กามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก


    วิ. อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของ “วิตก” ทรงแสดงอกุศลวิตกไว้ ๓ คือกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ความต่างกัน คือพยาปาทวิตก กับ วิหิงสาวิตกเป็นลักษณะคล้ายๆ โทสะ ลักษณะของสองอย่างนี้จะต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นโทสะ เพราะว่าจริงๆ แล้วถ้ากล่าวถึงพยาปาทในภาษาไทย พอเราได้ยินแล้วรู้สึกว่าแรง มีกำลังมาก ไม่ใช่เพียงขั้นโกรธ พยาบาทด้วย นี่คือเราเข้าใจความหมายในภาษาไทย แต่ถ้าอย่างละเอียด เราก็จะรู้ได้ว่าความโกรธต่างระดับ เราจะเอาคำไหนมาใช้ แต่แม้ว่าเราจะใช้คำที่แสดงถึงความโกรธต่างระดับก็จริง จะตรงกับที่เราคิดหรือเปล่า หรือว่ามีความที่ละเอียดต่างกันไปอีก อย่างพระโสดาบันละพยาปาทหรือเปล่าที่เป็นมโนกรรม

    วิ. ยัง

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม แล้วเราจะไปคิดว่าพระโสดาบันจะพยาบาทระดับไหน นี่ก็เป็นความต่างกัน เพราะฉะนั้นการเบียดเบียน ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงว่าเมื่อมีโทสะถึงระดับนั้น ก็ต้องใช้อีกคำหนึ่งให้รู้ว่าไม่ใช่เป็นแต่เพียงพยาปาท

    ผู้ฟัง กรณีที่เราจำความไม่ดีที่คนอื่นเขาปฏิบัติต่อเรา ไม่ลืม แต่ว่าไม่พยาบาท อันนั้นจะเรียกว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ต้องการเรียกหรือว่าความจริงเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ความจริงเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ความจริงเป็นอย่างนั้น ก็คือจำก็คือจำ เพราะว่าคุณวิจิตรก็บอกเองใช่ไหมว่าแต่ไม่พยาบาท หมายความว่าเวลาที่เราจำได้ และก็คิดถึงเรื่องนั้นจิตอะไรที่กำลังคิด เป็นอกุศลหรือเป็นกุศลนี่ก็ประการหนึ่ง โกรธหรือเปล่า หรือยังขุ่นใจ มากหรือน้อยนั่นอีกเรื่องหนึ่ง หรือว่าคิดถึงจำได้ แต่ว่าไม่เหมือนกับตอนที่เราได้ยินแล้วโกรธมากในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องจริง เพียงแต่คำจะมีมากหลากหลายที่จะทำให้เราค่อยๆ พิจารณาว่าเมื่อสภาวธรรมเป็นอย่างนั้น แต่การที่จะมีคำอื่นที่กล่าวถึงก็ต้องแสดงถึงระดับขั้น เหมือนอย่างวิตกทึ่คุณวิชัยกล่าวถึงเมื่อกี้นี้ วิตกเกิดกับสัมปฏิจฉันนจิต หลังจากที่จิตเห็นดับแล้ว จิต ๑๐ดวงไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะว่าเป็นการประจวบกันของสภาพธรรมโดยกรรมเป็นปัจจัยที่จะให้แม้จักขุปสาทก็ยังไม่ดับ รูปที่เกิดซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะก็ยังไม่ดับกระทบกัน แล้วเป็นกาลที่จะต้องมีจิตเห็นซึ่งเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็ทำให้เกิดวิถีจิตซึ่งเป็นจิตเห็นเกิดขึ้น ขณะที่เห็นขณะนั้นไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่จิตที่เกิดก่อนปัญจทวาราวัชชนจิตก็มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้สัมปฏิจฉันนที่เกิดต่อก็มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่จะเป็นสัมมาสังกัปปะเหมือนอย่างมรรคมีองค์ ๘ หรือเปล่า นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความต่างระดับว่าแม้จะเป็นวิตกเจตสิกมีชื่อหลายอย่างก็ต้องเข้าใจตามความหมายด้วย

    วิตกเจตสิก ใครก็เปลี่ยนสภาพของวิตกเจตสิกให้เป็นวิจารเจตสิกหรือเจตสิกอื่นไม่ได้ วิตกเจตสิกก็เป็นวิตกเจตสิก แต่เกิดเมื่อไหร่ กำลังรู้อารมณ์อะไร ประกอบด้วยเจตสิกระดับไหน เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจเวลาที่ใช้สัมมาสังกัปปะ เราก็ไม่ได้ไปคิดถึงวิตกที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนะหรือว่าวิตกที่เกิดกับปัญจทวาราวัชชนจิต ขณะนี้มีวิตกเจตสิกไหม

    ผู้ฟัง ก็มีสลับไปบ้าง

    ท่านอาจารย์ มีเมื่อไหร่ หลังจากเห็นแล้ว จิตที่เกิดต่อมีวิตกเจตสิก ขณะนั้นเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับสติสัมปชัญญะหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องไปคิดถึงชื่อสัมมาสังกัปปะ เพราะเหตุว่าตอนนั้นที่ใช้สัมมาสังกัปปะเพราะเกิดร่วมกับ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสติ และมรรคมีองค์อื่น

    ผู้ฟัง สรุปแล้ววิตกจะเป็นโลภะก็ได้

    ท่านอาจารย์ วิตกเป็นโลภะไม่ได้ วิตกเป็นเจตสิกที่ตรึกจรดในอารมณ์ ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ ถ้าพูดถึงวิตกเจตสิก ต้องรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตได้เกือบทั้งหมดเว้นจิตอะไรบ้างเท่านั้น

    อ.อรรณพ คุณวิชัยได้กล่าวว่าสังกัปปะหรือวิตกเกิดกับจิตได้กี่ประเภทบ้าง เพราะว่าคงจะไม่ใช่เฉพาะกับโลภะอย่างเดียว

    วิ. วิตกเจตสิกก็คือเว้นไม่เกิดกับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง

    อ.อรรณพ ทีนี้ ระดับของวิตกเจตสิกนั้น ก็แล้วแต่ว่าจะไปเกิดกับอกุศลจิตประเภทใด และมีกำลังมากกำลังน้อยอย่างไร ทำให้หลากหลายเป็นกามวิตกบ้าง ก็คือวิตกที่เกิดกับโลภมูลจิต พยาปาทวิตก เกิดกับโทสมูลจิต และก็วิหิงสาวิตกก็เกิดกับโทสมูลจิต แต่ว่าตรึกไปถึงการเบียดเบียน

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163


    หมายเลข 9846
    26 ม.ค. 2567