พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อ - กลิ่นดิบทั้งหลาย คือ อกุศลทั้งหลาย


    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงกลิ่นดิบทั้งหลาย คือ อกุศลทั้งหลาย

    เมื่อติสสพราหมณ์ได้ฟังพระเทศนาที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ก็เป็นผู้ที่มีใจนอบน้อม ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคผู้ไม่มีกลิ่นดิบ คือ เป็นผู้ที่หมดจดจากกิเลส เป็นผู้ที่บรรเทาความทุกข์ทั้งปวงเสียได้ และได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ก็ได้ตรัสให้ติสสดาบสนั้นเป็นภิกษุมาเถิด

    เมื่อติสสดาบสได้บำเพ็ญเพียรเพียง ๒ – ๓ วันเท่านั้น ก็ได้บรรลุสาวกบารมีญาณ ได้เป็นอัครสาวกชื่อว่า ติสสะ ในสมัยของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ในครั้งนั้นจึงมีอัครสาวก ๒ ท่าน คือ ติสสะ ท่านหนึ่ง กับ ภารทวาชะ ท่านหนึ่ง

    . อย่างเช่น ปลาดุก เขาจะมีการสับหรือหั่นไว้ขาย ถ้าเราไปซื้อ จะถือว่ามีส่วนในการทำบาปนั้นหรือไม่ ไม่ได้สั่ง หรือไม่ได้ให้คนอื่นไปสั่งอะไร

    ท่านอาจารย์ คงจำได้เรื่องสีหเสนาบดี เมื่อท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านก็ได้ให้พนาย คือ คนรับใช้ของท่าน ไปซื้อเนื้อ และปลาที่ฆ่าแล้วมาปรุงเป็นอาหารถวายพระผู้มีพระภาค และสาวกของพระองค์ ไม่ใช่ฆ่าเอง

    . แสดงว่า เราบริโภคเนื้อที่เขาฆ่าไว้แล้ว ไม่บาป

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเจตนาฆ่า

    . อย่างคนที่เขาทำ จะมีเจตนาเพื่อเราหรือไม่ ไม่ทราบ ผู้ขายอาจจะเตรียมไว้ให้

    ท่านอาจารย์ แสดงไว้ชัดเจนว่า ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ เพราะรู้ว่า ไม่ได้เจาะจงเพื่อตน

    . แต่ถ้าเห็น ก็ต้องบาป

    ท่านอาจารย์ ไม่สมควรที่จะให้เขาฆ่าเพื่อตน

    . ที่เขาฆ่าอยู่นั้น เขาไม่ได้เจาะจงว่าเพื่อเรา

    ท่านอาจารย์ อย่างไรเขาก็ฆ่า

    . เขาทำตามหน้าที่ของคนขาย แต่เราเดินผ่านไป เห็นเขาทำ และก็วางขาย

    ท่านอาจารย์ อย่างไรเขาก็ฆ่า จะทำอย่างไรให้เขาไม่ฆ่า นอกจากให้เขาเข้าใจเรื่องกลิ่นดิบ

    . ดิฉันคิดถึงเรื่องชาดกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องโจรโปลิสาท ที่ปลาตัวหนึ่งมาติดหาดอยู่ ชาวเมืองทั้งเมืองมาเฉือนไปกินคนละชิ้น สมัยนั้นพระพุทธเจ้าเกิดเป็น พระเจ้าโสมทัต ที่ว่า เขาฆ่าไว้แล้วไม่บาป แต่ทำไมพวกนั้นต้องมาใช้กรรม โดยถูกโจรโปลิสาทฆ่ากิน แม้แต่นักโทษในคุกก็ยังเอามาฆ่า ในชาดก

    ท่านอาจารย์ แสดงว่าเป็นผลของกรรมอะไร

    . ของกรรมที่กินเนื้อปลา

    ท่านอาจารย์ แสดงไว้ว่า เป็นผลของการกินเนื้อปลาหรือ

    . เป็นเทศน์ชาดก ดิฉันเคยฟังตั้งแต่ยังเด็กๆ ดิฉันอ้างไม่ได้ แต่ฟังมาอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าเฉือนเนื้อปลาเป็นๆ ทำให้ปลานั้นตาย ต้องบาปแน่ แต่ถ้าปลานั้นตายแล้ว เฉือนเนื้อปลาที่ตายแล้วกินก็ไม่บาป เพราะทรงแสดงชัดถึงกรรมว่า ได้แก่เจตนา

    ดิฉันเป็นคนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ แต่สาเหตุที่ไม่รับประทานไม่ใช่ว่ากลัวบาป แต่เพราะไม่ชอบของคาว อาจจะไม่ชอบมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะร่างกายเราไม่ต้องการ พูดถึงเรื่องกิเลสของคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์นั้นมีแน่ ที่ว่าเป็นกลิ่นดิบนั้น ดิฉันสนับสนุน ขณะที่เราปรุงอาหารมังสวิรัติ ทั้งๆ ที่ใครๆ ว่าไม่อร่อย แต่ขณะที่เราปรุงไป เราจะมีความอยากเกิดขึ้น รู้สึกว่าน้ำลายสอ ก็คิดว่า ขนาดเราทานอาหารมังสวิรัติที่ใครๆ เขาว่าไม่อร่อย น้ำลายก็ยังสออย่างนี้ แสดงว่า กลิ่นดิบมีแน่

    ท่านอาจารย์ ทั้งๆ ที่เป็นอาหารผัก ก็ยังมี

    . ยังมีกิเลส ดิฉันสนับสนุนเรื่องนี้ กลิ่นดิบนี้มีแน่ๆ สำหรับคนที่รับประทานมังสวิรัติ อย่าคิดว่าจะหมดเลย

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังคงจะมีสุขภาพที่ดีมาก แข็งแรงด้วยการบริโภคอาหารผัก ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจผิดว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้จะต้องไม่บริโภคเนื้อสัตว์ นั่นก็แล้วแต่อัธยาศัย เพราะสำหรับบางท่าน ร่างกายเหมาะสมกับการบริโภคอาหารผักมากกว่าอาหารอื่น ซึ่งหลายท่านก็ชอบอาหารประเภทผัก แล้วแต่ว่าท่านจะบริโภคเฉพาะอาหารผัก หรือว่าถึงแม้ว่าจะมีอาหารอื่นบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ได้เข้าใจผิดว่า ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมต้องบริโภคอาหารผัก ไม่บริโภคปลา และเนื้อ

    แต่ต้องคิดถึงเจ้าของบ้าน ถ้าเป็นแขก เพราะว่าส่วนใหญ่ รู้สึกว่าเจ้าของบ้านจะลำบาก ถ้าเชิญแขกที่บางท่านบริโภคเนื้อสัตว์ บางท่านไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่ ถ้าเป็นผู้ที่มีความเป็นอยู่ง่าย ถ้าท่านไม่ชอบชิ้นเนื้อ ท่านก็หลีกเลี่ยงไม่รับประทาน หรือถ้ามีแต่ชิ้นเนื้อไม่มีอาหารอื่นเลย ท่านก็ยังบริโภคได้ เพราะไม่ใช่กลิ่นดิบจริงๆ กลิ่นดิบจริงๆ ต้องเป็นความยินดียินร้าย ยินดีที่จะบริโภคผัก ยินร้ายที่จะบริโภคเนื้อ ถ้ายังเป็นอย่างนั้น ก็ไม่หมดกิเลส

    . ผมเคยได้ยินมาหลายคนแล้วที่ไม่ถูกกับปลา และเนื้อ ไม่ได้เจตนาที่จะวิรัติ และไม่มีความเห็นผิดว่า การที่จะบรรลุอริยสัจธรรมนี้จะต้องเว้น แต่ท่านกินไม่ได้จริงๆ เป็นธรรมชาติของเขาอย่างนั้น ทำให้ผมนึกถึงอรรถกถาที่ท่านกล่าวว่า พระอริยบุคคล ถ้าใครเอาเหล้าผสมกับน้ำ พระอริยบุคคลดื่มเข้าไป น้ำจะเข้าไป เหล้าจะอยู่ที่ก้นแก้ว นี่เป็นธรรมดาของพระอริยบุคคล และนกกระเรียน เอานมผสมกับน้ำให้นกกระเรียน เวลานกกระเรียนกิน นมจะเข้าไป น้ำอยู่ที่ก้นแก้ว เป็นธรรมชาติของนกกระเรียนอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ธาตุต่างๆ บางครั้งดูจะแปลกๆ เพราะธาตุบางอย่างเข้ากันได้ บางอย่างเข้ากันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่กินเนื้อ และปลาไม่ได้ คิดว่าน่าจะมีธาตุอะไรที่แปลกกว่าคนธรรมดากระมัง

    ท่านอาจารย์ เป็นไปได้ และตราบใดที่ไม่เห็นผิด ก็ไม่เป็นไร ถ้าท่านผู้ฟังจะบริโภคหรือไม่บริโภคเนื้อ เพราะท่านรู้หนทางว่า กลิ่นดิบจริงๆ ไม่ใช่กลิ่นเนื้อหรือกลิ่นปลา แต่ว่าเป็นกลิ่นของอกุศล เพราะฉะนั้น ก็พร้อมที่จะรู้จักกลิ่นของตัวเอง น่ารู้ เพราะว่าถ้าไม่รู้ ไม่มีทางที่จะดับกลิ่นดิบที่ตัว

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดโดยละเอียด แม้ในเรื่องลักษณะของจิต ประการที่ ๓ ที่ว่า ที่ชื่อว่าจิต เพราะกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก สั้นๆ ก็จริง แต่ว่าขณะเห็น สติระลึกได้ นั่นคือการที่ได้ฟังพระธรรม และไม่หลงลืมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม

    สำคัญที่สุด คือ ฟัง นอกจากเพื่อให้เข้าใจแล้ว ยังเพื่อประพฤติปฏิบัติตามด้วย จึงจะชื่อว่าสาวก เพราะถ้าเป็นเดียรถีย์ ผู้ที่นับถือศาสนาอื่น หรือว่าลัทธิอื่น มีโอกาสได้ฟัง มีโอกาสได้พิจารณา แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม


    กลิ่นดิบที่จะหมดไปได้ ต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และรู้ลักษณะของกิเลสอย่างละเอียดที่แต่ละท่านสะสมมาซึ่งจะเกิดขึ้น ตามความเป็นจริง

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ท่านบอกว่า ท่านทำงานมาก เหนื่อยเหลือเกิน เครียด เพราะฉะนั้น อยากจะทำสมาธิให้สบายๆ

    ท่านก็จะเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการจะทำสมาธิให้สบายๆ เพราะเวลาเครียดทีไร หรือเหน็ดเหนื่อยทีไร ท่านก็นึกถึงแต่จะทำสมาธิให้ร่างกายสบายๆ ซึ่งนั่นไม่ได้ละกิเลสอะไร เป็นความต้องการ และท่านก็ทำบ่อยๆ ยิ่งทำบ่อยก็จะยิ่งชำนาญ โดยหลงลืมสติ ไม่เห็นว่าการอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดทั้งสิ้น เป็นประโยชน์ที่สุด เพราะสงบจากความต้องการ ไม่ใช่เพื่อพักผ่อนให้ร่างกายสบายๆ ซึ่งขณะนั้นเป็นตัวตน เป็นร่างกาย เป็นเราที่ต้องการสบาย

    เพราะฉะนั้น กว่าปัญญาจะเกิดจริงๆ กว่าสติปัฏฐานจะระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ว่าร่างกายจะสบายหรือไม่สบาย เหมือนกับบางท่านที่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องเลือด เนื้อ กระดูก จะเหือดแห้งไป ก็จะอบรมเจริญความเพียร แต่เมื่อเหน็ดเหนื่อย ก็อยากจะให้ร่างกายสบาย ก็ไม่ตรงกับที่ว่า สติสามารถเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่กำลังปรากฏ นั่นประเสริฐที่สุด

    กลิ่นดิบมีมาก และคงจะเหม็นขึ้นทุกวันๆ ถ้าไม่ได้ขัดเกลาให้ละคลายลงไป และรอได้ไหม


    หมายเลข 9182
    31 ธ.ค. 2566