เป็นไปในอารมณ์เดียว


    ส.   ๗ ดวงครบหรือยัง ยัง เวทนา สัญญา เจตนา เอกัคคตาเจตสิค

    คุณสุภีร์ช่วยให้ความหมายภาษาบาลีค่ะ  เอกัคคตา   

    สุภีร์   เอกัคคตา มาจากคำว่า เอก บวก อัคค บวก ตา สำเร็จรูปเป็น เอกัคคตา เอก แปลว่า ๑ อัคค ก็คืออย่างยิ่ง ยึดมั่นอย่างยิ่ง หมายความว่า ใส่ใจในสิ่งนั้นแหละอย่างยิ่ง อัคค แปลว่าอย่างยิ่ง แล้ว ตา ก็คือ ความ ความเป็น ก็สำเร็จรูปเป็น เอกัคคตา ก็คือความเป็นไปในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเท่านั้น คือว่าเป็นไปในอารมณ์เดียว  เรียกว่า เอกัคคตา เอกัคคตาเจตสิกก็คือ เจตสิกที่มีความเป็นไปในอารมณ์เดียว นี้โดยศัพท์

    ส.   เพราะฉะนั้น จิตจะเป็น ๒ อารมณ์ไม่ได้  เพราะเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยตั้งมั่นที่อารมณ์หนึ่งเท่านั้น  ทำให้แต่ละขณะๆที่จิตเกิดจะมีอารมณ์เดียว แล้วสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ก็คือ เอกัคคตาเจตสิก เจตสิกนี้ไม่รู้สึก ไม่จำ  คือตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ เวลาที่เราใช้คำว่า สมาธิ ก็คือเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิต แต่ว่าปกติ ในขณะที่เห็น เหมือนไม่มีสมาธิเลย แต่ความจริงขณะที่เห็น จะได้ยินไม่ได้ จะต้องรู้เฉพาะอารมณ์เดียว ตั่งมั่นในอารมณ์เดียว แต่เวลาที่เรามีการจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด ในที่หนึ่งที่ใด ลักษณะของสมาธิจะปรากฏ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตตังมั่นในอารมณ์หนึ่งบ่อย ๆ มากขึ้น ไม่หันเหไปสู่อารมณ์อื่นเลย  ใครเรียกก็ไม่ได้ยิน ขณะนั้นเหมือนกับว่า กำลังมีสมาธิ เพราะเหตุว่าเอกัคคตาเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์เดียว ตั้งมั่นซ้ำ ๆ กันอยู่ที่อารมณ์นั้น ไม่เปลี่ยนไปอารมณ์อื่น ก็ปรากฏในลักษณะของสมาธิ 

    ขณะที่เห็นมีเอกัคคตาเจตสิก แต่ว่าไม่มีลักษณะที่จะเหมือนกับเวลาที่มีความตั้งมั่นในอารมณ์ขณะที่กำลังจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด ซึ่งขณะนั้นลักษณะของสมาธิจะปรากฏ แต่ว่าสมาธิมี ๒ อย่าง สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ ถ้าขณะใดที่ไม่ใช่กุศล ขณะนั้นเป็นอกุศล ก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิ

    เคยทำสัมมาสมาธิหรือมิจฉาสมาธิ  ได้ยินคำว่าสมาธิ อยากทำ เพียงได้ยินก็อยาก  ยังไม่รู้เลยว่าสมาธิคืออะไร เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลที่อยากทำสมาธิ ยังไม่ทราบว่าสมาธิเป็นอย่างไร คืออะไร เพราะว่าสมาธิมี ๒ อย่าง สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ  ถ้าสัมมาสมาธิเป็นกุศล แล้วถ้าเป็นการอบรมเจริญความสงบของจิต ต้องเป็นสัมมาสมาธิ  ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย จึงจะอบรมเจริญสัมมาสมาธิได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แล้วอยากทำสมาธิ สมาธินั้นเป็นสัมมาสมาธิหรือมิจฉาสมาธิ  มิจฉาสมาธิ  ชื่อน่ากลัว ใช่ไหมคะ มิจฉา ผิด แต่ว่าความจริงแล้วในพระไตรปิฎกมีข้อความแสดงไว้ สมาธิ แล้วแต่ว่าจะเกิดกับจิตอะไร ถ้าเกิดกับอกุศลจิตจะเป็นสัมมาสมาธิไม่ได้ แต่ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็เป็นสัมมาสมาธิ แล้วถ้าเป็นการอบรมเจริญสมาธิที่เป็นการอบรมกุศลสงบขึ้น มั่นคงขึ้น ต้องประกอบด้วยปัญญา  จึงจะเจริญได้ แต่ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา  จะเจริญสัมมาสมาธิไม่ได้ แต่สัมมาสมาธิก็เกิดกับกุศลจิตได้ แต่ถ้าจะอบรมเจริญให้มั่นขึ้น ก็ต้องประกอบด้วยปัญญา


    หมายเลข 9740
    18 ส.ค. 2560