พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อ - ติสสดาบส


    ต่อแต่นั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงดำริว่า เราพูดว่าเราไม่บริโภคกลิ่นดิบ ดังนี้ หมายถึง กลิ่นดิบคือกิเลสทั้งหลาย แต่พราหมณ์เจาะจงเอาปลา และเนื้อ

    พระผู้มีพระภาคจึงทรงพระดำริที่จะไม่เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น แต่จะบริโภคบิณฑบาตที่เขานำมาจากพระราชวังของพระเจ้ากิกิ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินพาราณสีในสมัยนั้น และจะทรงเทศนาให้ดาบสนั้นเข้าใจความหมายของ กลิ่นดิบ

    ในวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงกระทำบริกรรมสรีระแต่เช้าตรู่ เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี ซึ่งเมื่อพระภิกษุทั้งหลายเห็นพระคันธกุฎีปิด ก็รู้ว่าวันนั้นพระผู้มีพระภาคไม่ประสงค์จะเสด็จเข้าไปบิณฑบาตพร้อมกับภิกษุทั้งหลาย จึงได้กระทำประทักษิณพระคันธกุฎี และเข้าไปเพื่อบิณฑบาต

    เมื่อภิกษุเหล่านั้นออกไปเพื่อบิณฑบาตแล้ว พระผู้มีพระภาคก็เสด็จออกจากพระคันธกุฎี แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ฝ่ายติสสดาบสก็ต้มใบไม้ แล้วเคี้ยวกินอยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาค

    เมื่อพระเจ้ากิกิเห็นภิกษุทั้งหลายเที่ยวบิณฑบาตก็ตรัสถามว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จไปไปไหน เมื่อทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหาร ก็ได้จัดส่งโภชนะที่ถึงพร้อมด้วยกับ และรสต่างๆ สมบูรณ์ด้วยเนื้อชนิดต่างๆ เพื่อถวายแด่ พระผู้มีพระภาค อำมาตย์ทั้งหลายก็ได้นำภัตตาหารเหล่านั้นเข้าไปสู่พระวิหาร แล้วได้ถวายน้ำ แล้วก็อังคาสโดยถวายข้าวยาคู ซึ่งถึงพร้อมด้วยเนื้อนานาชนิดให้ทรงบริโภคก่อน ดาบสนั้นก็เห็น และยืนคิดว่า พระผู้มีพระภาคจะเสวยหรือไม่เสวยเมื่ออำมาตย์นั้นถวายข้าวยาคูซึ่งปรุงด้วยเนื้อชนิดต่างๆ

    พระผู้มีพระภาคเมื่อดาบสดูอยู่นั้นแล จึงทรงดื่มซึ่งข้าวยาคู ทรงใส่ชิ้นเนื้อลงไปในพระโอษฐ์ ดาบสเห็นแล้วก็โกรธ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงดื่มข้าวยาคูเสร็จแล้ว อำมาตย์ทั้งหลายก็ได้ถวายโภชนะที่ประกอบด้วยรสต่างๆ ดาบสก็เห็นพระผู้มีพระภาคทรงรับแม้โภชนะนั้นเสวยอยู่ ก็โกรธยิ่งขึ้น

    เมื่อครู่นี้ก็เสวยข้าวยาคูหมดแล้ว และก็ยังเสวยอาหาร โภชนะที่ประกอบด้วยรสต่างๆ

    ครั้งนั้นติสสดาบสได้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาค ผู้ทำภัตตกิจเสร็จแล้ว และได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่ท่านกัสสปะผู้เจริญ ท่านตรัสคำเท็จ ข้อนั้นไม่ใช่กิจของบัณฑิต ด้วยว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงติเตียนมุสาวาทไว้แล้ว แม้พวกฤๅษีเหล่านั้นเหล่าใดยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยมูลผลาผลในป่า อยู่ ณ เชิงแห่งเขา ฤๅษีแม้เหล่านั้นก็ไม่ยอมพูดคำเท็จ

    ต่อจากนั้นก็ได้พรรณนาคุณของฤๅษีทั้งหลาย

    และติสสดาบสก็ได้กล่าวติเตียนต่อพระผู้มีพระภาค โดยสรรเสริญฤๅษีทั้งหลาย ฤๅษีทั้งหลายไม่ยึดถือของของตน บริโภคอยู่ซึ่งข้าวฟ่าง ย่อมไม่พูดคำเหลาะแหละเพราะปรารถนากาม ซึ่งหมายความถึง รสอร่อยต่างๆ

    แต่พระผู้มีพระภาคทรงเสวยกลิ่นดิบ และยังตรัสว่า พราหมณ์ เราหาบริโภคกลิ่นดิบไม่ ชื่อว่าตรัสคำเหลาะแหละ ดังนี้

    และก็ได้กล่าวคำเปรียบเทียบถึงเนื้อนกซึ่งมีรสอร่อย วิธีปรุงต่างๆ เพราะในวันนั้น พระเจ้ากิกิได้ถวายอาหารซึ่งปรุงด้วยเนื้อนกแด่พระผู้มีพระภาค

    แต่ดาบสนั้น เมื่อจะกล่าวติเตียนพระผู้มีพระภาค ก็ได้แหงนมองดูพระวรกายของพระผู้มีพระภาค ในเบื้องล่างตั้งแต่ฝ่าพระบาท จนถึงปลายพระเกศาในเบื้องบน

    มีจุดประสงค์ที่จะดูมหาปุริสลักษณะของพระผู้มีพระภาค

    เมื่อได้เห็นความสมบูรณ์แห่งพระลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ และ อนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ รวมทั้งได้เห็นกำแพงแห่งพระรัศมีอันขยายออกไปวาหนึ่ง ก็คิดได้ว่า ผู้ที่มีกายประดับด้วยมหาปุริสลักษณะเห็นปานนี้ ไม่สมควรที่จะพูดเท็จ และยังมีพระอุณาโลมซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างคิ้ว เป็นขนอ่อนนุ่มสีขาวคล้ายนุ่น และยังขุมขนทั้งหลายเป็นอเนกที่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นผลอันไหลออกแห่ง สัจวาจาในภพที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ก็รู้ว่า บุคคลเช่นนี้จะพูดเท็จในบัดนี้ไม่ได้ กลิ่นดิบของพระผู้มีพระภาคจะต้องเป็นอย่างอื่น ที่พระองค์ตรัสคำนั้นหมายความถึงกลิ่นดิบอะไรที่ว่า พราหมณ์ เราหาได้บริโภคกลิ่นดิบไม่ ดังนี้

    เมื่อติสสดาบสคิดได้ ก็ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องกลิ่นดิบว่า กลิ่นดิบได้แก่อะไร ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงว่า อกุศลธรรมทั้งหลายเป็น กลิ่นดิบ ชื่อว่ากลิ่นดิบ คือ เป็นกลิ่นที่มีพิษ เป็นกลิ่นดุจซากศพ

    อกุศลมีกลิ่น ไม่ทราบว่า ทุกท่านได้กลิ่นของอกุศลที่มีอยู่ที่ตัวบ้างหรือยัง ไม่ใช่กลิ่นปลา กลิ่นเนื้อ แต่ว่าเป็นกลิ่นของอกุศล เพราะชื่อว่ากลิ่นดิบ คือ เป็นกลิ่นที่ มีพิษ เป็นกลิ่นดุจซากศพ

    เพราะเหตุไร

    ตอบว่า

    เพราะไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะคลุกเคล้าด้วยของไม่สะอาดคือกิเลส เพราะเป็นของที่สัปบุรุษทั้งหลายเกลียด และเพราะนำมาซึ่งความเป็นกลิ่นที่เหม็นอย่างยิ่ง

    ในขณะที่อกุศลเกิดขึ้นกับบุคคลใด ชื่อว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง ยิ่งกว่ากลิ่นดิบทั้งหลายเหล่านั้น

    เวลาที่ได้กลิ่นปลา กลิ่นเนื้อ เป็นกลิ่นดิบ เป็นกลิ่นที่ไม่สะอาด แต่กลิ่นของอกุศลที่เกิดกับบุคคลใด ไม่สะอาดยิ่งกว่ากลิ่นที่กระทบจมูก ที่เป็นกลิ่นภายนอก

    ข้อความต่อไปมีว่า

    แม้ร่างที่ตายแล้วของคนที่หมดกิเลสทั้งหลาย ก็ยังไม่จัดว่ามีกลิ่นเหม็น เพราะฉะนั้น กลิ่นนี้ คือ การฆ่าสัตว์ เป็นต้น จึงเป็นกลิ่นดิบ ส่วนเนื้อ และโภชนะซึ่งผู้บริโภคไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง และไม่ได้รังเกียจว่า เขาฆ่าเพื่อตน จัดเป็นสิ่งหาโทษมิได้ เพราะฉะนั้น เนื้อ และโภชนะจึงไม่ใช่กลิ่นดิบ

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงกลิ่นดิบทั้งหลาย คือ อกุศลทั้งหลาย


    หมายเลข 9181
    31 ธ.ค. 2566