แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1316

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๗


ข้อความใน อัฏฐสาลินี สุตตันติกทุกนิกเขปกถา พระบาลีแสดงนิทเทส พาลทุกะ ข้อ ๑๓๐๗ มีว่า

พาลธรรมเป็นไฉน

คือ อหิริกะ อโนตตัปปะ สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าพาลธรรม

บัณฑิตธรรมเป็นไฉน

คือ หิริ โอตตัปปะ สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าบัณฑิตธรรม กุศลธรรมแม้ทั้งหมดจัดเป็นบัณฑิตธรรม

ข้อความอีกตอนหนึ่งมีว่า

คนที่ไม่มีหิริและไม่มีโอตตัปปะ ที่ชื่อว่าจะไม่กระทำอกุศลอะไรๆ หามิได้

เพราะฉะนั้น ลักษณะของอหิริกะและอโนตตัปปะมีตั้งแต่ขั้นละเอียดซึ่งเห็นยาก ซึ่งเวลาที่เกิดกับอกุศลจิตในชีวิตประจำวัน ถ้าขาดการพิจารณาย่อมจะไม่เห็นลักษณะของอหิริกะและอโนตตัปปะ แต่ถ้าเป็นกรรมใหญ่ที่หนัก หรือมองเห็นชัด เช่น ทุจริตกรรม จึงสามารถเห็นพาลธรรมคืออหิริกะและอโนตตัปปะได้ว่า คนที่ไม่มีหิริและไม่มีโอตตัปปะ ที่ชื่อว่าจะไม่กระทำอกุศลอะไรๆ หามิได้ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดสำหรับแต่ละท่านที่จะพิจารณาตัวเองจริงๆ แม้ในเรื่องของอหิริกะและอโนตตัปปะด้วย

ขณะนี้มีไหม ข้อสำคัญที่สุด ขณะที่เป็นกุศลไม่มี แต่ขณะใดที่เป็นอกุศล แม้เพียงเล็กน้อยก็มี อย่าประมาทต่ออหิริกะและอโนตตัปปะ เพราะถ้ามีและไม่เห็นว่าเป็นอกุศล อหิริกะและอโนตตัปปะก็จะเพิ่มกำลังขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะกระทำทุจริตกรรมได้

เจตสิกต่อไปที่เป็นอกุศลสาธารณเจตสิก คือ อุทธัจจเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่สงบ ถ้าสติไม่ระลึกในขณะที่กุศลจิตเกิด ไม่มีทางที่จะเทียบเคียงได้ว่า เวลาที่อกุศลจิตเกิดนั้นไม่สงบ ต่อเมื่อใดที่สติปัฏฐานเริ่มระลึกรู้ลักษณะสภาพของ กุศลจิตและเห็นความผ่องใสปราศจากอกุศลธรรมจึงจะรู้ว่า สภาพที่สงบต้องเป็นกุศล และสภาพที่ไม่สงบทั้งหมดต้องเป็นอกุศล เพราะอุทธัจจเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่สงบ

ไม่เหมือนกับโมหะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มืดบอด ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ อหิริกะเป็นสภาพธรรมที่ไม่ละอาย ไม่รังเกียจอกุศลธรรม อโนตตัปปะเป็นสภาพธรรมที่ไม่หวั่นเกรง ไม่พรั่นพรึงต่ออกุศลธรรม แต่สำหรับอุทธัจจเจตสิกนั้น เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่สงบ ซึ่งจะปรากฏได้ในขณะที่จิตฟุ้งซ่าน

ชีวิตของแต่ละคนย่อมมีความสนุกสนานรื่นเริง มีโลภะมาก แต่ในขณะนั้นไม่รู้เลยสักนิดเดียวว่า แท้ที่จริงมีอุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะที่มีความสนุกสนาน หรือขณะที่เป็นสุขทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่เข้าใจผิดว่า จะมีอุทธัจจะ ความไม่สงบ เฉพาะในขณะที่จิตฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาหรือ น่าปรารถนา จนปรากฏลักษณะสภาพที่ฟุ้งซ่านของจิต

อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ มีข้อความว่า

เจตโส อวูปสมลักขณัง

มีความไม่ทำให้จิตสงบเป็นลักษณะ เปรียบเหมือนน้ำที่กระเพื่อมเพราะถูก ลมพัด

อนวัฏฐานรสัง

มีความไม่ตั้งมั่นเป็นรสะ เป็นกิจ เปรียบเหมือนธงชายและธงแผ่นผ้าอัน โบกพลิ้วเพราะถูกลมพัด

ภันตัตตปัจจุปัฏฐานัง

มีความหวั่นไหวฟุ้งซ่านเป็นอาการปรากฏ เปรียบเหมือนเถ้าที่ฟุ้งเพราะถูก หินทุ่มลงไป

เจตโส อวูปสโม อโยนิโสมนสิการปทัฏฐานัง

มีอโยนิโสมนสิการ คือ การไม่พิจารณาโดยแยบคายให้จิตสงบเป็นเหตุใกล้

ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ต้องมีอุทธัจจเจตสิก ซึ่งมีลักษณะที่ทำให้จิตไม่สงบ เพราะฉะนั้น ที่เคยพอใจในป่าเขาลำเนาไม้ หรือที่เงียบๆ สงบๆ ขณะนั้นเมื่อเป็นอกุศลจิตแล้ว ย่อมไม่สงบ เพราะมีความติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏจะชื่อว่า สงบไม่ได้ และไม่ใช่การสละอย่างขณะที่เป็นทาน หรือในขณะที่วิรัติทุจริต หรือในขณะที่อบรมสมถะ คือ ความสงบของจิต หรือในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ข้อความใน อัฏฐสาลินี ข้อ ๔๒๙ มีว่า

อุทธัจจะเกิดในสมัยนั้นเป็นไฉน

คือ จิตตัสสะ อุทธัจจัง ความฟุ้งซ่านแห่งจิต

จะสังเกตลักษณะของอุทธัจที่ปรากฏให้เห็นได้ คือ ในขณะที่เกิดความฟุ้งซ่านของจิต

อวูปสโม ความไม่สงบแห่งจิต

ถ้าเป็นเพียงโลภะ จะไม่รู้สึกตัว แต่ถ้าขณะใดที่มีใครบอกว่า วันนี้ไม่สงบเลย มีแต่เรื่องวุ่นวายทั้งวัน ขณะนั้นแสดงให้เห็นว่าลักษณะของอกุศลมีกำลังจนกระทั่งสามารถทำให้เห็นความต่างกันของสภาพธรรมว่า เวลาที่เป็นอุทธัจจะมีลักษณะที่ฟุ้งซ่าน จนต้องถึงกับเอ่ยปากว่า วันนี้วุ่นวายจริง หรือว่าไม่สงบเลย

เจตโส วิเขโป ความวุ่นวายใจ

ไม่ทราบขณะนี้มีท่านผู้ใดรู้สึกอย่างนั้นบ้างหรือเปล่า แต่ในชีวิตจริงคงจะต้องมี

ภันตัตตัง จิตตัสสะ ความพล่านแห่งจิตในสมัยนั้นอันใด ที่ชื่อว่าอุทธัจจะเกิดในสมัยนั้น

คำว่า ความพล่านแห่งจิต ได้แก่ ภาวะที่จิตพล่านไป เหมือนอย่างยานที่เคลื่อนไป และโคที่พล่านไป เป็นต้น

ถ. ต้องสะสมเหตุปัจจัยที่เป็นกุศลใช่ไหม จึงจะแก้อุทธัจจะได้

สุ. มีวิธีแก้โดยการเจริญกุศลทุกประการ ในขณะที่รู้สึกว่าเป็นอกุศลกลุ้มรุม เช่น อาจจะเป็นไปในทาน หรือถ้ารู้ว่าจิตที่สงบจะเกิดได้เพราะระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ เช่น ในขณะที่โกรธแล้ววุ่นวายใจ เกิดระลึกได้ว่าความโกรธนั้นไม่มีประโยชน์เลย ไม่ควรจะสะสมความโกรธติดตามไปถึงภพชาติต่อๆ ไป เพราะทุกอย่างก็จบสิ้นลงเพียงแต่ในชาติหนึ่งๆ หรือเพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง ถ้าระลึกได้อย่างนี้ จะเป็นทางให้กุศลจิตเกิด และขณะนั้นไม่มีอุทธัจจะ

หรือทางที่ดีที่สุด คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่พยายามไปจ้องให้รู้ลักษณะของอุทธัจจะ แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดปรากฏ แต่ก่อนอื่นต้องรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรมที่ต่างกับรูปธรรม คือ จะต้องแยกลักษณะของนามธรรมที่ต่างจากรูปธรรมออกจากกัน ความรู้สึกว่าเป็นเราจึงจะไม่มี เมื่อไม่มีเราขณะนั้นย่อมเป็นกุศล ซึ่งสามารถถึงขั้นที่จะดับอุทธัจจะได้เป็นสมุจเฉท แต่ให้ทราบว่า อุทธัจจะเป็นสภาพธรรมที่อรหัตตมรรคเท่านั้นที่จะดับได้

ถ้ายังเป็นพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล อกุศลธรรมก็ยังมีโอกาสมีปัจจัยที่จะเกิดตามสมควรแก่ระดับขั้นของความเป็น พระอริยบุคคล ต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น เมื่ออรหัตตมรรคเกิดขึ้นจึงจะดับ อุทธัจจเจตสิกเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดขึ้นอีกเลย

ผู้ฟัง ที่พระพุทธองค์ตรัสกับภารทวาชพราหมณ์ว่า คนมักโกรธเป็นคน เลวทราม คนโกรธตอบเลวยิ่งกว่า เวลาเกิดความโกรธขึ้นระลึกได้ว่า เรากำลังเป็น คนเลว รู้สึกว่าจะระงับไปได้มาก ผมใช้อยู่เป็นประจำ

สุ. ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมดเกื้อกูลต่อการที่จะให้กุศลจิตเกิด แม้แต่ข้อความที่ว่า พาลธรรมเป็นไฉน คือ อหิริกะ อโนตตัปปะ ทำให้ทุกท่านที่เคยมองคนอื่นว่าเป็นพาลได้รู้สึกตัวว่า แท้ที่จริงตัวท่านเอง ในขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นพาลแล้ว ไม่ต้องคำนึงถึงบุคคลอื่นว่าจะเป็นคนพาลระดับไหน ซึ่งนั่นก็แล้วแต่ว่า อกุศลธรรมระดับไหนจะเกิด เป็นเรื่องของบุคคลอื่น แต่สำหรับตัวท่านเองเป็นบัณฑิตหรือเป็นพาลในขณะไหน ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นพาล ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นจึงเป็นบัณฑิต

เพราะฉะนั้น สำหรับท่านเอง วันหนึ่งๆ เป็นพาลมาก หรือเป็นบัณฑิตมาก แทนที่จะคิดถึงคนอื่น นี่คือประโยชน์ของการศึกษาพระธรรม เพื่อพิจารณาน้อมนำ ที่จะขัดเกลากิเลสทุกประการ

ถ. ที่เราเป็นห่วงบิดามารดาที่ป่วย เป็นอุทธัจจะหรือเปล่า

สุ. ต้องสติสัมปชัญญะเกิดระลึกลักษณะสภาพจิตในขณะนั้นจึงจะรู้ว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ข้อสังเกต คือ เวทนาเจตสิก ขณะนั้นสบายใจไหม ที่กำลังเป็นห่วง

ถ. ไม่สบายใจ

สุ. ความไม่สบายใจทั้งหมด ต้องเป็นอกุศลจิตประเภทโทสมูลจิต อย่างอ่อน คือ อย่างไม่สบายใจ ไม่ใช่อย่างโศกเศร้าจนกระทั่งถึงกับร้องไห้ แต่ถ้ากังวลมากๆ ก็อาจจะเป็นได้ เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล เพื่อจะได้ละอกุศล

พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสรรเสริญอกุศลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นของธรรมดาที่บุตรจะต้องเป็นห่วงมารดาบิดา แต่ในขณะนั้นควรมีสติระลึกลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้ารู้ว่าห่วงเป็นอกุศล และปัญญาเกิดจริงๆ ในขณะนั้นจะเปลี่ยนความห่วงเป็นอย่างอื่นได้ เช่น คิดที่จะตอบแทนพระคุณของท่านแทนที่จะเป็นห่วงกังวล ซึ่งขณะที่ ตอบแทนพระคุณของท่านด้วยทางหนึ่งทางใดเป็นกุศลจิต การคิดห่วงเป็นอกุศลจิต แต่ขณะที่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ทันที ขณะนั้นเป็นกุศล

ไม่อยากจะมีความวิตกกังวลห่วงใย ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะสภาพธรรมทั้งหลายที่จะเกิด ย่อมเกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น การที่จะดับอกุศลธรรมจึง ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ด้วยการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมให้ชัดเจน ก่อนที่จะคิดว่า ไม่อยากมีอกุศลประเภทนั้นประเภทนี้

ขอกล่าวถึงข้อความใน โมหวิจเฉทนี ซึ่งเป็นคัมภีร์รุ่นหลังวิสุทธิมรรค ที่ท่านพระกัสสปเถระแห่งแคว้นโจละในอินเดียตอนใต้ ซึ่งท่านชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๑๗๐๓ - ๑๗๗๓ คือ ถอยไปประมาณ ๘๐๐ ปี เป็นผู้รจนา

โทวจัสสตาทุกะ ข้อ ๑๓๓ ได้กล่าวถึงอหิริกะและอโนตตัปปะโดยลักษณะ มีข้อความว่า

ควรรู้แจ้งโดยง่ายทีเดียว

แต่ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของอุทธัจจะในขณะที่อุทธัจจะกำลังเกิดดับ ซึ่งขณะนั้นเป็นการยาก แต่ถ้าจะพิจารณาเพียงว่า ขณะใดที่กระทำอกุศลกรรม ก็เพราะขณะนั้นอหิริกะและอโนตตัปปะมีกำลัง ก็จะพอสามารถเข้าใจลักษณะของอหิริกะและอโนตตัปปะได้

ข้อความต่อไป แสดงให้เห็นถึงบุคคลต่างๆ ซึ่งเมื่อปฏิสนธิจิตเกิดและยังไม่มีการเจริญเติบโต ย่อมไม่ทราบว่า เมื่อเจริญเติบโตขึ้นแต่ละบุคคลจะเป็นบุคคลประเภทใด

ข้อความใน โมหวิจเฉทนี มีว่า

บุคคลชื่อว่าทุพพจะ เพราะการว่ากล่าวในบุคคลผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ชอบเป็นฝ่ายตรงข้าม มีความดำเนินน่ารังเกียจนี้ยาก

มีผู้ที่ว่ายาก และมีผู้ที่ว่าง่าย เพราะฉะนั้น แต่ละท่านจะได้พิจารณาว่า ท่านเป็นบุคคลประเภทใด คือ

บุคคลผู้ทำความไม่เอื้อเฟื้อ ในเมื่อถูกกล่าวสอนแสดงสหธรรม กรรมของ ทุพพจะนั้น ชื่อว่าโทวจัสสะ ภาวะแห่งโทวจัสสะนั้น ชื่อว่าโทวจัสสตา

ทราบไหมว่าเป็นอกุศลจิตดวงไหน โดยจำนวน อกุศลจิตมีเพียง ๑๒ ดวง คือ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง แต่บุคคลมีต่างกันไปตามการสะสมอย่างวิจิตรของอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น สำหรับทุพพจบุคคล ในขณะที่เป็นผู้ที่ไม่เอื้อเฟื้อ ชอบเป็นฝ่ายตรงข้าม มีความดำเนินน่ารังเกียจ ในเมื่อถูกกล่าวสอน แสดงสหธรรม ขณะนั้นเป็นจิตดวงไหน

เป็นโทสมูลจิต ๒ ดวง เพราะในขณะนั้นไม่เอื้อเฟื้อ ไม่พอใจ ไม่เต็มใจที่จะ รับฟังสิ่งที่ถูกและพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ถูก เพราะฉะนั้น ยากที่จะให้บุคคลนั้นได้เห็นว่า อะไรเป็นกุศล และอะไรเป็นอกุศล

บางคนอาจจะไม่กล้าเป็นผู้ตรงที่จะพิจารณาจิตของตนเองแต่ละขณะ เพราะกลัวว่าถ้าพิจารณาแล้วที่เข้าใจว่าตัวเองเป็นกุศล อาจจะเป็นอกุศลก็ได้ ถ้าไม่เป็น ผู้ตรง ไม่กล้าที่จะรับตามความเป็นจริง เพราะไม่อยากจะมีอกุศล ก็ไม่มีทางที่จะพ้นจากอกุศลได้ เพราะไม่กล้าที่จะพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีลักษณะอย่างนั้น ให้ทราบว่า เป็นลักษณะของอกุศลจิตประเภทโทสมูลจิต

ถ้าไม่ทรงแสดงไว้อาจจะเข้าใจผิดว่า เป็นอกุศลจิตประเภทอื่น แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ จะรู้ว่า ในขณะนั้นจิตมีสภาพอย่างไร เวทนาในขณะนั้นเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นโทมนัสเวทนา ความไม่สบายใจ ความไม่ชอบใจ ความไม่พอใจ

ข้อความต่อไปมีว่า

ภาวะแห่งโทวจัสสะนั้น ชื่อโทวจัสสตา คือ ปฏิฆจิต ๒ ดวง (โทสมูลจิต) อันเป็นไปแล้วด้วยอำนาจความไม่เอื้อเฟื้อ และธรรมอันสัมปยุตต์ด้วยปฏิฆจิต ๒ ดวงนั้น

ถ้าศึกษาต่อไป จะได้พิจารณาต่อไปว่า ในขณะที่โทสมูลจิตเกิด มีธรรมอื่นซึ่งเป็นอกุศลที่สามารถจะเกิดกับโทสมูลจิตได้ เช่น อิสสาเจตสิก มัจฉริยเจตสิก และ กุกกุจจเจตสิก

ในขณะที่ไม่ยอมรับฟังโดยเอื้อเฟื้อด้วยดี เมื่อรู้ว่าเป็นอกุศลจิตประเภท โทสมูลจิตแล้ว ต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า ในขณะที่เป็นโทสมูลจิตนั้น มีอกุศลธรรมอื่นซึ่งเกิดกับโทสมูลจิตในขณะนั้นหรือเปล่า เช่น อิสสา หรือมัจฉริยะ หรือกุกกุจจะ ซึ่งจะยังไม่กล่าวถึงลักษณะและกิจการงาน เพียงแต่ให้ทราบว่า อิสสา ได้แก่ ความริษยา มัจฉริยะ ได้แก่ ความตระหนี่ กุกกุจจะ ได้แก่ ความรำคาญใจ

ไม่รู้เลยว่า เกิดมาแล้วจะมีนิสัยอย่างนี้หรือเปล่า จะเป็นอย่างนี้ในวันไหน เดือนไหนหรือเปล่า

ชีวิตของแต่ละคน สิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ต่างๆ การสะสมกิเลสอกุศลต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ย่อมทำให้บุคคลนั้น ในชาตินั้น จะสะสมอกุศลประเภทใด ก็แล้วแต่ความละเอียดที่จะพิจารณา

เปิด  169
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566