แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1621

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๐


ข้อความต่อไปใน สัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๕๕ มีว่า

ประการที่ ๔

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่ทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความ ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

นี่เป็นความละเอียดขึ้นอีก เมื่อศึกษาแล้ว แสดงธรรมแล้ว บอกธรรมแล้ว ถ้าผู้ใด ย่อมไม่ทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

สาธยาย คือ การแสดงธรรมในพระไตรปิฎก เช่น ในสมัยนี้ทุกท่านได้ฟัง การสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรบ้าง รัตนสูตรบ้าง นี่คือการสาธยายพระสูตรตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ ไม่ใช่หยิบมาเพียงเล็กน้อยและกล่าวถึงเพียงนิดหน่อย ขาดหลักฐานอ้างอิงหรือเหตุการณ์หรือความละเอียดตามที่ทรงแสดงไว้ แต่ถ้าเป็นผู้เห็นคุณค่าของพระธรรมทั้งหมดจะไม่เว้นข้อความตอนหนึ่งตอนใดเลย ไม่ว่าจะเป็นข้อความใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็ดี รัตนสูตรก็ดี มงคลสูตรก็ดี มหาสติปัฏฐานสูตรก็ดี สูตรต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังโดยตลอด นั่นคือการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีใครรู้ว่ามหาสติปัฏฐานสูตรจริงๆ มีข้อความว่าอย่างไร ถ้าเพียงแต่ยกข้อความมาเพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่มงคลสูตร จริงๆ มีข้อความว่าอย่างไร ถ้าเพียงยกมาเพียงนิดหน่อย

นี่แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ที่จะรักษาพระสัทธรรมไว้ได้ โดยการที่แม้ว่าจะได้ศึกษา แม้ว่าจะได้แสดงธรรม แม้ว่าจะได้บอกธรรมแล้ว ก็ยังสาธยายธรรม ตามที่ ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ซึ่งการสาธยายในสมัยนี้ เป็นไปโดยยากมาก เพราะฉะนั้น ก็เป็นไปโดยการอ่าน หรือโดยการสวด นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ สำหรับผู้ที่ไม่ทำการสาธยาย ก็ย่อมทำให้พระสัทธรรมลบเลือนเสื่อมสูญ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่ตรึกตรอง ไม่พิจารณาดูด้วยใจซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร โดยละเอียด โดยลึกซึ้ง นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ

ข้อที่ ๕ นี้ คือ ไม่อบรมเจริญภาวนานั่นเอง

เป็นความจริง ใช่ไหม ถ้าทุกคนศึกษาพระธรรมเป็นปริยัติศาสนา และแสดงธรรม บอกธรรม สาธยายธรรม แต่ไม่อบรมเจริญภาวนา คือ ไม่พิจารณาธรรม ตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาโดยละเอียด โดยลึกซึ้ง ก็ไม่มีผู้ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ มีแต่เพียงปริยัติศาสนา ย่อมไม่ทำให้พระสัทธรรมสืบทอดต่อๆ ไปได้

สำหรับการที่จะให้พระธรรมไม่ลบเลือนเสื่อมสูญ ก็โดยนัยตรงกันข้าม

ถ. การฟังธรรมมา และนำมาสาธยายให้ผู้อื่นฟัง โดยแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมตามที่ตนเข้าใจ จะทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไหม

สุ. ทำให้คนอื่นเข้าใจขึ้น หรือทำให้คนอื่นเข้าใจผิดไป นี่เป็นข้อที่สำคัญ

ถ. จะทำให้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

สุ. ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุนั้นจึงต้องสาธยาย คือ แสดงทั้งหมดของพระสูตร หรือส่วนของพระไตรปิฎกแต่ละส่วนๆ ให้ผู้ฟังได้มีโอกาสไตร่ตรองพิจารณาด้วยตนเองว่า ข้อความที่ได้ยินจากพระไตรปิฎก ได้ฟังจากพระไตรปิฎก ตรงกับความเข้าใจของผู้แสดงหรือของผู้ฟังหรือไม่ เพื่อเป็นการสอบทาน

ถ. การที่ได้ฟังแล้วสาธยายให้ผู้อื่นฟัง ผมว่าเป็นทั้งคุณและโทษ

สุ. อย่างสัทธรรมสัมโมสสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๕๕ ที่กล่าวถึงเมื่อกี้ เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษในการรู้เหตุที่จะทำให้พระสัทธรรมเสื่อมสูญหรือสืบต่อไปได้ ซึ่งไม่ใช่การกล่าวเอง แต่เป็นข้อความที่ทรงแสดงไว้โดยสมบูรณ์ทุกประการ

ถ. มาบวกความเห็นของตัวเองเข้าไปด้วย

สุ. ความเห็นนั้นถูกหรือผิด ความเห็นนั้นทำให้ชัดขึ้น หรือทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน

ทุกคนมีโอกาสที่จะได้ฟังอนัตตลักขณสูตรก็ดี มีโอกาสที่จะได้ฟัง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็ดี แต่สามารถเข้าใจได้ไหม เพราะว่าได้ยินได้ฟังธรรมที่สวด เป็นภาษาบาลี และได้เคยอ่านข้อความที่เป็นภาษาไทย แต่สามารถเข้าใจได้ไหม ถ้าไม่เข้าใจ จะต้องมีการศึกษาทั้งพระอภิธรรม และพิจารณาพระสูตรให้สอดคล้องกัน และไม่ขัดกับพระวินัยด้วย นั่นคือธรรมที่ถูกต้อง ถ้าสิ่งที่ได้ฟังนั้นขัดกับพระอภิธรรม พระสูตร และพระวินัย ก็ไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง มิฉะนั้นก็มีแต่สวดๆ หรือสาธยาย หรืออ่านเท่านั้น เมื่อไม่มีผู้ใดสามารถจะเข้าใจได้ ก็ต้องอาศัยการศึกษาส่วนอื่น เช่น พระอภิธรรมประกอบกันด้วย จึงทำให้สามารถเข้าใจในอรรถของอนัตตลักขณสูตร หรือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือแม้มงคลสูตรได้

ถ. เรื่องการสาธยาย เช่น ได้ฟังมหาสติปัฏฐานสูตร ยกมาเลยทั้งสูตร ฟังแล้วหลายๆ ครั้ง อ่านก็แล้ว พยัญชนะก็ยังไม่ชัดเจน และยังชวนให้เข้าใจ การเจริญสติปัฏฐานที่ไม่ตรงหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้น อาจารย์จึงได้บอกว่า ต้องอ่านพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม และนำมารวมกันพิจารณาอีกทีหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ แม้กระทั่งทุกวันนี้ อย่างในมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นเรื่องที่ยากมาก เช่น เดินอยู่ให้รู้ว่าเราเดิน พยัญชนะชวนไปอย่างแน่นอน จะอาศัยอะไรที่ทำให้ธรรมตรงและไม่คลาดเคลื่อน

สุ. อาศัยพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา ไม่ใช่เพียงประโยคเดียว หรือสูตรเดียว ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทรงแสดงไว้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ต้องสอดคล้องกับมหาสติปัฏฐานสูตรด้วย

เมื่อเป็นอนัตตา หมายความถึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่ยืนเป็นอะไร สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ในขณะที่ยืนเป็นอะไร ในขณะที่เดินเป็นอะไร แม้จะใช้พยัญชนะว่า เรา แต่ต้องเข้าใจว่า ที่ใช้คำว่า เรา เพราะก่อนที่ปัญญาจะเจริญขึ้น ขณะที่ยืนเป็นใครในความรู้สึก ยังไม่ได้ดับความรู้สึกว่าเป็นเราเลย ใช่ไหม

ถ. ต้องอาศัยพระอภิธรรมที่แสดงว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นเรื่องยาก เวลาสาธยายแล้ว นำมหาสติปัฏฐานสูตรมาวิเคราะห์กันตรงนั้นเลย แต่ก็ผิด ส่วนมากจะผิด

สุ. เพราะฉะนั้น ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมไม่เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ (คือ พระอภิธรรม) คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ถ้าไม่เล่าเรียนไม่มีทางเข้าใจได้ ก็จะต้องคิดว่าเข้าใจแล้ว ในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ตรงตามข้อความในสัทธรรมนิยามสูตร เป็นผู้มีความถือตัวว่า เข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ

เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ถ้าไม่เล่าเรียน ไม่มีทางจริงๆ ที่จะเข้าใจพระธรรมได้โดยสูตรหนึ่งสูตรเดียว นำมาอ่าน พยายามอย่างไรที่จะเข้าใจ ก็เป็นไปไม่ได้

ถ. ต้องเรียนนวังคสัตถุสาสน์ทั้ง ๙

สุ. ถูกต้อง

ถ. แม้ใครจะอ้างว่า ศึกษาพระสูตรแล้ว ศึกษามหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว และปฏิบัติตามสติปัฏฐานสูตรแล้ว ก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นการศึกษาที่ถูกต้องตรงตาม พระพุทธประสงค์ที่พระองค์ทรงให้สาวกเข้าใจหรือเปล่า

สุ. ถ้าเป็นผู้ที่สามารถเข้าใจเพียงคำที่ตรัสไว้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาได้จริงๆ ธรรมทั้งหลายย่อมเกิดจากเหตุปัจจัยได้จริงๆ และเมื่อดับเหตุปัจจัยนั้น ธรรมนั้นก็ย่อมดับด้วย ถ้าเข้าใจจริงๆ แล้ว ก็เหมือนกับได้ศึกษาพระธรรมทั้งหมด ที่ได้ทรงแสดง

แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า อนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน คืออย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เท่านั้น แต่กำลังเห็นเป็นอนัตตาอย่างไร กำลังได้ยินเป็นอนัตตาอย่างไร อนัตตาไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และที่สำคัญกำลังเห็นเป็นอะไร ถ้าไม่เข้าใจ ก็ต้องศึกษา

ถ. ถ้าอย่างนั้น ข้อความในพระสูตรแต่ละสูตรที่สาธยาย ผู้สาธยายจะต้องเข้าใจในอรรถในธรรมของพระสูตรนั้นอย่างถูกต้อง อย่างท่านพระปัญจวัคคีย์ที่ได้ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ถ้าไม่เข้าใจท่านคงไม่บรรลุดวงตาเห็นธรรมแน่ๆ และเมื่อท่านได้ฟังอนัตตลักขณสูตร ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ถ้าท่านไม่เข้าใจเพียงแต่ จำได้หรือท่องได้ หรือฟังพระพุทธองค์และนำมาสาธยาย ก็คงไม่สำเร็จประโยชน์

สุ. เพราะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงถึงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพียงแต่กล่าวว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ยังไม่ทราบว่าอะไร เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า เข้าใจอนัตตาไม่ได้เลย

ทุกอย่างเป็นอนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอนัตตา แต่ถ้ายังบอกไม่ได้ว่าขณะนี้อะไรเป็นอนัตตาบ้าง ก็หมายความว่ายังต้องศึกษา เพราะยังไม่เข้าใจละเอียดว่า สิ่งทั้งหลายนั้นคืออะไร

ถ. สาธยายโดยพิสดาร ความหมายแค่ไหน การที่สวดพระสูตรต่างๆ อนัตตลักขณสูตรก็ดี อาทิตตปริยายสูตรก็ดี สักแต่ว่าสวดอย่างนี้ ชื่อว่าสาธยายไหม

สุ. ถ้าไม่เป็นไปด้วยความเข้าใจ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะว่าข้อความ ในสัทธรรมสัมโมสสูตรเริ่มตั้งแต่ ย่อมไม่เล่าเรียนธรรม นั่นก็เป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญ และ ไม่แสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมา

ถ. เล่าเรียนก็เล่าเรียนมาตามสูตรที่พระท่านสวดทุกวันๆ หมายความว่า สาธยาย แต่จะใช่โดยพิสดารหรือเปล่า และถ้าโดยพิสดารมีคนเข้าใจแล้ว พระอรรถกถาจารย์คงไม่ต้องยกร่างอรรถกถาต่างๆ เช่น มงคลสูตรที่อาจารย์อ้างมา ก็เป็นอรรถกถา ท่านอาจารย์ท่านก็เก็บจากพระไตรปิฎกมาอธิบาย มารวบรวม

สุ. มงคลสูตรไม่ใช่อรรถกถา สาธยายหมายถึงกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎกโดยครบถ้วน ไม่ใช่เพียงแต่หยิบยกมาเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ และอาศัยความคิดเห็นของตนเอง โดยผู้ฟังไม่มีโอกาสที่จะได้พิจารณาโดยตลอดให้ เข้าใจความละเอียดยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น การกล่าวธรรม เมื่อได้ศึกษาแล้วควรที่จะ แสดงธรรมที่ได้ศึกษา บอกธรรมที่ได้ศึกษา และยังสาธยายธรรมที่ได้ศึกษาโดย พิสดารด้วย เพื่อที่จะให้ถึงความสมบูรณ์ของ ...

ถ. อย่างมังคลัตถทีปนี เป็นความเห็นส่วนตัวของอรรถกถาจารย์หรือเปล่า

สุ. ไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎกก็จริง แต่ทำให้ผู้ที่ได้ศึกษาได้เพิ่มความเข้าใจขึ้นหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา เพื่อเห็นคุณของท่านผู้รู้รุ่นก่อนๆ ซึ่งท่านช่วยผู้ศึกษารุ่นหลังๆ

ถ. อย่างนี้นับว่าพิสดาร ใช่ไหม

สุ. พิสดาร คือ โดยละเอียด โดยลึกซึ้ง

ถ. อย่างอธิบายมงคลต่างๆ อย่างของมังคลัตถทีปนี ถือว่าโดยพิสดารหรือไม่

สุ. ตามมังคลัตถทีปนี คือ โดยพิสดารตามมังคลัตถทีปนี

โดยพิสดารตามทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย แล้วแต่ คือ โดยพิสดารตามพระไตรปิฎกแต่ละคัมภีร์

ถ. และที่อาจารย์ทดสอบมา ถูกหรือผิด

สุ. ทดสอบอะไร

ถ. มังคลัตถทีปนีที่ศึกษามาทดสอบหรือเปล่าว่า ท่านสาธยายถูกหรือผิด

สุ. ท่านอ้าง และดิฉันก็ดูในพระไตรปิฎกประกอบด้วย สิ่งที่ท่านอ้าง ก็ตรงกับพระไตรปิฎก

ถ. หมายความว่า ยืนยันความถูกต้อง ใช่ไหม

สุ. ท่านอ้างในพระไตรปิฎก และเมื่อตรวจสอบดูก็มีข้อความนั้น ในพระไตรปิฎก

ถ. ข้อความที่ท่านยกมานั้น มี แต่คำอธิบายของท่าน อาจารย์เคยได้ศึกษาและตรวจสอบดูว่าตรงหรือไม่

สุ. ไม่อยากจะให้ดิฉันเป็นผู้ตัดสินพระอรรถกถารุ่นก่อน เพราะว่าไม่อยู่ในฐานะที่จะวิจารณ์พระอรรถกถารุ่นก่อน แต่ประโยชน์ที่ได้รับจากอรรถกถามีมาก

ถ. แสดงว่าเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ

สุ. ไม่มีใครกล้าที่จะไปบอกได้ ...

ถ. ยกตัวอย่างมงคลสูตรสูตรเดียว แต่ก็มีสูตรอื่นๆ อีกเท่าที่อาจารย์ได้ศึกษามา

สุ. ก็ตามที่ได้เรียนให้ทราบว่า ได้รับประโยชน์มากจากอรรถกถาทุกเล่ม

ถ. ต้องนับว่า เป็นการสาธยายที่เรียกว่าเป็นคุณ ใช่ไหม

สุ. เป็นพระคุณของพระอรรถกถาจารย์รุ่นก่อนอย่างมาก ไม่ควรที่จะลบหลู่ท่านที่มีความรู้ ซึ่งสามารถช่วยทำให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจพระธรรมโดยละเอียดขึ้น

เปิด  163
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565