แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1131

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๙ พฤษภาคม ต่อวันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๕


ถ. เพราะฉะนั้น การเป็นพหูสูตของท่านพระอานนท์ ก็ด้วยว่าท่านสามารถชำนาญในฌานจิต ช่วยให้ท่านเป็นพหูสูตที่จำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด ใช่ไหม

สุ. พระเถระที่เป็นเอตทัคคะในสมัยพระผู้มีพระภาค ได้อบรมปัญญาบารมีมามาก ประกอบด้วยฌานที่เป็นคุณธรรมที่ทำให้ถึงความเป็นเอตทัคคะ อย่างท่าน พระอานนท์ ท่านต้องประกอบด้วยปฏิสัมภิทา ความชำนาญในเหตุ ในผล ในอรรถ ในนิรุตติ ในภาษา ในปฏิภาณ มากมายพอที่จะทรงจำพระสุตตันตปิฎกและ พระอภิธรรมปิฎกได้ที่จะทำสังคายนาโดยไม่ตกหล่นด้วยถ้อยคำซึ่งไพเราะอย่างยิ่ง ยากที่ใครสามารถจะกล่าวได้อย่างนั้น ทั้งคำถามและคำตอบโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นพระสูตรไหนๆ ทั้งหมด

สำหรับปัจฉาชาตปัจจัยให้ทราบว่า ปัจจัยธรรมได้แก่ จิต ๘๕ ดวง เว้น อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง และปฏิสนธิจิตทั้งหมดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ และต้องหมายรวมทั้งเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิตนั้นๆ ด้วย เป็นปัจจัยธรรม

สำหรับปัจจยุปบันธรรม ได้แก่ รูป ซึ่งจิตเป็นปัจจัยอุปถัมภ์ คือ รูปทุกรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ไม่ว่าจะเป็นรูปที่เกิดจากจิต หรือรูปที่เกิดจากกรรม หรือรูปที่เกิดจากอุตุ หรือรูปที่เกิดจากอาหารซึ่งเกิดก่อนและยังไม่ดับไป จิตที่เกิดภายหลัง จะเป็นปัจจัยอุปถัมภ์รูปนั้น โดยเป็นปัจฉาชาตปัจจัย

การอาศัยกันของนามธรรมและรูปธรรม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกาลของการเป็นปัจจัยว่า ถ้ารูปเป็นปัจจัยแก่นามธรรม รูปนั้นต้องเกิดก่อนและยังไม่ดับจึงจะเป็น ปุเรชาตปัจจัย แต่ถ้านามธรรมซึ่งเกิดภายหลังเป็นปัจจัย แม้นามธรรมนั้นจะเกิดภายหลังรูปก็จริง แต่นามธรรมนั้นก็อุปถัมภ์รูปที่เกิดก่อนโดยเป็นปัจฉาชาตปัจจัย

ข้อที่ควรพิจารณา ซึ่งมีแสดงไว้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ซึ่งท่านสามารถที่จะพิจารณาเองได้ คือ

ในอสัญญสัตตาพรหมภูมิ เป็นภูมิที่มีแต่รูป ไม่มีนามธรรมเกิดเลยในภูมินั้น มีปัจฉาชาตปัจจัยไหม

คำตอบ คือ ในภูมินั้นไม่มีทั้งปุเรชาตปัจจัยและปัจฉาชาตปัจจัย เพราะว่ามีแต่เฉพาะรูปธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้น

ท่านที่เข้าใจในเรื่องของนิโรธสมาบัติ คือ พระอนาคามีบุคคลและพระอรหันต์ซึ่งสามารถบรรลุคุณธรรมถึงอรูปฌานขั้นสูงสุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานสามารถที่จะดับจิตและเจตสิกได้ไม่เกิน ๗ วัน ซึ่งในระหว่างนั้นรูปที่เกิดจากกรรมก็ยังมี ไม่มีใครไปยับยั้งรูปซึ่งเกิดจากกรรมไม่ให้เกิดได้ เพราะว่ากรรมเป็นสมุฏฐานให้รูปนั้นเกิด แต่รูปที่เกิดจากจิตไม่มีเลย เพราะว่าในขณะนั้นจิตไม่เกิด รูปที่เกิดจากอุตุมี รูปที่เกิดจากอาหารมี และในขณะนั้นก็ไม่มีปัจฉาชาตปัจจัย เพราะว่าปัจฉาชาตปัจจัย ได้แก่ จิตและเจตสิกที่เกิดภายหลังอุปถัมภ์รูปซึ่งเกิดก่อน

อย่าลืมว่า นามธรรมและรูปธรรมเป็นสภาพที่กำลังเกิดดับอย่างเร็วที่สุดจนไม่สามารถที่จะคาดคะเนได้ จึงไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดดับ และถ้าเป็นอายตนะก็คือเป็นที่ประชุมให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ รูปนั้นจึงจะปรากฏ แต่รูปอื่นซึ่งไม่เป็นอารมณ์ของจิต ก็ไม่ปรากฏเลย

ท่านอาจจะคิดว่า ท่านมีรูปของท่านเองตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่ให้ทราบว่า ถึงมีก็เกิดดับอย่างเร็วที่สุด จนกระทั่งรูปใดไม่ปรากฏรูปนั้นก็ดับไปแล้ว จึงไม่ควรที่จะยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

เช่น ในขณะที่กำลังนั่งอยู่นี้ ลองพิสูจน์ดูว่า เป็นความจริงไหม มีท่านผู้ใดที่รู้สึกอ่อนๆ แข็งๆ ที่ศีรษะบ้างไหมในขณะที่กำลังนั่งอยู่ขณะนี้ ท่านทราบว่า มีศีรษะ และศีรษะมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นรูปใหญ่ หลายกลุ่ม หลายกลาป แต่ไม่เห็นจะหนัก หรือไม่เห็นจะแข็งเลย หรือว่าเมื่อไม่กระทบ ไม่สัมผัส ก็ไม่มีลักษณะที่อ่อนแข็งปรากฏเลย นี่ต้องเป็นความจริง นั่นเพราะว่าดับไปแล้วๆ อยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น รูปใดก็ตามจะปรากฏเฉพาะตรงส่วนที่กระทบกับปสาทเท่านั้นและก็ดับ แต่การที่จะรู้ว่ารูปเกิดดับจริงๆ ต้องรู้เวลาที่สภาพธรรมปรากฏและยังไม่ดับไป และปัญญาเจริญขึ้นจนรู้ว่าสภาพนั้นเป็นนามธรรมต่างจากรูปธรรม และ ละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดดับจริงๆ ในขณะนี้ได้

แต่ถึงแม้ว่ารูปมี เมื่อไม่ปรากฏ รูปนั้นก็หมดโอกาสที่จะพิสูจน์แล้ว เพราะว่าดับไปแล้ว เพียงแค่นี้ ก็จะเห็นสภาพที่เป็นอนัตตาของนามธรรมและรูปธรรมว่า หลงยึดร่างกายทั้งหมดที่ไม่ปรากฏว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา แต่แท้ที่จริงแล้วที่ว่า เป็นอนัตตา เฉพาะส่วนที่กระทบและปรากฏ ลักษณะที่ปรากฏนั้นจึงไม่ใช่ตัวตน เพราะถ้าเพียงแข็งเฉพาะตรงส่วนที่ปรากฏ ก็ไม่มีรูปร่างสัณฐานที่ว่าจะเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เพราะว่าเฉพาะลักษณะที่แข็งเท่านั้นที่ปรากฏ จึงจะประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ มิฉะนั้นแล้วก็ยังคงยึดถือรวบรวมไว้ ประชุมกันเป็นรูปร่าง อาการ เป็นท่าทางต่างๆ ซึ่งโดยลักษณะนั้น จะไม่เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

สำหรับการเกิดดับที่รวดเร็วของนามธรรมและรูปธรรม รูปธรรมเกิดดับมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ความหมายของสภาพธรรมซึ่งเล็กน้อย ภาษาบาลีใช้คำว่า ปริตฺต หรือ ปริตฺตํ ซึ่งหมายความว่า น้อย คือ นิดหน่อย ซึ่งมีคำอธิบายว่า

บทว่า ปริตฺตํ ความว่า น้อย คือ นิดหน่อย เพราะว่าชีวิตนั้นชื่อว่า นิดหน่อยเท่านั้น เพราะมีรสอร่อยก็นิดหน่อย มีขณะเป็นอยู่ก็นิดหน่อย มีความดำรงอยู่ก็นิดหน่อย ชีวิตนั้นชื่อว่ารวดเร็ว เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปรวดเร็ว

แต่ถ้าไม่ประจักษ์ความจริงอย่างนี้ ฟังแล้วก็ยังไม่หมดกิเลสแน่ๆ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับจริงๆ

สำหรับปัจฉาชาตปัจจัยที่จะเป็นปัจจัยแก่รูป ต้องเป็นปัจจัยเฉพาะในฐีติขณะของรูปเท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยในอุปาทขณะ

. รูปธรรมทั้งหมดมี ๒๘ รูป รูปทั้ง ๒๘ เป็นปุเรชาตปัจจัยทั้งหมดไหม

สุ. ไม่เป็น เฉพาะรูปซึ่งเป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดขึ้น หรือว่ารูปซึ่งเป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกเท่านั้น รูปที่ดับไปแล้วไม่ได้เป็นปัจจัยแก่จิตเลย เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นปุเรชาตปัจจัย แต่รูปใดก็ตามซึ่งเป็นปัจจัยโดยเป็นที่อาศัยเกิดของจิต รูปนั้นเป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัย หรือว่ารูปใดก็ตามซึ่งเกิดแล้วยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้จิตรู้รูปซึ่งกำลังปรากฏเป็นอารมณ์ ขณะนั้นเป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัย

แต่รูปอื่นๆ ที่ไม่เป็นปัจจัยให้จิตเกิด หรือรูปอื่นๆ ที่เกิดดับอยู่โดยไม่เป็นอารมณ์ของจิต รูปเหล่านั้นทั้งหมดไม่ใช่ปุเรชาตปัจจัย ปุเรชาตปัจจัยเฉพาะรูปซึ่งเป็น เป็นที่อาศัยเกิดของจิต หรือว่าเป็นอารัมมณปุเรชาตปัจจัย คือ จิตกำลังรู้รูปนั้น

. อารัมมณปุเรชาตปัจจัย ท่านหมายเฉพาะสัมมสนรูป ๑๘ แต่ อสัมมสนรูปอีก ๑๐ ก็เป็นอารมณ์ได้ ทำไมเป็นปุเรชาตปัจจัยไม่ได้

สุ. ไม่ใช่โดยเกิดก่อน เพราะว่ารูปเหล่านั้นไม่ได้มีสภาวลักษณะของตนแยกออกไปเกิดก่อนต่างหากจากนิปผันนรูป ๑๘ แต่เป็นรูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป หรือนิปผันนรูป ๑๘ โดยเป็นอาการ หรือเป็นวิการของนิปผันนรูป ไม่ใช่ว่ามีลักษณะสภาวะของตนต่างหากไปแยกเกิดออกมาได้

เป็นอารมณ์ได้ก็จริง แต่เป็นอารมณ์ไม่ใช่ว่าโดยที่สภาวลักษณะแยกออกไปเกิดก่อนต่างหาก แต่เมื่ออาศัยเกิดหรือว่าเป็นลักษณะที่วิการของนิปผันนรูปนั่นเอง ไม่ใช่แยกออกจากนิปผันนรูป เพราะฉะนั้น หมายความถึงการเกิดจริงๆ ไม่ใช่หมายถึงเฉพาะลักษณะหรืออาการที่วิการของรูป

รูปอ่อนรูปแข็งที่ตัวซึ่งไม่เป็นอารมณ์ รูปนั้นดับไปแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อารัมมณปุเรชาตปัจจัย หรือว่าหทยวัตถุซึ่งปกติเป็นที่เกิดของจิต แต่หทยวัตถุรูปใดไม่เป็นที่ตั้ง ที่เกิด ที่อาศัยของจิต หทยวัตถุนั้นก็ไม่ใช่วัตถุปุเรชาตปัจจัย เป็นแต่เพียงหทยรูปเท่านั้นเอง

ในขณะที่จักขุวิญญาณกำลังเห็น จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาทรูปซึ่งเป็น จักขวายตนะ คือ เป็นรูปที่เกิดขึ้นและยังไม่ดับไปและกระทบกับรูปารมณ์ เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น ในขณะนั้นหทยวัตถุก็มี แต่เมื่อหทยวัตถุไม่เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ เพราะฉะนั้น หทยวัตถุในขณะนั้นก็ไม่ใช่วัตถุปุเรชาตปัจจัยของจิต

รูปเกิดดับมากมาย บางรูปเท่านั้นที่เป็นปัจจัยให้เกิดจิต เพราะฉะนั้น เฉพาะรูปใดซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดจิต รูปนั้นเป็นอายตนะหนึ่งอายตนะใดแล้ว ขณะนั้นเป็น ปุเรชาตปัจจัย แต่ว่ารูปใดซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้เกิดจิต รูปนั้นจะเกิดขึ้นเพราะกรรม จะเกิดขึ้นเพราะอุตุ จะเกิดขึ้นเพราะอาหารประการใดๆ ก็ตาม รูปนั้นเกิดตามสมุฏฐานนั้นและก็ดับไปเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่าชีวิตน้อย เพราะว่าเพียงชั่วขณะจิตที่เกิดและก็ดับเท่านั้นเอง แต่ละขณะ

ซึ่งควรจะได้พิจารณาในขณะที่นามธรรมและรูปธรรมกำลังเป็นปัจจัยในขณะนี้ สืบต่อจากความเข้าใจปุเรชาตปัจจัยและปัจฉาชาตปัจจัยว่า ช่วงไหน ตอนไหนของการเป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งรูปตั้งอยู่เพียง ๑๗ ขณะ และที่เป็นปัจจัยนั้น เป็นตอนที่สำคัญอย่างไร

สำหรับปัจจัยต่อไปที่ทรงแสดง คือ อาเสวนปัจจัย ซึ่งมีคำอธิบายว่า คำว่า อาเสวนะ แปลว่า เสพบ่อยๆ คือ เสพอารมณ์บ่อยๆ ซึ่งได้แก่ ชวนจิตที่เกิดก่อนๆ เป็นอาเสวนปัจจัยแก่ชวนจิตที่เกิดหลังๆ เว้นวิบากจิต

ชวนจิต ได้แก่ กุศลจิต อกุศลจิต สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ และกิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์

เพราะฉะนั้น อาเสวนปัจจัย ได้แก่ กุศลจิต อกุศลจิต หรือกิริยาจิตที่ทำให้ ปัจจยุปบันธรรม คือ จิตที่เกิดต่อซึ่งเป็นจิตชาติเดียวกัน เสพอารมณ์ที่ตนเสพแล้วนั้นซ้ำอีก แสดงว่า ขณะที่ชวนจิต ๗ ขณะเกิดดับสืบต่อกันและเสพอารมณ์ซ้ำกัน ต้องเป็นจิตประเภทเดียว คือ เป็นชาติเดียวกัน

การที่จะเข้าใจเรื่องของอาเสวนปัจจัย ขอทบทวนขณะที่วิถีจิตจะเกิดโดยปัจจัยที่ได้ศึกษาไปแล้ว ก่อนที่วิถีจิตซึ่งเป็นชวนจิตจะเกิด มีวิถีจิตเกิดก่อนชวนจิตหรือเปล่า

ชวนจิต คือ กุศลจิต อกุศลจิต หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์ เป็นชวนจิต เป็นวิถีจิต แต่ก็มีวิถีจิตเกิดก่อนชวนจิต เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงวิถีจิตซึ่งเป็นชวนจิต ก็มีวิถีจิตที่เกิดก่อน และก่อนวิถีจิตมีจิตอะไรเกิดก่อน มีวิถีมุตตจิต คือ ภวังคจิต ต้องเกิดก่อนวิถีจิต

ในภูมิซึ่งมีขันธ์ ๕ ภวังคจิตอาศัยรูปเกิดขึ้นไหม

ทุกท่านกำลังมีภวังคจิตคั่นระหว่างการเห็น การได้ยิน การคิดนึก การรู้อารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้ทราบว่าในขณะนี้ภวังคจิตที่เกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องอาศัยรูปเกิด จะเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยรูปไม่ได้เลย จิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ต้องอาศัยรูปเกิดขึ้น

ภวังคจิตเกิดที่ไหน อาศัยรูปอะไร

เกิดที่หทยวัตถุที่เกิดก่อนและยังไม่ดับไป โดยหทยรูปเป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัยแก่ภวังคจิต แม้แต่ภวังคจิตที่กำลังเกิดในขณะนี้ก็ต้องอาศัยรูป แต่ว่าต้องเป็นรูปที่เป็นหทยวัตถุ ไม่ใช่รูปอื่น และหทยรูปนั้นต้องเป็นรูปที่เกิดก่อนภวังคจิตนั้น และยังตั้งอยู่ คือ ยังไม่ดับไป

ภวังคจิตที่เกิดในขณะนี้ เป็นปัจจัยแก่หทยวัตถุที่เกิดก่อนหรือเปล่า เวลานี้มีภวังคจิตกับหทยวัตถุ คือ หทยรูป ถ้าจะให้เข้าใจโดยปัจจัย ภวังคจิตต้องเกิดโดยอาศัยหทยรูปเป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัยแก่ภวังคจิต

ถามว่า ภวังคจิตเป็นปัจจัยแก่หทยรูปที่ตนอาศัยเกิดขึ้นหรือเปล่า และโดยปัจจัยอะไร

โดยปัจฉาชาตปัจจัย

คือ ขณะนี้เอง ไม่ยากเลย ถ้าเข้าใจจิตดวงไหน ก็ให้รู้ว่าจิตดวงนั้นต้องอาศัยรูปเกิดขึ้น และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จิตอื่นทั้งหมด ต้องเกิดที่หทยวัตถุ เพราะฉะนั้น หทยวัตถุเป็นวัตถุปุเรชาตปัจจัยแก่ภวังคจิต และภวังคจิตเป็นปัจฉาชาตปัจจัยแก่หทยรูปซึ่งเกิดก่อนและยังไม่ดับไป

นี่ยังไม่ใช่วิถีจิต กำลังนอนหลับสนิทจะต้องมีภวังคจิต อาศัยหทยวัตถุรูปซึ่งเกิดขึ้นและยังไม่ดับเป็นปัจจัย และในขณะเดียวกันภวังคจิตซึ่งเกิดก็เป็นปัจฉาชาตปัจจัยแก่รูปทั้งหมด ไม่ใช่แต่เฉพาะหทยรูปเท่านั้น ไม่ว่ารูปนั้นจะเกิดจากสมุฏฐานใดก็ตาม เมื่อเป็นรูปซึ่งเกิดและยังไม่ดับ จิตที่เกิดในขณะนั้นเป็นปัจฉาชาตปัจจัย อุปถัมภ์รูปซึ่งเกิดขึ้นและยังไม่ดับไป

เปิด  169
ปรับปรุง  19 ต.ค. 2566