แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1313

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗


เมื่อโลภมูลจิตมีบ่อย เป็นไปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจมากมายเหลือเกินในวันหนึ่งๆ ก็ควรที่จะทราบว่า มีเจตสิกอะไรบ้างที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต

ดังที่ได้ทราบแล้วว่า เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท หรือ ๕๒ ชนิด เป็น อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ เป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ และเป็นโสภณเจตสิก ๒๕

อัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกซึ่งสามารถเกิดกับจิตโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา

อกุศลเจตสิก เป็นเจตสิกซึ่งเกิดได้เฉพาะกับอกุศลจิตเท่านั้น จะเกิดกับ วิบากจิต กิริยาจิตไม่ได้เลย

สำหรับโสภณเจตสิก ๒๕ ไม่ได้ใช้คำว่า กุศลเจตสิก ๒๕ แต่ใช้คำว่า โสภณเจตสิก ๒๕ ซึ่งหมายความถึงเจตสิกฝ่ายดี เกิดได้ทั้งจิตที่เป็นกุศล หรือ กุศลวิบาก หรือกิริยาจิตที่เป็นโสภณะ

อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง หรือ ๑๓ ประเภทนั้น เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง และเป็นปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ได้แก่ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑ ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวง

ในขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่มีแต่จิต แต่มีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนี้ เกิดร่วมด้วย ใครจะรู้หรือไม่รู้ถึงเหตุที่ทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นก็ตาม เจตสิกเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยโดยเกิดพร้อมกัน เป็นสหชาตปัจจัยแก่จิต และเป็นสัมปยุตตปัจจัยด้วย เพราะเป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น จิตอื่นๆ นอกจากจักขุวิญญาณ ย่อมต้องมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิกด้วย โลภมูลจิตก็ดี โทสมูลจิตก็ดี โมหมูลจิตก็ดี จะขาดผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก และมนสิการเจตสิกไม่ได้เลย

บางท่านอาจจะคิดว่า ทำไมต้องรู้ถึงเจตสิกซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก จิตก็เกิดขึ้นแล้วยับยั้งไม่ได้ มีปัจจัยเกิดขึ้นก็จริง ทำไมต้องรู้ถึงปัจจัยคือเจตสิก ๗ ดวงที่ทำให้เกิดจิตนั้นๆ ด้วย แต่ถ้ามีความรู้เพิ่มขึ้น ก็ยิ่งจะละคลายการยึดถือจิตว่า เป็นเรา หรือเป็นตัวตน ในขณะที่จิตเกิดขึ้นทำกิจต่างๆ ทางทวารต่างๆ

สำหรับปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง ได้แก่ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ และฉันทเจตสิก ๑

ตามความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เราเลย แต่เวลาที่วิตกเจตสิกเกิดขึ้น เราทำไมช่างคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้มากมาย ซึ่งความจริงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ทำกิจตรึก หรือจรดในอารมณ์ที่ปรากฏ

เวลาที่วิริยะเกิดขึ้น รู้สึกว่ามีความเพียร ดูเหมือนว่าเป็นเราอีก แต่ตามความเป็นจริงเป็นสภาพธรรม เมื่อใดที่สติเกิด ระลึกลักษณะสภาพที่กำลังเพียร กำลังพยายาม ในขณะนั้นจะรู้ว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นและดับไป

แม้ปีติก็เช่นเดียวกัน วันหนึ่งๆ ที่เกิดดีใจ หรือพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาก ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายกุศลหรืออกุศล ถ้าหลงลืมสติก็เป็นเราปีติ ต่อเมื่อใดที่สติเกิด ระลึกลักษณะที่ปีติ เมื่อนั้นจึงรู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง จนกว่าจะคุ้นเคยกับลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภทจนกระทั่งเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าสติไม่ระลึกที่สภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้เลย ทุกอย่างจะอยู่เพียงในตำรา

สำหรับสัพพจิตตสาธารณเจตสิกไม่มีปัญหา คือ เกิดกับจิตทุกดวง

ส่วนปกิณณกเจตสิกนั้นไม่เกิดกับจิตทุกดวง คือ เว้น ไม่เกิดกับจิตบางดวงตามสมควรแก่เหตุ และควรที่จะเข้าใจด้วยว่า ปกิณณกเจตสิกไม่เกิดกับจิตใดบ้าง และเกิดกับจิตใดบ้าง ซึ่งไม่ยาก เพราะปกิณณกเจตสิกมีเพียง ๖ ดวงเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า ลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภทจะเพิ่มกำลังขึ้น สำหรับ วิตกเจตสิกเป็นสภาพที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ ไม่เกิดกับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง

กามาวจรจิตมี ๕๔ ดวง คือ จิตที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งในวันหนึ่งๆ จิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหมด มี ๕๔ ดวงจริง แต่ทุกท่านมีไม่ครบทั้ง ๕๔ ดวง น้อยกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้น ยิ่งง่ายต่อการที่จะรู้จักตัวเองว่า มีกามาวจรจิตกี่ดวง

สำหรับวิตกเจตสิก ไม่เกิดกับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกเกิดกับกามาวจรจิตที่เหลือ ๔๔ ดวง และเกิดกับรูปาวจรจิตที่เป็นปฐมฌาน ๑๑ ดวง คือ ที่เป็นปฐมฌานกุศล ๑ ปฐมฌานวิบาก ๑ ปฐมฌานกิริยา ๑ ปฐมฌานโสตาปัตติมรรค ๑ โสตาปัตติผล ๑ สกทาคามิมรรค ๑ สกทาคามิผล ๑ อนาคามิมรรค ๑ อนาคามิผล ๑ อรหัตตมรรค ๑ อรหัตตผล ๑ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกจึงเกิดกับจิต ๕๕ ดวง

สำหรับฌานขั้นสูงขึ้นไป คือ ฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และอรูปฌานทั้ง ๔ ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้ายังคงมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตจะไม่สงบมั่นคงขึ้นถึงขั้นทุติยฌาน เพราะผู้ที่อบรมเจริญความสงบจนกระทั่งฌานจิตเกิด ต้องเว้นห่างจากอกุศลธรรม

ซึ่งตามธรรมดาวันหนึ่งๆ ที่กุศลจิตจะเกิดนั้น ยาก แม้ว่าจะเป็นไปในทาน หรือในศีล เพราะฉะนั้น ที่จะให้เป็นไปในความสงบของจิตจนกระทั่งปรากฏลักษณะของความสงบที่มั่นคงถึงขั้นสมาธิขั้นต่างๆ ก็ย่อมจะต้องอาศัยสภาพธรรมที่ ตรงกันข้ามหรือเป็นปฏิปักษ์กับอกุศลธรรม และธรรมที่เป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกับอกุศลธรรมที่จะทำให้จิตอบรมเจริญแล้วสงบขึ้น ได้แก่ องค์ฌาน ๕ คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ สุขเวทนา ๑ เอกัคคตา ๑

ทุกท่านไม่ต้องปรารถนาวิตกเจตสิก แต่เมื่อจักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ ก็ประกอบด้วยวิตกเจตสิกแล้ว นอกจากนั้นเวลาโลภมูลจิตเกิด ก็ไม่ต้องปรารถนาวิตกเจตสิกอีก แต่วิตกเจตสิกก็เกิดตามเหตุตามปัจจัยทุกครั้งที่เป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต ซึ่งจิตส่วนมากในวันหนึ่งๆ เป็นอกุศลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สังเกตได้จากการคิดนึก ถ้าขณะนั้นไม่เป็นไปในฝ่ายกุศล แม้เพียงคำเดียวที่คิดก็เป็นไปด้วยโลภมูลจิต ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสมูลจิต

ขณะนี้ท่านผู้ฟังลองคิดสักคำหนึ่ง จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นคิดด้วยจิตประเภทใด เพราะฉะนั้น การที่จะให้วิตกเจตสิกจรดในอารมณ์ที่ตรงกันข้ามที่จะทำให้จิตสงบ ก็ต้องอาศัยวิตกเจตสิกจรดในอารมณ์ที่เป็นสมถภาวนา พร้อมทั้งวิจารเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย จนกระทั่งจิตค่อยๆ สงบขึ้นจากอกุศลธรรม เพราะวิตกเจตสิกเป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธะ ความท้อถอย ความหดหู่ ความเกียจคร้าน ขณะใดที่จิตรู้สึกท้อถอย ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นอกุศลประเภทถีนมิทธะ

ขณะที่จิตหดหู่ ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต เพราะถีนมิทธเจตสิก ขณะที่เกียจคร้าน มีไหม หรือปกติเป็นผู้ที่ขยันอยู่เสมอ ขณะใดที่เกียจคร้าน ขณะนั้นก็เพราะ ถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะที่ฟังธรรม เคยเบื่อ เคยท้อถอย เคยรู้สึกหดหู่ บ้างไหม ซึ่งขณะนั้นต้องทราบว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้ายังไม่เคยรู้จักเลย ก็ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลเจตสิก

เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิก สำหรับผู้ที่อบรมเจริญความสงบที่จะให้เป็นกุศลมั่นคงขึ้น จะต้องเข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญความสงบพร้อมสติสัมปชัญญะ ซึ่งต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ประกอบด้วยปัญญา จึงจะเจริญความสงบให้มั่นคงขึ้นได้

การให้ทาน เป็นเพียงมหากุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ให้ทานได้ การวิรัติทุจริตก็เป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาได้ แต่ใครที่อยากจะสงบ จะสงบไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่อบรมเจริญขึ้น

ไม่ใช่เพียงนั่ง และคิดว่าจะสงบ ก็สงบ อย่าลืมว่า มหากุศลญาณสัมปยุตต์ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่สามารถจะรู้ว่า ขณะที่วิตกเจตสิกกำลังตรึกที่อารมณ์ของสมถะได้ชั่วคราวชั่วครู่ อกุศลจิตเกิดแทรกหรือเปล่า และอกุศลจิตประเภทใดเกิดคั่น ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด มหากุศลญาณสัมปยุตต์ไม่เกิด ไม่สามารถที่จะละอกุศลธรรมนั้น

เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่บอกว่า ทำสมาธิได้ จิตสงบ อย่าลืม ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีมหากุศลญาณสัมปยุตต์ด้วยขณะที่กำลังเจริญ แต่ถ้าเขายังไม่เข้าใจเรื่องของมหากุศลญาณสัมปยุตต์ว่าต่างกับกุศลธรรมดาอย่างไร แต่เข้าใจว่าตนเองสงบ ก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิที่เป็นสภาพของโลภมูลจิตนั่นเอง ซึ่งจะได้กล่าวถึงในภายหลัง

สำหรับองค์ของฌาน ๕ องค์ที่จะต้องมั่นคงขึ้น ที่จะต้องตรึกเป็นไปในอารมณ์ที่ทำให้สงบ ได้แก่ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก สุขเวทนา และ เอกัคคตาเจตสิก

สำหรับวิตกเจตสิกนั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธะ ซึ่งเป็นความท้อถอย ความเกียจคร้าน ความหดหู่

วิจารเจตสิกเป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉา ความสงสัย ความไม่แน่ใจในข้อปฏิบัติ บางท่านก็บอกว่า กำลังแสวงหาอยู่ ไม่ทราบว่าข้อปฏิบัติไหนสมบูรณ์ด้วยเหตุผลหรือถูกต้อง เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่กำลังแสวงหาอยู่ ยังไม่มีการพิจารณาในเหตุผลโดยถูกต้อง ขณะนั้นจิตย่อมจะสงบไม่ได้ จนกว่าจะพิจารณาเข้าใจในข้อปฏิบัติโดยถูกต้องจริงๆ ขณะนั้นจึงจะปราศจากวิจิกิจฉา เพราะเมื่อวิตกเจตสิกระลึกเป็นไปในอารมณ์ของสมถะใด วิจารเจตสิกก็ประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์นั้น ตามข้ออุปมาที่ว่า วิตกเหมือนกับผู้นำไปสู่ที่หนึ่งที่ใด วิจารเป็นผู้ที่ไปกับวิตกเพราะยังไม่คุ้นเคยกับบุคคลหรือสถานที่นั้น จึงต้องอาศัยบุคคลอื่นพาไปก่อน เมื่อคุ้นเคยกับสถานที่นั้นด้วยตนเองแล้ว แม้ผู้ที่พาไปเป็นครั้งแรกไม่ได้ไปด้วย ตนเองก็สามารถไปได้ ซึ่งสำหรับทุติยฌาน ไม่ต้องอาศัยวิตกเจตสิก

แต่ในขั้นของการอบรมเจริญความสงบที่จะเริ่มสงบ ค่อยๆ มั่นคงขึ้น จะขาดองค์ทั้ง ๕ นี้ไม่ได้ ซึ่งวิตกเป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธะ วิจารเป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉา ปีติเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาปาทะ

มีใครไม่เคยโกรธบ้างไหม ไม่มี

คิดว่าไม่โกรธ สักครู่หนึ่งถ้านึกถึงเรื่องที่เคยโกรธ จะโกรธไหม ขุ่นใจ หรือว่า ยังไม่ได้นึกถึงเรื่องโกรธ แต่ทางตาเห็นสิ่งที่ไม่พอใจ ทางหูได้ยินเสียงที่ไม่พอใจ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รู้สิ่งที่ไม่พอใจในขณะใด ขณะนั้นก็เป็นความขุ่นเคืองใจ ความโกรธ

ในขณะที่กำลังอบรมเจริญความสงบ ยังเป็นผู้มีปัจจัยที่จะให้ความโกรธเกิดอยู่ ยังไม่ได้เป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้น พยาปาท ความขุ่นใจ ความโกรธ ย่อมมีปัจจัยเกิดได้ แต่มหากุศลญาณสัมปยุตต์ซึ่งประกอบด้วยสติสัมปชัญญะสามารถรู้ความต่างกันของอกุศลจิตและกุศลจิต เมื่อวิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกตรึก จรดในอารมณ์ที่ทำให้สงบบ่อยขึ้น ก็สามารถละความขุ่นเคืองใจได้ เพราะลักษณะของกุศลกำลังเพิ่มและเป็นความสงบขึ้น เพราะฉะนั้น ปีติจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาปาทะ ถ้าปีติเกิดในขณะนั้น พยาปาทะไม่มี

ถ้าคนกำลังมีทุกข์เดือดร้อนใจ แต่มีข่าวดี หรือมีสิ่งที่ดีเกิดขึ้น ทำให้เกิดปีติ ความทุกข์นั้นก็หมดไป เพราะฉะนั้น ปีติจึงเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาปาทะ

สำหรับสุขเวทนา ซึ่งได้แก่ โสมนัสเวทนานั่นเอง เป็นปฏิปักษ์ต่อ อุทธัจจกุกกุจจะ นี่ก็เป็นชื่อของอกุศลเจตสิกประเภทหนึ่งในอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท

อุทธัจจะเป็นสภาพที่ไม่สงบ กุกกุจจะเป็นสภาพที่เดือดร้อนรำคาญใจในอกุศลที่ได้กระทำแล้ว และในกุศลที่ยังไม่ได้ทำ

เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เรื่องรำคาญใจนี่ดูจะมีมากไม่น้อยเลยสำหรับ คนช่างคิด โดยเฉพาะเมื่อระลึกถึงสิ่งที่กระทำผ่านไปแล้วที่เป็นอกุศลก็เดือดเนื้อร้อนใจภายหลัง หรือคิดเสียดายโอกาสของกุศลซึ่งน่าจะได้กระทำ แต่ก็ผ่านไปแล้วโดยที่ไม่ได้กระทำ ก็เป็นปัจจัยให้อุทธัจจะ คือ ความไม่สงบของจิต และกุกกุจจะ คือ ความหงุดหงิดรำคาญใจ เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น โสมนัสเวทนาเป็นปฏิปักษ์ต่ออุทธัจจะและกุกกุจจะ เพราะขณะนั้นเป็นสุข คือ โสมนัส

สำหรับสมาธิ หรือเอกัคคตานั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะทุกคนยังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ที่จะให้สงบหรือห่างจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต้องอาศัยการเจริญสมถภาวนา หรือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อดับความพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าไม่อบรมเลย ก็ยังคงเป็นผู้ที่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เอกัคคตาที่เกิดกับจิต ส่วนใหญ่จึงเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเกิดกับอกุศลจิต นอกจากในขณะที่เป็นกุศล จึงจะเป็นสัมมาสมาธิ

เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิก ไม่เกิดกับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง และไม่เกิดกับ ฌานจิตตั้งแต่ขั้นทุติยฌานขึ้นไปจนกระทั่งถึงอรูปฌาน นอกจากนั้น ใครจะปรารถนาหรือไม่ปรารถนา วิตกเจตสิกก็ต้องเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น แม้ในขณะที่กำลังหลับสนิท ไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตลิ้มรส ไม่ใช่จิตที่รู้โผฏฐัพพะ ขณะนั้นก็ต้องมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย

เปิด  143
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566