ลักษณะความเพียร


    ความเพียรมีจริงๆ แต่เคยเป็นเราเพียร และเคยคิดเอาเอง เพียรบ้าง ไม่เพียรบ้าง เดี๋ยวเพียร เดี๋ยวไม่เพียร ก็เป็นเรื่องไม่รู้จักธรรมตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่รู้จักธรรมแล้ว ก็คิดเองผิดๆ ถูกๆ แต่การฟังถ้าเข้าใจความเพียรไม่ว่าจะพบความเพียรที่ไหน รู้จักลักษณะของเพียร ไม่ว่าในพระสูตรนั้น หรือในพระวินัย หรือในพระอภิธรรม จะพูดถึงเพียร ก็จะเปลี่ยนลักษณะที่เพียรให้เป็นอื่นไม่ได้ เพราะเหตุว่าเพียรเป็นเพียร เพียรเป็นจำหรือเปล่า เพียรเป็นโกรธหรือเปล่า ไม่ แต่ไม่เคยฟังจนสามารถเข้าใจว่า เพียรจริงๆ นั้นคืออะไร

    สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่มีแน่นอน มีลักษณะปรากฏ สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ถูกต้องไหมคะ ไม่เป็นอย่างอื่น แต่เราคิดเองโดยภาษาของเราว่า คนนั้นเพียร หรืออีกคำหนึ่งอาจจะพูดในภาษาไทยว่า เขาขยันมาก แล้วคนที่ไม่เพียร เราก็บอกว่า เขาขี้เกียจมาก แต่ตามความเป็นจริงเราไม่รู้สภาพธรรมนี้เลยว่าคืออะไร สภาพธรรมทุกอย่างถ้าได้ฟังแล้วไตร่ตรอง ก็จะเริ่มเข้าใจว่ามีจริงๆ เมื่อเกิดขึ้น แล้วใครก็จะทำให้สภาพธรรมเกิดไม่ได้สักอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นปัญญา ไม่ว่าเป็นเพียร ไม่ว่าจะเป็นขี้เกียจ ทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปเร็วเกินกว่าที่ใครจะรู้ ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะตรัสรู้สภาพธรรมโดยประการทั้งปวง โดยตลอด ไม่สามารถจะทรงแสดงธรรมให้ใครสามารถเข้าใจ แม้แต่คำที่ใช้กันได้

    เพราะฉะนั้น ที่ใช้คำว่า “เพียร” หรือ “ขยัน” ลองคิดอย่างแบบที่ไม่ได้ฟังธรรมเลย คนที่ยืนตากแดด เพียรไหม มีคนพยักหน้า เพียร เขาเพียรทำอะไรคะ เขาเพียรยืนตากแดด หรือว่าเขาเพียรตากผ้า หรือเขาทำอะไรกลางแดด ขุดดินทำถนน แล้วเวลาที่คนนั้นเดินเข้ามาในที่ร่ม เขาเพียรหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ศึกษาจะรู้หรือคะว่า เขาเพียร อาจจะคิดว่า เขาทนไม่ไหวแล้ว เขาแย่แล้ว หรืออะไรต่างๆ แต่ตามความเป็นจริงสภาพที่ประคับประคองสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันให้ดำรงอยู่ ให้ตั้งอยู่ จะรู้ได้ว่า ไม่มีใครเข้าใจละเอียดลึกซึ้งว่า ต่างกับขณะนี้อย่างไร เช่น เห็น แล้วเห็น ต้องเพียรเห็นหรือเปล่า เห็นไหมคะ ใครไปคิดอย่างไรก็คิดไม่ออกแน่ ถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม อย่าประมาทพระธรรม แล้วอย่าคิดว่า สามารถคิดเองได้ เพราะเหตุว่าเห็นไม่ได้นานเลย ชั่วขณะในความมืดก็มีจิตเกิดขึ้นเห็น ๑ ขณะ คิดดู โดยปัจจัยหลายอย่าง ขณะที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้นปรากฏ ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่น อาศัยซึ่งกัน และกัน หรือสภาพธรรมเกิดได้เพราะต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดด้วย

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่แค่เห็น ชั่วเห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาท รูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เห็นไม่ได้ และถึงแม้จะมีจักขุปสาท แล้วมีรูปที่กระทบกับจักขุปสาท แต่ถ้าไม่มีจิตเห็นเกิดขึ้นเห็น สภาพธรรมขณะนี้ปรากฏไม่ได้ เท่านี้แหละ มีเพียรหรือเปล่า เห็นไหมคะ ถ้าไม่ศึกษาตอบไม่ได้ มีหรือไม่มี แต่ชั่ว ๑ ขณะ อุปปัตติเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้จักขุปสาทเกิดแล้วยังไม่ดับ เพราะเหตุว่ารูปมีอายุของการเกิดดับช้ากว่าจิต รูป ๑ รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เร็วแค่ไหนไม่ต้องประมาณเลย ได้ยินคำว่า ๑๗ ขณะ ไม่มีใครสามารถจะประมาณได้

    เพราะฉะนั้น ๑ ขณะของการเห็นจริงๆ อย่างขณะนี้จะเร็วสักแค่ไหน เพราะขณะนั้นไม่มีสภาพธรรมที่เพียร ไม่มีใครไปเพียร เพราะเกิดแล้วอุบัติแล้วตามปัจจัยคือกรรม และปัจจัยอื่นๆ และขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏจะไม่มีใครรู้เลยว่า อาศัยอะไรบ้างที่จะทำให้แม้ชั่ว ๑ ขณะจิตเกิดขึ้นเป็นไป

    เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาอย่างละเอียดยิ่งว่า ในบรรดาจิตทั้งหมด จิตที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีเท่าไร ใครก็รู้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้ฟัง แต่เมื่อฟังแล้วก็พิจารณาตามความเป็นจริงว่า มีจิตประเภทหนึ่งที่ไม่ประกอบด้วยวิริยเจตสิก แต่ก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่ไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะ ซึ่งเวลาที่โลภะเกิด ไม่รู้เลยว่า เพียรแล้วทุกขณะจิตที่เป็นไปกับโลภะ เป็นความเพียรด้วยโลภะ หรือขณะที่ไม่ติดข้อง แต่เพียรทำความดี หรือเพียรช่วยเหลือคนอื่น หรือเพียรให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น แม้แค่คิดก็มีความเพียร หรือวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว แล้วใครจะรู้ความจริงของจิตซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วสุดจะประมาณได้ แล้วหลากหลายเป็นประเภทต่างๆ จนแม้แต่ขณะนี้ที่เห็นก็เป็นจิตประเภทหนึ่ง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ทำอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น คิดไม่ได้ ชอบไม่ได้ แต่เห็นได้เท่านั้น ในขณะนั้นก็ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    นี่คือการฟังเพื่ออะไรคะ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อยู่อำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น มีปัจจัยก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย เพือให้เข้าใจอย่างนี้มั่นคงจนกระทั่งได้ฟังพระธรรมอีกต่อไป และเข้าใจเพิ่มขึ้นจนกระทั่งสามารถค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งความจริง รู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับกิเลส คือความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ดับความสงสัยในสิ่งที่ปรากฏ ดับการยึดถือสภาพนั้นๆ ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด


    หมายเลข 9804
    19 ก.พ. 2567