เจตสิก ๗ ดวง


    ส.   เวลาที่อกุศลจิตเกิด จะมีเจตสิก ๗ ประเภทนี้ไหมคะ มี ขาดไม่ได้เลย ขณะที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ โสดาปัตติมรรคของพระองค์ที่เกิดมีเจตสิก ๗ ดวงนี้ไหมคะ มี ขณะที่สกทาคามิมรรคจิตเกิด มีเจตสิก ๗ ดวงไหมคะ อนาคามิมรรคจิตเกิด มีไหมคะ อรหัตมรรคจิตเกิดมีไหมคะ มี นี่ก็คือเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมจริงๆ เพราะว่ามีเหตุผล เป็นคำตอบจากความเข้าใจของตัวเอง ไม่ใช่เพียงแต่จำจากหนังสือ

    ผู้ฟัง    ที่ถามนี้คือ ผัสสเจตสิก สัญญาเจตสิก ปัญญาเจตสิก และจิตรู้อารมณ์ต่างกันอย่างไร

    ส.   ค่ะ คำตอบก็ต้องบอกว่า ผัสสเจตสิกรู้อารมณ์อย่างไร จิตรู้อารมณ์อย่างไร สัญญารู้อารมณ์อย่างไร

    ผู้ฟัง    หมายถึงโดยมีอะไรเป็นองค์ประกอบ

    ส.   มิได้คะ โดยลักษณะของสภาพนั้น ๆ อย่างผัสสเจตสิกเป็นเจตสิกที่รู้อารมณ์โดยกระทบ แต่ไม่ใช่โดยรู้สึก มีหน้าที่กระทบ ขณะนี้ใครเห็น เพราะผัสสเจตสิกกระทบรูปารมณ์ ซึ่งขณะอื่น คนอื่นกำลังได้ยิน เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิกของบุคคลนั้นก็กระทบเสียง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าผัสสเจตสิกจะกระทบอะไร จิตก็เกิดขึ้นพร้อมกับผัสสะนั้น รู้อารมณ์ นั้น ผัสสะเป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง    ผัสสะเป็นสังขารขันธ์

    ส.   สังขารขันธ์ จิตเป็นขันธ์อะไรคะ

    ผู้ฟัง    จิตเป็นวิญญาณขันธ์

    ส.   วิญญาณขันธ์  แล้วสังขารธรรม ได้แก่ปรมัตถ์อะไรคะ

    ผู้ฟัง    จิต เจตสิก รูป

    ส.   จิต เจตสิก รูป เว้นนิพพาน นิพพานไม่ใช่ขันธ์ เพราะว่าไม่เกิดดับ

    ผู้ฟัง    ต้องการทราบรายละเอียดของชีวิตินทรียเจตสิก กับมนสิการเจตสิกที่ยังค้างอยู่

    ส.   ชีวิตินทรียเจตสิก แปลหน่อยได้ไหมคะ คุณสุภีร์

    สุภีร์   ชีวิตินทรีย ก็มาจากคำว่า ชีวิต ชีวิ ตะ แปลว่า ชีวิต อินทรีย ก็คือเป็นใหญ่ ชีวิตินทรียเจตสิก ก็แปลตามศัพท์ ก็คือว่า เป็นใหญ่ในการให้มีชีวิตดำรงอยู่ ให้ สัมปยุตตธรรม  คือ จิต เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยมีชีวิตดำรงอยู่ทำกิจหน้าที่จนเสร็จ

    ส.   ลองคิดดูถึงจิต  นามธรรม เมื่อกี้ที่รับประทานโอวัลติน ก็ได้คุยกับบางท่าน ก็บอก นี่เห็นไหม ไม่มีใครบอกได้เลยว่า นี่เป็นโอวัลติน นี่เป็นครีม นั่นเป็นน้ำตาล รวมกันหมดแล้วก็แยกไม่ออก แต่นั่นเป็นรูปธรรม ยังมองเห็น ยังชิมได้ว่ามีรสอะไรบ้าง แต่นามธรรมไม่มีรูปใด ๆ เจอปนเลย นามธรรมล้วน ๆ แต่ละอย่างมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างจริง ๆ  จิตก็เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ เจตสิกอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกันต่างทำหน้าที่ของตน ไม่ก้าวก่ายกันเลย ผัสสเจตสิกจะไปทำหน้าที่ของเวทนาเจตสิกก็ไม่ได้ หรือว่าเจตนาจะไปทำหน้าที่ของชีวิตินทรีย์ก็ไม่ได้ ชั่วขณะเดียวที่แสนสั้น จะเร็วสักแค่ไหน เพราะว่าลองเปรียบเทียบ รูป ๆ หนึ่ง  มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะแต่กำลังเห็นและได้ยินเหมือนพร้อมกัน แต่ตามความเป็นจริงที่ทรงแสดง มีจิตเกิดคั่น เกิน ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้น ความดับไปของรูปจะรวดเร็วสักแค่ไหน ยิ่งความดับไปของจิตจะรวดเร็วสักแค่ไหน แต่กระนั้นยังต้องอาศัยเจตสิก ๗ ดวง ซึ่งรวมทั้งชีวิตินทรียเจตสิกด้วย ซึ่งเป็นเจตสิก ซึ่งเป็นใหญ่ในการที่จะให้สหชาตธรรมที่เกิดร่วมกัน ดำรงชีวิตอยู่ชั่วขณะที่แสนสั้น  ก่อนที่จะดับไป ใครรู้ล่ะคะอย่างนี้  ถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกอย่างต้องมีปัจจัย แม้แต่ชีวิตินทรียะก็เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดกับจิตทุกขณะ ที่จะเกื้อกูลทำให้สภาพของจิตเป็นสภาพที่ดำรงอยู่ชั่วขณะที่แสนสั้น แล้วความจริงชีวิตินทรีย์มี ๒ อย่าง คือ รูปที่เป็นชีวิตินทรีย์ก็มี  นามที่เป็นชีวิตินทรีย์ ก็ได้แก่ ชีวิตินทรียเจตสิก

    เพราะฉะนั้น เจตสิกจะไปเกิดกับรูปไม่ได้ เวลาพูดถึงชีวิตินทรีย์ที่เป็นนามธรรมคือ ชีวิตินทรียเจตสิก  เวลาพูดถึงรูป ชีวิตินทรีย์ก็เป็นชีวิตรูป เป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    ที่ตัวมีอากาศธาตุแทรกคั่นละเอียดยิบ จริงไหมคะ พร้อมที่จะแตกสลายให้ละเอียดอย่างไรก็ได้ เพราะว่าจริง ๆ แล้วก็มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ระหว่างกลุ่มของรูปซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่า กลาป  กลุ่มหนึ่ง ๆ มีรูปเล็กมากรวมกันอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป คือ มหาภูตรูป ๔ นี่ขาดไม่ได้เลย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีอยู่ที่ใด ต้องมีสี สิ่งที่สามารถปรากฏทางตา มีกลิ่น มีรส มีโอชา อีก ๔ รูป รวมอยู่ด้วย สำหรับรูป ๔ รูป แม้ว่าจะเกิดรวมกันก็จริง แต่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป ๔ แม้รูป ๘ รูปเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แต่แม้กระนั้นรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานก็เป็น ๔ รูป แล้วรูปที่อาศัยเกิดกับรูปที่เป็นมหาภูตรูปก็มี ๔ รูป ปนกันไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น รูปใด ๆ ก็ตามซึ่งไม่ใช่มหาภูตรูป อาศัยมหาภูตรูปเกิดขึ้นเป็นไป รูปนั้นชื่อว่า อุปาทายรูป  ดีที่เราจะได้ทราบความหมายในภาษาบาลีกำกับไปด้วย  ไม่ต้องไปเปิดพจนานุกรมทีหลัง เชิญคุณสุภีร์ค่ะ

    สุภีร์   คำว่า อุปาทายรูป  ก็แยกออกมาเป็น อุป + อาทาย อาทาย แปลว่าอาศัย อุป แปลว่าเข้าไป เข้าไปอาศัย รูปที่เข้าไปอาศัยรูปอื่นอยู่ รูปที่เข้าไปอาศัยรูปอื่น  คนอื่นไม่ได้อาศัยรูปนี้ แต่รูปนี้อาศัยรูปอื่นเรียกว่า อุปาทายรูป

    ส.   จะเห็นความต่างของการที่เราจะศึกษาเอง อ่านเอง เปิดพจนานุกรมเอง ว่า เราไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ แต่ถ้าเราเข้าใจเนื้อหา สาระ อรรถ แล้วก็สภาพธรรม แล้วเราก็มีภาษาบาลีกำกับให้ชัดเจนอีกว่า คำนั้นหมายความว่าอย่างไร  ก็จะได้ความรู้ทั้ง ๒ อย่าง  ก็เป็นโอกาสดีสำหรับคนรุ่นนี้ที่จะได้ศึกษาทั้งพระธรรมด้วย และความหมายในภาษาบาลีที่ถูกต้องด้วย ไม่คิดแปลเอาเอง

    เพราะฉะนั้น สำหรับชีวิตรูปมี เป็นรูปที่เกิดจากรรม กลุ่มของกลาปซึ่งเกิดจากกรรมจะมีรูป ๘ รูป คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา แล้วยังต้องมีชีวิตรูปซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรม รวมอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย ทำให้กลาปนี้ต่างจากกลุ่มอื่น ซึ่งไม่ได้เกิดเพราะกรรม เช่นรูปที่เกิดเพราะอุตุ อาหาร เป็นต้น จะไม่มีชีวิตรูปเลย 

    แต่ชีวิตรูปซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว เพราะหลายกลาปมีทั้งภาวะ มีทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย พวกนี้จะเป็นรูปที่ทรงชีวิต ทำให้รูปนั้นดำรงอยู่จนถึงขณะที่ดับไป เป็นลักษณะของรูป ซึ่งต่างกับรูปซึ่งไม่มีชีวิตรูปรวมอยู่ด้วย เวลาเห็นตุ๊กตา หรือหุ่นขี้ผึ้ง เหมือนคน แต่ไม่มีชีวิตรูป แต่ถ้ากลาปที่เกิดจากกรรมทำให้รูปนั้นเป็นรูปที่ทรงชีวิต ระหว่างที่กลาปนั้นยังไม่ดับ ก็เป็นรูปที่ต่างจากกลาปอื่น ๆ

    นี่คือความหมายของชีวิตอินทรียนาม ก็เลยต่อไปถึงเรื่องรูปให้ด้วยนิดหน่อยว่า ไม่ใช่มีแต่เฉพาะเจตสิก ยังมีชีวิตรูปด้วย

    นี่ก็เหมือนกับเป็นความละเอียด ลึกล้ำ ซ่อนเร้นของสภาพธรรม ซึ่งเปิดเผยได้ โดยการตรัสรู้ 

    ยังมีเจตสิกอะไรอีกไหมคะ มนสิการเจตสิก เพราะว่าเจตสิก ๗ ดวงซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกประเภท คือ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตอินทรียเจตสิก มนสิการเจตสิก

    มนสิการเจตสิกเป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ เคยเห็นคนละเอียด ๆ ไหมคะ กับคนหยาบ  ๆ ความใส่ใจจะเหมือนกันไหมคะ ในเรื่องเล็ก  ๆ น้อยๆ  หรือว่าความสนใจก็ได้ เพราะว่าบางอย่างเราไม่สนใจเลย  เห็นแล้วผ่านไปเลย แต่ถ้ามีความสนใจ จะมีความใส่ใจในสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น มนสิการเจตสิกก็เป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ที่ปรากฏ วิชาการทั้งหลายที่ไม่ใช่เกิดเพราะกุศลจิต  แต่เป็นความสามารถต่าง ๆ ทางโลก ทางวิทยาศาสตร์ ก็เพราะมนสิการเจตสิก ใส่ใจในอารมณ์ ตรึกนึกถึง แล้วก็มีความสนใจ ค้นคว้าที่จะรู้ในลักษณะนั้น ซึ่งเจตสิกพวกนี้ ถ้าไม่พูดถึงชื่อ แต่เราสามารถที่จะรู้ได้ว่า เราสนใจอะไร  เราไม่สนใจอะไร นั่นเป็นเพียงสิ่งที่สามารถจะปรากฏ แต่ที่ไม่ปรากฏ คือความรวดเร็วของจิต  ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีเจตสิกเหล่านี้เกิดร่วมด้วยก็จริง แต่ก็สั้น แล้วก็ผ่านไปเร็วมาก แต่ถ้ามีสภาพธรรมใดซึ่งทำให้จิต เจตสิก ใฝ่ใจ สนใจบ่อย ๆ เราก็สามารถที่จะเห็นใจความสนใจ ความใส่ใจในขณะนั้นได้

    ขนม มีสูตรไหมคะ กับข้าวก็มีสูตร แล้วทุกคนทำออกมาได้เหมือนกันไหมคะ สูตรเดียวกัน อยู่ที่ความใส่ใจหรือเปล่า ในการที่จะดู แม้แต่เกลือจะมากจะน้อยไปนิดหน่อย ไฟจะแรงไปมากน้อยนิดหน่อย พวกนี้ก็เป็นเรื่องของความใส่ใจ แต่จริง ๆ แล้วเป็นเจตสิกที่ใส่ใจในอารมณ์ทุกขณะที่จิตเกิด เพราะว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ของจิต แต่ว่าเป็นหน้าที่ของมนสิการเจตสิก

    ขณะนี้มนสิการเจตสิกเกิดหรือเปล่าคะ เกิด ไม่มีสักขณะเดียวที่จิตเกิดแล้วจะไม่มีเจตสิก ๗ ดวงนี้เกิดร่วมด้วย จึงชื่อว่า สัพพจิตสาธารณเจตสิก หมายความว่า เจตสิก ๗ ดวงนี้สาธารณะกับจิตทุกประเภท สัพพจิตสาธารณเจตสิก คือ เกิดกับจิตทุกชนิด


    หมายเลข 9743
    17 ส.ค. 2560