แสวงหาหรืออบรม


    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ตราบนั้นแสวงหาพรหมจรรย์ที่เป็นความเห็นผิด อย่างคำถามที่อยากไม่มีโทสะ แสวงหาพรหมจรรย์ คือไม่มีโทสะ แต่ถ้าไม่เข้าใจธรรม ขณะนั้นก็เข้าใจว่า มีวิธีที่ทำให้ไม่มีโทสะ ก็แสวงหาโดยการถาม แต่ตามความเป็นจริง ขณะใดที่ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏตามลำดับ ขณะนั้นก็ไม่ใช่พรหมจรรย์ ที่เป็นหนทางที่ถูก

    ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ควรอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่ทำอย่างไรจะไม่มีโทสะ ทำอย่างไรจะไม่มีโลภะ ทำอย่างไรจะไม่มีกิเลส นั่นคือ “ทำอย่างไร” คนนั้นก็พยายามแสวงหา เพราะอยากจะได้สิ่งที่ประเสริฐจริงๆ คือความไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ แต่ตราบใดที่ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา

    ด้วยเหตุนี้การแสวงหากับการอบรมต่างกันไหมคะ ถ้าอบรมคือรู้ได้เลยว่า ขณะนี้เป็นธรรม ก็ไม่รู้ว่า ธรรมอะไรกำลังเป็นอย่างนั้น เช่น เห็นเป็นเห็น คิดเป็นคิด เสียงเป็นเสียง ได้ยินเป็นได้ยิน ยังไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละหนึ่งตามความเป็นจริง จึงไม่ใช่การอบรมอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่เป็นการแสวงหาพรหมจรรย์ที่เป็นความเห็นผิด

    อ.อรรณพ ความหมายว่า ถ้าแสวงหาจะต้องเป็นไปด้วยความติดข้อง

    ท่านอาจารย์ แสวงหาไม่ใช่ความเข้าใจใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่หาวิธีว่าทำอย่างไรถึงจะไม่มีโทสะ ใช่ไหมคะ แต่ถ้าเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าแม้สภาพธรรมขณะนี้ก็ยังไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง แล้วจะไปละความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมได้อย่างไร ไม่ใช่พอรู้ว่า เป็นธรรม แล้วจะไม่โกรธ หรือไม่มีอกุศลใดๆ เลยทั้งสิ้น เพียงรู้ขั้นไหน ขั้นฟัง อบรมความเห็นถูกว่า ขณะนี้เป็นเพียงความรู้ขั้นฟัง ยังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละหนึ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น อบรมก็คือเข้าใจขึ้นๆ ว่าเป็นเรื่องละด้วยความรู้ แต่ไม่รู้ก็ละความไม่รู้ไม่ได้ และจริงๆ แล้วไม่ใช่เพื่อจะไม่มีอะไรเลย เป็นไปไม่ได้ เหตุไม่สมควรแก่ผล ต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้ ขันติเป็นตบะ คือการอดทนที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ อดทนที่จะละความไม่รู้ที่กำลังไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จึงสามารถเผาอกุศลหรือความไม่รู้ได้ และรู้ด้วยว่า ไม่ใช่เพียงได้ฟังแค่นี้แล้วเราก็หมดกิเลส เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือแสวงหา เข้าใจว่าเพียงขั้นฟังก็สามารถดับกิเลสได้ แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า อบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ก็จะเข้าใจความหมายของ “ตบะ” ว่าต้องอดทนที่จะเผาความไม่รู้ซึ่งกำลังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    อ.อรวรรณ ความเข้าใจที่ค่อยๆ ปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ จึงเป็นความอดทนที่จะไม่เป็นโลภะ อย่างนี้ใช่ไหมครับ แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ อบรมไป

    ท่านอาจารย์ อยากรู้เหลือเกินว่า ขณะนี้ไม่ใช่เรา เป็นธรรมที่เกิดดับ เพียงแค่เห็น แล้วอยากอย่างนี้จะรู้ได้ไหม ถ้ารู้ไม่ได้ ก็รู้ว่า นี่ไม่ใช่หนทางแน่

    เพราะฉะนั้น หนทางก็คือไม่ใช่อยาก แต่ต้องฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง จนกระทั่งเข้าใจในความเป็นอนัตตามากขึ้น ค่อยๆ น้อมไปสู่การรู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะรู้ว่า ขณะนี้ไม่ต้องคิดถึงเรื่องอื่น เพราะว่าเรื่องอื่นหมดแล้ว ทั้งสิ่งที่ดับไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง แต่สิ่งที่กำลังปรากฏนี้แหละ ฟัง เดี๋ยวนี้มีเห็น เดี๋ยวนี้มีได้ยิน เดี๋ยวนี้มีแข็ง เดี๋ยวนี้มีคิด เดี๋ยวนี้มีโกรธหรือขุ่นใจ หรือเดี๋ยวนี้กำลังสบายใจ ก็เป็นแต่ละ ๑ ขณะ ซึ่งเปลี่ยนโดยไม่รู้ตัวเลย ดับไป แล้วก็ไม่กลับมาอีก

    เพราะฉะนั้น อดทนที่จะเริ่มเข้าใจว่า สภาพธรรมมีเพราะกำลังปรากฏ และเกิดแล้ว ดับแล้ว จึงไม่ใช่เรา จนกว่าจะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เหมือนอย่างที่พูดถึงบ่อยๆ คือ เห็น เพราะกำลังเห็น และที่พระผู้มีพระภาคตรัสก็ตรัสเรื่อง ภาษาบาลี ใช้คำว่า จักขุวิญญาณกับรูปารมณ์ ภาษาไทยก็คือเห็นกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น พูดตลอดเลย เพราะเหตุว่าโลกนี้ก็มีแค่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก แต่ไม่รู้ความจริงเลย เช่น แม้ในขณะนี้เห็นใคร ไม่ต้องถามเลยอยู่ในใจตลอด ใช่ไหมคะ ไม่ต้องถาม เห็นคุณอรรณพ เห็นดอกไม้ เห็นโต๊ะ เห็นศาลา ทุกอย่าง เห็น อยู่ในใจตลอด แต่อยู่ในใจบ้างไหมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น และวันนี้ก็ยังไม่ได้เข้าใจอย่างนี้ และเมื่อไรจะประจักษ์การเกิดดับของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เพียงแต่ว่าการเกิดดับซ้ำมากมายจนกระทั่งปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐาน เราไม่มีทางจะประมาณได้เลยว่า จิตเกิดดับ และรูปที่ปรากฏให้จิตรู้ก็เกิดดับนับไม่ถ้วน จนกระทั่งปรากฏเป็นรูปร่าง นิมิต สัณฐานต่างๆ แต่จากการฟัง เริ่มแยก และเข้าใจขึ้นว่า กว่าจะไม่มีคน ก็คือมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ กว่าจะไม่มีคน ก็คือเพียงแข็งที่ปรากฏเมื่อกระทบสัมผัส กว่าจะไม่มีคนก็คือความคิดที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น แต่ละอย่างเมื่อตรวจสอบจริงๆ ก็คือสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วจะเป็นอะไร

    นี่ค่ะ กว่าจะค่อยๆ น้อมไปด้วยการเข้าใจความจริงทีละเล็กทีละน้อย โดยไม่จงใจว่า จะละความโกรธ และอย่างอื่นล่ะคะ ไม่อยากมีโทสะ และอยากมีอย่างอื่นหรือเปล่า หรืออย่างอื่นไม่เป็นไร


    หมายเลข 9114
    19 ก.พ. 2567