แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 780

สุ. แม้ว่าจะมีการประพฤติขัดเกลาทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทางอาชีพ และเป็นผู้ที่คุ้มครองทวารทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นผู้ที่บริโภคโดยรู้จักประมาณ แต่ก็ยังไม่พอ

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสโอวาทภิกษุให้เป็นผู้ที่ ประกอบเนืองๆ ในความเป็นผู้ตื่น จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นเครื่องกีดกั้น ด้วยการจงกรมและการนั่งตลอดวัน จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นเครื่องกีดกั้น ด้วยการจงกรมและการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี จักสำเร็จการนอนดังราชสีห์โดยเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำไว้ในใจถึงความสำคัญในอันลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี กลับลุกขึ้นแล้ว จักชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากธรรมเป็นเครื่อง กีดกั้น ด้วยการจงกรมและการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี

สำหรับบรรพชิต ท่านที่ใคร่จะบวชต้องเป็นผู้ที่ขยัน และอดทน มีความมุ่งมั่นจริงๆ ที่จะอบรมเจริญปัญญาโดยความเป็นผู้ตื่น

ฟังดูแล้วก็คิดถึงชีวิตของคฤหัสถ์ว่าต่างกัน ตอนกลางวันทุกท่านก็ไม่ได้นอน ใช่ไหม ก็นั่งบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง แต่สำหรับฆราวาส ประกอบกิจการงานของคฤหัสถ์ด้วย สำหรับพระภิกษุ ท่านไม่มีการประกอบอาหารเอง หรือว่าไม่มีกิจที่จะหาเลี้ยงชีพอย่างคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น บางท่านที่ไม่มนสิการ คือ ไม่พิจารณาสภาพธรรมโดยความแยบคาย อาจจะเกิดความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติได้ เวลาที่ท่านเห็นพระภิกษุ

ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระภิกษุเหล่านั้นไม่ต้องศึกษาภาษาบาลี เพราะท่านรู้ภาษาบาลี ภาษามคธ โดยที่ไม่ต้องเรียน ท่านไม่ต้องอ่านพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม เพราะในครั้งนั้นไม่มีการจารึกเป็นอักษร ดังนั้น ท่านก็มีกิจของสมณะ คือ การบิณฑบาต บริหารร่างกาย และไปเฝ้าฟังธรรมของพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น เวลาที่เหลือ สมณะทั้งหลายไม่มีกิจอย่างคฤหัสถ์ ก็ย่อมเป็นผู้ที่เดิน นั่ง ในเวลากลางวัน ซึ่งคฤหัสถ์บางท่านที่ไม่เข้าใจ ไม่พิจารณาเหตุผลในการปฏิบัติ ก็เริ่มที่จะเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ โดยคิดว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานทำอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นผู้ที่เดิน นั่ง ในเวลากลางวัน และกระทำตามๆ กันมาโดยที่ไม่ได้ศึกษาในเหตุผล ซึ่งไม่เป็นเหตุให้เกิดปัญญาหลายประการ

ที่เคยได้ฟัง คือ มีพระเถระก่อนที่ท่านจะไปบิณฑบาต ท่านก็ยกบาตรขึ้นส่อง เพื่อดูว่ามีรอยแตกหรือว่ามีรอยร้าวบ้างไหม แต่ว่าพระภิกษุใหม่หรือสามเณรน้อยไม่เข้าใจในเหตุผลนั้น แต่ก็ทำตามๆ กัน เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่ไม่พิจารณาเหตุผลโดยแยบคาย ย่อมเป็นเหตุทำให้เข้าใจข้อปฏิบัติผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้ศึกษาข้อปฏิบัติจริงๆ ให้เข้าใจในเหตุผล แต่เห็นพระภิกษุท่านเดิน นั่ง ในเวลากลางวัน ก็อาจจะคิดว่า การอบรมเจริญปัญญาต้องทำอย่างนั้น คือ เดิน นั่ง ในเวลากลางวัน แต่ว่าตามความเป็นจริง คฤหัสถ์ก็เป็นเพศคฤหัสถ์ บรรพชิตก็เป็นเพศบรรพชิต บรรพชิตก็มีกิจของบรรพชิต กิจที่จะฟังธรรม กิจที่จะแสดงธรรม กิจที่จะเจริญสมณธรรม แต่ไม่ใช่กิจประกอบการงานอาชีพอย่างชาวบ้านหรืออย่างฆราวาส

สำหรับฆราวาสเอง ก็เป็นผู้ที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศของฆราวาสตามความเป็นจริง เพราะเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียด และเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยของแต่ละบุคคลตามที่ได้สะสมมา ไม่ใช่แต่เฉพาะในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น การสะสมของจิตที่จะวิจิตรต่างๆ กันไป ก็ตั้งแต่อดีตอนันตชาติทีเดียว ซึ่งในเวลาเดียวกันนี้ ขณะนี้ จิตของแต่ละคนก็ต่างกันไป วิจิตรมาก นับไม่ถ้วนตามการสะสมทั้งในปัจจุบันชาติและอดีตอนันตชาติ

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ปัญญาต้องสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลตามความต่างกันของการสะสม ไม่ใช่ว่าไปเพียรทำอะไรให้เหมือนกัน เพราะไม่มีวันที่จิตของแต่ละคนที่สะสมมาต่างกันจะเกิดขึ้นเหมือนกันได้ แม้ในขณะที่เห็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะนี้ก็ได้ ลองดูว่าจิตของใครจะเหมือนกันบ้างหลังจากที่เห็นแล้ว ไม่มีใครสามารถที่จะรู้จิตของบุคคลอื่นได้เลยนอกจากจิตของตนเอง

ไม่ทราบว่าท่านเคยสังเกตดูตาของบุคคลอื่นบ้างไหม อย่างท่านที่ยืนอยู่ตามถนนและไม่ได้ทำกิจอะไร ลองดูตาของบุคคลเหล่านั้น ไม่สามารถจะทราบถึงจิตของบุคคลนั้นอย่างละเอียดได้เลย แต่รู้ว่าทุกคนต้องคิด เมื่อเห็นแล้วก็คิด แต่ว่าความคิดของแต่ละคนนั้นช่างต่างกันมากมายตามการสะสมทั้งในปัจจุบันชาติและอดีตอนันตชาติด้วย

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงโอวาทภิกษุ สำหรับผู้ที่มีจิตศรัทธาที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิตให้เป็นภิกษุจริงๆ เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยที่ว่าสำหรับภิกษุ จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นเครื่องกีดกั้นด้วยการจงกรม การนั่งมากๆ ไม่ดี เดินมากๆ ดีกว่า แต่ก็มีการนั่งด้วย เพราะไม่มีใครสามารถจะเดินได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น สำหรับเพศบรรพชิต ก็จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นเครื่องกีดกั้น ด้วยการจงกรมและการนั่งตลอดวัน

จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นเครื่องกีดกั้น ด้วยการจงกรมและการนั่งตลอดปฐมยาม คือ ตั้งแต่ ๖ โมงเย็น ถึง ๔ ทุ่ม ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานนั้น ก็มีการฟังธรรมในตอนเย็น เมื่อฟังแล้วต่างก็กลับไปสู่ที่พัก แต่ยังไม่ใช่เวลาที่สมควรแก่การที่จะนอน เพราะฉะนั้น สำหรับในปฐมยามก็มีการเดินจงกรมกลับไปกลับมา ไม่ใช่เป็นการเดินทางไกลอย่างการจาริกไปสู่ที่ต่างๆ และมีการนั่งด้วยตลอดปฐมยาม เป็นปกติตามความเป็นจริง

ชีวิตของคฤหัสถ์เป็นอย่างนี้หรือเปล่า ลองคิดดู ไม่พ้นจากเดิน นั่ง และยืน ใช่ไหม

ถ. ที่กล่าวว่า เดินจงกรม หรือว่าเพียรนั่งอยู่ จะเป็นการจดจ้องหรือเปล่า เป็นปกติของท่านอย่างนั้น หรือว่าเป็นการจดจ้อง

สุ. เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กำลังยืนอยู่ใช่ไหมในขณะนี้ แล้วแต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

ทางตา มีไหม กำลังปรากฏ แล้วแต่สติจะระลึกไหม ทางหู มีสภาพธรรมปรากฏ แล้วแต่สติจะระลึกไหม ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติตามความเป็นจริง เพราะว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ต้องมีปัญญาที่จะพิจารณารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม

ถ. ดิฉันเคยไปปฏิบัติในห้องกัมมัฏฐาน เป็นเวลาล่วงมา ๒๐ กว่าปีแล้ว ซึ่งการอบรมให้ปฏิบัตินั้น คือ การเดิน เท้าก้าวไป ก็รู้สึกที่เท้าทั้งท่อน ทั้งดุ้น

สุ. ตามความเป็นจริงรู้สึกอย่างนั้นหรือเปล่า หรือว่าพยายามที่จะให้รู้อย่างนั้น

ถ. พยายาม

สุ. แต่ตามความเป็นจริง ทางตาก็เห็น ทางหูก็ได้ยิน นี่ตามความเป็นจริง ไม่ต้องไปพยายามที่จะรู้ทั้งท่อนที่ก้าวไป ใช่ไหม

ถ. แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิดของผู้สอนรวมทั้งผู้ปฏิบัติด้วย ก็ไม่รู้อะไร ก้าวเดินไปก็รู้สึกว่า ให้รู้ ต้องมีคำว่า ให้รู้ด้วย ให้รู้ที่ อาจจะเป็นการบังคับให้รู้ที่เท้า ที่ก้าวไป แต่ขณะที่มีเสียงก็ไม่ได้ระลึก

สุ. เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ย่อมเป็นผู้ที่พิจารณารู้ข้อปฏิบัติด้วยความแยบคายว่า เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้รู้สภาพธรรมจริงๆ ที่ปรากฏหรือเปล่า เพราะว่าในขณะนั้นทางตาก็มีเห็นเหมือนในขณะนี้ ไม่ว่าจะนั่ง หรือจะนอน หรือ จะยืน หรือจะเดิน หรือจะกระทำกิจการงาน หรือจะพูด หรือจะนิ่ง หรือจะคิด ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีสภาพธรรมแต่ละลักษณะ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้รับฟังอย่างนั้น ย่อมเป็นผู้ที่ตรงด้วยปัญญาที่พิจารณาในเหตุผลว่า เป็นการไปพยายามที่จะรู้อย่างอื่นซึ่งไม่ใช่สภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ผู้ที่พิจารณาโดยแยบคายแล้ว ย่อมทิ้งข้อปฏิบัติซึ่งไม่ทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เพราะเสียเวลาในการพยายามที่จะรู้อื่น เมื่อทิ้งข้อปฏิบัตินั้นแล้ว สติก็เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพื่อที่จะได้รู้ชัด รู้จริงในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ถ. จากการที่เขาสอนให้รู้ชัดว่าเราเดิน เรานั่ง เราก้าวไป ถอยหน้า ถอยหลัง ซึ่งก็ยังเป็นเราอยู่ เราเดิน เราก้าวไป แต่เขาก็อ้าง มหาสติปัฏฐานสูตร ว่า มีกล่าวอย่างนี้ ดิฉันขณะนั้นก็ยังไม่เข้าใจอะไร ดิฉันก็ดูตามตัวหนังสือ ความแยบคายในการเข้าใจข้อความจริงๆ ก็ไม่มี แต่ระยะหลังที่มาปฏิบัติตามที่อาจารย์บรรยาย ดิฉันก็ได้อ่าน มหาสติปัฏฐานสูตร อีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นที่แน่นอนว่า ท่านพูดไว้ว่า รู้ชัดว่าเราเดิน รู้ชัดว่าเรานอน รู้ชัดว่าเราก้าวไป ถอยมา แต่คำสรุปสุดท้ายมีว่า ถ้าหากว่าธรรมใดปรากฏ ก็รู้ชัดในธรรมนั้น

สุ. ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ต้องพิจารณาโดยความแยบคายตั้งแต่ อานาปานบรรพ บรรพที่เนื่องด้วยลมหายใจ อิริยาปถบรรพที่เนื่องด้วยอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน และสัมปชัญญบรรพ อิริยาบถในการเคลื่อนไหวเหยียดคู้ เป็นต้นเหล่านี้ แม้แต่คำพยัญชนะที่ว่า เรา ก็จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มหาสติปัฏฐานสูตร โดยนัยของการที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นตัวตน เช่น ที่เรียกว่า ลมหายใจ ผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานเลย เข้าใจทันทีใช่ไหมเวลาที่พูดถึงลมหายใจ ว่าหมายความถึงลมที่กระทบที่ช่องจมูก ที่กำลังหายใจกันอยู่ นี่ก่อนการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

แต่ถ้าพูดถึงลักษณะของธาตุลม ที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะสภาพธรรมที่มีจริง ที่ปรากฏทางกายเมื่อกระทบกาย ซึ่งสภาพธรรมที่สามารถจะรู้ได้ทางกายมี ๓ ธาตุ คือ ธาตุดิน ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟ ลักษณะที่เย็นหรือร้อน ธาตุลม ลักษณะที่ตึงหรือไหว

ก่อนเจริญสติปัฏฐานเข้าใจว่าลมหายใจเป็นอย่างไร เป็นของเรา เราหายใจ ไม่ใช่ของคนอื่น เป็นลมหายใจที่เรากำลังหายใจ แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่อให้เห็นความจริงว่า แม้ลมที่กระทบที่ช่องจมูกซึ่งเคยเข้าใจว่าเป็นลมหายใจของเรานั้น ก็เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะอ่อน คือเบา แข็งหรือแรง เย็นหรือร้อนคืออุ่น เกิดขึ้นปรากฏตรงไหน ดับไปตรงนั้น จึงไม่ใช่ของเรา เป็นแต่เพียงสภาวธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ฉันใด สำหรับอิริยาบถบรรพ นั่ง นอน ยืน เดิน ก่อนอบรม เจริญสติปัฏฐานก็รู้ว่า นั่งเป็นอย่างไร นอนเป็นอย่างไร ยืนเป็นอย่างไร เดินเป็นอย่างไร แต่การอบรมเจริญปัญญานั้น เพื่อที่จะให้ประจักษ์ในสิ่งที่เคยเข้าใจว่า เป็นนั่ง นอน ยืน เดิน ว่าเป็นสภาพของธาตุที่ปรากฏที่กาย คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ตามความเป็นจริง

หรือแม้แต่สัมปชัญญะบรรพ การเคลื่อนไหว เหยียดคู้ ก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับมาข้างหลังที่เป็นชีวิตปกติประจำวัน ซึ่งก่อนอบรมเจริญสติปัฏฐานก็รู้ในลักษณะอาการนั้นๆ แต่ไม่ประจักษ์ในความไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นสภาพของธรรมแต่ละลักษณะซึ่งปรากฏแต่ละทาง

การอบรมเจริญสติปัฏฐาน พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มหาสติปัฏฐานสูตร ตามนัยที่บุคคลทั้งหลายเคยเข้าใจโดยความเป็นตัวตน ให้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะประจักษ์ในลักษณะของธาตุ หรือธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏให้รู้แต่ละทาง

ถ. หมายความว่า พระภิกษุที่ท่านเดินจงกรม ที่ท่านนั่ง ท่านก็ระลึกรู้เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง อะไรอย่างนี้ ที่ปรากฏตามความเป็นจริง

สุ. สติเป็นอนัตตา แม้แต่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ทางหนึ่งทางใด ก็ไม่พ้นจากทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ถ้าท่านผู้ฟังได้พบข้อความใน พระไตรปิฎก หรือใน อรรถกถา ที่แสดงเรื่องของจริตของผู้ที่เจริญสมถะและจริตของผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนา ซึ่งไม่ใช่หมายความว่า ให้ท่านไปพยายามเลือกจริตเองว่า ท่านเป็นทิฏฐิจริต หรือตัณหาจริต แต่หมายความว่า ขณะใดที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดบ่อยๆ เนืองๆ เพราะรู้ชัดแล้ว การที่สติของบุคคลนั้นน้อมไปรู้ลักษณะของสติปัฏฐานใด ก็หมายความว่า เป็นไปตามจริตที่แท้จริงของบุคคลนั้น ที่ทำให้สติของบุคคลนั้นน้อมไปสู่สติปัฏฐานนั้นบ่อยๆ เนืองๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านไม่ได้ระลึกรู้ ไม่ได้ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และก็จะไปเลือกจริตตามใจชอบ

จริตทั้งหลายจะปรากฏตามความเป็นจริง เวลาที่ท่านรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต ทั้งธรรม โดยทั่วแล้ว เมื่อท่านรู้ทั่วแล้ว ก็แล้วแต่ว่าสติของท่านที่สะสมมาจะน้อมไปสู่กายานุปัสสนาสติปัฏฐานบ่อยๆ เนืองๆ หรือว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานบ่อยๆ เนืองๆ หรือว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบ่อยๆ เนืองๆ หรือว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานบ่อยๆ เนืองๆ โดยไม่ได้บังคับ ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่า เป็นไปตามอัธยาศัยที่สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น ตามจริต

เปิด  237
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566