แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 11

ชีวิตแต่ละคนดำรงอยู่ได้ก็เพียงชั่วขณะจิตเดียว ฉะนั้น ในขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ต้องมีความรู้ซึ่งเกิดจากการฟัง จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง มิฉะนั้นแล้ว ก็จะมีแต่สมาธิ และไม่รู้ว่าปัญญานั้นรู้อะไร แต่ก่อนอื่นก็ต้องรู้ว่า ปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวันทุกขณะ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ว่าจะเป็น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งกระทบสัมผัส คิดนึก

ถ. จะทราบว่าปัญญาเกิดได้อย่างไร

สุ. ต้องทราบว่าปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จึงจะเป็นปัญญาที่สามารถจะดับกิเลสได้ เพราะว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น ก็ยึดถือว่าเป็นเราเห็น แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่คน สัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ต้องไม่ใช่เรา แล้วก็ไม่ใช่ตัวตนด้วย เป็นเพียงจิตประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือเมื่อมีจักขุปสาท และมีสิ่งที่ปรากฏกระทบตา มีการเห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเพราะเหตุว่า จิตที่เห็น ไม่ใช่จิตที่ได้ยิน นี่แสดงให้เห็นความต่างกันว่า คนหนึ่งจะมีจิตซ้อนกัน ๒ - ๓ ขณะไม่ได้ ชีวิตดำรงอยู่แต่ละคนก็เพียงชั่วขณะจิตเดียว เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็น ไม่ใช่ในขณะที่ได้ยิน ด้วยเหตุนี้ จึงต้องรู้ความต่างกันก่อนว่าขณะที่เห็นนี้เป็นอนัตตา เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ ขณะที่ได้ยินก็เป็นอนัตตาเป็นนามธรรม ต้องมีความรู้ซึ่งเกิดจากการฟังจนกระทั่งสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้สติมีการระลึกได้ ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริง มิฉะนั้นแล้ว ก็จะมีแต่สมาธิแล้วก็ไม่รู้ว่า ปัญญานั้นรู้อะไร แต่ก่อนอื่น เมื่อปัญญาเป็นสภาพที่รู้ถูกต้อง คือเริ่มจากความเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะต้องรู้ว่า ปัญญาไม่ใช่รู้อื่น แต่เป็นปัญญาที่สามารถที่จะรู้ชีวิตประจำวันทุกขณะ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ว่าจะเป็นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งกระทบสัมผัส คิดนึก

ถ. ...

สุ. ขณะนี้จิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ถ้าศึกษาในวิถีจิตพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียดทีเดียวว่า หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้วภวังคจิตเกิดสืบต่อ ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการการกระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก ลักษณะของภวังค์จะเห็นได้ชัดในขณะนอนหลับ แต่ขณะนี้ไม่หลับ เพราะฉะนั้นเป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งเห็น ไม่ใช่ภวังคจิต และในขณะที่ได้ยินก็เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งได้ยิน แต่จิตเห็นกับจิตได้ยินก็ห่างกันมากทีเดียว ไม่ใช่ว่าเกิดใกล้เคียงกันอย่างที่ดูเสมือนว่าไม่ดับเลย ถ้าจิตเห็นกับจิตที่ได้ยินสามารถที่จะเกิดดับช้าๆ ให้ทุกคนเห็น ก็จะไม่มีใครสงสัยในลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องฟังแล้วพิจารณาว่าจิตมีจริง ขณะที่เห็นเป็นจิตประเภทหนึ่ง ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ขณะที่ได้ยินก็มีจริงเป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง ไม่ใช่เรา แต่การที่จะรู้ว่าจิตใดเกิดดับสืบต่อกันอย่างไรนั้น เป็นปัญญาขั้นฟัง เพียงแต่เริ่มที่จะเข้าใจ แม้แต่ในขณะที่กำลังฟังว่า ลักษณะอาการของการเห็นที่กำลังมีอยู่ และที่ว่าเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพราะว่ากำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งถ้าเป็นคนตายแล้วก็ไม่เห็น เพราะฉะนั้น ลักษณะเห็นขณะนี้มีจริงๆ แล้วก็เป็นอนัตตาแล้วก็เป็นลักษณะกิจการงานของจิตชั่วขณะที่เห็นด้วย ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ พิจารณาค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย

เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญานั้นเป็นจิรกาลภาวนา เป็นการที่จะต้องอบรม เจริญไปจนกว่าปัญญาจะสมบรูณ์ ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่นานมากทีเดียว เพราะส่วนใหญ่แล้ว จะตอบว่ามีจิต แต่ไม่ทราบว่าขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน แต่ถ้าทราบว่ากำลังเห็นเป็นจิต กำลังได้ยินเป็นจิต กำลังคิดนึกเป็นจิต ตลอดวันเป็นจิต ซึ่งเกิดดับสืบต่อตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ และจิตที่ดับไปแล้ว ก็ดับไปเลย ไม่ใช่กลับมาเกิดอีก

ถ. จิตหนึ่งคือจิตที่เห็น ขณะที่เห็นนั้นก็ไม่ใช่จิตที่ได้ยิน ขณะที่เห็นแล้วก็มีอีกจิตหนึ่งที่รวมปัญญาที่เห็นนั้น ว่าไม่ใช่เราเห็น

สุ. เพราะเหตุว่า เกิดดับสลับกันเร็วมาก แม้แต่ในขณะนี้เอง ก็เหมือนเห็นกับได้ยินพร้อมกัน แต่เมื่อไม่ใช่ได้ยิน ขณะนั้นเป็นปัญญา จิตอีกขณะหนึ่งแทนจิตเห็นเดี๋ยวนี้ได้ ถ้าขณะนี้เห็นว่ามีทั้งเห็นและได้ยิน ถ้าขณะที่ปัญญาเกิดแทนได้ยิน กำลังระลึกที่เห็นได้ หรือว่าปัญญาเกิด ระลึกรู้สภาพที่ได้ยินแทนเห็นได้ ปัญญาต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง

ต้องทราบว่าขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุ เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับๆ แต่ว่าการเกิดดับนั้นรวดเร็วมากจนกระทั่งเมื่อไม่ประจักษ์การเกิดดับ ก็มีการจดจำสิ่งที่ปรากฏเหมือนไม่ดับว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ปัญญาที่เป็นโลกียะต้องประจักษ์ความจริงของโลกคือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แล้วดับในขณะนี้ นั่นจึงเป็นปัญญาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเริ่มจากปัญญาขั้นฟัง ตลอด ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงพระธรรม ก็เพื่อที่จะให้พุทธบริษัทได้ฟังพระธรรมที่ทรงตรัสรู้

. ระหว่างธรรมะ กับธรรมชาติต่างกันอย่างไร

สุ. ถ้าพูดถึงธรรมชาติ บางคนอาจคิดถึงภูเขา ต้นไม้ น้ำทะเล ดาว แต่ถ้าพูดถึงธรรมแล้ว เป็นสิ่งซึ่งหมายถึงสิ่งที่มีจริงๆ เป็นสิ่งซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับ ไป เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงธรรมชาติก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า ธรรมชาติในทางธรรมหรือธรรมชาติในทางโลก ธรรมชาติในทางธรรมก็คือธรรม หมายถึงไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นธรรมะ เป็นธาตุ ใช้คำว่าธาตุก็ได้หรือธรรมะก็ได้

ถ. ปรมัตถธรรม มีอธิบายโดยละเอียดอย่างไรบ้าง จิตประภัสสรเป็นปัญญาได้อย่างไร สิ่งกำลังทุกข์ได้สูญไป เมื่อไรจะได้กลับคืนสู่จิตสงบ

สุ. ปรมัตถธรรม มีอธิบายโดยละเอียดอย่างไรบ้าง ปรมัตถธรรม มาจากคำว่า ปรม + อัตถ + ธรรมะ หมายความถึงสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนจริงๆ ซึ่งใครจะเรียกอะไรก็ได้ หรือจะไม่ใช้ชื่อเรียกอะไรก็ได้ เช่นลักษณะที่แข็ง จะใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย หรือว่าไม่เรียกอะไรเลย แต่เวลากระทบสัมผัส ลักษณะแข็งนั้นปรากฏ หมายความถึงสภาพที่มีจริงๆ เช่น รสเปรี้ยวมีจริงแต่ต้องอาศัยลิ้มรสซึ่งทุกคนบริโภคอาหาร แต่ขณะที่บริโภคนั้นก็ไม่สนใจที่จะรู้ว่า แม้แต่รสที่ปรากฏนั้นก็เป็นของจริงเป็นธรรม

ฉะนั้น ถ้าใช้คำภาษาไทยง่ายๆ ว่า "ปรมัตถธรรม" คือสิ่งที่มีจริงทุกอย่างที่มีจริง เสียงมีจริง เสียงเป็นปรมัตถธรรม โลภะ ความโลภความติดข้องเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม ความโกรธความขุ่นเคืองใจเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เมื่อเป็นปรมัตถธรรม ก็หมายความว่าเป็นธรรมะ ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใคร

เพราะว่า โลภะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป โทสะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ขณะที่เห็นในขณะนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ถ้าไม่มีจักขุปสาท ถ้าเกิดกรรมทำให้จักขุปสาทซึ่งดับไปแล้วไม่เกิดอีกขณะนี้จะตาบอด ทันทีไม่มีการเห็นอีกต่อไป ฉะนั้น ทุกคนมีรูปคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็มีจิตคือ สภาพรู้ ธาตุรู้ แล้วก็มีเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต เพราะว่า

ปรมัตถธรรมนั้นมี ๔ คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน ถ้าไม่เรียกชื่อเอาชื่อของ ทุกท่านในที่นี้ออก แต่ก็ยังมีรูปและมีจิตแล้วก็ยังมีเจตสิก ฉะนั้น จิต เจตสิก รูป เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ

นี่เป็นปรมัตถธรรมอย่างย่อ อย่างละเอียดก็จะต้องศึกษาอย่างละเอียด แต่ให้ทราบว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง มีสภาพธรรมลักษณะปรากฏให้รู้ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่ออะไรเลยก็ได้ เพราะว่า แข็ง ภาษาไทยเรียกอย่างหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกอีกอย่างหนึ่ง ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่นก็เรียกต่างกันไป แต่ว่าลักษณะที่แข็งไม่เปลี่ยน ฉะนั้นปรมัตถธรรมที่มีอยู่ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มี ๓ ปรมัตถ์ คือ จิต เจตสิก รูป ส่วนนิพพานนั้นตรงกันข้าม คือเป็นสภาพที่มีจริงแต่ไม่เกิด

ถ้าพระคุณเจ้าจะแสวงหาปรมัตถธรรมด้วยตัวเอง ในวันหนึ่งวันหนึ่งจะพบตลอดเวลาเจ้าค่ะ ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส แข็งมีจริงเป็นปรมัตถธรรม ขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีจริงเป็นปรมัตถธรรม เสียงในขณะที่กำลังได้ยินมีจริงเป็นปรมัตถธรรม คิดนึกเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรม ฉะนั้นปรมัตถธรรมคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

ถ้าจะกล่าวถึงปรมัตถธรรมที่เกิดดับแล้วมี ๓ คือ จิต เจตสิก รูป แยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ เป็นนามธรรมประเภท ๑ และเป็นรูปธรรมประเภท ๑ สำหรับรูปก็ได้แก่ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งประสพอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กระทบส่วนใดของร่างกายก็แข็ง กระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็แข็ง นั่นก็เป็นรูปที่ปรากฏ ให้รู้ได้ สำหรับจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เช่นเห็น แต่สำหรับเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต เช่นขณะที่เห็นแล้วก็มีความพอใจ ไม่พอใจ ความพอใจไม่พอใจนั้นเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต

ถ. จิตประภัสสร เป็นปัญญาได้อย่างไร

สุ. จิตประภัสสรหมายความถึง ภวังคจิต และในบางแห่งหมายถึงกุศลจิตด้วย ฉะนั้น บางขณะกุศลไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ในขณะนั้นไม่มีอกุศลเกิดร่วมด้วย จึงเป็นประภัสสร

ถ. และสิ่งที่กำลังทุกข์ได้สูญไป เมื่อไรจะได้คืนสู่จิตสงบ

สุ. จิตจะสงบได้เมื่อมีปัญญา เพราะว่าความสงบไม่ใช่อยู่คนเดียว แต่ความสงบเป็นขณะที่จิตใจไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ อกุศลใดๆ และพร้อมกันนั้นถ้าการอบรมเจริญสมถภาวนาให้สงบขึ้น ต้องประกอบด้วยปัญญา และคำถามที่ว่าจิตกับใจ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ภาษาบาลีไม่มีคำว่าใจ แต่มีคำว่า จิตฺตํ ฉะนั้นภาษาไทยใช้คำว่าจิตใจ หมายความว่าใช้คำเดิม แล้วก็เพิ่มภาษาไทยเข้ามาด้วย บางครั้งอาจจะ ใช้เพียงคำว่าใจ บางครั้งอาจจะใช้เพียงคำว่าจิต แต่ว่าจิตนั้นก็หมายถึงสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ใช้คำว่าจิตก็ได้ ใจก็ได้ หทยะก็ได้ วิญญาณก็ได้ มนัสได้ มโนได้ หมายความถึงจิตทั้งหมด

ถ. เฉยๆ

สุ. เฉยๆ ก็เป็นจิต ถ้าไม่มีจิตก็เฉยไม่ได้ แต่ว่าความรู้สึกเฉยๆ นั้น เป็นเวทนาเจตสิกที่เกิดกับจิต จิตเป็นแต่เพียงสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ และมีเจตสิก ๕๒ ประเภท เจตสิกรู้อารมณ์ด้วย จิตเป็นสภาพรู้เป็นใหญ่เป็นประธานเป็นมนินทรีย์

ถ. ...

สุ. กลั้นลมหายใจ ก็ยังมีเห็น ยังมีได้ยิน ฉะนั้น ก็ยังมีจิตอยู่ ไม่มีใครที่จะสามารถดับจิตได้เลย ต้องเป็นผู้ที่ได้ฌานสมาบัติขั้นสูง ที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้จึงจะดับจิตเจตสิกได้ ก่อนที่จะถึงปรินิพพาน

ถ. ขอถามดังนี้ ไปวิเวกเดินจงกรม มองเห็นต้นไม้ทุกชนิด ถ้าไม่มีคนไปตั้งไปว่าเขาก็ไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไร ไม่ใช่อะไร มันโผล่ขึ้นมาแล้วแต่กิ่งก้านออกใบ เขาไม่ได้ว่าอะไรเลย คนก็เหมือนกัน ไม่ได้เป็นอะไรทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไร แต่คนไปตั้งไปว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็เลยเป็นตามคนเขาว่า มีความเห็นจากใจอย่างนี้ เห็นผิดหรือเห็นถูก

สุ. ไปวิเวก เดินจงกรม เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องศึกษาโดยละเอียดให้เข้าใจ ไปวิเวกไปอย่างไร และเดินจงกรมต่างกับขณะที่เดินทุกๆ วันนี้อย่างไร มองเห็นต้นไม้ทุกชนิด ถ้ามีคนไปตั้งชื่อ เขาก็ไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไร ต้นไม้ไม่มีจิต ฉะนั้น คนจะไปเรียกต้นไม้ว่าต้นมะม่วง ต้นไม้นั้นก็ไม่มีความรู้ว่ามีคนไปเรียกเขาว่าต้นมะม่วง ฉะนั้น เมื่อต้น ไม้ไม่มีจิต ก็ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของต้นไม้เลย แต่ในขณะที่คนเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ใช้บัญญัติคำเรียกสิ่งนั้น เพื่อที่จะเข้าใจความหมายของสิ่งนั้น ไม่ใช่ว่าเห็นต้นไม้แตกกิ่งก้านออกดอกออกใบ แล้วไม่มีคำเลยที่จะเรียกต้นไม้นั้น

ฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจกันได้ แต่ที่ใช้คำทุกคำก็เพื่อที่จะเรียกสิ่งที่มีจริง เพื่อที่จะให้เข้าใจว่าหมายความถึงอะไร เช่นถ้าเห็นสัตว์กับเห็นต้นไม้ ก็จะต้องรู้ว่าที่ใช้คำว่าสัตว์ ไม่ได้หมายความถึงต้นไม้ หรือที่ใช้คำที่ว่าต้นไม้ ก็ไม่ได้หมายความถึงสัตว์ต่างๆ นี่เป็นเพียงคำที่จะให้รู้ความหมายของสิ่งต่างๆ

ถ. คำถามต่อไปถามว่า การเดินอานาปานสติ จะเป็นวิปัสสนาหรือไม่ และทำอย่างไร

สุ. การเดินอานาปานสติไม่มี อานาปานะ หมายถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ซึ่งขณะนี้คนยังไม่ตาย กำลังมีลมหายใจเข้ากำลังมีลมหายใจออก แต่วันหนึ่งๆ หายใจเข้าออกมากเหลือเกิน โดยที่สติไม่ระลึกที่ลักษณะของลมหายใจนั้น

ฉะนั้น ที่เรียกว่าอานาปานสติ ก็คือขณะที่สติระลึกที่ลมหายใจ ไม่ใช่เพียงระลึก แต่ว่ามีการที่จะศึกษาพิจารณาเข้าใจลักษณะที่เป็นลมหายใจ เพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ชัดเจนตามความเป็นจริงว่าลักษณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งแต่ก่อนนี้เคยเป็นเราหายใจ แต่เวลาที่มีการระลึกได้ แล้วระลึกที่ลักษณะของลมแล้วรู้ลักษณะของลม ก็จะรู้ได้ว่าลักษณะนั้นมีจริง แล้วก็ไม่ใช่เราด้วย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

จึงจะเป็นอานาปานสติซึ่งเป็นวิปัสสนา เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่า ลมหายใจเกิดที่กาย เนื่องกับกาย ถ้าปราศจากลมหายใจก็มีชีวิตไม่ได้ ฉะนั้นในขณะนี้เองก็มีลมหายใจ ไม่ต้องมีการเดินอานาปานสติ ขณะใดที่สติเกิดระลึกที่ลมหายใจ แล้วรู้ลักษณะของลมหายใจ ขณะนั้นเป็นอานาปานสติจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินได้หมด

เพราะว่า "สติเป็นอนัตตา" ถ้าขณะที่กำลังนั่งอยู่นี้แล้วสติเกิด ขณะนั้นเป็นอานาปานสติอีกแล้ว แล้วก็ไม่มีใครบังคับสติด้วย ขณะนี้ทุกคนคิดไม่เหมือนกันเลย ไม่มีใครบังคับความคิดได้ แม้แต่ความคิดของตัวเองก็บังคับไม่ได้ ฉะนั้น สติเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับให้สติระลึกที่ลมหายใจในขณะที่เดิน ขณะนี้สติอาจจะเกิดระลึกลักษณะของลมหาย ใจก็ได้

เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เรื่องทำขึ้น แต่สภาพธรรมขณะนี้มีแล้ว รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไปทำสิ่งอื่นมารู้ จะไม่มีสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ไม่มีคนเลย มีแต่เพียงสภาพธรรม ฉะนั้นเวลานี้ทุกคนรู้สึกเหมือนมีโลก แล้วก็กำลังอยู่ในโลก แต่ถ้ารู้ความจริงแล้วจะรู้ว่าที่โลกปรากฏ เพราะจิตเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียว อย่างโลกทางตา ปรากฏแล้วก็ดับไป ขณะที่เสียงปรากฏเป็นโลกทางหู โลกทางตาดับไปแล้ว ไม่เหลือเลย แล้วมีแต่เฉพาะเสียงที่ปรากฏทางหู แล้วก็ดับไป

ฉะนั้นที่เคยยึดมั่นว่าเป็นเราตั้งแต่ศรีษะตลอดเท้า เป็นแต่เพียงเหมือนฝุ่นละเอียดๆ ซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ พร้อมที่จะกระจัดกระจายหมดสิ้นไปทุกขณะ ในขณะที่กำลังเป็นกองฝุ่นซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ ก็เป็นปัจจัยให้มีจิตเห็นเกิดขึ้นบ้าง จิตได้ยินเกิดขึ้นบ้าง แต่จิตเห็นก็ไม่เที่ยง จิตได้ยินก็ไม่เที่ยง ฉะนั้นจิตเห็นเมื่อกี้นี้ก็ดับไปแล้ว จิตได้ยินในขณะนี้ ได้ยินแล้วก็ดับไปด้วย แท้ที่จริงแล้วไม่มีใครเลย

ในขณะที่รู้ความจริงอย่างนี้ ผู้นั้นก็จะรู้ได้ว่าคนอื่นก็ไม่มี ฉะนั้นในขณะที่กำลังคิดถึงจิตคนอื่น ขณะนั้นแท้จริงแล้วเป็นจิตของบุคคลนั้นเอง ที่กำลังคิดเรื่องคนอื่นเท่านั้น ถ้าเรื่องที่เป็นจริงก็คือว่า รู้ลักษณะของสภาพธรรม ตามปกติตามความเป็นจริง แล้วก็รู้ว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน

ถ. สมาธิในขณะนั่งภาวนากับสมาธิในขณะเดินจงกรม แตกต่างกันอย่างไร และจะสังเกตุได้อย่างไรว่าเป็นสมาธิ

สุ. ที่จริงแล้ว สมาธิเป็นสภาพที่ตั้งมั่นคงที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่านั้นเอง ได้แก่ "เอกัคคตาเจตสิก" ซึ่งเกิดกับจิต และเกิดกับจิตทุกๆ ขณะด้วย แม้แต่ในขณะนี้ก็มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต แต่ว่าเวลาปรากฏลักษณะอาการของสมาธิ หมายความว่าจิตขณะนั้นรู้อารมณ์เดียวนานๆ จนปรากฏ ลักษณะที่ตั้งมั่นที่อารมณ์นั้น เช่นคนที่กำลังตั้งใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตั้งใจอย่างมาก ที่จะไม่ให้ผิด ขณะนั้นจะเห็นลักษณะอาการของสมาธิได้

ฉะนั้น สมาธิมีทั้งเป็นมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญาร่วมด้วยขณะใด ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด เช่นขณะที่กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ ขณะนั้นก็มีสมาธิอ่านรู้เรื่องแล้วก็เข้าใจเรื่อง พิจารณาเรื่องที่กำลังอ่านด้วย แต่ว่าขณะนั้นไม่มีปัญญา ฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิ ที่กล่าวว่าสมาธิในขณะที่เดิน ต่างกับสมาธิในขณะที่นั่งอย่างไร สมาธิแล้วไม่ต่าง ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน สภาพที่ตั้งมั่นอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ยังคง ตั้งมั่นอยู่ที่สิ่งนั้น ขณะที่เดินเป็นสมาธิก็ได้ ขณะที่นั่งเป็นสมาธิก็ได้ ขณะที่นอนเป็นสมาธิก็ได้ ขณะที่ยืนเป็นสมาธิก็ได้ แต่สมาธิไม่ใช่ปัญญา ฉะนั้น ถ้าใครกำลังตั้งอกตั้งใจทำอะไรอย่างจดจ่อ ขณะนั้นก็รู้ว่าลักษณะอาการของสมาธิปรากฏ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินก็ตาม

ถ. เวลาอาตมานั่งสมาธิ เวลาจิตจะเป็นอารมณ์เดียวหรือจิตรวม จะเกิดอาการไอ อาตมาหาวิธีแก้ก็ไม่หาย พอจะมีวิธีแก้บ้างไหมอย่างไร

สุ. แก้ให้เกิดปัญญาดีกว่าแก้ไม่ให้ไอ ฉะนั้น เวลาเป็นสมาธิแล้วก็จะมีไอบ้าง อะไรบ้างตั้งหลายอย่าง เป็นเรื่องของมิจฉาสมาธิ เพราะว่า ขณะนั้นไม่เป็นการ อบรมเจริญปัญญา

ถ. จิตอยู่ส่วนไหนของร่างกาย บางคนว่าจิตอยู่ที่มันสมอง บางคนว่าอยู่ในหัวใจ จริงหรือไม่

สุ. จิตมีที่เกิด ๖ ที่ เรียกว่า "วัตถุ ๖" เป็นรูป ๖ รูป คือ

จักขุปสาทรูป เป็นที่เกิดของ จักขุวิญญาณ จิตเห็นในขณะนี้

โสตปสาทรูป เป็นที่เกิดของ โสตวิญญาณ จิตได้ยินในขณะนี้

ฆานปสาทรูป ที่กลางจมูก เป็นที่เกิดของ ฆานวิญญาณ จิตที่ได้กลิ่น

ชิวหาปสาทรูป เป็นที่เกิดของ ชิวหาวิญญาณ จิตที่ลิ้มรส

และ กายปสาทรูป ที่ซึมซาบอยู่ทั่วร่างกาย เป็นที่เกิดของ กายวิญญาณ จิตในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งเย็นบ้าง หรือร้อนบ้าง หรืออ่อนบ้าง หรือแข็งบ้าง และ หทยวัตถุ เป็นวัตถุที่ ๖ เป็นที่เกิดของจิต

เปิด  427
ปรับปรุง  12 ต.ค. 2566