แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1134

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤษภาคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๕


การศึกษาธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และจุดประสงค์ของการศึกษาเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ถ้าไม่อาศัยการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด ก็ยากเหลือเกินที่จะพิจารณาเห็นว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และถึงแม้จะได้ฟังบ้างแล้ว ถ้าขาดการฟังต่อๆ ไปอีกโดยละเอียดขึ้นๆ ก็ย่อมไม่มีปัจจัยทำให้เห็นชัดประจักษ์แจ้งได้ว่า ไม่ว่าจะเห็นขณะใด หรือว่าได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส หรือว่าคิดนึกสิ่งใด ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นปรากฏเพียงชั่วขณะเล็กน้อย และก็ดับไป

และที่ว่า สภาพธรรมเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยและดับไปนี้ คำนี้อาจจะได้ยินจน ชินหู และได้ยินบ่อยๆ จนกระทั่งพูดตามได้ว่า สภาพธรรมมีอายุเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อย คือ เพียงชั่วขณะที่ปรากฏนิดเดียวและก็ดับไปเท่านั้นเอง ก็ยากที่จะประจักษ์แจ้งได้ เพราะว่าสภาพธรรมหนึ่งดับไปแล้ว ก็มีปัจจัยของสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่ออยู่เรื่อยๆ ทำให้ไม่ประจักษ์ว่า สภาพธรรมทุกอย่างมีอายุเพียงเล็กน้อยจริงๆ ชั่วขณะที่ปรากฏและก็ดับ

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า ทำไมจึงเน้นมากในเรื่องอายุของรูปซึ่งสั้นมาก คือ เพียงชั่วจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

นี่เป็นสิ่งซึ่งจะต้องประจักษ์แจ้ง มิฉะนั้นแล้วจะไม่ละคลายการยึดถือ สภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

โดยวิถีจิต ขณะนี้ คือ การเห็น ไม่ใช่ภวังคจิต การได้ยิน ไม่ใช่ภวังคจิต ขณะที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็ไม่ใช่ภวังคจิต จิตใดที่ไม่ใช่ภวังคจิต จิตนั้นเป็นวิถีจิต

ขณะนี้ซึ่งไม่เคยทราบมาก่อน ที่เห็นและได้ยินด้วย คิดนึกด้วย รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไรด้วย และรู้เรื่องที่ได้ยินด้วย ดูเสมือนพร้อมกัน คือ ในขณะที่เห็นก็ได้ยิน และยังรู้ว่าเห็นอะไร ได้ยินเรื่องอะไรด้วย จิตเกิดดับมากมายเกิน ๑๗ ขณะ นับ ไม่ถ้วนทีเดียว เพราะฉะนั้น ขอให้คิดถึงรูปๆ หนึ่งซึ่งมีอายุเพียง ๑๗ ขณะของจิตที่ เกิดดับและรูปนั้นก็ดับว่า จะเป็นการเกิดขึ้นและดับไปของรูปรวดเร็วสักแค่ไหน

และเมื่อยังไม่ประจักษ์ จึงต้องอาศัยการฟังพระธรรมเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมต่อไปอีกเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องของปัจจัย จะเห็นได้ว่า นามธรรมและรูปธรรมเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน โดยปัจจัยต่างๆ

ทั้งๆ ที่รูปมีอายุเพียงชั่วขณะที่สั้นที่สุด คือ เพียงชั่วขณะที่จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่ว่าเป็นปัจจัยทำให้จิตเกิดขึ้นเป็นประเภทต่างๆ เป็นวิถีจิต เกิดความยินดี ยินร้ายในรูปที่เพียงปรากฏและดับไป แต่เพราะการสืบต่อก็ยึดถือสภาพของรูปนั้น เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นบุคคล เป็นเรื่องราวต่างๆ ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต ซึ่งแท้ที่จริงถ้าตัดย่อยเหตุการณ์ที่ยาวออกให้สั้นที่สุด ก็เป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้นและก็ดับไป เท่านั้นเอง

ไม่ทราบว่าเคยสังเกตไหม เวลาอ่านหนังสือพิมพ์หรืออ่านหนังสืออะไรก็ได้ ตัวหนังสือ แท้ที่จริงแล้ว คือ ความต่างของสีขาวและสีดำ เคยรู้สึกไหมว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไรเลยนอกจากจิตที่กำลังคิดตามสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วแต่สัญญา ความจำ จะจำสีขาวสีดำซึ่งต่างกัน และก็นึกคิดเป็นสมมติบัญญัติขึ้น เป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นเหตุการณ์ต่างๆ ตามสิ่งที่เห็นทางตา ฉันใด ทางหูก็โดยนัยเดียวกัน ไม่ว่าได้ยินเสียงอะไร สัญญาที่จำก็จะจำเป็นเรื่อง เพราะฉะนั้น จึงมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เกิดความยินดียินร้ายมากมายในชีวิตประจำวัน เพราะสติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วสมมติสัจจะ หรือว่าเรื่องราวต่างๆ ย่อมมีไม่ได้ถ้าไม่มีการเห็นสีขาวสีดำที่ตัดกัน และสัญญาทรงจำเป็นเรื่องต่างๆ

การเห็นสิ่งใด จักขุทวารวิถีจิตทางตาดับไป เพราะว่ารูปมีอายุเพียงการเกิดดับของจิตชั่ว ๑๗ ขณะ หรือ ๑๗ ครั้ง หรือ ๑๗ ดวงเท่านั้น ทำให้ทางมโนทวารวิถีรับ สิ่งที่ทางตาจักขุทวารวิถีเห็นแล้วดับต่อ และนึกถึง เช่น ในขณะนี้นึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏเป็นบุคคลนั้น เป็นบุคคลนี้ เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดวัน ไม่ว่าจะเห็นอะไรทางตา ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ โดยปัจจัย จะมีใครไปยับยั้งว่า เห็นอย่างนี้แล้วให้คิดถึงอย่างอื่น เป็นไปได้โดยตลอดไหม อย่างขณะที่กำลังฟังนี้ ได้ยินคำอะไรทางหู เสียงอะไรกระทบ สัญญาความจำเกิดขึ้น ทำให้เข้าใจในเรื่องราวในเสียงนั้นๆ

เพราะฉะนั้น ชีวิตในวันหนึ่งๆ วิถีจิตทางตาเกิดและดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ ดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตก็เกิดต่อบ้าง หรือว่าทวารอื่นเกิดต่อบ้าง อาจจะเป็นโสตทวาร หรือว่าฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร สลับกับภวังคจิตไปเรื่อยๆ เท่านั้นเองแต่ละขณะ แต่ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ก็ยึดถือในสมมติสัจจะ ในเรื่องราว ในสมมติบัญญัติต่างๆ จนกระทั่งไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นของจริง เป็นสัจธรรม เป็น สังขารธรรม เพราะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง สภาพธรรมซึ่งแม้ว่าเพียงเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วนั้น จึงจะเกิดขึ้นได้

ชั่วขณะนี้สภาพธรรมที่ปรากฏ ปรากฏเพราะเกิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัย และสภาพธรรมนั้นก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าสติระลึกรู้จะรู้ว่า สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นและดับไปเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

สำหรับปัจจัยที่ได้ศึกษาไปแล้วมี ๑๒ ปัจจัย ขอทบทวน เพราะว่าจุดประสงค์ของการฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจจริงๆ เท่าที่สามารถจะเข้าใจได้ ไม่ใช่เพื่อการที่จะจำเอาไว้ว่า มีความรู้ ได้อ่านมาก หรือได้ฟังมาก แต่ทุกอย่างที่ฟังต้องเข้าใจด้วย และสามารถรู้หนทางที่จะพิสูจน์ได้ว่า การที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมว่าตรงกับที่ได้ศึกษามานั้น ต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร

. ทางมโนทวาร ตามที่ได้ศึกษามา อารมณ์ได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ และนิพพาน บัญญัติ เป็นอารมณ์ทางใจ เรียกว่า มโนทวาร สงสัยว่า จิตบางดวงหรือบางประเภทพ้นจากทวาร ได้แก่ มหัคคตวิปากจิต ๙ และ มหาวิบากจิต ๘ ที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ จิตเหล่านี้พ้นจากทวาร ถ้าไม่อาศัยมโนทวาร เกิดมาได้อย่างไร

สุ. ต้องพิจารณาตามลำดับขั้น คือ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตทุกดวง ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตจนถึงจุติจิต ต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด รูปใดซึ่งเป็นที่เกิดของจิต รูปนั้นเป็น วัตถุ คือ ที่ตั้ง หรือว่าที่เกิดของจิต

เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงวัตถุ ๖ อย่าลืม พยัญชนะต้องต่างกันด้วย ไม่ได้กล่าวถึงทวาร ๖ แต่กล่าวถึงวัตถุ ๖ ซึ่งหมายความเฉพาะรูปที่เป็นที่เกิดของจิต มีอยู่ ๖ รูป

จักขุปสาทเป็นที่เกิดของจิต ๒ ดวง ซึ่งทำกิจเห็น คือ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง และอกุศลวิบาก ๑ ดวง

ถ้าไม่เคยทราบว่าจิตที่กำลังเห็นในขณะนี้เกิดที่ไหน ให้ทราบว่า เฉพาะ จักขุวิญญาณซึ่งรู้แจ้งทางตา คือ สามารถเห็นสีสันวัณณะทุกอย่าง ไม่ว่าจะละเอียด หรือว่าต่างกันเป็นเพชรแท้เพชรเทียมอย่างไรก็ตามแต่ ส่วนสัด สีสันที่ปรากฏจะวิจิตรต่างกันอย่างไร จักขุวิญญาณทำทัสสนกิจ คือ ทำกิจเห็น และเกิดที่จักขุปสาทเพราะฉะนั้น จักขุปสาท เฉพาะรูปที่เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณเท่านั้นที่เป็นจักขุวัตถุ

ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง จักขุปสาทก็เกิดดับเพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่มีใครยับยั้งได้ว่า ระหว่างที่ได้ยินเสียงไม่ให้จักขุปสาทเกิด เพราะว่ารูปใดซึ่งเกิดเพราะกรรม กรรมเป็นสมุฏฐานทำให้รูปนั้นเกิดทุกขณะย่อยของจิต คือ ทุกอุปาทะ ฐิติ และ ภังคขณะของจิตแต่ละดวง แต่ว่าจักขุปสาทซึ่งไม่เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง จักขุปสาทรูปเกิดดับ แต่จักขุปสาทรูปนั้นไม่เป็นที่เกิดของ จักขุวิญญาณ เพราะว่าโสตวิญญาณกำลังเกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูปนั้น ไม่เป็นอายตนะ ไม่เป็นทวาร ไม่เป็นวัตถุ เป็นแต่เพียงจักขุปสาทรูปเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ต้องไม่ปนกันระหว่างรูปซึ่งเป็นทวารให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ และรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต สำหรับรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกชาติๆ ในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีขันธ์ ๕ มีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ๖ รูป คือ

จักขุปสาทรูปเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

โสตปสาทรูปเป็นเป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

ฆานปสาทรูป เฉพาะรูปซึ่งเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ ขณะนอนหลับสนิทมีฆานปสาทรูปเกิดดับ แต่ปสาทรูปเหล่านั้นไม่ใช่ฆานวัตถุ เฉพาะขณะใดก็ตามที่ ฆานวิญญาณเกิดขึ้นได้กลิ่น เฉพาะรูปซึ่งเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณเท่านั้นที่เป็นฆานวัตถุ ซึ่งฆานปสาทรูป ก็เป็นฆานวัตถุของฆานวิญญาณ ๒ ดวง คือ เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง

ทางลิ้น ชิวหาปสาทรูป ทางกาย กายปสาทรูป ก็โดยนัยเดียวกัน

นอกจากนั้นจิตอื่นทั้งหมดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เว้นจิต ๑๐ ดวง ซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่า ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ จิตอื่นนอกจากนี้ทั้งหมดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องเกิดที่หทยวัตถุ เป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตทุกดวง เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง

. หทยวัตถุ บางครั้งเรียกว่า มโนทวาร

สุ. ไม่ใช่ มโนทวารเป็นนามธรรม ได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ ไม่ใช่หทยวัตถุ นี่เป็นสิ่งซึ่งจะต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่า ทวาร ทางรู้อารมณ์มี ๖ วัตถุซึ่งเป็นรูป เป็นที่เกิดของจิตก็มี ๖ แต่ความต่างกันอยู่ที่ทวารที่ ๖ และวัตถุที่ ๖

เพราะว่าจักขุปสาทรูปเป็นจักขุทวาร สำหรับจิตทุกดวงที่รู้อารมณ์ทางจักขุ คือ จักขุปสาทรูปเป็นจักขุทวารของปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจักขุทวารของ จักขุวิญญาณ เป็นจักขุทวารของสัมปฏิจฉันนจิต เป็นจักขุทวารของสันตีรณจิต เป็นจักขุทวารของโวฏฐัพพนจิต เป็นจักขุทวารของชวนจิต เป็นจักขุทวารของ ตทาลัมพนจิต แต่เป็นจักขุวัตถุเฉพาะของจักขุวิญญาณ ๒ ดวงเท่านั้น

หมายความว่า วิถีจิตทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต อาศัยจักขุปสาทรูปเป็นทางที่จะรู้อารมณ์ทางตา แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ได้เกิดที่จักขุปสาท เกิดที่หทยวัตถุ เพราะฉะนั้น จักขุปสาทเป็นจักขุทวารของ ปัญจทวาราวัชชนจิต แต่หทยวัตถุเป็นที่เกิดของปัญจทวาราวัชชนจิต

นี่เป็นวิถีแรกทางจักขุทวาร เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จักขุวิญญาณเกิดต่อ อาศัยจักขุปสาทเป็นจักขุทวารเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา และอาศัยจักขุปสาทนั้น เป็นจักขุวัตถุ คือ เกิดที่จักขุปสาทนั้นด้วย

เมื่อจักขุวิญญาณดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ อาศัยจักขุปสาทนั้นเป็น จักขุทวาร แต่ไม่ได้เกิดที่จักขุปสาทนั้น เพราะว่าจิตอื่นทั้งหมดเกิดที่หทยวัตถุ เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดที่หทยวัตถุด้วย

ด้วยเหตุนี้ จักขุปสาทรูป จึงเป็นจักขุทวารของวิถีจิตทั้งหมดซึ่งรู้อาทางตา คือ เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต และตทาลัมพนจิต แต่เป็นจักขุวัตถุเฉพาะจักขุวิญญาณ ๒ ดวงเท่านั้น นี่คือความหมายของทวาร

สำหรับวัตถุมี ๖

จักขุปสาทเป็นจักขุวัตถุได้ เพราะเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ โสตปสาทเป็นโสตวัตถุได้ เพราะเป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ ฆานปสาทเป็นฆานวัตถุได้ เพราะเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ ชิวหาปสาทเป็นชิวหาวัตถุได้ เพราะเป็นที่เกิดของ ชิวหาวิญญาณ กายปสาทเป็นกายวัตถุได้ เพราะเป็นที่เกิดของกายวิญญาณ

แต่หทยวัตถุเป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมดนอกจากจิต ๑๐ ดวงนั้น ต่างกันแล้วระหว่างทวาร ๖ กับวัตถุ ๖ เพราะว่าสำหรับทวารที่ ๖ คือ จิต ได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ ชื่อว่า มโนทวาร ไม่ใช่รูป แต่สำหรับวัตถุ ต้องเป็นที่เกิดของจิตโดยนัยของวัตถุ ๖ ซึ่งวัตถุที่ ๖ ไม่ใช่ภวังคุปัจเฉทะ แต่เป็นหทยวัตถุ เป็นรูปธรรม

เปิด  159
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566