พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อ - กิเลส อกุศลธรรม ชื่อว่ากลิ่นดิบ


    ดาบสเหล่านั้นก็ได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายพออดทนได้ ดังนี้เป็นต้น

    ต่อจากนั้น อามคันธดาบสได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์เสวยกลิ่นดิบ หรือไม่เสวย

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    พราหมณ์ ชื่อว่ากลิ่นดิบนั้น คืออะไร

    ดาบสนั้นทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ปลา และเนื้อ ชื่อว่ากลิ่นดิบ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ปลา และเนื้อไม่ใช่กลิ่นดิบ ก็แลกิเลสทั้งปวงที่เป็นบาป เป็นอกุศลธรรม ชื่อว่ากลิ่นดิบ

    และต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่าให้อามคันธพราหมณ์ฟังว่า

    ความสงสัยเรื่องการบริโภคปลา และเนื้อ ไม่ได้มีแต่เฉพาะในสมัยนี้เท่านั้น แม้ในอดีตกาล ในสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ก็ได้มีพราหมณ์ชื่อว่าติสสะ ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะในเรื่องของกลิ่นดิบ โดยนัยเดียวกัน

    และพระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่าถึงเรื่องในอดีตกาล ในสมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ มีข้อความว่า

    ในกัปนี้ คือ ในภัทรกัป ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดม เป็นสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ซึ่งพระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๘ อสงไขยกับแสนกัป พระโพธิสัตว์พระนามว่ากัสสปะ ได้ปฏิสนธิในครรภ์ของนางพราหมณีชื่อว่าธนวดี ปชาบดีของพรหมทัตตพราหมณ์ ในเมือง พาราณสี แม้อัครสาวกก็เคลื่อนจากเทวโลกในวันนั้นเหมือนกัน

    คือ เกิดในวันเดียวกัน แต่ว่าสำหรับอัครสาวก อุบัติขึ้นในครรภ์ของปชาบดีของพราหมณ์ผู้เป็นรองปุโรหิต

    ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อบุตรของพราหมณ์คนหนึ่งว่ากัสสปะ และบุตรของพราหมณ์อีกคนหนึ่งว่าติสสะ ทั้งสองท่านนั้นก็เกิดในวันเดียวกันนั่นเอง เป็นสหายเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เล็กจนกระทั่งเติบโตขึ้น พราหมณ์ซึ่งเป็นบิดาของติสสะก็ได้สั่งลูกชายว่า

    สหายกัสสปะจะออกบวช และจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ ติสสะก็ควรที่จะได้ออกบวชในสำนักของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ด้วย เพื่อที่จะได้พ้นจากทุกข์ได้

    ติสสะนั้นก็ได้รับคำของบิดา และได้ไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ ได้เล่าเรื่องที่บิดาบอกให้ฟังว่า เราทั้งสองควรที่จะออกบวช ซึ่งพระโพธิสัตว์ก็รับคำว่า ดีละ

    ต่อจากนั้น เวลาที่ทั้ง ๒ คน เจริญวัยขึ้น เติบโตขึ้นแล้ว ติสสะก็ได้ไปบอกกับสหายซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ว่า ถึงเวลาที่ควรจะออกบวชด้วยกัน

    แต่พระโพธิสัตว์ก็มิได้ออกบรรพชา ติสสะผู้เดียวออกบวชด้วยความคิดว่า สหายของตน ญาณยังไม่ถึงกาลที่แก่รอบ เพราะฉะนั้น ติสสะเองก็ได้ออกบวชเป็นฤๅษี และได้สร้างอาศรมอยู่ที่เชิงภูเขาในป่า

    ในสมัยต่อมา แม้พระโพธิสัตว์ทั้งๆ ที่ดำรงอยู่ในเรือน คือ เป็นฆราวาสอยู่ ได้เจริญอานาปานสติ ได้อภิญญา และได้เสด็จไปที่ใกล้โคนต้นโพธิ์ ซึ่งต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้ของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นต้นไทร ได้ทำความเพียรอยู่ ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    วันหนึ่ง ชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งได้ไปแสวงหาของป่า ได้ไปถึงอาศรมของติสสดาบส ซึ่งดาบสได้ถามถึงความเป็นไปในเมืองพาราณสี บุคคลนั้นก็ได้เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้อุบัติขึ้นแล้วที่เมืองพาราณสี

    หมายความว่า มีพระผู้มีพระภาคตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ที่เมืองพาราณสี

    เมื่อติสสดาบสได้ฟัง ก็เกิดปลาบปลื้มยินดีเป็นอันมาก เพราะแม้คำว่า พุทโธ ก็เป็นเสียง หรือเป็นคำซึ่งยากที่จะได้ยิน

    ติสสดาบสได้ถามบุคคลนั้นว่า

    พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเสวยกลิ่นดิบ หรือไม่เสวย

    ซึ่งคนนั้นก็ได้ถามอย่างเดียวกันว่า กลิ่นดิบคืออะไร ดาบสก็ตอบว่า กลิ่นดิบ คือ ปลา และเนื้อ บุรุษนั้นก็ได้ตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเสวยปลา และเนื้อ

    ติสสดาบสก็เกิดเดือดร้อนใจ เพราะไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่เหมือนกับที่ตนปฏิบัติอยู่ และไม่เหมือนกับความคิดที่ว่า เมื่อเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่ควรที่จะเสวยปลา และเนื้อ

    ติสสดาบสก็คิดในใจว่า จะต้องไปทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า เสวยปลา และเนื้อหรือเปล่า ถ้าหากพระองค์ตรัสว่า เราบริโภคกลิ่นดิบทั้งหลาย เราเองก็จะได้กล่าวห้ามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นไม่เหมาะสมแก่ชาติ และสกุลของพระองค์

    ยังมีผู้คิดที่จะห้ามพระผู้มีพระภาคไม่ให้กระทำสิ่งที่ตนคิดว่าไม่สมควร

    ติสสดาบสก็ได้เข้าไปยังเมืองพาราณสี เข้าไปสู่ป่าอิสิปตนะ ซึ่งขณะนั้น พระผู้มีพระภาคกำลังประทับนั่งบนอาสนะเพื่อจะทรงแสดงธรรม ติสสดาบสได้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาค ไม่ถวายบังคม เป็นผู้นิ่ง ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง

    เป็นไปได้ไหม ลองคิดถึงชีวิตจริงๆ ของทุกท่าน บางครั้งก็ไม่ได้แสดงความนอบน้อม ไม่ได้แสดงการไหว้ตามมารยาท ตามสมควร

    นามธรรม และรูปธรรมที่จะเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งได้ปรารภว่า ตอนที่ท่านศึกษาธรรม ท่านเกิดสนใจมาก และเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมบ้าง ต่อจากนั้นก็เบื่อ ก็เป็นความจริง หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ฟังไปๆ และก็เริ่มสนใจอีก สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมบ้าง ต่อจากนั้นก็เบื่ออีก เป็นเรื่องธรรมดาหรือไม่ธรรมดา ลองคิดดู สภาพธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น ย่อมมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมควรแก่สภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนั้นจึงเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น

    และท่านผู้ฟังก็ปรารภว่า ต่อไปไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

    ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะรู้ได้ สำหรับข้างหน้า ไม่ต้องคิดเลย เพราะว่าทุกอย่างที่จะเกิด ย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าคิดว่าจะเป็นอย่างนี้ ก็จะไม่เป็นอย่างที่คิด ถ้าคิดว่าจะเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถรู้ขณะจิตต่อไปได้ว่า สภาพธรรมที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร แม้แต่การที่จะไหว้ หรือไม่ไหว้ เช่น ติสสดาบส ก็ได้กระทำกิริยาอาการเช่นเดียวกับอามคันธพราหมณ์ เมื่อได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว ไม่ถวายบังคม เป็นผู้นิ่ง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง


    พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ เมื่อทอดพระเนตรเห็นดาบสนั้นแล้ว ก็ได้ตรัสปฏิสันถารโดยนัยเดียวกับพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ติสสดาบสนั้นได้ทูล พระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระกัสสปะผู้เจริญ พระองค์เสวยกลิ่นดิบหรือไม่

    คราวนี้พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะ ไม่ได้ตรัสเช่นเดียวกับพระผู้มี-พระภาคพระสมณโคดม แต่พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่ากัสสปะตรัสว่า

    พราหมณ์ เราหาได้เสวยกลิ่นดิบไม่

    ดาบสทูลว่า

    ข้าแต่พระกัสสปะผู้เจริญ สาธุ สาธุ พระองค์เมื่อไม่เสวยซากศพของสัตว์อื่น ได้ทรงกระทำกรรมดีแล้ว ข้อนั้นสมควรแล้วแก่ชาติ สกุล และโคตรของพระกัสสปะ ผู้เจริญ

    พอใจ เข้าใจว่า มีข้อประพฤติปฏิบัติเช่นเดียวกับการประพฤติปฏิบัติของตน


    หมายเลข 9180
    31 ธ.ค. 2566