เกลียวของความไม่รู้


    อย่าหวังว่า วันนี้ฟังธรรมแล้วจะเป็นกุศลไปทั้งวัน หรือแค่สักไม่กี่นาทีก็หวังไม่ได้ เพราะไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงว่า แค่เห็น อกุศลก็เกิดแล้ว เพราะไม่รู้ความจริง จึงเป็นผู้ไม่ประมาท เห็นประโยชน์ของการเข้าใจธรรม และทางเดียวที่จะเข้าใจจริงๆ ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีโอกาสได้ฟังสิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือการได้เข้าใจพระธรรม มิฉะนั้นแล้วจะไปได้ยินพระธรรมเมื่อไรอีก ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ จากวันนี้ไปเกิดเป็นหนอนก็ได้ เป็นสุนัขก็ได้ เป็นแมวก็ได้ แล้วมีใครไปพร่ำสอนไหมคะ มีเห็น มีได้ยิน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีโอกาสเลยที่จะฟังแล้วเข้าใจได้

    เพราะฉะนั้น ความไม่ประมาทก็คือว่า เป็นโอกาสที่ได้เข้าใจธรรม ควรจะได้ฟัง พิจารณาไตร่ตรองสะสมความเห็นถูก ซึ่งไม่ใช่จงใจต้องการฟังเพื่อเราจะได้เข้าใจ จะมีบ่อยมากเลยที่มาฟังธรรม เพื่อเราจะได้เป็นคนดี ฟังธรรมเพื่อเราจะได้เข้าใจ เป็นเราไปหมดเลย แต่ไม่ได้ฟังธรรมเพื่อรู้ว่า เป็นธรรม ไม่มีใครเลย เป็นธรรมจริงๆ เมื่อไรเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นก็จะรู้ว่า ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เพราะเหตุว่าอกุศลมีปัจจัยที่จะเกิดมากกว่ากุศล

    เวลาฟังธรรมเมื่อเช้านี้ ก็คงจะมีหลายท่านที่ฟังรายการวิทยุ เข้าใจใช่ไหมคะ เหมือนเดี๋ยวนี้ กำลังฟังแล้วเข้าใจ แต่พอฟังจบ ความเข้าใจนั้นอยู่ที่ไหน ทางตาเห็นแล้ว อกุศลเกิดแล้ว ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นเรื่องราวของอกุศลทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เพราะอวิชชามีมาก แม้จะสะสมความเข้าใจ ความเห็นถูกบ้าง แต่แล้วอวิชชาก็เกิดปิดบังอีกแล้ว อวิชชาเกิดเมื่อไร ไม่รู้เมื่อนั้น ความรู้ที่สะสมมาน้อย แต่อวิชชาสามารถปิดบังจนกระทั่งขณะนั้นเป็นอกุศลมาก จนกว่าเมื่อไรมีปัจจัยที่กุศลจิตจะเกิด เมื่อนั้นกุศลจิตก็เกิดขึ้นมาอีกเพียงเล็กน้อย แล้วอวิชชาก็เกิดขึ้นบัง

    ด้วยเหตุนี้ฟังแล้วเหมือนเข้าใจ ขณะที่กำลังฟังก็เข้าใจ แต่ความเข้าใจนั้นไม่พอที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีลักษณะของสภาพธรรมให้เข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม ก็เป็นแต่เพียงความคิดเรื่อง และความจำเรื่องราวว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ตามความเป็นจริงคือ เดี๋ยวนี้ธรรมปรากฏ และจากการฟังกว่าจะถึงการเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ว่าอะไรที่ปรากฏขณะนี้ก็เป็นลักษณะของธรรมแน่นอน แต่ละหนึ่งซึ่งเกิดมาตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจประโยชน์จริงๆ ว่า ฟังเพื่อเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ก็ค่อยๆ สะสมความเข้าใจ และจะรู้ได้ว่า อวิชชาที่มีมากๆ คลายไปบ้างไหม เพราะเป็นสิ่งที่หนาแน่นมาก และยังถูกฉาบทาไว้ด้วยโลภะ ความติดข้อง และอกุศลอื่น เหมือนกับสิ่งซึ่งกว่าจะคลายเกลียวของความมั่นคง จะเป็นกลอนประตู จะเป็นฝา หรืออะไรก็ตามแต่ ออกได้ ต้องอาศัยกำลังของปัญญา และค่อยๆ ออกไปทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถค่อยๆ ละความไม่รู้ ซึ่งผู้นั้นก็จะรู้ว่า ต้องอาศัยการฟังแล้วเข้าใจเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น อย่าลืม ความต่างคือความละเอียด ศึกษาธรรมเพราะเข้าใจถูกว่า ขณะนี้มีธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องเริ่มจากการฟังจนกระทั่งเข้าใจขึ้น นี่คือศึกษาธรรม ไม่ใช่ศึกษาวิชาธรรม หรือไม่ใช่ศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา หรือไม่ใช่ศึกษาวิชาพระอภิธรรม ถ้าเป็นวิชา ก็จะเหมือนวิชาทั้งหลาย เต็มไปด้วยชื่อ เต็มไปด้วยเรื่อง เต็มไปด้วยจำนวน แต่ไม่ได้เข้าใจธรรมที่มีในขณะนี้ว่า เป็นสิ่งที่ควรศึกษายิ่ง ควรรู้ยิ่ง เป็นสีลสิกขา เป็นจิตสิกขา เป็นปัญญาสิกขา เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมซึ่งไม่รู้ ให้เข้าใจว่า ความจริงของสภาพธรรมนั้นคืออย่างไร

    นี่คือศึกษาจริงๆ ในลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เพียงศึกษาวิชาธรรม แต่ถ้าในขณะนั้นรู้ว่า คิดไม่ใช่เห็น ก็จะศึกษา และเริ่มเข้าใจลักษณะที่เห็นว่าต่างกับขณะที่กำลังคิด เพราะว่ามีสภาพธรรมจริงๆ แต่ละอย่างที่กำลังปรากฏให้ศึกษา ให้เข้าใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเรียกว่าอะไร ในภาษาไหน เพราะว่าลักษณะนั้นก็ปรากฏตามความเป็นจริง

    บางคนก็คิดว่า กำลังกระทบสัมผัสอะไร อยากจะเรียกชื่อมากเลย แม้แต่คำว่า เหนียว เหนอะหนะ หรือลื่น ก็อยากจะรู้คำ อยากจะรู้ชื่อ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะนั้นเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ได้ เมื่อสิ่งนั้นปรากฏ ก็หมายความว่าต้องมีธาตุรู้ที่กำลังรู้ลักษณะนั้น ไม่ว่าจะแข็งปรากฏ ก็มีลักษณะที่กำลังรู้แข็ง แข็งจึงปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น ก็เริ่มเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริงแต่ละขณะ ซึ่งจะขาดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ศึกษาธรรมคือเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่กังวลถึงชื่อว่า จะเรียกว่าอะไร หรือจะเรียกโผฏฐัพพะ ก็ไม่ต้องไปกังวล หมายความว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏเมื่อกระทบกาย และมีธาตุรู้ที่กำลังรู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏ ไม่ใช่เรา แต่เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละอย่าง จึงเป็นการศึกษาธรรม


    หมายเลข 9058
    19 ก.พ. 2567