แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 774

ถ. โดยนัยของวิปัสสนาภาวนา จะต้องปรับอินทรีย์ให้เสมอกันเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การปรับอินทรีย์นี้จำเป็นในภาวนาทั้งสอง ขอถามว่า เรื่องการปรับอินทรีย์นั้นควรจะปฏิบัติกันอย่างไร

สุ. โดยมากท่านผู้ฟังจะมีรู้สึกว่า จะทำ มีความเป็นตัวตน ถ้าพูดถึงการปรับอินทรีย์ ใครปรับ ตัวท่านหรือปัญญา

ถ. ด้วยกัน

สุ. ขณะนี้ถ้าคิดจะปรับอินทรีย์ จะต้องรู้สภาพของจิตในขณะนี้ว่าขาดอะไร หรือว่าเกินอะไร ใช่ไหม ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สำหรับอินทรีย์ ๕

ถ. รู้อยู่ แต่ปฏิบัติไม่ถูก

สุ. ขาดอะไร

ถ. ตอนนี้ยังไม่ชัด

สุ. ถ้าจะปรับ ก็ต้องทราบในขณะนี้ว่า อะไรขาด อะไรเกิน

ถ. ขณะที่ทำงานวุ่นอยู่ มีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น ขณะนั้นรู้ว่า จิตอยู่ในความฟุ้งซ่าน ขณะนั้นสติเกิดขึ้น ความรู้สึกตัวเกิดขึ้น โดยไม่ได้พิจารณาอะไร หรือบางครั้งพยายามที่จะพิจารณา ก็พิจารณาไม่ได้ ขณะนั้นถ้าจะปรับอินทรีย์ ควรจะระลึกถึงอะไร

สุ. ถ้าคิดจะปรับอินทรีย์ในขณะนั้น ปรับใหญ่เลย วุ่นวาย มีอะไรตวง มีอะไรวัดว่า พอดีหรือยัง

ถ. ให้ลดลงมา

สุ. นั่นคือตัวตนที่จะให้ลดลงมา หรือจะให้มากขึ้นไป อย่าลืมว่า สัมมาสติต้องเป็นปกติที่สุด อย่าลืมความเป็นปกติของสัมมาสติ ถ้าผิดปกติสักนิดเดียวที่พยายามจะปรับ ในขณะนั้นทั้งหมดไม่ใช่สัมมาสติ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ลักษณะของสัมมาสติ

เวลาที่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะรู้ได้ว่า มีความตั้งใจเกิดขึ้นที่จะเจริญสติ หรือจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือไม่ ซึ่งปัญญาจะต้องรู้ว่า ในขณะนั้นผิด ไม่ใช่สัมมาสติ ไม่ใช่การเพียงระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏตามปกติ

บางครั้งสภาพธรรมที่เกิดขึ้นไม่น่าจะพอใจเลย แสนที่จะเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี แต่แม้กระนั้นปัญญาก็จะต้องคมกล้าที่จะรู้ว่า เกิดแล้ว เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งขณะที่รู้อย่างนั้นไม่ใช่เป็นตัวตนไปปรับ แต่เป็นสภาพธรรมที่สังเกต สำเหนียก รู้ว่าขณะใดเป็นสัมมาสติ ขณะใดไม่ใช่สัมมาสติ

เมื่อรู้ว่า สัมมาสติเป็นปกติ เป็นการเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ในขณะนั้นปัญญาปรับ คือ ละลักษณะซึ่งไม่ใช่สัมมาสติ ที่มีความรู้สึกว่าจะระลึก จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

มัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางที่ยากมากสำหรับในตอนต้น แต่เมื่อผู้นั้นสามารถที่จะเกิดปัญญายิ่งขึ้น และบรรลุวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้น ผู้นั้นก็จะดำเนินไปในมรรคมีองค์ ๘ ได้โดยสะดวก แต่ว่าต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม อย่าคิดว่าจะไปปรับอะไร

ถ. จะไม่ให้คิดได้อย่างไรในเมื่ออรรถกถาท่านกล่าวไว้อย่างนั้น อรรถกถาท่านกล่าวว่า ผู้ที่จะเจริญมรรคมีองค์ ๘ จะต้องปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ใน วิสุทธิมรรค ท่านก็กล่าวว่า ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนาให้ได้ฌานจิต ก็จะต้องปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน

สุ. การอ่านต้องพิจารณาพร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติด้วย ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่มีศรัทธา เชื่อง่าย ขาดการพิจารณาในเหตุในผล เวลาที่ฟังบุคคลหนึ่งบุคคลใดกล่าวก็เชื่อโดยฐานะที่ว่าผู้นั้นเป็นผู้มีชื่อเสียง หรือเป็นผู้ที่มีบุคคลเคารพมากมาย แต่ไม่ได้พิจารณาจริงๆ ว่า ตัวท่านเองได้รับความรู้ความเข้าใจจริงๆ จากธรรมที่ได้ฟังจากท่านผู้นั้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้น อรรถกถาหรือว่าพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้เรื่องของอินทรีย์ ก็เพื่อที่จะให้ระลึกได้พิจารณาว่า ท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธาโดยที่ขาดการพิจารณาในเหตุในผลหรือเปล่า

บางครั้งท่านอาจจะผ่านพยัญชนะที่ว่า บางครั้งศรัทธานำหน้า บางครั้งก็ปัญญามากกว่า ท่านก็อาจจะสงสัยว่า ปัญญาจะเป็นโทษอย่างไร ถ้าเป็นปัญญาที่มากกว่าศรัทธา แต่อย่าลืมว่า เมื่ออินทรีย์ไม่เสมอกัน ก็หมายความว่า ยังไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ถูก เพราะบางท่านเป็นผู้ที่มีความรู้สึกตนว่า ท่านเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาด เป็นคนเจ้าปัญญา มีปัญญามาก ท่านก็ไม่ฟังใคร เป็นไปได้ไหม เชื่อความคิด ความเห็นของตัวเองเท่านั้น ขาดการฟังแม้แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่ได้คิดว่า มีคุณค่าสมควรที่จะรับฟัง และพิจารณาไตร่ตรองเพื่อที่จะเพิ่มพูนปัญญาของตนเองให้มากขึ้น

เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เข้าใจว่า ตัวเองเป็นผู้ที่มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญา ก็ควรที่จะมีศรัทธาในบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ควรค่าแก่การฟัง คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือบุคคลอื่นซึ่งได้ศึกษาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว และพิจารณาเพื่อที่จะให้ปัญญาของท่านเองเพิ่มมากขึ้น นี่คือความหมายของอินทรีย์ ๕ ที่เสมอกัน

และเวลาที่อินทรีย์ ๕ มีแล้ว คือ ในขณะที่สติเกิด สัมมาสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นจะปราศจากศรัทธาไม่ได้ จะปราศจากปัญญาไม่ได้ จะปราศจากวิริยะไม่ได้ จะปราศจากเอกัคคตาคือสมาธิไม่ได้ ในขณะที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาเป็นสัมมาสตินี้ อินทรีย์ ๕ เสมอกัน

ผู้ฟัง สมัยก่อนผมเกิดศรัทธาอย่างที่อาจารย์ว่า คือ ได้ฟังได้อ่านหนังสือเรื่องประวัติของพระติสสเถระ พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่า ผู้ที่เจริญสมถวิปัสสนาจะเป็นทางให้ถึงพระนิพพานได้ เป็นพระอรหันต์ได้ ก็เกิดศรัทธาว่า จะต้องเจริญสมถะ เจริญวิปัสสนาให้ได้ ทั้งๆ ที่ไปทำอะไรก็ไม่รู้ ปัญญาก็ไม่เกิด เพียงแต่มีศรัทธาอย่างเดียวที่จะทำให้ได้สมถะให้ได้วิปัสสนาขึ้นมา แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ต่อมาภายหลังได้ฟังอาจารย์ ศรัทธานั้นก็ชักถอยลงไป มาฟังเหตุผลจากอาจารย์ ปัญญาเกิดจากฟังอาจารย์บรรยาย ผมเข้าใจว่าการปรับคงจะเป็นอย่างนี้

ผู้ฟัง ที่ท่านกล่าวว่า ขณะที่จิตยุ่งวุ่นวายไม่รู้จะทำอย่างไร ปรับอินทรีย์ก็ไม่ถูก ดิฉันนึกถึงคำของอาจารย์ที่ว่า ระลึกตามปกติที่ปรากฏ คนปฏิบัติใหม่ๆ ดิฉันคิดว่าคงเหมือนกันทุกคน คงไม่มีใครที่เมื่อฟังแล้วก็ไประลึกเข้าใจได้เลย ก็ย่อมผิดบ้าง ถูกบ้าง แต่ดิฉันเข้าใจถูกไหมว่า ขณะที่จิตกำลังยุ่งๆ อยู่นั้น ก็มีสติระลึกที่สภาพที่ยุ่งเหยิงนั้น เป็นปัจจุบันธรรม

สุ. ขณะใดที่สัมมาสติเกิด ขณะนั้นอินทรีย์ ๕ เสมอกัน ปรับในขณะนั้น สมมติว่า ถ้าสติไม่เกิด วิธีปรับนี่ทำอย่างไร

ผู้ฟัง สติไม่เกิด ก็ต้องเพียรคิดถึงเรื่องธรรม

สุ. เพราะฉะนั้น จึงเรียนให้ท่านผู้ฟังทราบว่า ในขณะนี้ขาดอะไร เกินอะไร ถ้าขาดศรัทธา เพราะเป็นผู้ที่มีปัญญามาก เข้าใจว่าเป็นเจ้าปัญญา ไม่มีศรัทธาใน พระธรรม หรือว่าไม่พิจารณาไตร่ตรองอะไรเลย ถ้ารู้อย่างนั้น จะต้องฟัง จะต้องศึกษา และขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นอินทรีย์ ๕ เสมอ สติปัฏฐานจึงเกิด ซึ่งแต่ก่อนนั้นสติปัฏฐานไม่เกิด เพราะอาจจะเป็นผู้ที่เป็นเจ้าปัญญาและขาดศรัทธา หรือว่าเป็นผู้ที่มากด้วยศรัทธาแต่ว่าปราศจากปัญญา หรือว่ามีปัญญาน้อย

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังถามว่า จะปรับอย่างไร กำลังทำสมถะหรือวิปัสสนา และก็อยากจะปรับ ไม่ใช่ว่าจะปรับเองได้ นึกจะทำ จะให้เป็นสมาธิเพิ่มขึ้น จะให้สงบเพิ่มขึ้น แต่จะทำได้อย่างไร ก็ต้องอาศัยการฟัง และเข้าใจการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นสัมมาสติ

ผู้ฟัง อย่างที่อาจารย์กล่าวว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษา ดิฉันก็นำไปคิด ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็เข้าใจว่า คือการอ่าน หรือการเรียนหนังสือ แต่อาจารย์พูดถึงว่า ศึกษาในขณะที่เจริญสติ ดิฉันจึงมีความเข้าใจว่า ขณะที่ศึกษา คือ ศึกษาจิตของเรานั่นเองว่า ขณะนี้เป็นอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นและก็มีสติระลึกรู้ ความรู้แต่ละครั้งๆ นั้นเอง คือ การศึกษา

สุ. รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่ท่านผู้ฟังกำลังสนใจ เป็นการประพฤติปฏิบัติของผู้ที่เป็นพระอริยสาวก ซึ่งท่านเป็นผู้ที่รู้หนทาง และก็ประพฤติปฏิบัติด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังย่อมจะเห็นคุณของพระสงฆ์ได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีคุณมาก เพราะท่านสามารถดำเนินข้อปฏิบัติที่ถูกต้องจนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทเป็นขั้นๆ โดยที่ข้อปฏิบัตินี้เป็นข้อปฏิบัติที่แสนยากจริงๆ แต่พระอริยสาวกทั้งหลายก็เป็นผู้ที่สามารถบรรลุถึงได้ เพราะฉะนั้น พระคุณของพระสงฆ์ คือ พระอริยสาวกทั้งหลาย ก็มีมากทีเดียว

ถ. เรื่องอินทรีย์นี้ ท่านพุทธโฆษาจารย์ท่านต้องปรับได้

สุ. เป็นตัวตนที่ปรับ หรือว่าเป็นปัญญาที่รู้ว่า เมื่อปัญญายังน้อยควรจะทำอย่างไร หรือว่าเมื่อศรัทธาไม่มี ก็ควรฟังธรรมจนกระทั่งมีศรัทธาเพิ่มขึ้นในการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวนี้ขณะนี้ปรับกันเก่งมาก ใครจะปรับอย่างไรก็ได้ และจะปรับอย่างไร ลองทำดู

ถ. เขามีบอกไว้หมด

สุ. เขามี เขาบอกไว้ แต่ท่านผู้ฟังเดี๋ยวนี้ปฏิบัติอย่างไร ปรับอย่างไร ธรรมต้องเป็นสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติได้เมื่อเข้าใจถูกต้อง แต่เมื่อไม่เข้าใจ หรือว่าเข้าใจไม่ถูกต้อง ก็อาจจะมีผู้ที่กำลังพยายามจะปรับ แม้ในขณะนี้ และจะปรับโดยวิธีไหน จะปรับอย่างไร

ถ. ตามที่อ่านมาในข้อความนั้น คล้ายกับว่าเป็นตัวตนที่ปรับเหมือนกัน

สุ. เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจให้ถูกว่า มุ่งหมายอย่างไร

ถ. เขาสอนว่า ขณะที่จิตฟุ้งซ่านให้เจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นต้น เขาให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หรือคุณของศีล

สุ. ระลึกขณะนี้ จัดแจงให้ระลึกได้ไหม หรือว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย

ถ. ในลักษณะนั้นก็คิดว่า จัดแจงให้

สุ. เวลานี้ระลึกอะไร คุณของพระพุทธ หรือระลึกอะไรเวลานี้

ถ. เวลานี้ไม่ได้ระลึก

สุ. ระลึกเดี๋ยวนี้

ถ. เวลานี้กำลังนึกถึงข้อความใน วิสุทธิมรรค

สุ. เมื่อเข้าใจข้อความใน วิสุทธิมรรค แล้ว ปฏิบัติเดี๋ยวนี้ ระลึกอะไร

ถ. ก็ยังไม่ได้ระลึก ยังนึกถึงข้อความใน วิสุทธิมรรค

สุ. ระลึกเดี๋ยวนี้ นี่เป็นเรื่องที่ท่านจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา การศึกษาพระไตรปิฎก การอ่านวิสุทธิมรรค ก็เพื่อประกอบเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในสภาพธรรมทั้งหลาย ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง

การระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นกุศล แต่ว่าบอกให้ระลึกเดี๋ยวนี้ ทำได้ไหม ไม่ได้

แต่ขณะใดที่เกิดระลึกได้ เป็นกุศลจิต แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้ปรับเดี๋ยวนี้ ให้ทำเดี๋ยวนี้ เหมือนห้องทดลอง หรืออะไรอย่างนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เป็นผู้ที่มีศรัทธามาก แต่ว่ายังขาดปัญญา หรือว่าเป็นผู้ที่เจ้าปัญญาจนกระทั่งขาดศรัทธา เพื่อที่จะให้ท่านระลึกได้และก็ปรับ โดยการที่ว่า ถ้าขาดปัญญาก็ศึกษา ฟังธรรมเพื่อเกื้อกูลจนกว่าปัญญาจะเกิดขึ้น หรือว่าถ้าขาดศรัทธา ก็ไม่ควรที่จะไม่ฟังอะไรทั้งสิ้น และก็คิดเอาๆ เชื่อเอาๆ ในความคิดของตนเอง แต่จะต้องเห็นคุณของผู้ที่มีปัญญา เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็เกิดศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่ทรงแสดง

ไม่ใช่เรื่องใครก็ตามเก่งจัง ปรับเอาๆ ในขณะนี้ ประเดี๋ยวเดียวก็คงจะถึงอุปจารสมาธิ หรือว่าอัปปนาสมาธิ หรือว่ามรรคผลนิพพานได้ แต่เรื่องการอบรมต้องมีเหตุมีผล และก็รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้น

ถ. ผมไม่เข้าใจที่ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ แต่กายไม่รู้สึกอะไร ที่รู้สึกเป็นเวทนา เป็นจิต เป็นสภาพธรรมที่เกิดจากเหตุ

สุ. กายมี แต่ไม่รู้ลักษณะของกาย ที่จะรู้ลักษณะของกายได้ รู้ได้ทางไหน

ถ. รู้ได้ทางมโนทวาร

สุ. ทางตา เห็นไหม

ถ. ผมว่าถ้าหลับตาแล้วไม่มีกาย

สุ. นี่ยังไม่ได้หลับ

ถ. หมายความว่า เห็นสิ่งที่เราเห็นเป็นประจำ

สุ. ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ทางตาก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ไม่รวมกับทางกายที่กระทบสัมผัส

ถ. สงสัยว่า หลับตาแล้วกายไม่มี มีแต่เวทนา มีแต่จิต

สุ. แน่นอนหรือ ลองดู

ถ. มีแต่ความรู้สึก นอกจากความจำว่า ตรงนี้แขน ตรงนี้ขา หลับตาแล้วไม่มีกาย

สุ. ไม่พูดถึงความจำ ที่กายนี้เวลาที่ระลึกจะไม่มีอะไรปรากฏเลยหรือ ที่กาย ส่วนที่เป็นกาย

ถ. เป็นอ่อน หรือแข็ง

สุ. เท่านั้นเอง ดินเท่านั้น อ่อนหรือแข็งเท่านั้น นั่นคือกาย พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ชัดเจนว่า ได้แก่ มหาภูตรูป ๔

ที่อ่าน ที่ฟัง ที่ศึกษา เป็นการปรับอยู่ในตัว เพื่อที่จะได้อุปการะในขณะที่สงบ ให้สงบยิ่งขึ้น หรือในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะได้รู้ถูกต้องยิ่งขึ้น ขณะนั้นได้ปรับมาแล้ว จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้ความสงบที่ถูกต้องเกิดขึ้น สงบยิ่งขึ้น หรือว่าปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมสามารถที่จะรู้ชัดยิ่งขึ้น ไม่ใช่ปรับในระหว่างนั้น หรือในขณะนั้น แต่ตลอดเวลา สะสมเป็นปัจจัยเกื้อกูล เป็นการปรับเพื่อที่จะให้ความสงบที่ถูกต้องเกิดขึ้น หรือปัญญาที่ถูกต้องเกิดขึ้น

ถ. จะเป็นการปรับหรือการระลึกก็แล้วแต่ อย่างเช่น ขณะที่ผมเหนื่อย สติเกิดขึ้น มีความรู้สึกตัว ในเมื่อเราศึกษา วิสุทธิมรรค ท่านให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ หรือว่าระลึกถึงศีล เมื่อเรารู้อย่างนี้ ขณะที่มีความรู้สึกตัว เราก็ระลึกถึงพระพุทธคุณ หรือพระธรรมคุณ หรือศีลของตัวเอง ตามที่ได้ศึกษามา ปฏิบัติอย่างนี้จะเรียกว่าปรับ หรือจะเรียกว่าเข้าใจ อย่างนี้ได้ไหม

สุ. ขณะนั้นไม่ใช่กำลังปรับ แต่ว่าปรับมาแล้ว จนกระทั่งแม้เหนื่อยก็ยังระลึกได้ ถ้าคนที่ยังไม่ได้ปรับ เหนื่อยก็เหนื่อยไป ไม่สงบ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

ถ. ถ้าเราไม่ได้ศึกษา วิสุทธิมรรค เวลาเหนื่อย มีความรู้สึกตัวเกิดขึ้น ก็คงไม่พิจารณา หรือไม่ระลึกอะไร ปล่อยให้สติดับไปเฉยๆ ปัญญาก็ไม่ได้เกิด ไม่มีโอกาสที่จะเกิด ในเมื่อเราศึกษาอย่างนี้แล้ว เราก็ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าก็ดี ของศีลก็ดี ปัญญาก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นร่วมด้วย

สุ. เพราะอาศัยการฟัง การศึกษา ไม่ว่าจะเป็น พระไตรปิฎก หรือว่าอรรถกถา ฎีกา เพื่อปรับอินทรีย์ที่ไม่เสมอกันให้เป็นอินทรีย์ที่เสมอกัน โดยขณะใดที่สติเกิด เมื่อเป็นสัมมาสติ อินทรีย์ก็เสมอกัน ไม่ใช่ว่ามีตัวตนไปปรับเป็นการใหญ่ในขณะนั้น

เปิด  311
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566