จำแนกตามการยึดถือ


    ส.   ที่แสวงหากันทุกวัน ต้องการสุขเวทนา โสมนัสเวทนา มีแต่ความต้องการได้สิ่งที่จะทำให้เกิดสุขเวทนากับโสมนัสเวทนา ด้วยเหตุนี้ปรมัตถธรรม  ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ทรงจำแนกเป็นขันธ์ ๕ โดยนัยของความยึดถือ หรือความยึดมั่น อย่างรูปทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ก็มีความยึดมั่นว่าเป็นร่างกายของเรา  ทั้ง ๆ ที่เป็นลักษณะที่ร้อนต้องไปหายามารับประทานแล้ว ตัวเราร้อน เป็นเรา เย็นก็เป็นเรา ทุกอย่างหมดเป็นเรา  รูปทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ายึดถือว่าเป็นของเรา  หรือเป็นเรา ส่วนความรู้สึกก็เช่นเดียวกัน พอเกิดสุขเวทนา แทนที่จะรู้ว่าเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ แล้วเดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นอุเบกขา  เกิดแล้วก็ดับ แล้วเดี๋ยวก็เปลี่ยนเป็นเวทนาอย่างอื่น เกิดแล้วก็ดับ แต่เพราะไม่เห็นความจริงอย่างนี้ แล้วสภาพธรรมชาติของความรู้สึก เป็นสภาพที่รู้สึกในอารมณ์ ในขณะที่เจตสิกอื่น ๆ ไม่ได้รู้สึกในอารมณ์เลย  แล้ววันหนึ่ง ๆ ก็มีจิตเกิด มีการรู้อารมณ์ แล้วเวทนาก็มีความรู้สึกในอารมณ์นั้น ๆ 

    ด้วยเหตุนี้จึงแยกเป็นเวทนาขันธ์ เฉพาะเวทนาเจตสิก ๑ ในเจตสิก ๕๒ แยกเป็นเวทนาขันธ์ 

    เพราะฉะนั้น เราก็มีรูปขันธ์ ๑ ซึ่งเป็นรูป แล้วก็จิตเป็นวิญญาณขันธ์ ๑ ส่วนอีก ๓ ขันธ์ เป็นเจตสิก ได้แก่  เวทนาเจตสิก ๑ เป็นเวทนาขันธ์  เจตสิกอีก ๑ ซึ่งมีความสำคัญมากก็คือ สัญญาเจตสิก สภาพที่จำ ถ้าไม่มีความจำในความสุขนั้น เราเคยสุขเพราะอะไร ร้านไหนมีอาหารรสอร่อย หรือว่าอะไร ๆ ก็ตาม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่น่าเพลิดเพลิน ไปหาอีก ใช่ไหมคะ แสวงหาอีก เราแสวงหาแต่ความสุข แล้วก็มีความทรงจำเป็นเครื่องส่งเสริมอุดหนุนให้มีความต้องการต่าง ๆ เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น เพราะสัญญาเจตสิกซึ่งจำ จำผิด จำถูก เช่น จำว่าเป็นคน แต่ความจริงเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เวลาทีกระทบสัมผัสก็แข็ง  แต่เรามีความจำในรูปร่างสัณฐานทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เพราะความจำทำให้เรามีการที่ทำให้ปรุงแต่งจิต เป็นสภาพลักษณะต่าง ๆ ตามสภาพของเวทนากับสัญญา

    ด้วยเหตุนี้สัญญาเจตสิก ๑ ใน ๕๒ จึงเป็นสัญญาขันธ์  เจตสิกที่เหลืออีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ ครบขันธ์ ๕

    ต่อไปนี้เวลาที่พูดถึงขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่พูดลอย ๆ พอเขาขันธ์ ๕ เราก็บอกรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ แต่เป็นอะไรไม่รู้ แต่ถ้าศึกษาธรรมจริง ๆ จะมีความเข้าใจตามลำดับ ตั้งแต่ความเข้าใจธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วธรรมก็แยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ นามธรรมและรูปธรรม นามธรรมก็มี ๒ นามธรรมที่เกิดก็คือ จิต เจตสิก ซึ่งต้องเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน พอมีจิต เจตสิก รูป ก็ทรงแสดงโดยการยึดถือเป็นขันธ์ ๕ จะรู้จริง ๆ ว่า แต่ละขันธ์เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็เป็นจิตหรือเจตสิก หรือเป็นรูป

    ได้สัพพจิตสาธารณะกี่ดวงแล้วคะ หรือกี่ชนิดแล้ว สัพพจิตสาธารณเจตสิกมี ๗ ที่พูดถึงกี่ประเภทแล้วคะ เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก สภาพที่จงใจที่ได้กล่าวถึงแล้ว สภาพที่จงใจคือเจตนาเจตสิกเป็นสภาพที่ขวนขวายกระทำกิจของตน และขวนขวายให้เจตสิกและจิตที่เกิดร่วมกันกระทำกิจของตน ๆ  เหมือนหัวหน้านักเรียนบอกให้ทำอะไร นักเรียนทุกคนก็ทำด้วย

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีกุศลเจตนาเกิดขึ้น ความจงใจตั้งใจที่เป็นกุศล สภาพธรรมอื่นก็เป็นกุศลเกิดขึ้น ถ้าจงใจเป็นอกุศลที่จะเบียดเบียนประทุษร้ายคนอื่น ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลเจตสิกเกิดทำกิจการงานในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น เจตนาก็เป็นสภาพจงใจ ขวนขวายเกิดกับจิตทุกขณะ  ถ้าไม่ศึกษาเราก็จะเข้าใจเพียง ๒ ชาติ คือ กุศลเจตนาและอกุศลเจตนา แต่อย่าลืม จิตที่เกิดมี ๔ ชาติ  จำแนกออกเป็น กุศล ๑   อกุศล ๑ วิบาก ๑  กิริยา ๑ จิตใดที่เกิดเป็นกุศล ขณะนั้นจะเป็นอกุศลได้ไหมคะ ไม่ได้ เพราะจิตนั้นเกิดเป็นกุศล เวลาที่จิตเกิดเป็นอกุศล จะเปลี่ยนจิตนั้นเป็นกุศลได้ไหมคะ เมื่อเกิดเป็นอกุศลแล้วเปลี่ยนไม่ได้เลย จิตนั้นต้องเป็นอกุศล นี่เป็นเหตุ ส่วนเหตุเกิดแล้ว มีแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นวิบากเกิดขึ้นในกาลที่สมควร เช่นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จิตเห็น จิตได้ยิน พวกนี้เป็นวิบาก เป็นผลของเจตนาซึ่งเป็นกรรม

    เพราะฉะนั้น เจตนาก็เป็นสังขารขันธ์ แล้วก็เจตสิกอื่นนอกจากนี้ใน ๗ ดวงเป็นเวทนาขันธ์ ๑ เป็นสัญญาขันธ์ ๑ เป็นสังขารขันธ์ เท่าไรคะ ใน ๗ ประเภท เจตสิก ๗ ต้องเกิดกับจิตทุกดวง เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตนาเจตสิกเป็นสังขารขันธ์ อีกกี่ดวงคะ เหลืออีกเท่าไรคะ มี ๗ พูดแล้ว ๓ เหลือเท่าไรคะ  ๔ ดวงเป็นสังขารขันธ์

    เพราะฉะนั้น สังขารขันธ์ได้แก่เจตสิก ๕๐ ชนิด เป็นสภาพที่ปรุงแต่งจิต ขณะเห็นมีเจตนาไหมคะ มี แต่เป็นชาติวิบาก เพราะกรรมเป็นปัจจัยทำให้เจตนาเจตสิกเป็นชาติวิบากเกิดขึ้นขวนขวายทำกิจของเจตนา และจิตและเจตสิกอื่นก็กระทำกิจ  สำเร็จกิจของตน ๆ

    เวทนาเจตสิกเป็นเราหรือเปล่า เจตนาเจตสิกเป็นเราหรือเปล่า ถ้าไม่รู้ ก็เป็นอัตตา เป็นเรา แต่ถ้ารู้ก็คือเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาธรรม ลืมอนัตตาไม่ได้เลย  แล้วก็จะค่อย ๆ เข้าใจความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น เมตตาเป็นขันธ์อะไรคะ มีไหมคะ อโทสเจตสิก เจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งไม่โกรธ ไม่ขุ่นเคือง เป็นขันธ์อะไรคะ สังขารขันธ์  ตอนนี้ง่ายมากเลย โลภะเป็นขันธ์อะไรคะ สังขารขันธ์  เวลาไปวัดได้ยินขันธ์ ๕ แน่ ๆ เลย แล้วเข้าใจขันธ์ ๕ ว่าอย่างไร ทบทวนได้ไหมคะ

    จิตเป็นขันธ์อะไรคะ วิญญาณขันธ์  เจตสิกเป็นขันธ์อะไรคะ  ๓ ขันธ์ค่ะ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ รูปเป็นขันธ์อะไรคะ  รูปขันธ์  เวทนาเจตสิกเป็นขันธ์อะไรคะ เวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ พิเศษเฉพาะ ๒ เจตสิก เวทนาเจตสิก เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลืออีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์  อย่างนี้ไม่ต้องท่อง ใช่ไหมคะ จำได้แต่ว่าชื่ออาจจะใหม่


    หมายเลข 9739
    18 ส.ค. 2560