ธรรมกว้างขวาง ละเอียด ลึกซึ้ง มีอยู่ในชีวิตประจำวัน


    ได้ยินเสียงนกไหม ได้ยินไหม ชอบไหม ขณะนี้ทุกคนกำลังนั่งฟังพระธรรมแต่ก็มีเสียงนก และก็รู้ด้วยว่าเสียงนกก็ต่างกับเสียงอื่น สัญญาความจำสามารถที่จะจำ จนกระทั่งรู้ว่าเสียงนั้นเป็นเสียงอะไร แล้วเสียงนกก็คงจะน่าฟังกว่าเสียงสุนัขเห่า

    เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังได้ยินเสียงนก ขณะนั้นมีความพอใจติดข้องไหม ไม่ชอบเสียงนกหรือ เห็นสั่นหน้า อาจจะไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วการเกิดดับอย่างเร็วมาก ยากจริงๆ ที่จะรู้จนกระทั่งน่าอัศจรรย์ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดสืบต่ออย่างรวดเร็วได้อย่างที่ชัดเจนว่าขณะนั้นเป็นจิตอะไร มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ คนที่ศึกษาแล้ว ฟังแล้ว พอสมควร พอจะตอบได้ไหมว่าเสียงนกมี ขณะที่เสียงนกยังไม่ดับ มีจิตที่ได้ยินเสียงนกด้วย แล้วก็ติดข้องชอบในเสียงนั้นด้วย เพราะว่าเสียงนั้นยังไม่ดับหมายความว่ากำลังที่มีเสียงนั้นปรากฏ มีจิตที่ได้ยิน และเมื่อจิตที่ได้ยินนั้นดับไปแล้วก็มีความติดข้องในเสียงที่ยังไม่ดับ เวลาที่เสียงดับไปแล้ว ความติดข้องในเสียงจะยังอยู่ได้ไหม เสียงดับแล้ว ความพอใจในเสียงเกิดในขณะที่เสียงปรากฏ แล้วพอเสียงหมดแล้ว เราจะเกิดความยินดีพอใจในเสียงได้ไหมในเมื่อเสียงไม่มีแล้ว เสียงไม่มีแล้ว เวลานี้เสียงไม่มีแล้ว พอใจในอะไร ยังพอใจในเสียงที่ดับไปแล้วหรือว่าพอใจในสิ่งอื่นที่เกิดต่อจากเสียง นี่คือการที่จะเข้าใจธรรม ต้องเห็นว่าธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ และการฟังก็คือว่าแม้แต่ความเห็นผิด ก่อนจะไปถึงความเห็นผิด แม้แต่ที่กำลังเห็นขณะนี้คงจะไม่ทราบว่าแม้สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ได้ดับ มีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา เวลาที่เสียงเกิดขึ้นปรากฏ เสียงยังไม่ดับ มีความพอใจในเสียงที่ปรากฏ หรือแม้ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ ขณะนั้นจะไม่รู้เลยว่าปกติธรรมดา ถ้าไม่ใช่กุศลจิตต้องเป็นอกุศลจิต แล้วจะเป็นอกุศลจิตประเภทใด ไม่พ้นจากจิตที่ประกอบด้วยโลภะหรือจิตที่ประกอบด้วยโทสะ หรือว่าแม้ไม่มีโลภะ โทสะเกิดร่วมด้วย ก็มีจิตที่เกิดร่วมกับโมหะ ถ้าขณะนั้นไม่เป็นกุศล นี่คือความละเอียด เราจะรู้จิตหยาบมาก เช่น ในขณะที่กำลังนั่ง เรากำลังฟังพระธรรม ขณะที่มีศรัทธา ฟังด้วยความตั้งใจ ค่อยๆ พิจารณาให้เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต แต่ขณะที่ไม่ใช่ขณะที่กำลังฟังธรรม แต่ได้ยินเสียงอื่น ขณะนั้นก็มีอกุศลจิตเกิดแทรกคั่นอย่างรวดเร็วมาก นี่คือการที่เราศึกษาธรรมเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ซึ่งจะกล่าวได้ว่าจิตเห็นไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ยังไม่มีความเห็นผิดใดๆ เลยเกิดกับจิตที่เพียงเห็น เพราะเพียงแค่เห็น ถ้าเกิดเห็นแล้วก็ไม่ชอบสิ่งที่ปรากฏหรือว่าได้ยินเสียงก็ไม่ชอบเสียงนั้นเลย ขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยไหม เรากำลังพูดเรื่องความเห็นผิด ต้องละเอียด ถึงจะละความเห็นผิดได้ ขณะที่กำลังไม่ชอบเสียง มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยไหม ตอบตามตำรานี่ตอบได้เลย ไม่มี แต่สลับกันเร็วมากเลย

    เพราะฉะนั้น จึงต้องพยายามเข้าใจว่าขณะที่เป็นวิบากจิตทั้งหมด ทุกประเภทเป็นผลของกรรม จะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจการงานกับจิตที่เป็นชาติวิบากเลย และอกุศลเจตสิกซึ่งทิฏฐิเจตสิกก็เป็นอกุศลเจตสิกชนิดหนึ่งใน ๑๔ อกุศลเจตสิกก็จะไม่เกิดกับกุศลจิต ไม่เกิดกับกิริยาจิต จะเกิดได้กับเฉพาะจิตที่เป็นอกุศลเท่านั้น และสำหรับอกุศลจิตที่มี ๑๒ ประเภท นี่กล่าวโดยตำราก่อนคือโลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ ทิฏฐิเจตสิกก็จะไม่เกิดกับโทสมูลจิต และโมหมูลจิต แต่จะเกิดกับโลภมูลจิต แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งที่มีโลภะเกิดขึ้น มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดมากเพราะว่าถ้าเราไม่พิจารณาโดยละเอียด เราก็อาจจะบอกว่าเวลาที่มีโลภะ เราก็เห็นคลาดเคลื่อนแล้ว ก็น่าจะเป็นทิฏฐิเจตสิก แต่ความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ความไม่รู้ความเป็นจริงมีถึง ๓ อย่าง คือสัญญาวิปลาสด้วยความจำ ๑ จิตตวิปลาส ๑ และทิฏฐิวิปลาส ๑ วิปลาสด้วยความเห็นผิด เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องที่กว้างขวาง และก็ละเอียดมาก บางคนก็อาจจะคิดว่ามากมายเหลือเกิน มากมายเพราะจิต และเจตสิกต่างๆ ละเอียด และก็ลึกซึ้งมาก

    เพราะฉะนั้นที่ว่ามากมายก็คือชีวิตประจำวัน แม้แต่ในขณะนี้เป็นจิตประเภทไหน เป็นชาติอะไร

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120


    หมายเลข 8781
    27 ม.ค. 2567