เมื่อจิตเกิดต้องมีอารมณ์


    ส.   ไม่ทราบเมื่อวานนี้มีอะไรที่ยังเหลือที่อยากจะสนทนากันต่อหรือเปล่าคะ เพราะว่าเป็นการปูพื้นเริ่มต้นที่จะให้เข้าใจ แม้แต่ความหมายของคำว่า ธรรม แต่ธรรม ก็เกิด คือจิตต้องเกิด จึงจะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ถ้าไม่มีจิต จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้ สภาพอ่อนแข็งเกิดขึ้น รูปร่างสัณฐานเป็นต้นไม้ เป็นดอกไม้ เป็นภูเขา เป็นน้ำทะเล ก็ไม่ใช่จิต ก็เป็นแต่เพียงรูป แต่ว่าถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ สิ่งใด ๆ ก็ปรากฏไม่ได้เลย เพราะว่ารูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะที่ตัวหรือนอกตัว เห็นสิ่งใด หรือว่ากระทบสัมผัสสิ่งใด รู้ได้เลย สภาพนั้น ๆ ไม่ใช่ลักษณะของรูปธรรม แต่ขณะใดที่เป็นสภาพรู้ สามารถเห็น สามารถเข้าใจ สามารถคิดนึก ขณะนั้นเป็นลักษณะของนามธรรม ซึ่งนามธรรมมี ๒ อย่าง จิตกับเจตสิก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ

    ทุกคนมีตา แต่ตาเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ตาเป็นรูปธรรม นี่คือประโยชน์ที่ได้รับจากเมื่อวานนี้ ตาเป็นรูปธรรม  แต่ว่าเห็นไม่ใช่ตา สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็ไม่ใช่นามธรรม

    เพราะฉะนั้น นามธรรมเป็นสภาพที่เห็น ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น  เพราะนามธรรมเกิดขึ้นโดยอาศัยตา

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแต่ละอย่าง เราเกิดมาเราไม่เคยรู้เลยว่า เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อาศัยอะไรเกิดขึ้น แต่ทุกอย่างที่เกิดต้องมีปัจจัยที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นเกิด ปัจจัยคือสภาพที่เกื้อกูล  เป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การที่จิตจะเกิดขึ้นมาโดยไม่มีเหตุเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    สำหรับสภาพธรรมที่ปัจจัยเกื้อกูลให้จิตเกิดขึ้น ก็คือเจตสิก เป็นสภาพที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้  ไม่ว่าจิตกำลังรู้สิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต

    ขณะนี้กำลังมีอารมณ์ไหมคะ มี ใครไม่มีอารมณ์บ้างไหมคะ เมื่อจิตเกิดต้องมีอารมณ์  อารมณ์จะปรากฏหรือไม่ปรากฏอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าเราจะเปลี่ยนธาตุหรือสภาพของความจริงไม่ได้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้เกิดขึ้นต้องรู้  แต่ว่าอารมณ์จะปรากฏหรือไม่ปรากฏนั่นอีกเรื่องหนึ่ง เช่นในขณะแรกที่เกิด จิตทำหน้าที่ปฏิสนธิ สืบต่อจากชาติก่อน ขณะเดียวที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลย  จำได้ไหมคะว่า ตอนนั้นเป็นอย่างไร อารมณ์อะไรปรากฏ หรือว่าตอนที่หลับสนิท ใครจำได้ไหมคะ ตอนหลับสนิทจิตมีอารมณ์อะไร  แม้จิตเกิดก็ไม่รู้ ขณะนั้นจะไม่มีความรู้ความทรงจำในเรื่องของโลกนี้เลย เพราะเหตุว่าจิตที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิสืบต่อจากชาติก่อน ๑ ขณะ ดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้จิตเกิดสืบต่อเป็นภวังคจิต เป็นผลของกรรมเดียวกัน ทำให้เป็นบุคคลนี้ สืบต่อจนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายของจิต คือขณะที่จุติจิตเกิด แล้วก็ดับ ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ จะไม่กลับมาสู่ความเป็นบุคคลนี้อีกเลย เป็นไปไม่ได้เลย 

    เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก็มีบุคคลมากมายในพระไตรปิฎก กลับไปเป็นบุคคลนั้นได้สักคนไหมคะ ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะชื่อใด ๆ ในพระไตรปิฎก นางเวเทหิกา หรือว่าจะเป็นพราหมณ์ชื่อนั้น ชื่อนี้ มีความเห็นถูก มีความเห็นผิดอย่างไรก็ตาม ก็จะกลับไปสู่ความเป็นคนเก่าไม่ได้ แต่มีการสืบต่อจากบุคคลเก่าจากจิต ๑ ขณะสู่จิตอีก ๑ ขณะ สู่จิตอีก ๑ ขณะ จิตเมื่อวานนี้กับจิตวันนี้ ไม่ใช่ขณะเดียวกัน  แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อวานนี้  ความเข้าใจเมื่อวานนี้ก็สะสมสืบต่อมาจนถึงวันนี้ได้  ที่เราได้ฟังเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของขันธ์ เมื่อวานนี้ เราก็สามารถที่จะเข้าใจ เวลาที่ได้ยินคำว่าจิต ก็มีการสะสมสืบต่อ จากที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้  ไม่ทรงแสดง ไม่อุปการะแก่สัตว์โลก บุคคลอื่นไม่สามารถที่จะคิดเองได้เลย ใครจะคิดว่าขณะนี้มีจิตเห็นแล้วก็ดับ แล้วก็จิตได้ยิน ได้ยินแล้วก็ดับ ทุกขณะของจิตเกิดขึ้นทำกิจรู้  รู้อะไร เพียงรู้ คือรู้อารมณ์ที่ปรากฏ เช่นขณะนี้มีสิ่งปรากฏทางตาให้เห็น นี่คือหน้าที่ของจิตเห็น  เห็นแล้วก็หมดไป ขณะที่เสียงปรากฏ ปรากฏกับจิตที่ได้ยิน จิตนั้นเกิดขึ้นเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ลักษณะของเสียง มีเสียงหลายเสียง แต่จิตจะเกิดขึ้นได้ยินเสียงทีละเสียง สลับกันอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเหมือนกับว่าพร้อมกัน เหมือนกับเห็นด้วยได้ยินด้วย นี่เพราะการเกิดดับสืบต่อ เหมือนนายมายากลที่ทำให้หลงเข้าใจว่า มีคน มีสัตว์ แล้วก็โลกนี้เที่ยง สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏไม่ได้ดับเลย

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมต้องฟังให้เข้าใจว่า เราฟังเพื่ออะไร เพื่อมีความเห็นที่ถูกต้อง นี่เป็นจุดสูงสุด เพราะว่าเมื่อมีความเห็นถูกจะละคลายอกุศล แต่ถ้าใครก็ตามซึ่งไม่มีความเห็นถูก แล้วก็คิดว่าสามารถที่จะเป็นตัวตนที่ละคลายอกุศลจนกระทั่งดับอกุศลได้ ก็เป็นผู้ที่เข้าใจผิด เพราะว่าเราหรือความเห็นผิดไม่สามารถจะดับอกุศลใด ๆ ได้เลย แต่ปัญญาเท่านั้นที่สามารถทำกิจของปัญญา คือ ละคลายความไม่รู้ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอกุศลทั้งหลาย


    หมายเลข 9756
    17 ส.ค. 2560