหะ แม้เป็นอกุศลก็ไม่รู้ เห็นพระพุทธรูป มีโอกาสจะเป็นอกุศล ได้ไหม

ถ. เป็นได้ ถ้าไปติดในพระพุทธรูปว่า พระพักตร์สวย ไม่ได้นึกถึง พระพุทธคุณ ธรรมคุณ

สุ. เพราะฉะนั้น ตัตรมัชฌัตตตาทำให้เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล

ถ. ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกนี้ ผมว่าคงจะฝึกกันยาก เพราะไม่เคยมีความคุ้นเคยกันเลย ตั้งแต่ศึกษาธรรมมา หรือตั้งแต่เด็กมา ไม่คุ้นเคยกันเลย คือ คงจะพบกันยาก แม้ว่าชีวิตประจำวันทุกวันนี้ ก็ต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจกัน หรือ รถชนกัน เราขับไป เราก็ไม่เหลียวมามอง อย่างนี้ไม่ใช่ตัตรมัชฌัตตตาแน่นอน เพราะเป็นอกุศลทั้งนั้น แม้กระทั่งที่ว่าต่างคนต่างอยู่ อย่างนี้ไม่เป็นกลางแน่ แต่ถ้าไปยุ่งเข้า ก็ยิ่งไม่เป็นกลางใหญ่ ใช่ไหม

สุ. เวลาที่ไปยุ่ง หมายความว่าอย่างไร เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ เพราะมีเหตุการณ์มากมายในชีวิตประจำวันซึ่งเป็น สิ่งที่เตือนสติได้ ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ทุกเหตุการณ์เตือนสติได้ คือ ไม่เลื่อนลอยไปกับอกุศลทั้งหลาย แต่จะต้องระลึกได้ว่า แม้แต่การที่จะไปยุ่งเกี่ยว จะยุ่งเกี่ยวในสถานใด จะไปช่วยให้เรื่องสงบ ให้ได้รับความถูกต้อง หรือจะไปช่วยให้ยิ่งยุ่งใหญ่ นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งยาก แม้แต่เจตนาดี แต่วาจาเผลอไปแล้ว เพียงนิดเดียวเท่านั้นเอง เรื่องที่จะดี ก็กลายเป็นเรื่องร้าย กลายเป็นเรื่องยุ่ง เพราะโสภณสาธารณเจตสิกในขณะนั้นไม่เกิด

อกุศลเกิดเร็วมาก เพราะมีการสะสมมาชำนาญจริงๆ เจตนาดี ตั้งใจดี ทำ ทุกอย่างดี แต่เผลอนิดเดียว ก็ยุ่งไปอีก

ถ. ผมว่าชาวตะวันตก เขาคงกลัวยุ่ง จึงไม่ค่อยยุ่งกันเลย ยิ่งกว่าคนไทยอีก คนไทยเรายังมีการแบ่งปันช่วยเหลือกัน อย่างในหัวเมือง แต่ในกรุงเทพก็ยากขึ้น

สุ. ไม่อยากจะให้ใช้คำว่า ชาวไหน เพราะตามความเป็นจริง โดย สภาพปรมัตถธรรมแล้ว ก็เป็นสภาพของจิตและเจตสิก ชาวอื่นก็มีทั้งกุศลและอกุศล ชาวเราก็มีทั้งกุศลและอกุศล ถ้ายังคิดถึงในลักษณะของเรากับเขา จะมีการเปรียบเทียบ แม้แต่ในขณะนี้จิตเป็นอย่างไร เห็นไหม ตรงไหม แค่นี้ก็ต้องคิดแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ไม่ต้องพิจารณาเรื่องเราเขา เพราะเป็นสภาพธรรม เป็นกุศลจิต เป็นอกุศลจิต เป็นกุศลเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิก เท่านั้นเอง

เปิด  183
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566