คุ้นกับชื่อ ไม่คุ้นกับลักษณะ


    ผู้ฟัง พยาปาทกับผูกโกรธ และปริยุฏฐานุสัย จะเรียนถามท่านอาจารย์กิเลสทั้งสามขั้นตอน

    ท่านอาจารย์ ชื่อนี่ ให้ทราบเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับเรา หรือว่าต้องการจะเรียกชื่อ อย่างเวลาที่เกิดขุ่นใจ เอ๊ะ นี่ชื่ออะไรนะ ชื่อปฏิฆะ หรือว่าชื่อโทสะ หรือว่าเป็นพยาปาท และยังมีชื่ออื่นอีก วิหิงสาหรือเปล่า ก็เป็นการที่พยายามจะคิดถึงชื่อ จริงๆ แล้วแม้แต่ลักษณะของโทสะมี เรารู้หรือเปล่า เรารู้เพียงชื่อหรือว่าเรารู้ลักษณะ โดยที่ว่าไม่คำนึงถึงชื่อเลย ถ้าลักษณะที่ขุ่นใจไม่สบายใจเกิดขึ้น เรารู้แล้วว่าถ้าจะคิดถึงเวทนา เวทนาขณะนั้นตรงข้ามกับโสมนัสหรืออุเบกขา แต่ว่าเป็นความไม่สบายใจเลย เพราะเหตุว่าในขณะนั้นมีความขุ่นใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม ถ้าเราโกรธมากกว่านั้นอีก เราจะนึกถึงชื่อไหมว่าเปลี่ยนชื่อหรือยัง จากโทสะมาเป็นพยาปาทหรือยัง หรือรู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นลักษณะอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นใดๆ ก็ตามที่ลักษณะที่ประกอบด้วยความรู้สึกที่ไม่สบายใจทั้งหมด พอกลัว เอ๊ะ นี่อะไร จะชื่อปฏิฆะหรือว่าจะชื่อโทสะ หรือว่าจะชื่อพยาปาท ไม่สำคัญเลย

    เพราะเหตุว่า เรามัวกังวลหรือว่าคิดถึงเรื่องชื่อ แต่การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมลืมไม่ได้เลย ในสมัยก่อนโน้น ๒๕๐๐ กว่าปี ผู้ฟังเข้าใจ เพราะเหตุว่ามีลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด จะใช้ว่าปฏิฆะ พยาปาท วิหิงสา ก็คือลักษณะของโทสะ ถ้าเป็นอย่างนี้ ขณะที่โทสะกำลังเกิด มีลักษณะที่จะให้รู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่เรา ลักษณะนั้นต่างกับลักษณะอื่น

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเพียงสภาพธรรมลักษณะหนึ่งเท่านั้น ที่กว่าเราจะคุ้นเคยว่าไม่ใช่เราเพราะเป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นจะไม่มีชื่อ เพราะว่าเราคุ้นกับชื่อกับคิดเรื่องชื่อ แต่ว่าเราไม่ได้คุ้นกับลักษณะ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราก็สามารถจะรู้ความต่างว่าการศึกษาธรรมเพื่อเข้าถึงลักษณะที่เป็นอนัตตาที่ไม่ใช่เรา เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีก็คงมีผู้ที่ได้ไปเฝ้า และได้ฟังพระธรรม แต่ความเข้าใจลักษณะของธรรมจะมีมากน้อยแค่ไหน จะติดตามมาจนกระทั่งถึงแม้ได้ยินได้ฟังอีก มีความเข้าใจในลักษณะของสภาวธรรมนั้นว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน หรือว่าพะวงเรื่องชื่อเหมือนอย่างที่เคยได้ฟังชื่อต่างๆ มาตั้งเป็นพันๆ ปีก็ได้

    เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่าถ้าเรามีความรู้เวลาที่เราอ่านพระธรรม ได้ยินชื่อต่างๆ รู้ว่านี่เป็นโทสะ หรือว่าได้ชื่อต่างๆ และก็รู้ว่านี่ไม่ใช่โทสะแต่เป็นวิตก เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง หรือว่าอีกประการหนึ่งนั่นไม่ใช่วิตก นี่เป็นวิจาร หรือว่านั่นเป็นโลภะ หรือนั่นเป็นมัจฉริยะ นั่นคือเราเรียกชื่อภาษาบาลี แต่ลักษณะนั้นไม่มีว่าจะต้องเป็นภาษาไหนเลย ถ้าเกิดริษยาต้องใช้คำในภาษาบาลีหรือเปล่า ว่า เอ๊ะ นี่ชื่ออิสสา ไม่ต้องนึกถึงเลย เพราะลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นลักษณะที่อิสสาภาษาบาลี ถ้าจะใช้คำในภาษาไทย บางคนอาจจะใช้คำอิจฉา แต่ความจริงแล้วถ้าเป็นภาษาบาลี อิจฉาเป็นลักษณะของโลภะ

    นี่ก็คือการที่จะต้องเข้าใจในคำที่ได้ยิน แต่ว่าลึกกว่านั้นก็คือว่าเข้าใจในลักษณะซึ่งเราผ่านไปเรื่อยๆ เพราะว่าเรามัวคิดถึงชื่อ เพราะฉะนั้นถ้าในขณะนี้เราจะเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 163


    หมายเลข 9848
    26 ม.ค. 2567