อุปปัตติ นิพพัตติ


    วันนี้ขอกล่าวถึง ๒ คำ คำว่า “อุปปัตติ” กับ “นิพพัตติ” ในพระไตรปิฎก ถ้าเราเผิน เราก็ข้ามไปเลย เพราะเหตุว่าโดยทั่วไปก็เข้าใจกันว่า อุปปัตติ คือการเกิดขึ้น นิพพัตติก็เกิดเหมือนกัน แต่ทำไมทรงแสดงความต่างกัน

    นิพพัตติก็คือการเกิดขึ้นของขันธ์ทั้งหลาย แต่พอกล่าวถึงอุปปัตติทรงแสดงหมายถึงเฉพาะจิตเห็น ขณะนี้ที่กำลังเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสกาย ซึ่งต่างกับจิตอื่น เราอาจจะกล่าวภาษาธรรมดาที่ทำให้เข้าใจได้ เห็นจะจะ เห็นจริงๆ เห็นจะจะอย่างนี้เลย เกิดขึ้น อุบัติขึ้นเพราะการประจวบกันของสิ่งที่สามารถกระทบกันได้ คือ จักขุปสาท หมายถึงรูปที่เราใช้คำว่า “ตา” แต่ที่ตัวจะมีพิเศษกลางตา มองไม่เห็น แล้วสามารถรู้ได้ว่า มีสิ่งที่ปรากฏที่สิ่งนั้นต้องกระทบตา จะไปกระทบหู จะไปกระทบกายไม่ได้เลย แต่เมื่อกระทบแล้ว ยังมีกรรมที่ถึงเวลาให้จิตเห็นเกิด ถ้าไม่มีกรรมทำให้จิตเห็นเกิด ขณะนั้นจิตเห็นเกิดไม่ได้เลย เพราะว่าสิ่งที่กระทบตาเป็นสิ่งที่น่าพอใจก็มี เป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็มี เพราะฉะนั้น ถ้าสิ่งที่กระทบตาเป็นสิ่งที่น่าพอใจ เป็นผลของกุศลกรรมที่ทำให้จิตเกิดขึ้นเห็นอย่างนี้เลย ไม่เหมือนกับจิตคิดนึก ไม่ได้เห็น เพราะฉะนั้น ต่างกันแล้ว

    เพราะฉะนั้น จิตอื่นทั้งหมดนอกจากจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งกระทบสัมผัสเป็นนิพพัตติ เป็นการเกิดขึ้นของขันธ์อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เห็นเดี๋ยวนี้ ต่างกันแล้ว เพื่ออะไร เพราะให้เห็นว่า แม้เห็นทั้งวัน คิดทั้งวัน ก็ต่างกันแล้ว ตามสภาพของเหตุปัจจัยซึ่งใครก็ยับยั้งหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้

    เพราะฉะนั้น พระมหากรุณาที่ทรงแสดงแม้คำที่ต่างกัน เพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน และสิ่งนั้นๆ ก็เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น แล้วดับไป แล้วก็ไม่เหลือ เดี๋ยวก็ไม่เหลือแล้ว ลืมตาจึงเห็น หลับตาไม่เห็น ลืมตาอีกก็เห็น หลับตาก็ไม่เห็น แต่คิดไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่จิต ๑๐ ดวงนี้ก็เป็นนิพพัตติ แม้แต่ฝันเพราะเห็นแล้วก็คิด เพียงเห็นแล้วไม่คิด ฝันไม่ได้ ในฝันคิดตลอดเลย แต่ไม่ใช่เห็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจความหมายของอุปปัตติกับนิพพัตติ เพื่อให้เห็นความต่างกันแม้แต่ชีวิตธรรมดาปกติอย่างนี้ แต่ก็เป็นธรรม

    นี่คือการศึกษาธรรม เพื่อรู้ความละเอียด ไม่เผิน ไม่ผ่าน เพราะคำนี้มีในพระไตรปิฎก แต่การที่เราไม่ผ่าน ๒ คำนี้ เพื่อคิดถึงพระมหากรุณาที่ทรงแสดงความลึกซึ้งให้เข้าใจ กว่าจะละการเป็นเราเห็นบ้าง เราคิดบ้าง เพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งเป็นแต่ละหนึ่ง หลากหลายมาก ไม่ซ้ำกันเลย ถ้าจะกล่าวโดยความเป็นธาตุหรือธา – ตุ หรือสิ่งที่มีจริง ก็ลองคิดดูว่า เพียง ๑ เกิดขึ้นปรากฏแล้วดับไป แล้วไม่กลับมาอีก แต่เราพอใจในสิ่งที่ไม่มี ที่ดับไป เพราะหลงคิดว่ายังอยู่ ตั้งกี่เห็น กว่าจะเป็นพระเจดีย์ แล้วก็ดับแต่ละหนึ่ง แล้วก็ไม่กลับมาอีก แล้วก็ลืมแน่ๆ เลย

    เพราะฉะนั้น ก็จะกล่าวได้เลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อลืม เพราะอะไรจึงกล่าวอย่างนี้ เพื่อละคลายความติดข้อง อยากเห็น อยากดู เช่นชาติก่อนลืมหมดเลย สักวันหนึ่งก็จำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ชาตินี้ก็คือชาติก่อนของชาติหน้า แน่นอนที่สุด จึงมีการลืมช้าหรือลืมเร็ว ถ้าลืมช้าก็ต้องคอยถึงชาติหน้า ถ้าลืมเร็ว เพียงแค่ได้ยินเรื่องอื่น ก็ลืมสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว กลับไปบ้านจะติดตาไปไหม ยาก เพราะว่าเรื่องอื่นเห็นจะจะ แจ้ง ปรากฏแล้วก็คิดนึก ก็มีเรื่องอื่นแทรกเข้ามาอยู่เรื่อยๆ


    หมายเลข 9806
    19 ก.พ. 2567