แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1569

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๙


วันหนึ่งๆ ที่จะเกิดความทุกข์ เป็นเพราะความคิด สิ่งที่เห็นทางตากระทบกับจักขุปสาทและดับไป ถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นก็ไม่เดือดร้อน ทางหูเสียงกระทบหู เกิดโสตทวารวิถีจิตได้ยิน มีภวังคจิตคั่น มโนทวารวิถีวาระแรกรู้อารมณ์เดียวกันกับโสตทวารวิถี คือ มีเสียงนั้นเป็นอารมณ์ และมีภวังคจิตคั่น หลังจากนั้นหิริจะเกิดไหม คือ การคิดในสิ่งที่เห็นบ้าง ในสิ่งที่ได้ยินบ้าง ด้วยโยนิโสมนสิการ คือ คิดด้วยเมตตา หรือคิดด้วยกรุณา หรือคิดด้วยมุทิตา หรือคิดด้วยอุเบกขา เพราะถ้าเป็นไปในทางกุศลจะไม่เดือดร้อนเลย และขณะที่ เกิดเมตตา ก็เพราะหิริโอตตัปปะเกิดเห็นโทษของการที่จะพยาบาท ผูกโกรธ ขุ่นเคืองไม่แช่มชื่นในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงไว้โดยละเอียดจริงๆ เพื่อให้ระลึกได้ เพื่อให้สาวกเป็นผู้ที่ฟังและพิจารณา และน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย

บางท่านก็ดื้อ แต่การดื้อก็มี ๒ อย่าง ถ้าท่านดื้อด้วยอกุศล คือ ทั้งๆ ที่รู้ว่า กุศลดีกว่าอกุศล และขณะใดที่จิตเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา ย่อมดีกว่าขณะที่ไม่เมตตา ไม่กรุณา ไม่มุทิตา และไม่อุเบกขา แต่อย่างไรๆ ท่าน ก็ไม่ยอมที่จะเปลี่ยนความคิด ถ้าเพียงแต่คิดว่า กุศลดีกว่าแน่ แต่ยังทำไม่ได้ ก็ยังดีกว่า ใช่ไหม

แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่ากุศลดีกว่า ยังไม่ยอมที่จะตั้งต้นทำ ซึ่งความจริงความตาย ทุกขณะหมายความถึงแต่ละขณะที่เกิดขึ้นและดับไป ถ้าทุกคนพร้อมที่จะตั้งต้นใหม่ เกิดใหม่ทุกขณะ เพราะว่าขณะก่อนๆ ก็เป็นอโยนิโสมนสิการ ไม่ได้เป็นประโยชน์ แก่ใครเลย เพราะฉะนั้น ถ้าจะเกิดใหม่ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยการโยนิโสมนสิการ มีความคิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ยังเป็นหนทางทำให้หิริและโอตตัปปะในวันหนึ่งๆ เพิ่มขึ้นมากได้ มีความละอายที่มีกายซึ่งทำความเดือดร้อนให้กับบุคคลอื่น มีความละอายที่มีวาจาไม่ไพเราะซึ่งทำให้คนอื่นขุ่นเคือง หรือทำให้คนอื่นไม่สบายใจ นี่ต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรมเท่านั้น ที่จะกระทำกิจของโสภณธรรมนั้นๆ

บางท่านก็ดื้ออีกอย่างหนึ่ง ท่านใช้คำว่า ดื้อ แต่ความจริงท่านดื้อที่จะ ไม่เป็นอกุศล เพราะรู้ว่ากุศลย่อมดีกว่า เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะมีสิ่งที่ชักชวนหรือจูงใจให้คิดในทางที่เป็นอกุศล ให้เข้าใจผิดในทางที่เป็นอกุศล ท่านก็ไม่คล้อยตาม เพราะท่านเป็นผู้ที่มั่นคงในกุศล เพราะฉะนั้น ท่านจะใช้คำว่า ดื้อ ก็แล้วแต่ตัวท่าน ที่ท่านบอกว่าท่านดื้อ แต่ถ้าท่านดื้อในทางกุศล คือ ดื้อที่จะไม่เป็นอกุศล ก็เป็นสิ่งที่ควรสรรเสริญ

โดยเฉพาะท่านที่จะอบรมเจริญปัญญา ไม่ควรลืมบารมี ๑๐ และจะขาดข้อหนึ่งข้อใดไม่ได้ คือ ทานบารมี ๑ ศีลบารมี ๑ เนกขัมมบารมี ๑ ปัญญาบารมี ๑ วิริยะบารมี ๑ ขันติบารมี ๑ สัจจะบารมี ๑ อธิษฐานบารมี ๑ เมตตาบารมี ๑ อุเบกขาบารมี ๑ ถ้าไม่ครบ ก็ยังอีกไกล

ทั้งๆ ที่ไม่อยากมีอกุศลเลย แต่ลืมว่า ชีวิตในวันหนึ่งๆ ที่จะเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลส นอกจากทาน ศีล เนกขัมมะ ซึ่งในขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็น เนกขัมมะด้วย จะต้องอาศัยวิริยะ ความเพียร ขันติ ความอดทน สัจจะ ความจริง อธิษฐาน ความตั้งใจมั่น และยังต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยเมตตาและอุเบกขาด้วย

เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ทุกข์เพราะความคิดที่เป็นอกุศล แต่หิริโอตตัปปะเป็น ธรรมเครื่องคุ้มครองโลกที่จะทำให้ไม่เดือดร้อนทั้งกาย วาจา ใจ เพราะว่า หิริเป็นสภาพที่ละอายรังเกียจอกุศลธรรม และโอตตัปปะก็เป็นสภาพธรรมที่กลัวบาป กลัวอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิด แม้ว่ากุศลจิตแต่ละครั้งที่เกิด ไม่มีใครสามารถรู้ลักษณะของโสภณเจตสิกแต่ละประเภทที่เกิดในขณะนั้นก็ตาม แต่เจตสิกที่เป็นโสภณสาธารณเจตสิกก็ต้องเกิดขึ้นกระทำกิจการงานของตน มิฉะนั้นขณะนั้นเป็นกุศลจิตไม่ได้

ต้องเข้าใจลักษณะของหิริและโอตตัปปะว่า ไม่ใช่เป็นขณะที่ต้องแสดงกิริยาอาการรังเกียจ เพราะว่าเป็นเรื่องของจิตใจ และสำหรับโอตตัปปะนั้นก็ไม่ใช่ความรู้สึกกลัวอกุศลแบบกลัวด้วยความไม่สบายใจ เพราะขณะใดเป็นความไม่สบายใจ ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต เป็นโทมนัสเวทนาที่เกิดกับจิต เพราะฉะนั้น ยากที่จะรู้ลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภทเพียงด้วยคำที่ใช้ แต่ต้องพยายามเข้าถึงความหมายว่า หิริก็ดี โอตตัปปะก็ดี เป็นโสภณสาธารณะ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ถอยจาก อกุศลธรรม ซึ่งในวันหนึ่งๆ ทุกชีวิตเต็มไปด้วยอกุศล บางท่านจะสังเกตเห็นได้ เวลาที่กุศลจิตเกิดแทรกอกุศล ไม่ใช่ว่าเป็นกุศลอยู่ตลอดเวลาและอกุศลจิตเกิดแทรก

พิจารณาดูก็ได้ว่า ท่านคิดอย่างไร บางท่านอาจจะคิดว่า ท่านเป็นปกติ และก็เกิดมีอกุศลแทรกอย่างมากมาย แต่ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า ตามความเป็นจริงแล้วต้องเป็นอกุศลอยู่เป็นประจำ ไหลซึมไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเมื่อเป็นสภาพที่ไหลซึม ย่อมไม่ปรากฏลักษณะให้รู้ชัด เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจว่าไม่มีอกุศล จนกว่าบางวันเกิดความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย ความเดือดร้อน ความไม่สบายใจ ก็คิดว่าขณะนั้นแหละมีอกุศลเกิดแทรก แต่ ตามความเป็นจริงแล้ว วันหนึ่งๆ กุศลเกิดแทรกอกุศล

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ในขณะที่ฟังพระธรรม ในขณะนี้เป็นช่วงของกุศลจิต แต่ย่อมจะมีบางวาระที่อกุศลจิตเกิดแทรกได้ตามเหตุตามปัจจัย และถ้าไม่ใช่ในขณะที่เป็นไปในบุญญกิริยาวัตถุ คือ ไม่ใช่ในขณะที่เป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในความสงบของจิตบ้าง ในการเจริญสติปัฏฐานบ้างแล้ว ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล ซึ่งกุศลจิตเกิดแทรกในบางวาระ

สำหรับผู้ที่เคยเป็นคนกล้าหาญ หรือเคยเก่งในอกุศลธรรม ซึ่งก่อนที่จะ ได้ฟังพระธรรม ก็มีความพอใจในความกล้าหาญในความเก่งที่เป็นอกุศลเพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่เมื่อรู้ว่าเป็นอกุศล และหิริโอตตัปปะเกิดขณะไหน ขณะนั้นก็จะถอยกลับจากอกุศลที่เคยเข้าใจว่ากล้าหาญ ที่เคยเข้าใจว่าเก่งกล้าสามารถ แต่เป็นไปในทางอกุศลทั้งหมด หิริโอตตัปปะจะเกิดละอายและกลัว อกุศลธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นหิริเจตสิกและ โอตตัปปะเจตสิกก็เป็นสภาพที่ถอยจากอกุศล

ผู้ที่จะดับกิเลส หรือเพียรพยายามที่จะอบรมเจริญปัญญา จะต้องเป็นผู้ที่ตรง และเริ่มรู้จักตัวเองในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง เพราะว่าหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิกก็เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวันนั่นเอง เพราะฉะนั้น การที่จะคุ้นเคยกับลักษณะของสภาพเจตสิกประเภทใดๆ ก็ตาม จะต้องพิจารณารู้ความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของตนด้วยความเป็นผู้ตรงที่จะพิจารณาว่า เมื่อหิริโอตตัปปะจะเกิด ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปในบุญญกิริยาวัตถุในชีวิตประจำวันนั่นเอง ซึ่งควรที่จะได้พิจารณา เป็นเรื่องๆ ตั้งแต่ในเรื่องของทาน

เรื่องของทานที่จะพิจารณาให้เห็นหิริโอตตัปปะ ก็พิจารณาได้แม้ในเรื่อง เล็กๆ น้อยๆ ก่อน เพราะว่ายังไม่มีผู้ใดที่สามารถจะสละได้อย่างใหญ่อย่าง บรรพชิตทั้งหลาย หรืออย่างผู้ที่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทแล้ว เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันของแต่ละคนที่จะเข้าใจหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิก ก็พิจารณาได้แม้ในเรื่องของทานในวันหนึ่งๆ จากทานเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน ถ้ามีผู้ที่ทำงานให้ในบ้าน ก็ควรพิจารณาว่า ได้สละแม้อาหารรสอร่อยให้คนในบ้านบ้างเป็นประจำ หรือเปล่า

นี่เป็นสิ่งที่จะทำให้พิจารณาเห็นหิริและโอตตัปปะได้ ถ้าเป็นคนที่ติดใน รสอาหารและไม่สละให้บุคคลอื่นเลย และยังไม่เห็นด้วยว่าในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ที่มีความตระหนี่ มีความหวงแหน มีความเห็นแก่ตัว มีความพอใจในรสจนสละไม่ได้ แต่ถ้าเกิดระลึกได้ว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศล ควรจะมีเมตตา และมีการสละแบ่งปันให้ หิริก็เกิด คือ เริ่มละอายในอกุศลคือความตระหนี่ หรือความเห็นแก่ตัว หรือ ความติดในรส

อย่างบางท่าน ท่านบอกว่า ท่านเดินผ่านคนขอทาน ท่านไม่ให้ ผ่านไปแล้วท่านก็เกิดหิริได้ว่า ควรที่จะเกิดกุศลแทนอกุศล เพราะที่ไม่ให้นั้นเนื่องจากได้ข่าวว่า ขอทานมีเงินมาก บางคนมีเงินฝากธนาคาร เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต ที่ไม่คิดจะให้ แต่หลังจากที่ได้ฟังธรรมและเข้าใจเรื่องของหิริโอตตัปปะก็ยังเกิดระลึกได้ มีความละอายที่ไม่ได้ให้ในขณะนั้น แต่ก็มีเหตุผล คือ ยังเป็นผู้ที่พิจารณาแล้วไม่ให้ ไม่ใช่ด้วยความต้องการที่จะไม่ให้ คือ ไม่ให้เพราะพิจารณาเห็นว่า ผู้ที่ขอบางคนเป็น ผู้ที่มีเงินมากแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นบุคคลอื่นซึ่งสมควรที่จะช่วยเหลือ ท่านผู้นั้น ก็คงเกิดหิริโอตตัปปะ ถอยกลับจากอกุศล และสงเคราะห์ช่วยเหลือคนที่ควรช่วย

เพราะฉะนั้น ในการกระทำบางซึ่งอย่างดูเสมือนว่าเป็นอกุศล แต่ถ้าขณะนั้นเป็นไปด้วยโยนิโสมนสิการ พิจารณาด้วยความถูกต้อง ขณะนั้นก็เป็นกุศลได้

แต่ละบุคคล ไม่มีใครสามารถไปตัดสินขณะจิตในขณะนั้นได้ นอกจากบุคคลนั้นเองเป็นผู้ที่สติเกิดระลึกรู้ ขณะนั้นจริงๆ เป็นผู้ตรง ไม่เข้าข้างตัวเองเลยว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล แม้คนอื่นจะบอกว่าเป็นกุศล ท่านผู้นั้นก็ต้องทราบว่า เป็นอกุศลต่างหาก เพราะใครจะรู้ดีกว่าตัวท่าน หรือแม้ว่าท่านเป็นกุศล แต่คนอื่นบอกว่า เป็นอกุศล คนอื่นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้เท่ากับตัวของท่านเอง

ในเรื่องของทาน การให้ แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้น เกิดหิริโอตตัปปะ ถอยกลับจากอกุศลที่เป็นความตระหนี่ หรือการไม่สละวัตถุเพื่อที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวัน หิริโอตตัปปะจะเกิดเพิ่มขึ้นๆ เวลาที่สติเกิด

สำหรับบุญญกิริยาวัตถุที่ ๒ คือ ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นอนุโมทนา

ท่านที่ไม่เคยอุทิศส่วนกุศลเลย ก็เกิดหิริโอตตัปปะที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ บุคคลอื่นได้เกิดกุศลอนุโมทนาด้วย ซึ่งแต่ก่อนนี้อาจจะเป็นเพราะไม่สนใจ หรือไม่มีเวลาพอ แต่หิริโอตตัปปะจะเกิดขึ้นทำให้มีเป็นผู้ที่มีเวลาและเห็นประโยชน์ว่า แม้กุศลที่ได้กระทำแล้วก็ยังเป็นปัจจัยทำให้ผู้ที่รู้สามารถเกิดกุศลอนุโมทนาด้วยได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็ถอยกลับจากการไม่ทำบุญและการไม่อุทิศส่วนกุศล

บางท่านเป็นผู้ที่ละเอียด เวลาที่ท่านต้องการทำกุศลให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด และให้ท่านผู้นั้นอนุโมทนา ท่านก็นำวัตถุปัจจัยที่ท่านจะทำกุศลไปให้ท่านผู้นั้นดูด้วย เช่น ท่านจะถวายตะเกียงแก่พระภิกษุ เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ท่านต้องการ ให้อนุโมทนา อาจจะเป็นผู้ที่ท่านเคารพนับถือ ท่านก็นำวัตถุปัจจัยนั้นไปให้ดู ไปให้เห็น ไปให้ชื่นชมยินดี และให้อนุโมทนาด้วย

เพราะฉะนั้น เรื่องของแต่ละบุคคล ก็เป็นเรื่องความละเอียดของจิตใจ ซึ่งมีความแยบคายที่จะทำให้กุศลของบุคคลอื่นเกิดได้ และทั้งหมดนี้ก็ต้องเป็นเพราะหิริโอตตัปปะด้วย

ผู้ฟัง เวลามาฟังธรรม คิดว่าได้บุญได้กุศล ก็เคยคิดจะแผ่ส่วนกุศล ให้กับมารดาตามหลักของธรรมว่าควรจะแผ่ส่วนกุศล

สุ. ท่านล่วงลับไปหรือยัง

ผู้ฟัง ยังอยู่ แต่เมื่อนึกถึงว่า ในชีวิตประจำวันของท่าน ท่านไม่ค่อยได้คิดถึงผมเท่าไร นอกจากเวลาท่านได้รับความเดือดร้อนเท่านั้นเอง จิตของเราก็เป็นอกุศล ก็เลยไม่แผ่

สุ. ส่วนใหญ่ท่านผู้ฟังกลับไปแล้วแผ่ส่วนกุศลบ้างหรือเปล่า หรืออุทิศ ส่วนกุศลให้ใครบ้าง หรือให้ท่านผู้นั้นผู้นี้อนุโมทนาบ้างหรือเปล่า มีไหม

ผู้ฟัง ไม่ค่อยมี

สุ. ปกติมักจะไม่กระทำ เพราะว่าคนในบ้านย่อมทราบว่าเราทำอะไรบ้าง อย่างท่านที่มาวัด คนในบ้านก็ทราบว่าวันนี้ท่านไปไหน เพราะฉะนั้น เขาย่อมเกิดกุศลอนุโมทนาได้

ถ. สำหรับที่บ้านก็อาจจะเป็นไปได้ แต่มารดาผมอยู่กันคนละที่

สุ. พูดถึงคนในบ้านก่อน หรือถ้าเขาจะไม่อนุโมทนา เขาก็ไม่อนุโมทนา ทั้งๆ ที่รู้ เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้ที่อุทิศส่วนกุศลให้ แต่ขึ้นอยู่กับ ผู้ที่รู้จะอนุโมทนาหรือไม่ด้วย เพราะฉะนั้น เพื่อให้ผู้อื่นมีโอกาส ก็อุทิศส่วนกุศล หรือเป็นผู้ที่ทราบแน่ว่าเขาจะอนุโมทนา ก็อุทิศส่วนกุศลให้ ถ้ารู้แน่ว่าท่านผู้นั้นจะอนุโมทนา แต่ถ้ารู้ว่าท่านผู้นั้นไม่สนใจ บอกหรือไม่บอกก็มีค่าเท่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับ กุศลของท่านผู้ฟังว่า ท่านจะแบ่งส่วนกุศลให้หรือไม่

ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นสำหรับที่บ้าน ก่อนจะมาเราควรจะบอกเขาไหม บอกว่าเดี๋ยวบ่ายสามโมงนี้ฉันจะได้บุญแล้ว เธอคอยรับไว้ด้วย จะแผ่ไปให้

สุ. รับไม่ได้ แต่อนุโมทนาทันทีที่ทราบได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่รู้ด้วย ซึ่ง นี่อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่บางท่านไม่อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่สำหรับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ควรจริงๆ เพราะถ้าอยู่ในฐานะที่เมื่อรับอุทิศส่วนกุศลแล้ว อาจจะสามารถพ้นจากผลของอกุศลกรรม และได้รับผลของกุศล ก็ย่อมเป็นไปได้

แต่สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกท่านก็คุ้นเคยพอที่จะรู้อัธยาศัยว่า บุคคลใดจะอนุโมทนาหรือจะไม่อนุโมทนา เพราะฉะนั้น ก็มีบางท่านซึ่งท่านทำกุศลแล้ว ท่านไม่ได้บอกใคร หรือมิฉะนั้นท่านก็เป็นผู้ที่ไม่ประสงค์ออกนาม เพราะเกรงว่า แทนที่คนอื่นจะอนุโมทนา อาจจะไม่อนุโมทนาก็ได้ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องเฉพาะ แต่ละบุคคลจริงๆ

เปิด  164
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565