แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1314

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๗


สำหรับปกิณณกเจตสิกดวงที่ ๒ คือ วิจารเจตสิก ซึ่งปกติแล้วจะเกิดร่วมกับ วิตกเจตสิกเสมอ นอกจากในทุติยฌานซึ่งวิจารเจตสิกเกิดแต่วิตกเจตสิกไม่เกิด เพราะผู้ที่ได้ปฐมฌานพิจารณาเห็นโทษของวิตก แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะจึงสามารถรู้ความต่างกันของวิตกเจตสิกและวิจารเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกัน ไม่แยกจากกันเลย นอกจากในขณะที่เป็นทุติยฌานขึ้นไป

ขณะนี้ใครเห็นความต่างกันของวิตกเจตสิกกับวิจารเจตสิกบ้างไหม ขณะนี้ก็กำลังเกิดอยู่ แต่ไม่เห็น แสดงว่าจะต้องอบรมเจริญปัญญาอีกมากแค่ไหนที่จะรู้ สภาพธรรมตามความเป็นจริงโดยไม่เข้าใจผิด เพราะฉะนั้น ถ้าใครกล่าวว่าได้ฌานโดยที่ไม่รู้ความต่างกันของวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก สุข เอกัคคตาเจตสิก แสดงว่าผู้นั้นเข้าใจผิด หรือเข้าใจถูก

เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จะเป็นทางที่ทำให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าใจธรรมโดยถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่เข้าใจผิดในการปฏิบัติด้วย

สำหรับวิจารเจตสิกเกิดได้มากกว่าวิตกเจตสิก คือ เพิ่มทุติยฌานอีก ๑๑ ดวง จึงรวมเป็นเกิดในจิตได้ ๖๖ ดวง

สำหรับปกิณณกเจตสิกดวงต่อไป ดวงที่ ๓ คือ อธิโมกขเจตสิก เป็นสภาพที่ปักใจในอารมณ์ เกิดกับจิต ๗๘ ดวง เว้น ไม่เกิดกับจิตเพียง ๑๑ ดวงเท่านั้น คือ ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง และโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เพราะเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกัน ถ้าวิจิกิจฉาเจตสิกเกิดที่ไหน ขณะไหน เมื่อไร ขณะนั้นไม่มี อธิโมกขเจตสิกเกิดร่วมด้วย

เรื่องของเจตสิกเป็นเรื่องที่ไม่ยาก เพราะข้อความในอรรถกถาก็แสดงทั้งลักษณะ ทั้งกิจ ทั้งอาการที่ปรากฏ ทั้งเหตุใกล้ของเจตสิกต่างๆ

ลองคิดดู วันหนึ่งๆ ง่วงมี หดหู่มี สติปัฏฐานระลึกลักษณะนั้น และยังสงสัยว่า นี่นามธรรมหรือรูปธรรม บางคนสงสัยมาก อิ่มนี่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เมื่อการพิจารณาธรรมยังไม่พอ ก็ยังสงสัยอยู่ว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือ เป็นรูปธรรม รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ โต๊ะอิ่มได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อิ่มเป็นอะไร แต่ไม่ใช่ตอบเพราะอาศัยหลักที่ทราบเพียงคร่าวๆ นั่นเป็นการพิจารณา แต่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง

ขั้นพิจารณา เป็นขั้นเทียบเคียงให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่สติจะต้องระลึกบ่อยๆ เนืองๆ ที่ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ หรือว่าเป็นลักษณะของรูปซึ่งไม่ใช่สภาพรู้

สำหรับอธิโมกขเจตสิก ไม่ยากที่จะจำได้ คือ ไม่เกิดกับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง และไม่เกิดกับโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ ๑ ดวง เพราะฉะนั้น จึงเกิดกับจิต ๗๘ ดวง

โลภมูลจิต มีอธิโมกขเจตสิกไหม มี เพราะเว้นจิต ๑๑ ดวงเท่านั้น

สำหรับปกิณณกเจตสิกดวงที่ ๔ คือ วิริยเจตสิก เพียร ดีหรือไม่ดี อย่าลืม ปกิณณกเจตสิกเกิดกับกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ เพียรที่เป็นอกุศลก็ได้ เพียรที่เป็นกุศลก็ได้ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะตอบว่าดีหรือไม่ดี ต้องแล้วแต่ว่าวิริยเจตสิกนั้นเกิดกับกุศลจิตหรืออกุศลจิต สำหรับวิริยเจตสิกที่เว้นนี่จำง่าย คือ เว้น ไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖ ดวง นอกจากนั้นเกิดกับจิตทุกดวง

และเมื่ออเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ดวง ลองพิจารณาว่า วิริยเจตสิกควรจะเกิดกับอเหตุกจิตใดอีก ๒ ดวง ซึ่งก็คือ มโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่เกิดทุกภูมิ ทุกบุคคล โดยไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะเห็นต้องอาศัยตา คือ จักขุปสาท ขณะได้ยินต้องอาศัยโสตปสาท ขณะได้กลิ่น ถ้าไม่มีฆานปสาทจะไม่มีการได้กลิ่นเลย ขณะ ลิ้มรสต้องอาศัยชิวหาปสาท ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสว่าอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ต้องอาศัยกายปสาท แต่มโนทวาราวัชชนจิตไม่ต้องอาศัยปสาทรูปทั้ง ๕ ด้วยเหตุนี้มโนทวาราวัชชนจิตจึงมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย และอีกอเหตุกะดวงหนึ่ง คือ หสิตุปปาทจิต จิตที่ทำให้เกิดการแย้มหรือการยิ้มของพระอรหันต์ ซึ่งเป็นชวนจิต จิตใดก็ตามทำกิจชวนะ ต้องเป็นจิตที่มีกำลังกว่าจิตซึ่งไม่ใช่ชวนจิต เพราะฉะนั้น หสิตุปปาทจิตจึงมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย รวมวิริยเจตสิกเกิดกับจิต ๗๓ ดวง เว้น ไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖ ดวง

ขณะนี้วิริยเจตสิกเกิดหรือเปล่า ถ้าไม่ศึกษาเรื่องขณะจิต ถ้ากำลังเกียจคร้าน กำลังไม่ขยัน อาจจะบอกว่าไม่มีวิริยะ ไม่มีความเพียร แต่ถ้าศึกษาโดยละเอียดแล้ว วิริยเจตสิกไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖ ดวง เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นโลภมูลจิตหรือเปล่า เป็นโทสมูลจิตหรือเปล่า เป็นแม้โมหมูลจิตหรือเปล่า เป็นมหากุศลจิตหรือเปล่า ถ้าเป็น ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเว้น ไม่เกิดกับอเหตุกจิตเพียง ๑๖ ดวงเท่านั้น

ถ้าไม่ศึกษาก็ตอบง่ายๆ ว่า กำลังขี้เกียจ แต่จริงๆ ขณะนั้นเป็น โลภมูลจิตหรือเปล่า ถ้าเป็น ก็ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

นั่งเฉยๆ ฟังเพลงเพราะๆ ไม่ได้ทำอะไร มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม มี

ลุกขึ้นยืน ยังไม่ได้เล่นกีฬาหรืออะไรเลย มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม มี ขณะที่กำลังเขียนหนังสือ มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม ต้องบอกด้วยว่า กับจิตดวงไหน ที่ตอบมาตลอดว่า มี แต่วิริยเจตสิกไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖ ดวง เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็น ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ในขณะที่กำลังเขียนจดหมาย เห็นมี ขณะใดที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น ขณะนั้นไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเห็น คิดนึกมี โลภะมี โทสะมี โมหะมี กุศลจิตเกิด จิตอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่อเหตุกจิต ๑๖ ดวง มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

อย่าลืม เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เมื่อปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตเกิดต่อ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดหลังจากที่ภวังคจิตเกิดและดับไปแล้ว ขณะนั้นไม่รู้สึกตัวเลย แต่เมื่อเริ่มจะรู้สึกตัวในชาติหนึ่งชาติใด ต้องเป็นทางมโนทวารวิถี ซึ่งมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนวิถีอื่น ขณะนั้นมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม ขณะเดียวเท่านั้นเองที่เกิดขึ้นรู้สึกตัวทางมโนทวาร มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม มี เพราะวิริยเจตสิกไม่เกิดกับอเหตุกจิต ๑๖ ดวงเท่านั้น แต่เกิดกับ มโนทวาราวัชชนจิตและหสิตุปปาทจิต

ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดในนรก ปฏิสนธิจิตเป็นสันตีรณอกุศลวิบาก ขณะนั้นมี วิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม

อุเบกขาสันตีรณะทำกิจปฏิสนธิในนรก สืบต่อจากจุติจิตของชาติที่เป็นมนุษย์ ก็ได้ เมื่อเป็นผลของอกุศลกรรมจิตที่ปฏิสนธิต้องเป็นอกุศลวิบาก คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในนรก ในขณะที่อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในนรก มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี เพราะวิริยเจตสิกเกิดกับอเหตุกจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ มโนทวาราวัชชนจิตและหสิตุปปาทจิต ไม่เกิดกับ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต หรือทวิปัญจวิญญาณ หรือปัญจทวาราวัชชนจิตเลย

ถ้าเกิดในภูมิมนุษย์ ซึ่งทุกท่านเกิดแล้ว ย้อนกลับไปถึงขณะแรกที่ปฏิสนธิจิตเกิด สำหรับผู้ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด ขณะนั้นเป็นมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวงทำกิจปฏิสนธิ มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม มี น่าสงสัยไหม ถ้าสงสัย คงจะมีเรื่องสงสัยมาก ถ้าไม่สงสัย ก็ฟังไปเรื่อยๆ

แต่มีท่านผู้หนึ่งมีคำถามที่น่าสนใจมากว่า สัมปฏิจฉันนจิตที่เกิดต่อจาก จักขุวิญญาณ เป็นวิบากจิต เป็นอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ มีเจตสิกประกอบ ๑๐ ดวงเท่ากับสันตีรณจิตซึ่งเป็นชาติวิบากเช่นเดียวกัน ซึ่ง ๑๐ ดวงนั้น ได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ และปกิณณกเจตสิก ๓ รวมเป็น ๑๐ แต่ทำไมสัมปฏิจฉันนะจึงไม่ทำปฏิสนธิกิจ นี่คือคำถามซึ่งน่าคิด

สันตีรณอกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิได้ สันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิได้ เจตสิกที่ประกอบเท่ากับสัมปฏิจฉันนะ แต่ทำไมสัมปฏิจฉันนะไม่ทำกิจปฏิสนธิ

ถ้าไม่คิดก็ผ่านไปเลย ธรรมมีทางที่จะคิดได้มาก ซึ่งเป็นการฝึกฝนและอบรมหรือเป็นการลับปัญญาให้คมขึ้น มีท่านผู้ใดจะตอบบ้าง

ผู้ฟัง เพราะจิตมีกำลังอ่อน

สุ. เพราะสัมปฏิจฉันนะทำได้กิจเดียว เป็นพระปัญญาคุณที่ได้ทรงแสดงไว้เกี่ยวกับฐานหรือที่เกิดของจิตแต่ละประเภทว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นทำสัมปฏิจฉันนกิจ จะต้องทำระหว่างฐาน คือ จักขุวิญญาณและสันตีรณะ หรือโสตวิญญาณและ สันตีรณะ หรือฆานวิญญาณและสันตีรณะ หรือชิวหาวิญญาณและสันตีรณะ หรือกายวิญญาณและสันตีรณะ สัมปฏิจฉันนะไม่สามารถไปทำกิจสัมปฏิจฉันนะ ในระหว่างจิตอื่นได้เลย นอกจากระหว่างทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ และสันตีรณะเท่านั้น นี่คือกิจของจิตประเภทนี้ซึ่งไม่สามารถทำกิจอื่นได้ เพราะต้องทำกิจนี้ในระหว่างฐานนี้เท่านั้น

เมื่อจิตเกิดขึ้นเห็นและดับไป เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นทำ สัมปฏิจฉันนกิจ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไป เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตต่อไปเกิดขึ้นทำ สันตีรณกิจ แม้ว่าเป็นวิบากจิตด้วยกัน และมีเจตสิกประกอบเท่ากัน แต่โดยฐานะแล้วเป็นจิตต่างประเภท เนื่องจากสันตีรณะทำสัมปฏิจฉันนกิจไม่ได้ ในเมื่อจิตที่เกิดต่อจากจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ต้องเป็นสัมปฏิจฉันนจิต เพราะทำสัมปฏิจฉันนกิจ เพราะฉะนั้น สันตีรณกิจไม่ใช่สัมปฏิจฉันนกิจ สันตีรณจิตทำสัมปฏิจฉันนกิจไม่ได้ และสันตีรณจิตต่างกันกับ สัมปฏิจฉันนะนอกจากโดยกิจแล้ว ยังมีถึง ๓ ดวง ซึ่งสัมปฏิจฉันนจิตมีเพียง ๒ ดวงเท่านั้น

สำหรับสันตีรณจิตมี ๓ คือ เป็นอกุศลวิบาก ๑ ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก เป็นกุศลวิบาก ๒ ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก และโสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก

เพราะฉะนั้น โดยประเภท สันตีรณจิตไม่ใช่สัมปฏิจฉันนจิต นี่คือสิ่งที่จะต้องเข้าใจ ไม่ปนกันระหว่าง ๒ จิตนี้ และเมื่อเข้าใจแล้วจะรู้ว่า สัมปฏิจฉันนจิตทำ ปฏิสนธิกิจไม่ได้ โดยฐานที่จะต้องเกิดระหว่างทวิปัญจวิญญาณและสันตีรณะเท่านั้น และทรงแสดงไว้ด้วยว่า จิตแต่ละประเภทนั้นทำกิจได้กี่กิจ เพราะฉะนั้น เมื่อ อกุศลวิบากจิตมีเพียง ๗ จักขุวิญญาณทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ โสตวิญญาณทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ สัมปฏิจฉันนะทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ จึงมีแต่เพียงสันตีรณจิตเท่านั้นที่ทำกิจปฏิสนธิได้

ถ. ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เป็นอเหตุกจิต และมีเจตสิกประกอบ ๑๐ ดวงเช่นกัน ทำไมปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ทำปฏิสนธิกิจ

สุ. ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต กิริยาจิตทุกดวงทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ จิตที่ทำปฏิสนธิกิจได้ ต้องเป็นวิบากจิตประเภทเดียว

ปกิณณกเจตสิกดวงที่ ๕ คือ ปีติเจตสิก สภาพที่ปลาบปลื้ม เคยมีบ้างไหม ในวันหนึ่งๆ มากหรือน้อย บ่อยหรือไม่บ่อย แต่ทุกคนต้องมี

ขณะที่เกิดความรู้สึกดีใจ ตามปกติธรรมดาจะต้องมีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย นั่นเป็นสภาพลักษณะอาการที่ปรากฏ ที่เป็นความปลาบปลื้ม ความดีใจ เป็น ปีติเจตสิก ซึ่งไม่เกิดกับจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาทั้งหมด และสุขเวทนา ทุกขเวทนาทางกาย เพราะฉะนั้น จึงเกิดกับจิต ๕๑ ดวง คือ เกิดกับกามาวจรจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๑๘ ดวง ถ้านับโดยนัยของโลกุตตรธรรมด้วย ก็เป็นปฐมฌาน ๑๑ ดวง ทุติยฌาน ๑๑ ดวง ตติยฌาน ๑๑ ดวง เพราะฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ และฌานที่ ๓ ต้องประกอบด้วยโสมนัสเวทนา แต่ฌานที่ ๔ คือ จตุตถฌานนั้น ละปีติ จึงเป็นฌานที่มีสุข คือ โสมนัสเวทนา เกิดร่วมด้วย โดยไม่มีปีติเกิดร่วมด้วย นอกจากจตุตถฌานจิตแล้ว จิตใดมีโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย จิตนั้นต้องมี ปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

เปิด  163
ปรับปรุง  21 ต.ค. 2566