ขณะใดเห็นผิด ขณะนั้นเป็นโลภะ


    ส.   ถ้ามีความเข้าใจว่า มีความเห็นผิดขณะใด ขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทโลภมูลจิต แล้วแต่ว่าการกระทำของใครในขณะนั้นเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ ก็เป็นตัวอย่างแล้ว เอาความเข้าใจในเรื่องของโลภะ ในเรื่องของทิฏฐิ ส่วนตัวอย่างก็ในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นขณะไหนเราก็รู้ขณะนั้น แต่ว่ายากที่จะรู้จิตของคนอื่น การกระทำของคนอื่นไม่มีทางที่เราจะรู้ได้ นอกจากรู้จักตัวของเราเองจริงๆ

    กฤษณา   เพราะฉะนั้นถ้าจะสรุปว่าที่จะเป็น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ ต้องเกิดพร้อมด้วยความยินดี ติดข้อง แล้วก็มีความเห็นผิด เช่นว่าไม่เป็นบุญไม่เป็นบาปที่จะทำผิดต่าง ๆ ใช่ไหมคะ

    ส.   ดิฉันคิดว่า ให้สั้น ให้แน่ ก็คือว่า ขณะใดเห็นผิด ขณะนั้นต้องเป็นโลภะ ไม่ต้องคิดว่ามีโลภะ แล้วก็มีทิฏฐิมาเกิด หรืออะไรอย่างนั้น แต่ขณะใดที่ใครเห็นผิด ให้ทราบเลยว่า ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

    กฤษณา   เป็นขณะเดียวกัน

    ส.   ค่ะ จะเป็นจิตอื่นไม่ได้ในอกุศลจิต ๑๒ ขณะใดที่ความเห็นผิดเกิด คนนั้นพูดเยอะเรื่องความเห็นต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ผิดทั้งนั้น ในขณะนั้นเราฟังเราก็รู้ว่า ขณะนี้เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ที่ทำให้เอ่ยคำอย่างนี้ซึ่งไม่ถูก

    เพราะฉะนั้นตัวอย่างก็มีในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ซึ่งเรามีหลักเราก็รู้ได้ แต่ไม่ใช่หาตัวอย่างมาเยอะๆแล้วมานั่งวิจัยว่าอันนี้จะเป็นข้อไหน

    สุรีย์   ตัวอย่างบางทีช่วยได้

    ส.   ไม่ค่ะ ความเข้าใจว่า ขณะใดที่เป็นความเห็นผิด และการกระทำใดๆที่เกิดจากความเห็นผิด ขณะนั้นเราก็รู้ว่า ต้องมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย  ซึ่งทำให้กาย วาจาผิดเกิดขึ้น


    หมายเลข 9016
    13 ก.ย. 2558