แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 777

สุ. เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ถ้าจะเจริญสมถภาวนาโดยนัยของกสิณ ๑๐ หรือว่าโดยนัยอื่นๆ ก็ตาม ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาและรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า สงบได้อย่างไร และในขณะนั้นสติสัมปชัญญะบริบูรณ์พร้อมด้วยปัญญา อย่าถือเอาความว่างหรือความเฉยๆ เป็นสมถะ เพราะว่าผู้ที่เจริญอบรมสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา สติสัมปชัญญะสมบูรณ์บริบูรณ์พร้อมทั้งปัญญาด้วยในขณะนั้น

ถ้าท่านผู้ใดว่างๆ เฉยๆ ลักษณะของสติไม่มีเลยในขณะนั้น

ลักษณะของปัญญาที่สงบ เพราะรู้ว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงความว่าง หรือว่าเป็นแต่เพียงสภาพที่เป็นดิน เป็นแต่เพียงสภาพที่เป็นไฟ เป็นแต่เพียงสภาพที่เป็นน้ำ เป็นแต่เพียงสภาพที่เป็นลม หรือว่าเป็นแต่เพียงสีต่างๆ เท่านั้นเอง และเมื่อจิตแน่วแน่ตั้งมั่นคงอยู่ที่วัณณกสิณ คือ สีหนึ่งสีใด ได้แก่ สีขาว สีเหลือง สีแดง หรือสีนิล เป็นต้น ก็ย่อมจะทำให้จิตสงบได้

เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนาเป็นเรื่องละเอียด แต่ว่าไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่เป็นการดีถ้ากุศลจิตจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น ในขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใด น้อมนึกถึงสภาพที่เป็นดิน สำหรับผู้ที่เคยอบรมปัญญาในอดีตมาแล้วจนมีความชำนาญ แม้เพียงเห็นดินที่สมมติว่าเป็นดิน ก็สามารถที่จะสงบได้ ทำให้น้อมระลึกถึงดินอื่นๆ เป็นดินไปทั้งหมดได้จริงๆ ซึ่งนั่นสำหรับผู้ที่อบรมเจริญมาแล้ว แต่ว่าสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญมา ท่านผู้ฟังก็พิจารณาได้ว่า วันหนึ่งๆ ท่านคิดถึงสภาพที่เป็นดินของอะไรบ้างหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ลักษณะนั้นก็เป็นเพียงดินชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง ก็ไม่ค่อยจะได้น้อมระลึกถึง แต่ถ้าระลึกถึงได้ขณะใด ขณะนั้นสงบนิดหนึ่งเพราะว่ายังไม่ตั้งมั่น ซึ่งสำหรับผู้ที่อบรมเจริญมาแล้ว จึงจะสามารถถึงอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิได้โดยไม่ต้องอาศัยดินที่เป็นปฐวีกสิณ

ขอกล่าวถึงข้อความใน พระไตรปิฎก เพื่อท่านผู้ฟังจะได้เปรียบเทียบประโยชน์และการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านในชีวิตประจำวัน ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาสาโรปมสูตร ข้อ ๓๔๗ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ เมื่อพระเทวทัตหลีกไปไม่นาน ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้จะพึงปรากฏ เขาบวชอย่างนั้น แล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่ปรากฏ มีศักดาน้อย เขาย่อมมัวเมา ถึงความประมาท เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่น บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่นไม้ ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จักสะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ จริงอย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้ มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขาจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด กุลบุตรบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปยาสท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้จะพึงปรากฏ เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ ไม่ปรากฏ (หรือมีคนรู้จักน้อย) มีศักดาน้อย เขาย่อมมัวเมาถึงความประมาท เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า ได้ถือเอากิ่งและใบของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่กิ่งและใบนั้น

จะเห็นได้ว่า ก่อนจะบวชมีศรัทธา เห็นว่าตนเองเป็นผู้ที่มีชาติ ชรา มรณะ โสกะท่วมทับแล้ว มีความตั้งใจจริงๆ ที่จะดับทุกข์ ที่จะกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวล แต่ว่ากิเลสที่มีอยู่มากในใจก็ย่อมจะปรากฏสำหรับผู้ที่ยังประมาทอยู่ เพราะว่าบางท่านเมื่อบวชแล้ว ก็เป็นผู้ที่มีลาภ สักการะ และสรรเสริญ ทำให้เกิดกิเลส ยกตนข่มผู้อื่น และเป็นผู้ที่มัวเมาถึงความประมาท จึงไม่สามารถที่จะบรรลุธรรม เพราะฉะนั้น อุปมาเหมือนบุคคลที่มีความคิดที่จะแสวงหาแก่นไม้ และก็พบต้นไม้ที่มีแก่น แต่ก็ถือเอาเพียงกิ่งและใบไม้ของพรหมจรรย์เท่านั้น

สำหรับบางคน ก็มีคุณธรรมที่สูงกว่านั้น คือ เป็นผู้ไม่ติดในลาภสักการะ ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า

… เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จ เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีศีล มีกัลยาณธรรม ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม เขาย่อมมัวเมาถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ฯ

สำหรับบุคคลนี้ อุปมาเหมือนบุคคลผู้ถากเอาสะเก็ดถือไป โดยสำคัญว่าแก่น

เพราะฉะนั้น กุศลมีตามลำดับขั้น แต่ไม่ควรติดสักขั้นเดียว มิฉะนั้นจะไม่ได้รับแก่นของพรหมจรรย์ เพราะบางท่านไม่ติดในลาภสักการะ ทำให้เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศีล แต่ด้วยความถึงพร้อมด้วยศีลนั่นเอง ก็เป็นผู้ที่ยกตนข่มผู้อื่น และเป็นผู้ที่ประมาทมัวเมา เพราะฉะนั้น เมื่อตั้งใจที่จะได้แก่นไม้ แต่ก็เพียงถากเอาสะเก็ดแล้วก็ถือไป

อีกบุคคลหนึ่ง เป็นผู้ไม่ยินดี ไม่มัวเมา ไม่ประมาท ในเมื่อถึงพร้อมด้วยศีล ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า

… เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิให้สำเร็จ เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิดแล้ว เขาย่อมมัวเมาถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ฯ

สำหรับบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ ทั้งๆ ที่ตั้งใจที่จะได้แก่นไม้ แต่ก็ไม่ถึงแก่น ได้เพียงเปลือก ถากเอาเปลือกถือไป สำคัญว่าแก่น

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสได้จริงๆ เป็นเรื่องที่ต้องละทั้งหมด แม้แต่ขณะที่กุศลจิตเกิดถึงขั้นของสมาธิ ก็ยังต้องศึกษารู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับไป

ในขณะที่กำลังยินดีด้วยศีลบ้าง หรือว่ายินดีในสมาธิบ้าง ในขณะนั้น สติปัฏฐานเกิดไหม หรือว่ามีความคิดระลึกได้ว่า ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของความสงบที่ปรากฏในขณะนั้น เพื่อที่จะได้ไม่ยึดถือลักษณะของความสงบนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตนที่กำลังเป็นกุศล เพราะว่าแม้กุศลจิตเกิด ก็ยังเป็นที่ตั้งของความยินดีได้ เมื่อยังยินดีในกุศลขั้นนั้น ก็ยังเป็นผู้ที่ประมาท เป็นผู้ที่มัวเมาอยู่

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสถึงบุคคลผู้ไม่ยินดี ไม่มัวเมา ไม่ประมาทในความถึงพร้อมด้วยสมาธิ เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังญาณทัสสนะให้สำเร็จ เป็นผู้ที่ถากเอากระพี้ถือไป สำคัญว่าแก่น เพราะที่สุดแห่งพรหมจรรย์ คือ แก่นของพรหมจรรย์นั้น ไม่ใช่เพียงการบรรลุถึงญาณทัสสนะเท่านั้น แต่จะต้องถึงการดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท ถึงความเป็นอรหันต์

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังต้องอบรมเจริญสติมากจนกระทั่งเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นใดในขณะนั้น ก็ไม่ควรที่จะติด

ผู้ที่บวชแล้ว มีผลของกุศลคือการบวช ทำให้ได้ลาภ สักการะ สรรเสริญ ซึ่งก็ไม่ควรติด เพราะถ้าเป็นผู้ที่มัวเมาประมาท ย่อมไม่สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมสูงขึ้น เท่ากับได้เพียงกิ่งและใบของพรหมจรรย์

และสำหรับผู้ที่ไม่ประมาท ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สามารถที่จะละความยินดีในลาภ ในสรรเสริญ ในสักการะ เห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่มีสาระ เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้นก็รักษาศีลได้อย่างเคร่งครัด เป็นผู้ที่ถึงความสมบูรณ์ด้วยศีล แต่แม้กระนั้นถ้าเกิดความยินดีพอใจในศีลของตน ก็เป็นผู้ที่มัวเมา ยังเป็นผู้ที่ประมาทอยู่ ไม่สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมสูงขึ้นไปกว่านั้นได้ คือ ความสงบ เพราะว่ายังยินดีและมัวเมาในศีลของตน

และเมื่อมีความสงบแล้ว อย่าลืม ขาดการอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ได้เลย มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ถึงแก่น คงจะถึงเพียงเปลือกบ้าง กระพี้บ้าง สะเก็ดบ้าง ใบบ้าง กิ่งบ้าง

ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬสาโรปมสูตร ข้อ ๓๕๓ มีข้อความโดยนัยเดียวกัน แต่กล่าวถึงบุคคลที่สามารถจะบรรลุคุณธรรมทั้งสมถะและวิปัสสนาถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ จนกระทั่งสามารถที่จะถึงสัญญาเวทยิตนิโรธได้

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ธรรมเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล และใน มหาสาโรปมสูตร ไม่ได้กล่าวถึงการที่จะบรรลุถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ ซึ่งหมายถึงผู้ที่จะดับนามธรรมได้แม้ว่ายังมีชีวิตอยู่ โดยต้องเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมถึงความเป็น พระอนาคามีบุคคลที่อบรมเจริญสมถภาวนาถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานซึ่งเป็นอรูปฌานที่ ๔ เป็นสมาธิที่มั่นคง ไม่มีสมถภาวนาความสงบที่จะมั่นคงยิ่งไปกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมนี้ได้ พระผู้มีพระภาคก็ให้อบรมเจริญปัญญาและความสงบ เพราะว่าบุคคลนั้นสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมได้ถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ คือ สมาบัติซึ่งดับจิตเจตสิกแม้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

เพราะฉะนั้น แต่ละท่านควรจะได้พิจารณาว่า ถ้าไม่ใช่ผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานที่จะดับกิเลส ก็หมายความว่าท่านยังติดอยู่ในขั้นหนึ่งขั้นใด อาจจะเป็นในลาภ สักการะ สรรเสริญ หรืออาจจะเป็นในศีล พอใจแล้ว ยินดีแล้ว มัวเมาแล้ว หรือว่า ในความสงบซึ่งมั่นคงเป็นสมาธิ แต่ว่าแก่นของพรหมจรรย์ คือ การบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นอรหันต์ ดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ไม่มีกิเลสใดๆ เหลือเลย ซึ่งสามารถจะประพฤติปฏิบัติได้ และผู้ที่บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ก็มีแล้วเป็นจำนวนมากด้วย

สำหรับในยุคนี้สมัยนี้ ไม่ใช่กาลสำหรับผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็น พระอรหันต์ก็จริง แต่ก็สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล พระสกทาคามีบุคคล และพระโสดาบันบุคคลได้ ถ้าไม่ติดอยู่ในศีลบ้าง ในสมาธิบ้าง หรือว่าในลาภสักการะบ้าง

. ตามพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ข้างต้น ก็เป็นจริงทุกอย่าง แต่ว่าผู้ที่เข้าใจมรรคมีองค์ ๘ และเคยเจริญมรรคมีองค์ ๘ มาแล้ว แม้จะติดอยู่ในศีล ติดอยู่ในลาภ ติดในสมาธิก็ดี อย่างไรๆ ก็ต้องเจริญสติปัฏฐาน เพราะสติปัฏฐานเมื่อมีเหตุมีปัจจัยก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ใครก็ตามถ้าสามารถรักษาศีล ทำสมาธิ เป็นการดีทั้งหมด แต่ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เขาผู้นั้นเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานถูกหรือยัง เขาเจริญได้หรือยัง ถ้าเขาผู้นั้นเจริญสติปัฏฐานได้แล้ว ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ควรจะเจริญให้มาก เชื่อว่าที่จะติดอย่างไรๆ ก็ติดไม่ได้แน่นนัก เมื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้น เขาก็ต้องพิจารณาแน่นอน

สุ. สติปัฏฐานมีกำลังแล้วหรือยัง เจริญอบรมมั่นคงพอแล้วหรือยัง

ถ. แม้จะยังไม่พอ ก็มีปัจจัย คือ ถ้าเข้าใจสติปัฏฐานแล้ว แม้สมาธิจะแนบแน่นกับอารมณ์ถึงขนาดไหน เขาไม่ทิ้งแน่นอน

สุ. เวลาที่สติไม่เกิด เรียกว่าทิ้งหรือเปล่า

ถ. ทิ้ง แต่โอกาสที่สติจะเกิดมี จะติดในสมาธิอย่างไรๆ สติขั้นสติปัฏฐานก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่ชื่อว่าติด แม้จะติดอย่างไร โอกาสที่จะหลุดก็มีอยู่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาเรื่องศีลก็ดี เรื่องสมาธิก็ดี และอบรมไปเรื่อยๆ ผมคิดว่า ดีแน่นอน

สุ. ทุกอย่างดี ถ้าไม่ทิ้งสติปัฏฐาน หลักสำคัญที่สุด ที่สูงที่สุด คือ อบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งการอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้ศีลสมบูรณ์ขึ้น ความสงบมั่งคงขึ้น

แต่ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานยังไม่มั่นคง ถึงแม้ว่าท่านจะสะสมศีลไว้มาก หรือว่าความสงบไว้มาก สติปัฏฐานที่ไม่มั่นคงก็ไม่สามารถที่จะเห็นว่า แม้ในขณะที่เป็นกุศลขั้นศีล หรือว่าขั้นความสงบนั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีกำลังพอที่จะสามารถระลึกรู้ลักษณะของอกุศลใดๆ และกุศลใดๆ ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวท่าน ไม่ใช่ของท่านทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

เปิด  251
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566