ความเข้าใจมีหลายขั้น


    ในพระไตรปิฎกมีทั้งมิจฉามรรค และสัมมามรรค ทรงเตือนไว้ทุกประการ ที่จะไม่ให้พุทธบริษัทเข้าใจผิด นี่เป็นพระมหากรุณา เพราะว่าในสมัยที่ยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่มีปัญญาที่เกิดในสมัยนั้นเพียงฟังพระธรรม ท่านก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่สำหรับคนยุคนี้สมัยนี้ ถ้าไม่ศึกษาโดยรอบคอบ โดยถี่ถ้วน โดยเข้าใจจริงๆ จะเข้าใจผิด แล้วก็จะทำให้คำสอนที่ทำให้สามารถเข้าใจสภาพธรรมค่อยๆ ลบเลือนไปได้ เพียงแค่ว่ามีใครจะศึกษาต่อไป นี่ก็เป็นที่ปีติยินดีที่เห็นประโยชน์ของการฟัง ที่ไม่ทอดทิ้ง หรือว่าไม่ละเลย การศึกษาธรรม

    ข้อสำคัญคือพระธรรมมีจริง พร้อมที่จะให้พิสูจน์ ยากหรือคะ เป็นการสรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งบอกว่ายากๆ ก็ยิ่งสรรเสริญ ต้องไม่ง่ายอย่างที่เราคิด กว่าจะได้ตรัสรู้ก็ต้องสะสมพระบารมีนานมาก เพื่อจะรู้สิ่งธรรมดาๆ ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน นี่เป็นขั้นฟัง ขั้นที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ จะยากกว่านี้ไหมคะ นี่คือการฟังเรื่องจิต เรื่องเจตสิก แต่การที่จะรู้ลักษณะของจิตที่กำลังเกิดขึ้นทำหน้าที่พร้อมเจตสิกต่างๆ แล้วก็ต้องละเอียดด้วย เพราะตั้งแต่เกิดจนตายเป็น จิต เจตสิกทั้งหมด เวลาที่คิด เป็นเราหรือเปล่าคะ จิต เจตสิก เวลาที่หัวเราะ สนุกสนาน เป็นเราหรือเปล่าคะ จิต เจตสิก รูปทั้งนั้นเลย

    คงไม่ลืมความหมายของคำว่า ปฏิปัตติ ถึงเฉพาะลักษณะที่ถึงเฉพาะ คือ สติเจตสิกพร้อมด้วยสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น ที่ใช้คำว่า “สติปัฏฐาน” เป็นสภาพที่ระลึก หมายความว่า มีสภาพธรรมขณะนี้กำลังปรากฏ แล้วยังไม่คิดเรื่องอื่นเลย ก็รู้ในลักษณะนั้นๆ ค่อยๆ เข้าใจความเป็นนามธรรม และรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเป็นจิต เจตสิก รูปอย่างนั้นๆ จริงๆ ตามที่ได้ฟัง แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานแสนนาน ก็คงไม่ท้อถอย ในสมัยพระทีปังกรที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ในพระชาติที่เป็นสุเมธดาบส แล้วก็ได้ทำกุศลโดยการที่ว่า มีที่แฉะ เดินข้ามลำบาก เป็นหลุม เป็นบ่อ สุเมธดาบสก็ทอดกายลง เพื่อที่จะให้พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินเหยียบพระองค์ไป ในสมัยที่เป็นสุเมธดาบสได้รับคำพยากรณ์ว่า สุเมธดาบสในอีก ๔ สงคไขยแสนกัป

    แสนกัป แล้วก็ ๔ อสงไขย แสนกัป ไม่ใช่ปี ไม่ใช่เดือน แต่เป็นกัป กัปนี้ก็นานมาก จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า โคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวเมืองที่ได้ยินได้ฟังดีใจว่า ถึงแม้เขาไม่สามรถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในสมัยของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาก็ยังมีหวังว่า อีก ๔ อสงไขยแสนกัป ในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ เขาอาจจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม นี่คือความเพียรอย่างยิ่ง ความอดทนอย่างยิ่ง ซึ่งไม่มีอะไรเพียรเท่า หรืออดทนเท่า แต่ไม่ใช่ไปเพียรทุ่มเททำอะไรที่ปัญญาไม่เกิด แต่เพียรที่จะค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่ระลึก ก็เป็นเพียงการคิดเรื่องการเกิดดับ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมกำลังเกิดดับจริงๆ

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงมีหลายขั้น ขั้นฟังเข้าใจ แล้วขั้นปฏิปัตติ คือสติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมถึงขั้นปฏิเวธ คือประจักษ์แจ้งสภาพธรรมนั้นได้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น “ปฏิปัตติ” ไม่ใช่ภาษาไทย แปลเอง คิดเองว่า ทำ เพราะว่าจริงๆ แล้วเป็นจิต เจตสิก รูป ไม่ใช่เรา


    หมายเลข 9747
    9 ม.ค. 2567