แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1567

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๙


ถ. หิริโอตตัปปะนี้แปลถูกต้องแล้วหรือ ที่แปลว่าความละอายและเกรงกลัวต่อบาป

สุ. ในภาษาอื่นนอกจากภาษาบาลี จะไม่มีคำที่สมบูรณ์ในอรรถเท่ากับภาษาบาลี เพราะฉะนั้น ต้องพยายามเข้าใจคำที่ใช้แทนภาษาบาลีในภาษาหนึ่งๆ เพื่อเทียบเคียงให้เข้าใจความหมายของสภาพธรรมเท่านั้นเอง จะใช้คำอะไรก็ได้

ถ. คนไทย รู้สึกว่าจะเข้าใจคำนี้ผิดพลาด จนทำให้เกิดนิสัยประจำชาติ ไปเลย

สุ. ทุกภาษา แม้แต่ภาษาอังกฤษ ถ้าจะเลือกแปลคำต่อคำก็ไม่สามารถ ทำให้เข้าใจลักษณะของหิริได้ จนกว่าจะพยายามเข้าใจอรรถว่าเป็นสภาพที่รังเกียจ ละอายที่จะเป็นอกุศล

ถ. ถ้ามีความรังเกียจ ละอาย เกรงกลัวต่อบาปที่เป็นหิริโอตตัปปะ ก็เป็นกุศล แต่บางครั้งอาจจะรังเกียจหรือกลัวที่เป็นอกุศล ซึ่งขณะนั้นไม่มีหิริโอตตัปปะเจตสิกก็ได้ และบางคนอาจจะถือศีล ไม่เคยกระทำทุจริตเพราะกลัวนรก กลัวจะต้องไปทนทุกข์ทรมาน อาจจะกลัวด้วยโทสมูลจิตได้ไหม

สุ. ได้

ถ. ขณะนั้นจะต่างกับกลัวที่เป็นโอตตัปปะที่เป็นกุศลอย่างไร อยากทราบลักษณะของจิต อยากให้อธิบายจะได้สังเกตลักษณะของจิตที่เกิดขึ้น

สุ. ก็ยังคงเป็นการกลัวอกุศลนั่นเอง ในระดับหนึ่ง ในขั้นหนึ่ง มีความละอายพร้อมกับการกลัวอกุศล แต่ไม่ใช่กลัวโทษภัยที่จะได้รับอย่างเด็กที่กลัวถูกตี หมายความว่ารังเกียจ ละอาย เห็นโทษ และกลัวที่จะเป็นอกุศล ไม่ใช่กลัวการที่จะถูกลงโทษแบบเด็กกลัวถูกตี

เรื่องของจิตใจของแต่ละคน ยากที่จะรู้ เพราะว่าเกิดดับสลับกันอย่างเร็วมาก ไม่ว่าจะเรียนเรื่องของจิตกี่ประเภท เจตสิกเท่าไร รูปเท่าไรก็ตาม แต่ว่าทั้งจิต และเจตสิกเกิดดับสลับกันอย่างเร็วมากจนกระทั่งไม่สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริงได้ ถ้าปราศจากสติที่ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมโดยละเอียด เพื่อให้รู้จักสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วกับแต่ละท่านตามปกติตามความเป็นจริงให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่นขึ้นมารู้

ยิ่งฟังพระธรรมมากเท่าไรก็จะยิ่งรู้ว่า ธรรมที่เกิดกับแต่ละบุคคล แต่ละท่าน ในชีวิตประจำวันจริงๆ แม้แต่หิริโอตตัปปะ หรือสติ หรือศรัทธาก็ตาม เนื่องจากเป็นสภาพธรรมที่เกิดเร็วมากและดับเร็วมาก หากไม่มีการสังเกตพิจารณาเลย ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้เริ่มพิจารณา แม้ในลักษณะของหิริและโอตตัปปะ ซึ่งใน อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ข้อ ๒๕๕ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม คือ ธรรมฝ่ายขาว ๒ ประการเหล่านี้ ย่อมคุ้มครองโลก ๒ ประการคืออะไรบ้าง คือ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม ๒ ประการเหล่านี้แล ย่อมคุ้มครองโลก

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากสุกกธรรม ๒ ประการ ไม่พึงคุ้มครองโลกไซร้ ใครๆ ในโลกนี้จะไม่พึงบัญญัติคำว่า มารดา น้า ป้า ภรรยาของอาจารย์ หรือภรรยาของครู โลกจักถึงความสำส่อน เหมือนอย่างพวกแพะแกะ พวกไก่ พวกหมู พวกสุนัขบ้าน และพวกสุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะสุกกธรรม ๒ ประการเหล่านี้แล ยังคุ้มครองโลกอยู่ ฉะนั้น จึงบัญญัติคำว่า มารดา น้า ป้า ภรรยาของอาจารย์ หรือภรรยาของครู ดังนี้

เป็นการแสดงให้เห็นว่า หิริโอตตัปปะทำให้มีความเคารพยำเกรงต่อผู้ที่ ควรเคารพ และย่อมจะมีความละอายที่จะไม่มีความเคารพ

เวลาที่เกิดความรู้สึกไม่เคารพ ขณะนั้นรู้ได้เลยว่าไม่ละอาย แต่ถ้าขณะใด ละอายที่จะไม่เคารพ ขณะนั้นก็มีความเคารพ คือ หิริโอตตัปปะเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน

สำหรับเรื่องของหิริโอตตัปปะในชีวิตประจำวันที่ทรงแสดงกับพระภิกษุ ซึ่งสำหรับผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ก็สามารถพิจารณาและประพฤติปฏิบัติตามได้ตามสมควร เพราะว่าสำหรับพระภิกษุ หิริโอตตัปปะจะทำให้เกิดอาจาระและโคจร ทำให้เป็นผู้ที่ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร

โมหวิจเฉทนี ฌานังควิภังค์ วินิจฉัยในบทว่าอาจารโคจรสัมปันโน มีข้อความว่า

อาจาระเป็นไฉน คือ ความไม่ล่วงละเมิดเป็นไปทางกาย ทางวาจา ความไม่ล่วงศีล เป็นต้น

อาจาระของภิกษุ คือ ความยำเกรงในทางกาย มีการเดิน การนั่ง การจงกรมข้างหลังพระเถระ ไม่เบียดเสียดภิกษุเถระ แสดงธรรมโดยขอโอกาส ภิกษุเถระก่อน และไม่ด่าแช่ง

นี่คืออาจาระ ความยำเกรงในทางกาย

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีความเคารพ มีความยำเกรง คือ ถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะ นุ่งดี ห่มดี เป็นผู้มีอาการ มีการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้นอันนำมา ซึ่งความเลื่อมใส มีตาทอดลง ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ เป็นผู้มีปกติทำความเคารพ ในอภิสมาจาริกวัตรทั้งหลาย (คือ มรรยาทของการกินอยู่หลับนอน) เป็นผู้มากด้วยความยำเกรง นี้เรียกว่า อาจาระ

ซึ่งคฤหัสถ์ก็ประพฤติปฏิบัติตามได้ ต่อมารดาบิดา ครูอาจารย์ หรือผู้ที่ สูงวัยกว่า หรือผู้ที่ควรเคารพ และในขณะนั้นจะสังเกตลักษณะของหิริและโอตตัปปะได้เมื่อเกิดขึ้น ซึ่งแต่ก่อนอาจจะไม่เกิดเพราะไม่รู้ แต่เมื่อรู้ลักษณะของหิริโอตตัปปะว่า เป็นโสภณธรรม ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดหิริและโอตตัปปะยิ่งขึ้นได้

สำหรับโคจร คือ ทางไป

โคจรมี ๓ อย่าง คือ อุปนิสสยโคจร ๑ อารักขโคจร ๑ อุปนิพันธโคจร ๑

บรรดาโคจร ๓ อย่างนั้น กัลยาณมิตรผู้ประกอบด้วยคุณ คือ กถาวัตถุ ๑๐ ชื่อว่าอุปนิสสยโคจร การไม่แลดูทิศใหญ่ทิศน้อยด้วยเสขิยวัตร มีความเป็นผู้มีตา ทอดลงเป็นต้น ในที่มีละแวกบ้านเป็นต้น ชื่อว่าอารักขโคจร ส่วนสติปัฏฐาน ๔ ชื่อว่าอุปนิพันธโคจร ซึ่งเป็นที่เข้าไปผูกพันของจิต ภิกษุผู้ประกอบด้วยอาจาระ และโคจรนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร

สำหรับอุปนิสสยโคจร ได้แก่ กัลยาณมิตรผู้ประกอบด้วยคุณ คือ กถาวัตถุ ๑๐ นั้น ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมวัตถุกถาสูตร ว่าด้วยกถาวัตถุ ๑๐ ประการ ข้อ ๖๙ เป็นเรื่องของคำพูด ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต นั่งประชุมกันที่หอฉัน สนทนาดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก

แม้ว่าเป็นภิกษุแล้ว ก็ยังมีการตรึก วิตกเจตสิก วิจารเจตสิกในเรื่องของดิรัจฉานกถา

คือ สนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนล่วงลับไปแล้ว เบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้น

มีใครไม่พูดอย่างนี้บ้าง ไม่มี ใช่ไหม

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เสด็จเข้าไปยัง หอฉัน ประทับนั่งบนอาสนะอันเขาตบแต่งไว้ ครั้นแล้วจึงตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ ก็แหละกถาอะไรที่เธอทั้งหลายสนทนาค้างไว้

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัต นั่งประชุมกันที่หอฉัน สนทนาซึ่งดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก คือ สนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร ... เรื่องความเสื่อมและความเจริญ พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายสนทนากันถึงดิรัจฉานกถาเป็นอันมาก คือ สนทนาเรื่องพระราชา เรื่องโจร ... เรื่องความเสื่อมและความเจริญนี้ ไม่สมควรแก่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาเลย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ อัปปิจฉกถา ๑ สันตุฏฐิกถา ๑ ปวิเวกกถา ๑ อสังสัคคกถา ๑ วิริยารัมภกถา ๑ สีลกถา ๑ สมาธิกถา ๑ ปัญญากถา ๑ วิมุตติกถา ๑ วิมุตติญาณทัสสนกถา ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หากว่าเธอทั้งหลายยึดถือเอากถาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้แล้วกล่าวเป็นกถาไซร้ เธอทั้งหลายพึงครอบงำเดชแม้ของพระจันทร์และพระอาทิตย์ ผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ด้วยเดชได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงปริพาชกอัญญเดียรถีย์ทั้งหลายเล่า

น่าสงสัยใช่ไหมว่า วันหนึ่งๆ จะพูดอะไรกัน ถ้าไม่พูดเรื่องต่างๆ เหล่านี้ แต่ในขณะที่พูดนี้สติก็ยังเกิดระลึกได้ว่า ขณะนั้นจิตที่พูดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ไม่ใช่ว่าไม่ควรพูดเลยทั้งหมด เพราะเป็นไปไม่ได้ที่วันหนึ่งๆ จะไม่พูด และถ้าไม่พูดเรื่องเหล่านี้ ก็ไม่มีเรื่องที่จะพูด ใช่ไหม แต่เมื่อมีเรื่องที่จะพูด ก็พูดที่เป็นประโยชน์ แม้เรื่องเหล่านี้ก็พูดได้ ไม่ใช่เดรัจฉานกถา

อรรถกถาปฐมวัตถุกถาสูตรที่ ๙ มีข้อความว่า

เรื่องที่เกี่ยวกับเหย้าเรือนเป็นต้นว่า ราชาพระองค์โน้นงดงามน่าชม ถ้าพูดอย่างนี้เป็นดิรัจฉานกถา แต่ถ้าพูดว่า พระราชาแม้พระองค์นั้นมีอานุภาพมาก อย่างนั้น ถึงความสิ้นไป ดังนี้ ก็ยังตั้งอยู่ในความเป็นกรรมฐาน

คือ ถ้าพูดคล้อยไปในเรื่องของธรรมที่จะให้เข้าใจธรรมว่า แม้เป็นพระราชาที่งดงามและมีอานุภาพมาก แต่ก็ไม่พ้นจากความตาย หรือเรื่องของโจรก็เช่นเดียวกัน อาจจะกล่าวถึงโจรที่มีอำนาจ หรือเป็นคนกล้าหาญประการต่างๆ ขณะนั้นก็เป็นดิรัจฉานกถา แต่ถ้ากล่าวว่า แม้โจรนั้นๆ ก็ต้องตายเป็นธรรมดา คือ พูดเรื่องของธรรมทุกอย่าง ขณะนั้นไม่ใช่ดิรัจฉานกถา หรือถ้าพูดเรื่องญาติด้วยความยินดีว่า ญาติของเราเป็นคนกล้าสามารถ หรือแต่ก่อนนี้พวกเราพากันท่องเที่ยวด้วยยาน อันวิจิตร อย่างนี้ก็ไม่ควร แต่ควรจะพูดว่า พวกญาติของเรานั้นก็ถึงความสิ้นไป ทุกอย่าง ถ้าพูดในเรื่องของธรรมเป็นสิ่งที่ควรทั้งนั้น หรือถ้าพูดถึงเรื่องชาวบ้านว่า เป็นผู้ที่มีความสามารถต่างๆ ในทางโลก ก็ยังเป็นเดรัจฉานกถา แต่ถ้าพูดว่า พวกเขามีศรัทธาเลื่อมใส แต่ในบัดนี้ก็สิ้นชีวิตไป คือ ถ้าแสดงให้เห็นถึงธรรมตามความเป็นจริงที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งหมดไม่เป็นดิรัจฉานกถา

กถาวัตถุ ๑๐ คือ

อัปปิจฉกถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย

สันตุฏฐิกถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สันโดษ

ปวิเวกกถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สงัด

อสังสัคคกถา คือ กถาปรารภความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ

วิริยารัมภกถา คือ กถาปรารภความเพียร

สีลกถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล

สมาธิกถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ

ปัญญากถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา

วิมุตติกถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ

วิมุตติญาณทัสสนกถา คือ กถาปรารภความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วย วิมุตติญาณทัสสนะ

ก็เป็นเรื่องของกุศลธรรมตั้งแต่ขั้นต้นจนกระทั่งถึงโลกุตตรธรรม

คือ พูดเรื่องของธรรมทั้งหมด ขณะนั้นไม่ใช่ดิรัจฉานกถา เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะต้องทราบว่า ชีวิตประจำวันจำเป็นต้องพูดหลายเรื่อง แต่ควรเกิดหิริโอตตัปปะที่จะระลึกได้ว่า จิตที่พูดในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศล ก็เป็นการพูดที่เป็นประโยชน์ เพราะถึงแม้ว่าเรื่องใดเป็นเรื่องจริง แต่ไม่เป็นประโยชน์ ทำให้คนอื่นเกิดอกุศลจิต หรือแม้แต่ตัวผู้ที่กล่าวเองก็กำลังเป็นอกุศล ในขณะนั้น ก็ไม่เป็นประโยชน์ ขณะที่สติระลึกได้เท่านั้นที่จะเกิดหิริและละอายต่ออกุศลจิต อกุศลธรรมในขณะนั้น

บางคนเห็นอกุศลของคนอื่น รู้สึกว่าเป็นผู้ที่ฉลาดในอกุศลของคนอื่น แต่ ไม่ฉลาดที่จะเห็นจิตของตนเองในขณะนั้นว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมด ก็เพื่อเกื้อกูลให้เกิดสติ มีศรัทธา มีหิริและโอตตัปปะ ในชีวิตประจำวัน

ถ. บุคคลที่ยกพระสูตรหรืออะไรต่างๆ แต่บิดเบือนไม่กล่าวตามพระสูตร หรือมีความเข้าใจผิด แสดงธรรมในทางที่ผิด แต่อ้างพระสูตร และแสดงธรรมที่ผิด อย่างนั้นเป็นดิรัจฉานกถาด้วยหรือเปล่า

สุ. ข้อนี้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจจริงๆ เพราะว่าพระธรรมวินัยกว้างขวางมากจริงๆ ยากที่ใครจะเป็นผู้รู้โดยละเอียดรอบคอบ และถ้าจะคอยผู้รู้ที่ละเอียดรอบคอบ ก็คงจะไม่มีการได้ฟังธรรมเลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่แสดงธรรมทุกท่านเป็นผู้ที่เคารพ พระรัตนตรัย ก็ขอให้ท่านผู้ฟังทุกท่านเป็นผู้พิจารณาในเหตุในผลของพระธรรม และสอบสวนค้นคว้าหลักฐานเพื่อความถูกต้องยิ่งขึ้น

ส่วนผู้ที่ได้นำพระธรรมมาบรรยายตามความรู้ความสามารถด้วยกุศลเจตนา ก็คงจะกระทำอย่างดีที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่ดื้อ ไม่เป็นผู้ที่ว่ายาก ต้องเป็นผู้ที่ยอมสละความเห็นของตนที่ผิดหรือที่ไม่ถูกด้วย เพราะว่าทุกคนจะต้องตาย และเป็นบุคคลใหม่ สิ้นสภาพความเป็นบุคคลเก่า ยังจะมีเยื่อใยอะไรกับความเป็นบุคคลเก่า ซึ่งในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ก็อาจจะเป็นห่วงตัวเองว่าจะถูกตำหนิติเตียน หรือจะไม่ได้รับชื่อเสียง จะไม่ได้รับความเคารพนับถือ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เพราะว่าเป็นสิ่งที่เล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับความถูกต้องของพระธรรมวินัย

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดแสดงธรรมโดยลักษณะอย่างนี้ด้วยกุศลจิต ผู้ฟังก็ควรที่จะพิจารณา และเห็นใจ เข้าใจในความคิด หรือการที่อาจจะเป็นผู้ที่ไม่ได้ศึกษา โดยตลอด เพราะว่าไม่มีความสามารถที่จะเป็นอย่างนั้น แต่ก็ได้พยายาม ก็ขอให้ ทุกท่านเป็นผู้ที่สอบทาน ค้นคว้า และถือเอาความถูกต้องยิ่งขึ้นตามพระธรรมวินัย

ผู้ฟังมีสิทธิ มีโอกาสที่จะพิจารณา

เปิด  179
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565